
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Urinary Bladder Cancer)
กระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ โดยจะอยู่ในช่องท้องน้อยเหนือกระดูกหัวหน่าว ทำหน้าที่เก็บน้ำปัสสาวะจากท่อไตซ้ายขวา เพื่อรอขับถ่ายออกนอกร่างกายต่อไป ซึ่งในผู้ชายกระเพาะปัสสาวะจะอยู่ติดกับต่อมลูกหมากและลำไส้ตรง ส่วนในผู้หญิงก็จะอยู่ติดกับมดลูก ช่องคลอดและลำไส้ตรงนั่นเอง ดังนั้นในกรณีที่เป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ก็จะเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะเหล่านี้ก่อน และยังส่งผลกระทบต่ออวัยวะเหล่านี้ได้สูงอีกด้วย
กระเพาะปัสสาวะของคนเราจะประกอบไปด้วยเซลล์หลายชนิด ซึ่งได้แก่ เซลล์ต่อมน้ำเหลือง กล้ามเนื้อ เยื่อเมือกบุ เส้นเลือดและกล้ามเนื้อ โดยเซลล์เหล่านี้ล้วนสามารถเกิดเป็นมะเร็งได้ทั้งสิ้น แต่ที่พบได้บ่อยมากที่สุดก็คือโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง และมักจะเกิดจากเซลล์ของเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดจากอะไร?

สำหรับสาเหตุของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ยังไม่พบสาเหตุที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงรวมกัน ซึ่งได้แก่
– เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการแบ่งตัวและการตายของเซล์ปกติ
– ผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
– ทำอาชีพบางอย่างที่มีสารก่อมะเร็งบางชนิด ทำให้เกิดการสะสมของสารก่อมะเร็งเป็นเวลานานและกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในที่สุด
– เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนทำให้เซลล์กลายพันธุ์และเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด
– เกิดการอักเสบเรื้อรังของกระเพาะปัสสาวะ จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะพบบ่อยหรือไม่
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคร้ายที่พบได้มากจนติด 10 อันดับโรคที่พบในชายไทยเลยทีเดียว และพบได้มากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า ดังนั้นผู้ชายจึงควรระมัดระวังและดูแลสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีกี่ชนิด
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีมากหลายชนิด แต่จะพบมะเร็งชนิดทรานซิซันแนลหรือทีซีซีได้มากที่สุด โดยพบบ่อยถึงประมาณร้อยละ 90 เลยทีเดียว
ส่วนระดับความรุนแรงของโรคจะอยู่ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตามแม้ความรุนแรงจะอยู่ในระดับนี้แต่ก็มีความอันตรายไม่น้อย
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีอาการอย่างไร

อาการของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ยังไม่พบอาการที่เฉพาะตายตัว แต่สามารถสังเกตได้จากความผิดปกติหลายอย่างรวมกัน ซึ่งพบว่าอาการของโรคมะเร็งชนิดนี้จะมีความคล้ายคลึงกับการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง โดยอาหารที่สังเกตได้ มีดังนี้
– ปัสสาวะเป็นเลือด โดยมีเลือดปนมากับปัสสาวะ
– มีอาการปวดขัดและปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ นอกจากนี้ในบางคนก็อาจมีอาการท้องผูกด้วย นั่นก็เพราะเกิดการกดทับของก้อนมะเร็งที่ลำไส้ตรงนั่นเอง
– ในระยะที่ลุกลาม จะคลำเจอกับก้อนเนื้อบริเวณช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ? แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยสอบถามจากประวัติอาการของผู้ป่วย พร้อมกับตรวจร่างกายและตรวจปัสสาวะร่วมด้วย และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุด แพทย์จะทำการส่องกล้องตัดชิ้นเนื้อจากกระเพาะปัสสาวะเพื่อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะให้ผลการตรวจที่แน่นอนที่สุด
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีกี่ระยะ
โรคมะเร็งชนิดนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยได้แก่
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไม่มาก โดยจะลุกลามไปเฉพาะที่ชั้นเยื่อบุภายในของกระเพาะปัสสาวะเท่านั้น
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งได้ลุกลามไปยังชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีความรุนแรงในระดับหนึ่ง ซึ่งระยะนี้มะเร็งได้ลุกลามออกไปนอกกระเพาะปัสสาวะเข้าเนื้อเยื่อรอบๆ กระเพาะปัสสาวะแล้วนั่นเอง
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่รุนแรงที่สุด โดยมะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย และแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและเส้นเลือด ซึ่งก็อยู่ในระยะที่รักษาให้หายได้ยาก
รู้ได้อย่างไรว่ากำลังเป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะไหน
การจะทราบว่ากำลังป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะไหนนั้น จะสามารถตรวจได้จากการสอบถามประวัติ อาการของผ็ดป่วยและส่องกล้องตัดเชื้อเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เช่นเดียวกับวิธีการตรวจหามะเร็ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น
วิธีการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
สำหรับการรักษาจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้รังสีรังษาและทำเคมีบำบัด ซึ่งยังไม่มียารักษาที่ตรงเป้า โดยในปัจจุบันก็กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยยาอยู่นั่นเอง
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีโอกาสรักษาหายไหม
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ยากกว่าโรคมะเร็งชนิดอื่นเป็นอย่างมาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรค และการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกด้วย โดยหากผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้หมด ก็จะหายเป็นปกติ แต่อย่างไรก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้เหมือนกัน
วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยการสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเอง ซึ่งหากพบความผิดปกติใด ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยได้ทันและทำการรักษาได้อย่างรวดเร็ว
การป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
การป้องกันโรคมะเร็งชนิดนี้ ก็ยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ชัดเจนเช่นกัน ดังนั้นต้องอาศัยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งแทน หากหลีกเลี่ยงได้ ก็จะลดโอกาสการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะไปได้เยอะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
- “มะเร็ง” เกิดจากอะไร ? (Causes of Cancer) http://amprohealth.com/cancer/causes/
- โรคมะเร็งปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรม http://amprohealth.com/cancer/environmental-and-genetic-risk-factor/
- รู้ทันสัญญาณมะเร็ง การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง http://amprohealth.com/cancer/diagnosis/
- ถาม – ตอบ ปัญหาเกี่ยวกับมะเร็ง http://amprohealth.com/cancer/general-question-answer/
- “มะเร็ง” โรคร้ายที่ใครๆก็เป็นได้ http://amprohealth.com/cancer/knowledge/
- โรคมะเร็ง คืออะไร? http://amprohealth.com/cancer/meaning/
- โรคมะเร็งองคชาติ (Penile Cancer) http://amprohealth.com/cancer/penile/
- โรคมะเร็งไต (Kidney Cancer) http://amprohealth.com/cancer/kidney/
- โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) http://amprohealth.com/cancer/prostate/
- โรคมะเร็งท่อน้ำดี http://amprohealth.com/cancer/cholangiocarcinoma/
- โรคมะเร็งกรวยไตและมะเร็งท่อไต http://amprohealth.com/cancer/kidney-cone/
เอกสารอ้างอิง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์. รู้ก่อนเข้าใจการตรวจรักษามะเร็ง. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2557.
พยาบาลสาร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะหลังผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายปัสสาวะ”. (พัชรินทร์ ไชยสุรินทร์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tci-thaijo.org. [05 พ.ค. 2017].
โรงพยาบาลมะเร็งสมัยใหม่กว่างโจว. “มะเร็งตับกระเพาะปัสสาวะ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.moderncancerthai.com. [04 พ.ค. 2017].