อาหารและยาที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิต
ความดันโลหิต คือ ความดันในหลอดเลือดที่หัวใจบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด

อาหารและยาสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิต

อาหารและยาสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิต เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในเรื่องของการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงทั้งแบบที่ต้องใช้ยาในการรักษา หรือผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงเล็กน้อยนั้น ก็คือ การปรับเปลี่ยนลักษณะหรือไลฟ์สไตล์ในการดำรงชีวิต ( Life Style Modification ) เพื่อที่การรักษาจะได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักคือ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยช่วยลดระดับความดันโลหิตให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี รวมไปถึงการลด ปริมาณยาควบคุมความดันให้น้อยลงไปจากเดิม ซึ่งก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทรมานกับโรคมากนัก และไม่ต้องเสียเงินในการรักษามากในระยะยาว

การดำรงชีวิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับแนวทางในการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในการดำรงชีวิตที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มีดังต่อไปนี้

1.งดสูบบุหรี่ และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
2.ควรออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการพักผ่อนให้เพียงพอ
3.ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อ้วนและน้ำหนักเกิน ( BMI ≥ 25กก./ม. )
4.การลดทานเค็ม และลดปริมาณเกลือที่ปรุงในอาหาร และลดไขมันอิ่มตัว พร้อมกันนี้ก็ควรเพิ่มการทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

จริง ๆ แล้วการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วยยังมีอีกมาก แต่จะขอพูดถึงในเรื่องของการปรับเปลี่ยนอาหารและการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นเท่านั้น เพราะว่าเรื่องของอาหารเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง การเลือกทานแต่อาหารที่มีประโยชน์จะช่วยลดระดับความดันของเลือด ช่วยควบคุม Metabolic Syndrome และช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เกี่ยวระบบหัวใจและหลอดเลือดได้

หลักการรับประทานอาหาร ( Dietary Change ) เพื่อควบคุมความดันโลหิตสูง

สำหรับหลักในการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงนั้น จะต้องเน้นในเรื่องของการลดความดันโลหิตเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นการประกอบอาหารของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะต้องหลีกเลี่ยงการใส่เกลือและโซเดียมลงไปให้มากที่สุด หรือเรียกว่างดอาหารเค็มไปเลย จากการศึกษาเกี่ยวกับปริมาณของโซเดียมในร่างกายที่จะมีผลต่อความดันโลหิตของเลือดนั้น ได้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือระดับต่ำ ระดับกลาง และระดับสูง โดยระดับต่ำสุดจะอยู่ที่ 1,500 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งเป็นระดับที่มีผลต่อการลดความดันโลหิตที่เห็นชัดเจนที่สุด นอกเหนือไปจากเรื่องของการบริโภคเค็มแล้ว ก็ยังมีเรื่องของการบริโภคอาหารในลักษณะที่ชื่อ “ DASH ” ( Dietary Approach to Stop Hypertension ) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

การประกอบอาหารของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะต้องหลีกเลี่ยงการใส่เกลือและโซเดียมลงไปให้มากที่สุด

โปรแกรมอาหาร DASH จะมีการเพิ่มผักและผลไม้เข้ามามากถึง 8-10 หน่วยบริโภค ( Serving ) ต่อวัน และด้วยความที่เพิ่มมามากขนาดนี้ ก็จะต้องไปลดการบริโภคไขมันที่ได้จากสัตว์ เช่น หมูและเนื้อติดมัน เบคอน หมูสามชั้น ให้ลดลงไป 2-3 หน่วยบริโภคแทน เน้นอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ เช่น กลุ่มธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว อกไก่ เนื้อปลา ไข่ขาว รวมทั้งลดการบริโภคน้ำตาลที่ได้จากเครื่องดื่มและของหวานอีกด้วย จากผลการวิจัยที่ให้ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งได้ทานอาหารโปรแกรม DASH ต่อเนื่องเป็นเวลา 8 สัปดาห์ สามารถลดความดันโลหิต Systolic BP ได้มากถึง 5.5 มม.ปรอท และลด Diastolic BP ได้มากถึง 3.0 มม.ปรอท โดยจะเห็นผลได้อย่างชัดเจนภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์
นอกจากโปรแกรมอาหาร DASH จะช่วยลดระดับไขมันในเลือดและ Lipoprotein ได้อย่างเห็นผลแล้ว ยังช่วยลดปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจ และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เป็นต้น

อาหารที่มีผลต่อกลไกทางพยาธิวิทยาของหัวใจหลอดเลือด

จากการวิเคราะห์พบว่า มีกลุ่มอาหารที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเพราะกลไกของระบบพยาธิสรีรวิทยาของโครงสร้างหัวใจและหลอดเลือดมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. อาหารที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหลอดเลือด

เมื่อระบบหลอดเลือดมีแรงดันที่สูงขึ้นมากกว่าเดิม ก็จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมา สาเหตุสำคัญที่ทำให้การควบคุมระดับความดันโลหิตให้คงที่หรือลดลงเป็นไปได้ยาก ก็คือเรื่องปริมาณของไขมันที่สะสมอยู่ตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณช่องท้อง เพราะไขมันชนิดนี้ถือว่าเป็นไขมันชั้นเลวสุดที่เรียกกันว่า Visceral Fat กำจัดออกได้ยาก เมื่อมีไขมันชนิดนี้มากๆ ก็จะเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ( Free Fatty Acid ) ทำให้ตับมีการสร้างน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายอีกทางหนึ่ง นอกจากจะเกิดภาวะดื้ออินซูลินแล้ว ไขมันชนิดนี้ยังไปลดการสร้างสาร Adiponection ทำให้การเอากลูโคสไปใช้ที่กล้ามเนื้อลดลงไปจากเดิม ซึ่งก็ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญไขมันและน้ำตาลได้อย่างเต็มที่ ปริมาณไขมันก็จะยิ่งสะสมเพิ่มมากขึ้น ภาวะดื้ออินซูลินก็จะแย่และอันตรายยิ่งกว่าเดิม รวมถึงยังมีโอกาสที่ไขมันชนิดนี้จะหลั่งสารชนิดหนึ่งออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด คือ PAI-1, Interleukin-6, Tumor Necrotic Factor-Alpha เมื่อหลอดเลือดอักเสบ เกล็ดเลือดก็จะถูกกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารบางอย่างเพื่อให้เกล็ดเลือดจับกลุ่มกัน และหลังจากนั้นก็จะปล่อยสาร Thrombin ออกมา ทำให้เลือดจับกลุ่มกลายเป็นลิ่ม
เลือด และนำไปสู่การแข็งตัวของหลอดเลือดแดงในที่สุด 

เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจึงจำเป็นที่จะต้องบริโภคอาหารประเภท Micronutrient ได้แก่คาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพ เพิ่มปริมาณผักผลไม้ ลดการทานไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลจากเครื่องดื่มและของหวาน ทั้งหมดนี้นอกจากจะช่วยลดระดับความดันโลหิตแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ช่วยควบคุมปริมาณไขมันในร่างกาย และยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

1.1 คาร์โบไฮเดรต ( Carbohydrate )

ควรมีการควบคุมการทานคาร์โบไฮเดรตให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพดี ( Carbohydrate Quality ) โดยหลักในการเลือกคุณภาพของคาร์โบไฮเดรตนั้น สามารถพิจารณาได้จากปัจจัยต่อไปนี้

  • ใยอาหาร ( Dietary Fiber ) : การบริโภคคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหาร หรือไฟเบอร์จำนวนมาก เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี (Whole Grains) ที่ประกอบไปด้วย ข้าวสาลี ข้าวเจ้า อาหารจากพืชตระกูลถั่วเปลือกแข็ง รวมถึงโปรตีนจากถั่วเหลือง น้ำนมถั่วเหลือง ผักและผลไม้ เป็นประจำ จำทำให้การดูดซึมแป้งและน้ำตาลลดลง เป็นผลทำให้ปริมาณสะสมของไขมันในร่างกายลดลง การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเบาหวานก็จะต่ำลงตามไปด้วย
  • Glycemic Index ( GI ) และ Glycemic load ( GL ) : GI คือ ผลของปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายได้รับจากอาหารที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด หรืออธิบายแบบง่าย ๆ ว่า ค่าระดับน้ำตาลในเลือด ( Blood Glucose ) ที่วัดได้ภายหลังจากที่คาร์โบไฮเดรตถูกย่อยไปแล้ว เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป

ส่วน GL คือผลจากการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของคาร์โบไฮเดรตจำนวนมาก หากคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับมีคุณภาพต่ำ ก็จะทำให้เกิดการย่อยไวกว่าปกติ เมื่ออาหารถูกย่อยก็จะมีการปล่อยกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ค่า GI ก็จะสูงตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน หากคุคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับมีคุณภาพดี ก็จะย่อยช้า การปล่อยกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดอยู่ในระดับคงที่ ไม่พุ่งสูงจนเกินไปแม้จะใช้เวลาในการย่อยไม่นาน มีผลให้มีค่า GI ต่ำ เมื่อค่า GI ต่ำร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินลดลง จึงทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน หรือปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายลดต่ำลง

การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป หรือการทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตคุณภาพต่ำ จะทำให้ค่า GI และค่า GL เพิ่มมากขึ้น การควบคุมระดับความดันในโลหิตก็จะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น โอกาสที่จะเกิดโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจก็จะมากขึ้นกว่าเดิม จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ในกลุ่มอาหารจำพวกข้าว แป้ง ข้าวบาร์เลย์มีค่า GI ต่ำที่สุด ส่วนขนมปังขัดขาว ( White Wheat Bread ) มีค่า GI สูงที่สุด

1.2 ไขมัน ( Fat )

  • ไขมันอิ่มตัว ( Saturated Fatty Acid: SFA ) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำมันสังเคราะห์ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของนม ได้แก่ ครีมเทียม กะทิ
  • ไขมันไม่อิ่มตัว ( Mono-Unsaturated Fatty Acid: MUFA ) เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับน้ำมันที่ทำจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันอัลมอนด์
  • Poly-Unsaturated Fatty Acid ( PUFA ) แบ่งตามตำแหน่งของพันธะคู่แรกใน Fatty Acid แบ่งออกเป็น Omega-3 Poly-Unsaturated Fatty Acid ( n-3 PUFA ) และ Omega-6 Poly-Unsaturated Fatty Acid ( n-6 PUFA ) ดังนี้

1.3 Omega-3 ได้แก่ Alpha-Linoleic Acid ( ALA ) พบได้มากในแหล่งอาหารที่สำคัญจากพืช เช่น น้ำมันคาโนลา ถั่ววอลนัท ถั่วเหลือง ส่วน Eicosapentaenoic Acid ( EPA )  +  Docosahexaenoic Acid ( DHA ) พบในแหล่งอาหารที่สำคัญจากปลา จึงเรียกว่า Fish Oil หรือน้ำมันปลา ที่แพทย์มักจะให้ใช้ทานเป็นอาหารเสริมเพื่อลดระดับไขมันในเลือด

ตารางชนิดอาหารที่มี omega-3, EPA+DHA,α-Linolenic Acid ( ALA ) 

ประเภทของอาหาร   EPA DHA ALA
ปลา Catfish
Cod
Mackerel
Salmon ( เลี้ยงในฟาร์ม )
Salmon ( เลี้ยงตามธรรมชาติ )
Salmon ( กระป๋อง )
Salmon, Chinook
ปลาดาบ
ปลาทูน่า Blufin
ปลาทูน่า light (ในน้ำมัน)
ปลาทูน่า light (ในน้ำเกลือ)
Trace
Trace
0.9
0.6
0.3
0.9
1.0
0.1
0.3
Trace
Trace
0.2
0.1
1.4
1.3
1.1
0.8
0.9
0.5
0.9
0.1
0.2
0.2
Trace
0.2
Trace
0.3
Trace
Trace
0.2

Trace
Trace
สัตว์น้ำจำพวกมีเปลือกอื่นๆ
Lobster
หอย
กุ้ง

0.2
0.3

0.3
0.2

Trace
Trace
ถั่วและเมล็ดพืช
Butternuts
Flaxseed
Walnuts




8.7
18.1
9.1
น้ำมันพืช
Canola
Flaxseed


9.3
53.5

1.4. ไขมันอิ่มตัวที่ถูกดัดแปลง หรือไขมันทรานส์ พบมากในอาหารดังต่อไปนี้

  • อาหารที่ผ่านการทอดหลายครั้ง หรือผ่านการใช้น้ำมันเก่าเอามาทอด เช่น เฟรนฟรายด์ ไก่ทอด ขนมปังประเภทครัวซองต์ ปาท่องโก๋ ทอดมัน มาร์การีนที่ทำจากน้ำมันพืช ที่แล้วเติมไฮโดรเจนเข้าไปให้แข็งตัว เพื่อให้มีการจับตัวเป็นก้อน แล้วนำมาทาบนขนมปัง หรือเอาไปประกอบอาหารอื่น ๆ
  • เนื้อสัตว์ประเภทสัตว์เคี้ยวเอื้อง ( Ruminant ) เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ และเนื้อแพะ

การบริโภคอาหารที่มี TFAs สูง ซึ่งก็คืออาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ตามที่กล่าวมา แม้จะบริโภคเพียงแค่ 2% จากพลังงานทั้งหมด ก็อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ในระดับที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
สำหรับข้อแนะนำในเรื่องของการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงแบบโดยรวมของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงนั้น สามารถทานได้ไม่เกิน 25%-30% ของพลังงานรวมทั้งหมด เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการช่วยควบคุมภาวะ Metabolic Syndrome และควบคุมการเกิดเบาหวานไม่ให้สูงมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับไขมันในร่างกายให้น้อยลง สุขภาพก็จะดีขึ้นตามลำดับ จากผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักลดลงไปจากเดิมร้อยละ 5-10 จะช่วยลดความ ดันโลหิต ลดระดับไขมันในเลือดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจากการศึกษางานวิจัยทางคลินิกที่ได้ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 48,835 ราย โดยกำหนดให้ลดการบริโภคอาหารเป็นเภทไขมันสูงลง 37.8% ของพลังงานรวมทั้งหมดให้เหลือเพียง 24.3% เป็นระยะเวลา 1 ปี และยังทำต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงระยะเวลา 6 ปี ผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือไม่พบความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดเลย

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยในการควบคุมอาหาร

1. การบริโภคอาหารไขมันต่ำ ( Low Fat Diet: LFD ) ใช้หลักการในการ “ ลด ” คือ ลด Cholesterol ในมื้ออาหารให้น้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน, ลด TFAs (อาหารที่มีไขมันทรานส์) ในมื้ออาหาร และลด SFA ในมื้ออาหารให้น้อยกว่าร้อยละ 7 ของพลังงานรวมทั้งหมด

2. การบริโภคอาหารเมดิเตอร์เรเนียน ( Mediterranean Diet ) อาหารเมดิเตอเรเนียนได้รับการยืนยันจากแพทย์และโภชนาการว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่สุดในโลก เห็นได้จากความแข็งแรงของชาวเมดิเตอเรเนียนที่ไม่ค่อยเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจและโรคความดันโลหิต โดยวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้น มักจะเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีและมีแคลอรี่ต่ำ เช่น ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ที่มีสารอาหารประเภท Bran and Germ มากเป็นพิเศษ สารอาหารประเภท Bran จะอุดมไปด้วย ไฟเบอร์ วิตามินบี และฟลาโวนอยด์ ส่วน Germ จะมี สารต้านอนุมูลอิสระ และ ไฟโตเคมิคัล การจัดโปรแกรมอาหารประเภทเมดิเตอเรเนียนนั้น จะต้องประกอบด้วย

  • อาหารที่ประกอบจากพืช เช่น ผัก ผลไม้ มันเทศ ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ ประโยชน์ที่ได้รับ ก็คือการเพิ่มใยอาหารให้กับร่างกาย ที่จะช่วยเข้าไปดูดซึมไขมันและค่าของไตรกลีเซอไรด์ไม่ให้สูงเกินไปภายหลังจากการบริโภคอาหาร
  • ดื่มไวน์ในระดับต่ำถึงปานกลาง เพื่อเป็นการบำรุงหัวใจและหลอดเลือด
  • เป็นอาหารที่มี Phytosterols สูง ซึ่งจะพบมากในน้ำมันที่สกัดจากผัก ผลไม้สด เกาลัด Grains Legumes สำหรับอาหารที่มี Phytosterols สูง จะช่วยให้การดูดซึมคอเลสเตอรอลของร่างกายมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
  • การประกอบอาหารใช้พืชผัก และผลไม้ที่ปลูกตามฤดูกาลและท้องถิ่น ถ้าหากต้องใช้น้ำมัน ก็จะใช้น้ำมันมะกอกเป็นหลัก การรับประทานของหวานของชาวเมดิเตอเรเนียน็คือ ผลไม้สด และถ้าหากต้องการความหวานมากขึ้นจะใช้น้ำผึ้งทดแทน
  • ไม่ค่อยทานอาหารที่ประกอบจากเนื้อแดง แต่จะทานไก่และปลาในปริมาณที่พอเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการบริโภคไข่ประมาณ 4 ฟองต่อสัปดาห์

3. บริโภคอาหารไทยโบราณ โดยปกติแล้ว อาหารไทยจะไม่ได้มีการแบ่งออกเป็นส่วนเหมือนกับอาหารฝรั่ง ถึงแม้ว่าเมนูอาหารไทยง่าย ๆ แบบข้าวราดแกงจะมีไขมันที่ได้จากเนื้อสัตว์และส่วนผสมบางชนิด แต่รสเผ็ดจากพริกและเครื่องเทศต่าง ๆ ก็จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันทดแทนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แกงบางอย่างก็จะมีรสมันโดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากะทิเลย เช่น แกงส้ม แกงป่า แกงเลียง เพราะเมื่อตักแกงเหล่านี้ราดลงไปในข้าวสวยร้อน ๆ กระบวนการบางอย่างก็จะเปลี่ยนให้มีความมันและอร่อยเพิ่มขึ้นได้เอง จึงทำให้อาหารมื้อนั้น ๆ เต็มไปด้วยความเผ็ดร้อนที่มีแคลอรี่ต่ำ และยังได้ใยอาหารจากพืช ผัก จำนวนมากที่ใส่ลงไป ซึ่งจะเข้าไปช่วยเพิ่มการดูดซึมไขมันและน้ำตาลในร่างกายของผู้ป่วย นอกจากนี้สมุนไพรไทยบางอย่างที่ได้ใส่ลงไปในอาหาร ก็ยังมีสรรพคุณที่ช่วยลดระดับไขมันและระดับความดันโลหิตได้ย่างน่าทึ่งอีกด้วย เช่น กระเทียม ที่ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล มะระ ช่วยลดความดันโลหิต แตงกวา ฟักเขียว ที่เป็นสมุนไพรออกฤทธิ์เย็น ก็ช่วยลดความดันโลหิตได้ไม่แพ้กัน การดื่มเครื่องดื่มประเภทชาบางชนิด ( ชาใบหม่อน ชาอู่หลง ) รวมไปถึงเก๊กฮวยที่ไม่หวานจัด ก็ช่วยลดไขมันในร่างกายได้เป็นอย่างดี

4. บริโภคอาหาร Omega-3 Fatty Acid ที่มีปริมาณ ALA, EPA และ DHA ในมื้ออาหารมีคำแนะนำการบริโภคที่มี omega-3 Fatty Acid ดัดแปลงจาก Kris-Etherton.,et al 2002 ดังนี้

ตาราง คำแนะนำการบริโภคอาหารที่มี Omega-3 Fatty Acid

กลุ่มผู้ป่วย
( Population )
ข้อแนะนำ ( Recommendation )
1. ผู้ป่วยไม่มีร่องรอยของโรคหลอดเลือดหัวใจ – ควรทานปลาและไขมันจากปลาให้มีความหลากหลายที่สุด อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันชนิด ALA เช่น Canola และน้ำมันจากถั่วเหลือง (Soy Bean Oil) Flax Seed และ Walnuts
2. ผู้ป่วยมีร่องรอยของโรคหลอดเลือดหัวใจ – หากต้องการทานอาหารเสริม EPA+DHA จะต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ก่อน
– ควรทานอาหารที่มี EPA+DHA ประมาณ 1 กรัมต่อวันโดยเฉพาะปลาและไขมันจากปลา
3. ผู้ป่วยที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง – กรณีที่ทำแล้วไม่ได้ผล ให้ใช้น้ำมันปลาเม็ดที่มีปริมาณ EPA+DHA 2-4 กรัมต่อวัน ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
– เน้นทานอาหารที่มี EPA+DHA โดยเฉพาะปลาทะเลประมาณ 3-4 ตัวต่อสัปดาห์

2. อาหารที่มีผลต่อการควบคุมระดับสมดุลน้ำในหลอดเลือด

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงในระดับเริ่มต้น ส่วนมากแล้วมักจะมีสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าสาเหตุต่าง ๆ เหล่านั้นจะมีความเชื่อมโยงกันแบบไม่น่าเชื่อ บางคนมีระดับความดันโลหิตในร่างกายสูงจากการได้รับปริมาณโซเดียมในร่างกายมากจนเกินไป สาเหตุนี้สามารถพบได้บ่อยในคนไทยและคนจีนที่ชอบรับประทานเกลือเยอะๆ ( บางคนทานผลไม้สดจิ้มเกลือกันแบบจริงจัง ) เมื่อร่างกายมีปริมาณโซเดียมสะสมในจำนวนมาก การควบคุมระดับน้ำในหลอดเลือดให้เกิดความสมดุลก็จะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ปริมาณน้ำนอกเซลล์ ( Increase Extracellular Volume ) ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ร่างกายมีการหลั่งสาร Catecholamine ออกมาในปริมาณมาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การบีบตัวของหัวใจเพื่อที่จะสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายก็จะต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย จนเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดกระบวนการที่ทำให้หลอดเลือดหดรัดตัว นำไปสู่กล้ามเนื้อหลอดเลือดมีความหนามากยิ่งขึ้น แรงต้านทานของหลอดเลือดเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุให้แรงดันของหลอดเลือดแดง และแรงดันของหลอดเลือดส่วนปลาย เกิดเป็นแรงดันเลือดสูงยิ่งถ้าหากว่าผู้ป่วยยังไม่ดูแลตัวเอง หรือไม่สามารถควบคุมระดับแรงดันของเลือดให้คงที่หรือลดต่ำลงได้ การทำงานของหัวใจก็จะต้องมีการบิดตัวให้แรงขึ้นตามไปด้วยเพื่อให้ร่างกายมีการสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกายอย่างเพียงพอ นานไปเรื่อย ๆ หัวใจก็จะเริ่มล้า และทำงานผิดปกติมากยิ่งขึ้น บางคนจึงมีอาการเจ็บหัวใจ วูบ และหน้ามืดตามมา ซึ่งก็เป็นเพราะการทำงานของหัวใจที่หนักจนเกินไป ในที่สุดจะทำให้เกิดการกระตุ้นของระบบ ร่างกายให้มีการหลั่ง Anti-Diuretic Hormones ( ADH ) ในปริมาณมาก โดยสาร ADH จะทำให้เกิดการดูดกลับของน้ำและเกลือเข้าสู่ร่างกาย เป็นเหตุให้มีโซเดียมมากขึ้นกว่าเดิม สุดท้ายแล้วก็จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงในระยะที่มีความรุนแรงและอันตรายมาก ถ้าหากยังไม่ดูแลตัวเอง หรือยังไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะภาวะหัวใจวายที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

ในการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้ป่วย ในเรื่องของการปรับอาหารคือ การลดการบริโภคอาหารที่เค็มจัด หรืออาหารที่มีส่วนผสมของเกลือในปริมาณมาก เพื่อให้ความดันโลหิตสามารถลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการศึกษาผู้ป่วยที่บริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือหรือมีรสเต็มจัด ( ทานเกลือแกงในปริมาณ 10.5 กรัมต่อวัน ) พบว่า หากมีการลดปริมาณเกลือลงเหลือแค่ 4.5 ถึง 5.8 กรัม / วัน ( ลดลงเกือบ 50% ) ความดันโลหิตจะลดลงประมาณ 4-6 มม.ปรอท ในขณะเดียวกันก็มีการศึกษาการลดปริมาณการทานโซเดียมในปริมาณปานกลาง หรือประมาณ 1,800 มิลลิกรัม / วัน ก็จะช่วยลด SBP ได้ประมาณ 5 มม. ปรอท และลด DBP ลงเท่ากับ 2.7 มม.ปรอท และถ้าหากว่าผู้ป่วยได้มีการจัดโปรแกรมอาหาร เช่นเลือกทานแต่คาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพดี ทานผักและผลไม้ ลดการทานอาหารที่มีไขมันสูงและลดน้ำตาล การควบคุมระดับความดันเลือดก็จะดีตามไปด้วย

อาหารที่ประกอบไปด้วยโซเดียม 

  • เครื่องปรุงแต่งรสชาติอาหาร เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอส
  • อาหารแปรรูป และอาหารสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ ไข่เค็ม ปลาเค็ม ผักดอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ขนมกรุบกรอบแบบซอง

สำหรับอาหารที่มีโซเดียม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. อาหารที่มีรสเค็มนำ
2. อาหารที่ไม่มีรสเค็มนำ แต่มีปริมาณเกลือที่มาจากกระบวนการผลิตจำนวนมาก

ตารางแหล่งอาหารโซเดียมอาหารที่มีรสเค็มนำ และไม่มีรสเค็มนำ

โซเดียมในรูปต่างๆ 

แหล่งอาหารที่พบ

โซเดียม คลอไรด์
( Sodium Chloride )
– ร่างกายของคนเรามีความต้องการโซเดียมสูงสุด ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายคือ 2,400 มิลลิกรัม ( มก. ) ต่อวัน ( คิดเป็นเกลือโซเดียมคลอไรด์ประมาณ 6 กรัมต่อวัน ) ซึ่งในอาหารปกติทั่วไปก็มักจะมีโซเดียมประมาณ 3-6 กรัม ( และมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ 40% ) นั่นคือ เกลือ 1 ช้อนชา ( 5 กรัม ) มีโซเดียม 2 กรัมหรือ 2,000 มก.
โซเดียม อัลจิเนต
( Sodium Alginate )
– Alginate เป็นโซเดียมที่มักจะนำไปเติมลงในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด โดยเฉพาะอาหารกระป๋องบางชนิด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความข้นหนืดและเพิ่มความคงตัวให้กับอาหาร รวมถึงทำให้เกิดเจลด้วย ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหาร/ขนมที่มีโซเดียม อัลจิเนต จึงอยู่ในอาหารสำเร็จรูปหลายประเภท เช่น น้ำซอสต่างๆ น้ำสลัด ไอศกรีม น้ําตาลไอซิ่ง และขนมที่มีลักษณะเป็นเจล รวมถึงพวกอาหารแช่แข็งทั้งหลาย
โซเดียม แอสคอเบต
( Sodium Ascorbate )
– วิตามินซี ( Vitamin C ) การที่ทำ Vitamin C เป็นรูปแบบเกลือ โดยใช้ Sodium Ascorbate Calcium Ascorbate หรือเกลืออื่นๆ เช่น Zinc Potassium Magnesium เพื่อลดความเป็นกรดของ Ascorbic Acid โดยทำให้อยู่ในรูปที่เป็นกลางมากขึ้น และช่วยลดอาการข้างเคียงบางอย่างของ Vitamin C เช่นปวดท้อง ท้องเสีย ที่เกิดจาก Ascorbic Acid ได้บ้าง
โซเดียม ไบคาร์บอเนต
( Sodium Bicarbonate )
– ผงฟู หรือเรียกว่า Baking Soda นิยมนำมาใช้ในการทำขนมต่างๆ เช่นขนมปังเค้ก
โซเดียม เบนโซเอต
( Sodium Benzoate )
– ใช้เพื่อเป็นสารกันบูด มักจะมีอยู่ในอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องต่างๆ เช่นอาหารกระป๋องต่างๆ พุดดิ้ง โยเกิร์ตปรุงแต่ง เบเกอรี่ ผักดอง เนยเทียม แยม เยลลี่
โซเดียม แซคคาร์ริน
( Sodium Saccharin )
– นำมาใช้ผสมในเครื่องดื่มแบบพร้อมดื่ม เช่น น้ำผลไม้กล่อง น้ำอัดลมกระป๋อง ผลไม้ดอง
โมโนโซเดียม กลูตาเมต
( Monosodium Glutamate )
– ผงชูรส นำมาใช้ผสมเป็นสารชูรส เช่น ซุปก้อนปรุงรสต่างๆ และยังนำมาใช้ในการปรุงรสของอาหารโดยตรงอีกด้วย
โซเดียม เคซีน เนท
( Sodium Caseinate )
– สารสกัดมาจากนมและผสมโซเดียมเพื่อเป็นตัวทำลาย นิยมใช้เพื่อทำผลิตภัณฑ์ประเภท ไอศกรีม เนยแข็ง ( Processed Cheese ) เวย์โปรตีนผง

ตัวอย่างข้อมูลปริมาณสารอาหารผลสลาก แบบย่อ

ข้อมูลโภชนาการ
หนึ่งหน่วยบริโภค : ………… (………….)
จำนวนหน่วยบริโภคต่อ …….. : ………..คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
พลังงานทั้งหมด…………กิโลแคลอรี่
________________________________________________ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน*
ไขมันทั้งหมด …… ก. ……..%
โปรตีน …… ก.
________________________________________________คาร์โบไฮเดรต …… ก. ……..%
น้ำตาล ……. ก.
โซเดียม …… มก. ……..%* ร้อยละของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ( Thai RDI ) โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี

ในปัจจุบันนี้ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ มักจะมีการระบุปริมาณของโซเดียมต่อมิลลิกรัม เช่น ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา ( ประมาณ 5 กรัม ) มีโซเดียม 300 กรัม การปรุงรสอาหารที่ใช้ซีอิ๊วมากกว่า 1 ช้อนชาขึ้นไป ก็จะมีปริมาณโซเดียมที่สูงตามไปด้วย เช่นเดียวกับการบริโภคขนมกรุบกรอบตามร้านสะดวกซื้อที่ระบุว่า มีปริมาณโซเดียม 450 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 2 อธิบายได้ว่า ขนมถุงนี้ควรแบ่งการกินออกเป็น 2 ครั้ง ถ้าหากว่ากินทั้งถุงในคราวเดียวกันก็จะได้รับโซเดียมสูงถึง 900 มิลลิกรัม ซึ่งก็เกือบจะครั้งหนึ่งของปริมาณโซเดียมทั้งหมดที่ควรได้รับแล้ว

เกร็ดความรู้ของหน่วยตวงอาหาร

1 ช้อนชา = 5 ซีซี
1 ช้อนโต๊ะ = 15 ซีซี
1 แก้วน้ำ ( ประมาณเป๊บซี่ 1 กระป๋อง หรือ เบียร์ 1 กระป๋อง ) = 240 ซีซี ( มิลลิลิตร )
1 แก้วน้ำ = 16 ช้อนโต๊ะ
1 ช้อนโต๊ะ = 3 ช้อนชา
1 ออนซ์ = 30 ซีซี ( มิลลิลิตร )

3. อาหารที่มีผลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติที่เป็นผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น

ระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก ( Sympathetic Nerves System ) จะมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้นอย่างว่องไวมาก ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด ความตื่นเต้น ความตกใจ รวมไปถึงการดื่มเครื่องที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนในปริมาณมาก จึงทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูงแบบฉับพลัน แต่ถ้าหากว่าภาวะนี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานเป็นปีโดยที่ไม่มีการควบคุมให้อยู่ในระดับคงที่หรือลดลง กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย  ( Left Ventricle ) ก็จะต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม เนื่องจากต้องออกแรงบีบตัวเพื่อต้านแรงดันนี้ เปรียบได้กับการปิดหน้าต่างในช่วงที่เกิดพายุเข้าอย่างรุนแรงนั่นเอง ตามกฎของ Frank-Staring เมื่อหัวใจบีบตัวถึงขีดสุดในปริมาณ 12 ถึง 18 มิลลิเมตรปรอทไปแล้ว หัวใจจะไม่สามารถบิดตัวลงมาได้ดังเดิม และจะเป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ( อาจมีผลทำให้เกิดการหมดสติถึงขั้นเสียชีวิตได้ ) ระบบ Sympathetic ในร่างกายจึงถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงมักจะพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงนั้น มักจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติอีกด้วย ซึ่งก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายมีการขยายตัวและมีความหนาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

เมื่อหัวใจบีบตัวถึงขีดสุดในปริมาณ 12 ถึง 18 มิลลิเมตรปรอทไปแล้ว หัวใจจะไม่สามารถปิดตัวลงมาได้ดังเดิม และจะเป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ( อาจมีผลทำให้เกิดการหมดสติถึงขั้นเสียชีวิตได้  )

เมื่อร่างกายเกิดภาวะ Tachycardia ( กล้ามเนื้อหัวใจบิดตัว ) เป็นเวลานาน ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีความล้าจากการทำงาน จนส่งผลให้เกิดความผิดปกติของหัวใจได้ ยิ่งถ้าหากว่าเป็นร่วมกับภาวะ LVH ก็จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลลงไปหล่อเลี้ยงที่ไตได้อย่างเพียงพอ ก็จะทำให้ไตก็จะกระตุ้นการหลั่ง Rennin ที่ทำให้เกิดการดูดกลับของน้ำและเกลือ จึงทำให้มีเลือดเสียไหลย้อนขึ้นไปบนหัวใจห้องขวาบนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่ม Preload และเพิ่ม After Load ของหัวใจห้องล่างซ้ายตามมา จึงทำให้ผู้ป่วยอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลวจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต 

สำหรับเครื่องดื่มที่มีผลต่อการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเธติก ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หัวใจมีการบีบตัวมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นภาวะที่มีความอันตรายเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่หัวใจต้องทำงานหนักในการเพิ่มแรงต้านทานในการควบคุมแรงดันของหลอดเลือดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องมีการควบคุม เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณมาก เพื่อไม่ให้หัวใจต้องทำงานหนักเกินไป และถ้าหากว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ขอแนะนำการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ให้มีประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุดดังต่อไปนี้

1. แอลกอฮอล์ ( เหล้า เบียร์ ไวน์ )

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณ 1-2 แก้ว / วัน จะทำให้อัตราการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดต่ำลง รวมถึงอัตราการตายก็จะต่ำลงด้วย ซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจระหว่างแอลกอฮอล์และระบบหัวใจกับหลอดเลือด การผลการวิจัยที่ได้ทดลองให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม พบว่าค่าความดันโลหิตทั้ง SBP และ DBP ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยตัวเลขหรือปริมาณเครื่องดื่มที่เหมาะสมที่จะนำมาให้ผู้ป่วยดื่มนั้น คิดจากปริมาณของเอทานอล สำหรับผู้ป่วยชายไม่ควรดื่มเกินวันละ 20-30 กรัม ( ไม่เกิน 2 หน่วยบริโภคต่อวัน ) และสำหรับผู้ป่วยหญิงไม่ควรเกินวันละ 10-20 กรัม (ไม่เกิน 1 หน่วยบริโภคต่อวัน )

ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่พอเหมาะพอดีซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจที่แนะนำ คือ 
1. สุราที่มีแอลกอฮอล์ 40% = 45 มิลลิลิตร
2. ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 12% = 150 มิลลิลิตร
3. เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% = 360 มิลลิลิตร

ส่วนผู้ที่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เลย เพราะจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ง่าย คือ
1. ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์
2. ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี
3. ผู้ที่อยู่ในระหว่างการพักรักษาตัว หรือต้องใช้ยารักษาอาการป่วย
4. ผู้ที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ มีโรคประจำตัว และมีภูมิคุ้มกันต่ำ
5. ผู้ที่ต้องทำงานด้วยการใช้ทักษะและสมาธิ รวมทั้งต้องขับขี่ยานพาหนะ
6. ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมตนเองและไม่สามารถควบคุมปริมาณในการดื่มได้
7. ผู้ที่เคยผ่านการบำบัดการเสพติดสุราและสารเสพติด

2. ชา กาแฟ

เครื่องดื่มที่ส่วนผสมของคาเฟอีนอย่างชาและกาแฟ เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด เพราะอาจเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้หัวใจมีการทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ควรดื่มไม่เกินวันละ 1 แก้ว หรือให้เลี่ยงไปดื่มชาเขียวแทน เพราะถึงแม้ว่าชาเขียวจะมีคาเฟอีนที่ไม่ต่างกับชาชนิดอื่น ๆ

3. เครื่องดื่มอื่นๆ ( Sugar-Sweetened Beverages )

ตาราง เครื่องดื่มอื่นๆ ( Sugar-Sweetened Beverages )

ขอแนะนำ

( Recommendation )

เป้าหมายการบริโภค

( Goal )

ขนาดการบริโภค

( Serving Size )

Sugar-Sweetened Beverages Sweets and Bakery Foods จำกัดการบริโภค ( Limit Intake ) สูงสุดไม่เกิน 5 Servings/wk – Cookie, Doughnut, หรือ Muffin หนึ่งชิ้นเล็ก
– Cake หรือ ขนม Pie ที่ Slice หนึ่งชิ้น
– เครื่องดื่ม 8 oz

4. Micronutrient มีเครื่องดื่มมากมากที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และอยู่ในกลุ่ม Flavonoids เช่น โกโก้ ( Cocoa ) ที่สามารถนำมาชงเป็นเครื่องดื่ม หรือผลไม้ประเภท แอปเปิ้ล และองุ่น ที่สามารถนำมาทำเป็นน้ำผลไม้ดื่มได้ แต่ต้องไม่ใส่สารใด ๆ เพิ่มเติมรวมทั้งน้ำตาลและน้ำเชื่อม นอกจากนี้สารฟลาโวนอยด์ยังพบได้ในไวน์แดง และถั่วเหลือง เพราะฉะนั้นเครื่องดื่มที่ทำจากถั่วเหลืองโดยไม่ผสมสารใด ๆ ก็นับว่าเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเป็นอย่างยิ่ง

จากการทดลองพบว่า สารฟลาโวนอยด์ช่วยลดระดับความดันโลหิตได้เป็นอย่างดี

จากการทดลองให้ผู้ป่วยได้รับประทานโกโก้ หรือ ดาร์คช็อคโกแลต ในปริมาณเพียง 6.3 g ก็สามารถลดค่า SBP ลงได้ 5.9 มม.ปรอท และลดค่า DBP ลงได้ 3.3 มม.ปรอท

การรักษาและการป้องกันและชะลอการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ต้องมีการปฏิบัติแบบบูรณาการร่วมกันทั้งเรื่องของการใช้ยา และการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตให้เหมาะสม ซึ่งก็จะมีเรื่องของ การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คือการบริโภคผักและผลไม้สดเพิ่มมากขึ้น หลีกเลี่ยงหรือลดการทานอาหารที่มีไขมันสูงและมีน้ำตาลมาก รวมถึงการลดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารให้น้อยลง ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลของปริมาณน้ำในร่างกาย ไม่ให้ค่าไตรกลีเซอไรด์สูงจนเกินไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เครื่องดื่มบำรุงร่างกายต่างๆ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเธติก หรือระประสาทอัตโนมัติ ควบคู่ไปกับการติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเรื่องของการประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของร่างกาย ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด และจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยรายต่อ ๆ ไปอีกด้วย

การใช้ยาลดความดันโลหิต

การรักษาหรือควบคุมระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยด้วยยานั้น จะต้องเน้นใช้ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งระบบ Neurohormornal Response ของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงนั้น จะมีระบบ Neurohormornal Response ด้วยกันถึง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบประสาทอัตโนมัติ ซิมพาเธติก ( Sympathetic Nervous System: SNS ) ระบบเรนนิน แองจิโอเทนซิน ( Rennin-Angiotensin System : RAS ) และปริมาณโซเดียมในร่างกาย เพราะฉะนั้น การพิจารณาเลือกใช้ยาของแพทย์ จึงต้องขึ้นอยู่กับการประเมินสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายที่มักจะมีอาการแตกต่างกันไป เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหา SNS ทำงานมากผิดปกติ ก็อาจจะเหมาะกับการใช้ยาในกลุ่ม Beta-Blockers ส่วนผู้ป่วยที่มีปัญหา RAS ทำงานมากเกิน น่ก็จะต้องเลือกใช้ยากลุ่ม RAS Blocker และผู้ป่วยที่มีปริมาณโซเดียมในร่างกายสูง ก็อาจจะต้องใช้ยาประเภท Diuretics แต่ทั้งนี้ แพทย์อาจมีการพิจารณาให้ใช้ยามากกว่า 1 หรือ 2 ตัวในกลุ่ม หรือจะเป็นการข้ามกลุ่มกันเลยก็ได้ เพื่อให้ประสิทธิภาพในการรักษาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

สำหรับการใช้ยาเพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั่วไปในระยะแรก จะเริ่มจากการใช้ยาในกลุ่ม Beta-Blocker และยากลุ่ม Diuretic ที่เป็นยาขับปัสสาวะ แต่ถ้าการประเมินพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะ Metabolic Syndrome เพิ่มขึ้นด้วย ก็อาจจะต้องงดใช้ยา Beta-Blocker เพราะอาจจะทำให้ภาวะดื้ออินซูลินมีอาการที่แย่ลงกว่าเดิม และถ้าพบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน และต้องการที่จะป้องกันให้ได้มากที่สุด ก็อาจจะมีการพิจารณาให้ใช้ยา Angiotensin Converting Enzyme Inhibitor ( ACEI ) เว้นแต่ว่า ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต หรือมีปัญหาท่อไตติดทั้งสองข้าง หรือมีผลข้างเคียงจากการรับประทานยากลุ่ม ACEI ก็จะต้องใช้ยากลุ่ม Angiotensin Receptor Block ( ARB ) แทน และถ้าหากว่าผู้ป่วยยังมีข้อห้ามในการใช้ยาทั้ง ACEI และ ARB ก็อาจจะต้องมีการพิจารณาให้ยากลุ่มที่สองได้แก่ กลุ่ม Calcium Channel Blocker ( CCB ) ในการรักษาโรคแทน
จากที่กล่าวมานั้นจะพบว่า การใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิต ไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้และผลข้างเคียงของการใช้ยา เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินสุขภาพของผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป จากการศึกษาในการรักษาผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปด้วยยา พบว่า ยาที่แพทย์ส่วนใหญ่พิจารณาให้ผู้ป่วยคือยากลุ่ม Beta-Blocker ถึง 57.1% และมีการใช้ยากลุ่ม Calcium Channel Blocker ( CCB )ในรายที่ไม่มีข้อห้ามและไม่มีโรคร่วม อีก 35.7% และปิดท้ายด้วยการให้ยากลุ่ม ACEI อีก 7.1% โดยเป็นการให้ยา ACEI ร่วมกับ Diuretic ที่มีผลในการรักษาต่างกัน แต่มีทิศทางเดียวกัน โดยเน้นในเรื่องของผลลัพธ์เป็นหลัก

สำหรับแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2555 ของประเทศไทยที่จัดทำโดยสมาคมความดันโลหิตแห่งประเทศไทย ได้แนะนำหลักการใช้ยาลดความดันโลหิตใน 4 กลุ่ม ที่นิยมใช้กันทั่วโลก และมีผลในการรักษาค่อนข้างดี คือ

1. Thiazide – Type Diuretics
2. Calcium Channel Blockers ( CCBs )
3. Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors ( ACEI )
4. Angiotensin II Receptor Blockers ( ARBs )

ตารางการบูรณาการใช้ยาลดความดันโลหิตกับอาหารที่เหมาะสม

ยาที่ใช้ในการรักษา อาหารที่เหมาะสม
1. Calcium Channel Blocker ( CCBs )
เป็นยาที่มีฤทธิ์ในขยายหลอดเลือดแดง ซึ่งจะช่วยลดการทำงานของหัวใจไม่ให้หนักจนเกินไป ยาบางชนิดในกลุ่มนี้ อาจทำให้การเต้นของหัวใจ และปริมาณการใช้ออกซิเจนของหัวใจลดลง ไม่เหมาะกับการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต ( Cr>1.5 ) เพราะเมื่อทานยาเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดการไวต่อเหลือและน้ำ ที่เป็นสาเหตุของการบวมน้ำได้
ควรเลือกรับประทานอาหารตามโปรแกรม DASH diet อย่างเคร่งครัด ร่วมกับการลดการทานเค็ม ลดปริมาณเกลือและโซเดียมในการปรุงอาหาร เพื่อไม่ให้ไตต้องทำงานหนัก และมีค่า BUN/Cr สูงจนเกินไป
2. ACEI หรือ ARB
เป็นยาที่มีฤทธิ์ โดยการใช้เอนไซม์ไปยับยั้งการกระตุ้นของระบบ RAS ซึ่งจะทำให้เกิดผลคือ การลดการหลั่ง rennin ที่ไต และยับยั้งการหลั่งของ angiotensin I ไม่ให้เปลี่ยนเป็น angiotensin II ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง จึงช่วยลดแรงต้านทานของหลอดเลือดส่วนปลายทั่วร่างกาย จึงสามารถลดระดับความดันโลหิตได้ทั้งค่า SBP และค่า DBP โดยที่หัวใจไม่เต้นเร็วมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า ACEI/ARB ช่วยลด LVH และลดการหลั่ง ADH ที่จะช่วยป้องกันการดูดซึมเกลือและน้ำกลับเข้าสู่หลอดเลือดได้ แต่อาจจะต้องระวังในเรื่องของการโพแทสเซียมที่จะสะสมในร่างกายแทน ไม่ควรใช้ร่วมกับ beta-blocker เพราะอาจจะทำให้ไตเสื่อมได้ไวกว่าเดิม ซึ่งอาจจะทำเกิดปัญหากับสุขภาพมากยิ่งขึ้น
ควรบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของ Vitamin K สูง สามารถพบได้ในผลไม้บางชนิด เช่น ส้ม กล้วยหอม องุ่น อะโวคาโด รวมไปถึงผักต่าง ๆ เช่น บล็อคโคลี่ กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี มะเขือเทศ รวมไปถึงน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันมะกอก
ปริมาณ vitamin K ในผักใบเขียวแสดงดังตาราง
3. Thiazide – Type Diuretics
ยาชนิดนี้ควรมีการพิจารณาในการนำไปใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถออกฤทธิ์ส่งเสริมกันได้ เช่น ACEI/ARB หรือ CCB เพื่อลดการเกิดปัญหาเกลือและน้ำคั่งในร่างกาย และเพื่อให้การควบคุมระดับความดันโลหิตเป็นไปในทิศทาที่ดีขึ้นด้วย แต่ข้อควรระวังคือห้ามใช้คู่กับ beta-blocker เพราะอาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเดิม ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นมาได้
ยาที่มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ จึงอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีกรดยูริกในตัวเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับร่างกาย เช่น หน่อไม้ ยอดกระถิน ยอดชะอม ควรบริโภคผักและผลไม้ที่มี Vitamin K ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้โพแทสเซียมในร่างกายต่ำจนเกินไป และควรบริโภคอาหารตามโปรแกรม DASH diet เพื่อไม่ให้ไตเกิดภาวะเสื่อมเร็วก่อนกำหนด
4. Beta-Blocker
ยานี้จะออกฤทธิ์เพื่อยับยั้งการกระตุ้นของประสาทอัตโนมัติ จึงอาจจะทำให้หัวใจเต้าช้าลงกว่าปกติ ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องดีที่หัวใจจะได้รับการพักผ่อนมากยิ่งขึ้น การรับเลือดแดงจากหัวใจห้องบนซ้ายเข้ามาสู่หัวใจห้องล่างซ้ายก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็จะเป็นไปในทิศทางที่ดีโดยที่หัวใจไม่ต้องทำงานหนักเหมือนที่เคยเป็นมา แรงดันของโลหิตก็จะค่อย ๆ ลดลงตามไปด้วยเพราะฉะนั้นจึงช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดหัวใจได้ไปในตัว ถึงจะมีประโยชน์มากมาย แต่การเลือกใช้ยา Beta-Blocker ก็มีข้อควรระวังมาก เพราะจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากการใช้ยาไปนาน ๆ อาจมีผลทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลินได้ผู้ป่วยจึงอาจจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเดิม เป็นเหตุให้เกิดการช็อก และหมดสติ นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังในการใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่ม Metabolic Syndrome เป็นอย่างยิ่ง- ยาในกลุ่ม Beta-Blocker ส่วนใหญ่ มักจะมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ผู้ป่วยจึงต้องเลือกทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพดี หรือมีใยอาหารสูง ซึ่งก็คืออาหารประเภทธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวสาลี ข้าวเจ้า ถั่วเปลือกแข็ง รวมถึงโปรตีนจากถั่วเหลือง น้ำนมถั่วเหลือง ผักและผลไม้ เพราะอาหารเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มการดูดซึมแป้งและน้ำตาล จึงช่วยลดระดับน้ำตาล และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานขึ้นได้
ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะกระตุ้นให้หัวใจมีการเต้นเร็วผิดปกติ ซึ่งจะสวนทางกับฤทธิ์ของยาที่ทำให้หัวใจเต้นช้าลง เป็นผลให้ยาออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ และ ควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตในมื้ออาหารไม่ให้มากจนเกินไป และต้องพิจารณาคาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพดี ย่อยช้า และมีค่า GI ต่ำ

การรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ เพื่อเน้นในเรื่องของการป้องกัน การควบคุมและการลดความดันโลหิตให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ต้องเน้นที่เรื่องของการปรับอาหารเป็นหลัก ร่วมกับเรื่องของการงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ นอกจากนี้ก็ต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก ส่วนการรักษาทางการแพทย์นั้น ก็คือการเลือกยารักษาให้เหมาะสมและถูกต้องกับอาการของคนไข้ โดยจะต้องคำนึงถึงผลของการใช้ยาในกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อคนไข้ได้ โดยยาที่นำมาใช้นั้น อาจจะมาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรืออาจจะข้ามกลุ่มกันก็ได้ แต่จะน้องเน้นในเรื่องของผลลัพธ์ในการรักษาเป็นหลัก และต้องระวังเรื่องผลของยาที่อาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะส่วนอื่นของคนไข้ การบูรณาร่วมกันระหว่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตร่วมกับยาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากผู้ป่วยสามารถควบคุมเรื่องของอาหารได้ แพทย์ก็อาจจะพิจารณาในการสั่งยาน้อยลง ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้นในแง่ของความคุ้มค่า

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศิริอร สุนธุ, พิเชต วงรอต, สมาคมผู้จัดการรายกรณีประเทศไทย, การจัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์วัฒนาการพิมพ์, 2557. 242 หน้า, ISBN:978-616-92014-0-3.

Ogedegbe, Gbenga; Pickering, Thomas (2010-11-01). “Principles and techniques of blood pressure measurement”. Cardiology Clinics. 28 (4): 571–586.