ริมฝีปากแห้งรักษาอย่างไร
ครีมบำรุงเหล่าที่ออกแบบมาเพื่อรักษาและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับริมฝีปากโดยเฉพาะจะช่วยลดการสูญเสียน้ำที่ริมฝีปากและช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับริมฝีปาก

ริมฝีปากแห้ง

ริมฝีปากเป็นผิวหนังส่วนที่ต่างจากผิวหนังส่วนอื่น เนื่องจากผิวหนังบริเวณนี้จะไม่มีต่อมน้ำมันที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังเหมือนผิวหนังที่บริเวณอื่นของร่างกาย แต่ริมฝีปากจะได้รับความชุ่มชื้นจากน้ำลายที่ออกมาจากต่อมน้ำลายภายในปาก และริมฝีปากเป็นส่วนที่ต้องสัมผัสกับสิ่งต่างรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งเป็นอากาศ อาหาร แสงแดด สายลม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้ริมฝีปากเกิดความผิดปกติขึ้น และความผิดปกติที่สามารถพบได้บ่อยกับริมฝีปาก คือ ภาวะริมฝีปากแห้ง หรือภาวะปากแห้งเนื่องจากปริมาณน้ำลายเกิดขึ้นน้อย ( Xerostomia ) คือ การที่ต่อมน้ำลายมีระบบการทำงานที่ผิดปกติ ต่อมน้ำลายทำการการผลิตน้ำลายออกมาน้อยกว่าปกติ จึงทำให้บริเวณริมฝีปากได้รับความชุ่มชื้นจากน้ำลายภายในปากน้อยกว่าปริมาณการสูญเสียความชุ่มชื้นออกไป ส่งผลให้เกิดภาวะริมฝีปากแห้ง แตกและลอกออกมาเป็นขุยนั่นเอง

ใบหน้าเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนต้องพบเห็น ใบหน้าช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับคนเรา ทุกส่วนบนใบหน้าล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในการสร้างเสน่ห์ รวมถึงริมฝีปากของเราด้วย ริมฝีปากมีลักษณะอ่อนนุ่ม สามารถเคลื่อนไหวเพื่อทำหน้าที่ในการรับอาหารและใช้ในเปล่งเสียงเพื่อสื่อสารออกมาเป็นคำพูด นอกจากนั้นริมฝีปากของเรายังเป็นอวัยวะที่สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของร่างกายได้อีกด้วย นั่นคือริมฝีปากของผู้ที่มีสุขภาพดีจะมีริมฝีปากที่แลดูฉ่ำน้ำ เปล่งปลั่งและมีสีชมพูอ่อนจนถึงสีแดงคล้ำ โดยผู้ที่มีสีผิวเข้มจะมีริมฝีปากสีแดงคล้ำ ส่วนผู้ที่มีผิวขาวจะมีริมฝีปากสีชมพู

สาเหตุที่ทำให้การทำงานของต่อมน้ำลายผิดปกติ

1.ร่างกายขาดน้ำ

ร่างกายของคนเราประกอบด้วยน้ำร้อยละ 60 ซึ่งในแต่ละวันร่างกายจะทำการขับน้ำออกมาในรูปของเสีย เช่น ปัสสาวะ เหงื่อ เป็นตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงต้องดื่มน้ำเพื่อทดแทนปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องสูญเสียไประหว่างวัน ดังนั้นถ้าร่างกายได้รับน้ำในปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณน้ำที่สูญเสียไป ร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำ ทำให้ริมฝีปากแห้ง นอกจากการดื่มน้ำที่ไม่เพียงพอแล้ว ภาวะร่างกายขาดน้ำยังสามารถเกิดขึ้นได้จากกรณีที่ร่างกายมีการสูญเสียน้ำในปริมาณที่มาก ๆ อย่างเฉียบพลัน เช่น เกิดอาการท้องเสีย เสียเลือดมาก อาเจียน เป็นไข้ เป็นต้น ก็สามารถส่งผลให้เกิดริมฝีปากแห้งได้เช่นเดียวกัน

2.สภาพสิ่งแวดล้อม

ช่วงฤดูร้อน ที่มีอุณหภูมิสูง ร่างกายต้องทำการขับเหงื่อออกมาเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที และในฤดูหนาว อากาศมีความชื่นน้อย ทำให้ความชื้นในร่างกายระเหยออกมาสู่ภายนอก เมื่อร่างกายสูญเสียความชื้นและน้ำในปริมาณสูง โดยเฉพาะส่วนของริมฝีปากที่ต้องกระทบกับอากาศจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ริมฝีปากสูญเสียความชุ่มชื้นออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้ริมฝีปากเกิดภาวะปากแห้งและลอกเป็นขุยได้ หรือแม้แต่การอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศจนอากาศเย็นมาก ๆ ก็จะทำให้อากาศมีความชื้นน้อยจนส่งผลให้ริมฝีปากแห้งได้เช่นเดียวกัน

3.การเลียริมฝีปาก

การเลียริมฝีปากหลายคนคิดว่าเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับริมฝีปาก แต่ที่จริงแล้วผลที่ได้กลับตรงกันข้าม เพราะการเลียริมฝีปากบ่อยมาก ๆ จะทำให้ริมฝีปากแห้งแตกได้ เนื่องจากในน้ำลายมีเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหารอยู่ ดังนั้นเมื่อน้ำลายมาอยู่บนริมฝีปากเอนไซม์ดังกล่าวก็จะทำการปฏิกิริยากับออกซิเจนและโปรตีนที่อยู่ในริมฝีปากทำให้ริมฝีปากแห้ง 

4.การสูบบุหรี่

บุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นพิษอยู่หลายชนิด ซึ่งสารดังกล่าวจะส่งผลให้การทำงานของต่อมน้ำลายเกิดความผิดปกติ ทำให้มีการผลิตน้ำลายออกมาได้น้อยลงจึงส่งผลให้เกิดอาการปากแห้งได้

5.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เมื่อร่างกายได้รับแอลกอฮอล์เข้าไป ร่างกายจะต้องทำการขับออกจากร่างกายเพื่อรักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่างของร่างกายให้สมดุล ซึ่งการขับแอลกอฮอล์ที่เข้าสู่ร่างกายจะต้องใช้น้ำเป็นตัวช่วย โดยการขับจะขับอยู่ในรูปของเหงื่อ ปัสสาวะ ดังนั้นเมื่อมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากและไม่มีการดื่มน้ำเปล่าเลย ร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำทำให้เกิดริมฝีปากแห้งได้

6.ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง

คนส่วนมากชอบดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกายให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า แต่ว่าคาเฟอีนที่ดื่มจะเข้านอกจากจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองรับรู้แล้วยังเข้าไปกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนกลางที่มีหน้าที่ในการขับน้ำออกจากร่างกาย จึงทำให้ร่างกายมีการขับน้ำออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระมากกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อเราดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากจะให้ร่างกายปัสสาวะบ่อย จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกิดภาวะริมฝีปากแห้งได้

7.การใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์รุนแรง

ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่ใช้อยู่ทั่วไปจะมีส่วนของฟลูออไรด์ แอลกอฮอล์และสารเคมีผสมอยู่ เช่น สารที่ทำให้เกิดฟอง สารที่ทำให้เกิดรสชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้ามีปริมาณที่สูงหรือร่างกายเกิดอาการแพ้แล้ว จะทำให้ผิวหนังบริเวณ เกิดอาการแพ้ ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณริมฝีปากเกิดภาวะแห้งได้

8.แพ้เครื่องสำอาง

ปัจจุบันนี้ผู้หญิงและผู้ชายบางกลุ่มนิยมที่จะแต่งหน้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะการทาลิปสติกบนริมฝีปากเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แม้ไม่ได้แต่งหน้าทั้งหมดขอเพียงแค่ทาริมฝีปากด้วยลิปสติกเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว ซึ่งลิปสติกที่ใช้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด บางชนิดมีส่วนผสมของสารเคมีที่ไม่เหมาะสมกับริมฝีปาก ทำให้ริมฝีปากเกิดอาการแพ้จนริมฝีปากแห้ง แตกและลอกเป็นขุยได้   

9.ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ลดน้ำมูกในกลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน ( Antihistamines ) ยาแก้ปวด ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก ( Tricyclic Antidepressants ) ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาอาการทางจิต ( Antipsychotics ) ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ( Anyiemetics ) เป็นต้น ซึ่งยาดังกล่าวจะเข้าไปทำให้การทำงานของต่อมน้ำลายมีความผิดปกติ ทำให้มีการผลิตน้ำลายออกมาน้อยลง รวมถึงอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นในผู้ที่ป่วยที่ทำการรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายรังสีหรือการให้ยาเคมีบำบัด โดยเฉพาะการรักษามะเร็งที่ส่วนของศีรษะและลำคอ เนื่องจากรังสีที่ฉายเข้าไปนั้นจะเข้าไปทำลายเซลล์ที่บริเวณต่อมน้ำลายอาจถูกทำลายได้ ซึ่งเซลล์ที่ถูกทำลายบางส่วนจะสามารถฟื้นฟูและกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ในภายหลัง แต่ถ้าได้รับปริมาณรังสีในปริมาณที่สูงเซลล์ก็จะโดนทำลายอย่างถาวร ทำให้ต่อมน้ำลายไม่สามารถทำการผลิตน้ำลายได้มากเท่าปกติ และยาเคมีบำบัดก็จะทำให้น้ำลายมีลักษณะที่เหนียวและข้นมากขึ้นด้วย

10.โรคประจำตัว

โรคบางชนิดที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมน้ำลายในการผลิตน้ำลายทำให้มีการผลิตน้ำลายออกมาได้น้อยลงจึงทำให้ริมฝีปากแห้งได้ เช่น โรคเบาหวาน ( Diabetes ) โรคหลอดเลือดในสมอง โรคพาร์กินสัน ( Parkinson’s disease ) โรคซิสติกไฟโบรซิส ( Cystic Fibrosis ) โรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s disease ) โรคความดันโลหิตสูง ( Hypertension ) โรคโลหิตจาง ( Anemia ) โรคข้ออักเสบ ( Arthritis )

ริมฝีปากแห้ง เกิดจากการที่ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายออกมาน้อยกว่าปกติ จึงทำให้บริเวณริมฝีปากได้รับความชุ่มชื้นน้อย ทำให้แตกและลอกเป็นขุย

การรักษาให้ริมฝีปากชุ่มชื้น

โดยส่วนมากแล้วอาการริมฝีปากแห้งที่พบได้บ่อยจะเกิดจากพฤติกรรมการดื่มน้ำน้อย การเลียริมฝีปากบ่อยเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน ดังนั้นการรักษาอาการริมฝีปากแห้งที่เกิดขึ้นจึงมักมุ่งเน้นไปที่ต้นเหตุของอาการที่ทำให้ริมฝีปากแห้งเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการรักษาที่ตรงจุดจะสามารถทำให้ริมฝีปากสามารถกลับมาชุ่มชื่นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการรักษาให้ริมฝีปากชุ่มชื้นสามารถทำได้ดังนี้   

1.ดื่มน้ำให้เพียงพอ

น้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย คือ น้ำเปล่าสะอาดที่มีอุณหภูมิปกติ ไม่ร้อนหรือเย็นกว่าอุณหภูมิทั่วไป หลายคนสงสัยว่าแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าร่างกายต้องการน้ำในปริมาณเท่าใด ซึ่งปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการต่อวันสามารถคำนวณได้จากสูตร ดังนี้

ปริมาณน้ำที่ต้องการต่อวัน = น้ำหนักตัว ( กิโลกรัม ) / 2 x 2.2 x 30 หน่วยเป็นมิลลิลิตร

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมจะต้องดื่มน้ำต่อวันประมาณ 50 / 2 x2.2×30 = 1,650 มิลลิลิตร หรือ 1.65 ลิตร นั่นหมายความว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมต้องดื่มน้ำอย่างน้อย 1.6 ลิตรต่อวันจึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั่นเอง การดื่มน้ำที่ดีควรดื่มสะอาดเท่านั้น โดยทำการดื่มตอนเช้าหลังตื่นนอน 1-2 แก้ว หลังมื้ออาหารครั้งละ 1 แก้ว และระหว่างมื้ออาหารอย่างน้อย 1 แก้ว หรือจะทำการดื่ม 1 แก้วทุก 1 ชั่วโมงก็ได้ แต่ห้ามดื่มครั้งละมากๆ หรือดื่มครั้งเดียวตามปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน เพราะว่าร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำที่ดื่มเข้าไปใช้ได้หมดและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำเกินในร่างกายอีกด้วย ดังนั้นการดื่มสะอาดอย่างต่อเนื่องเป็นการดื่มน้ำที่ดีสุดที่ช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอและร่างกายสามารถนำน้ำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม

2.ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน

เมื่อรู้สึกว่าริมฝีปากเกิดภาวะแห้งหรือรู้สึกกระหายน้ำ ไม่ควรดับความกระหายด้วยการดื่มเครื่องดื่มที่มีการปรุงแต่งกลิ่น สี รสหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ แต่ควรดื่มน้ำสะอาดแทน และควรลดหรืองดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ให้น้อยลงในแต่ละวัน เพื่อลดการขับน้ำออกจากร่างกายให้น้อยลง

3.ทาครีมบำรุงริมฝีปาก

หลายคนเมื่อรู้สึกว่าริมฝีปากแห้ง มักจะทำการเลียริมฝีปากเพื่อให้ริมฝีปากชุ่มชื้น แต่การเลียริมฝีปากจะทำให้ปากชุ่มชื้นได้เพียงช่วงสั้น ๆ แต่กลับจะทำให้ริมฝีปากแห้งได้ในระยะยาว ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าริมฝีปากแห้งเกิดขึ้นให้ทาครีมบำรุงที่ออกแบบมาเพื่อรักษาและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับริมฝีปากโดยเฉพาะ เช่น ลิปบาล์ม ( Lip balm ) ออยล์ ( Oil ) น้ำมันที่สกัดจากธรรมชาติ ( Natural Oils ) ปิโตรเลียมเจล ( Petroleum jelly ) ขี้ผึ้ง ( Beeswax ) เป็นประจำทุกวัน ครีมบำรุงเหล่านี้จะเข้ามาลดการสูญเสียน้ำที่บริเวณริมฝีปากและช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวหนังที่บริเวณริมฝีปาก จึงช่วยลดภาวะริมฝีปากแห้งได้เป็นอย่างดี 

4.หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ทำให้ริมฝีปากแห้ง

ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีลมพักแรงและแสงแดดจัด เพราะทั้งสองอย่างนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ริมฝีปากแห้ง ยิ่งสายลมและแสงแดดในช่วงฤดูหนาวที่อากาศมีความชื้นน้อยมาก จะยิ่งทำให้ริมฝีปากสูญเสียความชุ่มชื้นจนทำให้ริมฝีปากแห้ง แตกและลอกเป็นขุยได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในสภาพอากาศดังกล่าวให้ทาปากด้วยครีมบำรุงริมฝีปากที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นและมีส่วนผสมที่สามารถกันแดดเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับริมฝีปากได้

5.การรับประทานอาหาร

ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของวิตามินตามธรรมชาติสูง โดยเฉพาะวิตามินบีและวิตามินเอที่มีส่วนในการเสริมสร้างเคราติน ( Keratin ) ที่มีหน้าที่ในการลดอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่อยู่ในแสงแดดและช่วยลดการการระเหยของน้ำจากผิวหนังที่บริเวณริมฝีปาก เช่น ธัญพืชไม่ขัดขาวอย่าง ข้าวกล้อง ผักใบเขียว เช่น ผักโขม บร็อคโคลี คะน้า และถั่วเปลือกแข็ง เช่น พวกเมล็ดอัลมอนด์ ถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ พีแคน รวมถึงปลาแซลมอน ไข่ไก่ มะม่วง สัปปะรด กีวี ลูกพืช บลูเบอร์รี ราสเบอร์รี สตอเบอร์รี ผักปวยเล้ง และเนื้อไก่ ที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุและน้ำอยู่ในปริมาณที่สูง วิตามินและแร่ธาตุที่ได้รับจากอาหารจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบการสร้างเคราตินให้มีการสร้างเซลล์เคราตินที่ทำให้มีเซลล์ผิวที่บริเวณริมฝีปากมีความแข็งแรง สามารถรักษาความชุ่มชื้นภายในเซลล์และลดการสูญเสียน้ำของเซลล์ให้น้อยลง และยังช่วยให้ร่างกายแข็งลดความเสี่ยงในติดเชื้อที่บริเวณต่อมน้ำลาย ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตน้ำลายเกิดขึ้นน้อยลงได้อีกด้วย

6.เปลี่ยนยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก

ควรเลือกใช้ยาสีฟันมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในสัดส่วน 1,350 -1,500 ppm และควรเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ผสมอยู่ เพื่อลดการสูญเสียความชุมชื้นของริมฝีปาก เนื่องจากการได้รับปริมาณฟลูออไรด์และแอลกอฮอล์ที่บริเวณริมฝีปากที่มากเกินไป

จะเห็นว่าการรักษาและป้องกันไม่ให้ริมฝีปากแห้งนั้น สามารถทำการรักษาและป้องกันได้ด้วยตนเองเพียงแค่ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างผักและผลไม้มาก ๆ ลดการสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ครีมทาบำรุงริมฝีปากอย่างต่อเนื่อง อาการริมฝีปากแห้งก็จะสามารถหายไปได้เองในระยะเวลาอันสั้น เพียงเท่านี้เราก็สามรรถเปลี่ยนริมฝีปากที่แห้ง แตก ลอกเป็นขุยที่น่ารังเกียจให้กลายเป็นริมฝีปากที่ชุ่มชื้น เปล่งปลั่งน่ามองอยู่กับตัวเราไปตลอดได้แล้ว

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Bork, Konrad (1996). Diseases of the oral mucosa and the lips (English ed.). Philadelphia, Pa. [u.a.]: Saunders. p. 10. ISBN 9780721640396.

Cohen, Bernard A. (2013). Pediatric Dermatology (Fourth ed.). Elsevier Health Sciences. p. Chapter 9.2. ISBN 9781455737956.

Archived March 20, 2012, at the Wayback Machine.
“Journal of the American Academy of Dermatology”, Volume 56, Issue 2, Pages AB94 – AB94