โรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s Disease )
โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากการตายของเซลล์สมอง ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลง จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย

โรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s Disease )

อัลไซเมอร์ หรือโรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมส่งผลโดยตรงต่อสมองส่วนควบคุมควมทรงจำ ความคิด อารมณ์ โรคอัลไซเมอร์จะพบมากในผู้สูงอายุ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามสาเหตุ ได้แก่
1.ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาให้หายขาดได้ 2.ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด

โรคอัลไซเมอร์จะพบว่าผู้ป่วยส่วนมากที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะเป็นโรคสมองเสื่อมด้วย จากอายุเฉลี่ยของคนไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน พบว่า คนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตามข้อมูลในระหว่างปี พ.ศ. 254-2556 ชี้ให้เห็นว่า อัลไซเมอร์จะเกิดในคนอายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ปี เมื่อดูข้อมูลเฉพาะปี พ.ศ. 2556 จะพบว่า เพศหญิงมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 78 ปี ส่วนผู้ชายมีอายุเฉลี่ยถึงจะน้อยกว่าผู้หญิงแต่ก็สูงถึง 71 ปี ซึ่งอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลมาจากการพัฒนาทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในการรักษาและการดูแลสุขภาพ และคนไทยในปัจจุบนเมื่อเทียบกับคนสมัยก่อน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตถูกสุขลักษณะมากขึ้นกว่าคนสมัยก่อน แต่เมื่อเทียบกับคนต่างชาติแล้ว คนไทยยังมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าคนต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่คนไทยพบน้อยกว่าคนต่างชาติเช่นกัน

เมื่อดูสัดส่วนการเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อม กับการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ของคนไทยกับคนต่างชาติ จากผลการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุคนไทยจำนวน 10 ที่เป็นโรคสมองเสื่อม จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ จำนวน 5-6 คน ส่วนผู้สูงอายุชาวต่างชาติที่เป็นโรคสมองเสื่อม จำนวน 10 คน เป็นโรคอัลไซเมอร์สูงถึง 8 คน ถือว่ามีเปอร์เซ็นสูงมากจนน่าตกใจ และนอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางสถิติว่า คนไทยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มักจะมีโรคหลอดเลือดในสมองมากกว่าชาวต่างชาติที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ สูงถึงร้อยละ 30-70 ของคนที่มีปัญหาหลอดเหลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองตีบตัน

ความจำ ปัญหาหนักของโรคอัลไซเมอร์

อาการอัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อมหรือหลงๆลืมๆ จำอะไรไม่ค่อยได้ เป็นอาการที่พบในคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีอาการความจำระยะสั้นหาย อาการอัลไซเมอร์จะจำสภาพแวดล้อมตัวเองอยู่ไม่ได้ จึงมักจะได้ยินได้เห็นข่าวที่ตามหาผู้สูงอายุที่ออกจากบ้านไปแล้วหาทางกลับไม่ถูก เมื่อมีคนถามว่าบ้านอยู่ไหนก็จะตอบไม่ถูก ซึ่งเราจะพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มักจะถามคำถามซ้ำๆเดิมๆบ่อยๆ แต่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะจำเรื่องราวในอดีตได้ จึงมักจะพูดถึงแต่เรื่องในอดีต เช่น สมัยเรียนชั้นประถม เรียนที่ไหน ความประทับใจมีอะไรบ้าง สามารถเล่าออกมาได้ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า ความทรงจำเก่าๆในอดีตได้ฝังรากลึกลงในสมองหลายส่วนก็เลยทำให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สามารถจำเรื่องราวในอดีตได้

ในการทดสอบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในความจำใหม่ๆที่ป้อนเข้าไปจะพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถจำความจำใหม่ๆได้ เช่น ทดสอบให้ผู้ป่วยอ่านคำ 5 คำ แล้วให้จำเอาไว้ ให้ท่องและพูดตาม หลังจากนั้นก็ไปทดสอบเรื่องอื่นต่อ เช่น ให้ ดูรูปภาพ บรรยายรูป ให้แปลสุภาษิต ให้บวก ลบ คูณ หาร จากนั้นสักพักกลับมาย้อนถามเรื่องคำ 5 คำที่ให้ท่องไว้ ว่ามีคำอะไรบ้าง และมีตัวช่วยเพื่อให้ผู้ป่วยจำได้ แต่ปรากฏว่าผู้ป่วยจำไม่ได้ นั่นคือ อาการของโรคอัลไซเมอร์
มีการค้นพบถึงสาเหตุของความจำระยะสั้นของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ พบว่าสาเหตุเพราะสมองส่วนกลีบขมับด้านใกล้กลาง ( Medial Temporal Lobe ) มีผลเกี่ยวกับความจำใหม่ หรือความจำระยะสั้น ที่ต้องจดจำนั้นมีพยาธิสภาพฝ่อลงจึงทำให้สูญเสียความจำระยะสั้น หรือความจำใหม่ไป ดังนั้นผู้ที่อยู่ดูแลจึงควรเข้าใจและอย่าไปโมโหหรือโกรธเวลาผู้ป่วยหลงลืมหรือจำอะไรไม่ถึงแม้เราจะบอกซ้ำๆแล้วก็ตาม

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มีพยาธิกำเนิดมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ส่วนที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ พบว่า สารแอมีลอยด์ ( Amyoid ) และโปรตีนที่เรียกว่า เทา ( Tau ) ซึ่งทั้งสองตัวนี้ทำหน้าที่คล้ายกันกับนั่งร้านของเซลล์ ถ้าหากว่านั่งร้านของเซลล์เกิดความผิดปกติ จะทำให้เซลล์สมองฝ่อลง ทำให้ความจำเสื่อม
สารแอมีลอยด์จะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมทันทีเมื่อยู่นอกเซลล์ ทำให้สมองเกิดการอักเสบและบวมในเนื้อสมอง พอสมองเกิดการอักเสบเซลล์เกลีย ( Glia ) จะเข้ามาทำลายหรือขจัดสารแอมีลอยด์ออกไป เม็ดเลือดขาวก็จะเข้ามาแทน ทำให้เกิดปฏิกิริยา และ การหลั่งสารหลั่งในสมองที่ชี้ว่าเป็นอาการสมองอักเสบ ( Inflammation ) เช่น สารอินเทอร์ลิวคิน ( Interleukins )

มาทำความรู้จักสารแอมีลอยด์ให้มากขึ้น

สารแอมีลอยด์จะมี 2 ระยะ คือ ระยะที่ละลายได้ กับ ระยะที่ตกผลึก ซึ่งสารแอมีลอยด์นี้ถือว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบและทำลายเซลล์สมอง และสารแอมีลอยด์ยังเป็นตัวบ่งบอกทางชีวภาพ Biomarker ว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เป็นตัวช่วยวินิจฉัยโรคโดยที่ไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยเสียชีวิต โดยการนำน้ำไขสันหลังของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มาตรวจดูว่าสารแอมีนอยด์และโปรตีนเทา มีความผิดปกติมากหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้ถือว่าช่วยให้แพทย์คัดกรองผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลซัลเมอร์กับคนปกติได้อย่างชัดเจน ทำให้สะดวกและง่ายต่อการรักษาอาการต่างๆ ที่มาเกี่ยวพันธ์กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย ซึ่งตัวชี้วัดทางชีวภาพนี้ แสดงอกมาทางภาพถ่ายรังสีภาพถ่ายคลื่นไฟฟ้า ที่เราเคยเห็นกัน คือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภาพสมองดูสภาพของสมองว่าฝ่อ หรือเหี่ยว หรือทรุดโทรมไปแค่ไหน และดูการทำงานของสมองว่ามีการทำงานผิดปกติหรือไม่ หรือจะใช้การเอกซเรย์เพื่อดูสารแอมีนอยด์เฉพาะพิเศษ โดยการตรวจ Positron Emission Tomography Scan ( PET Scan ) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ตรวจเอกซเรย์ในอุโมงค์ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์จริงหรือไม่ 

โรคอัลไซเมอร์กับการรับรู้มิติสัมพันธ์และการใช้ภาษาบกพร่อง

นอกจากเรื่อง ความจำแล้วที่บ่งบอกว่าเป็นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ยังมีอาการเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ การรับรู้มิติสัมพันธ์และการใช้ภาษาบกพร่อง หรือ ภาษาผิดเพี้ยน เช่น เราจะสังเกตว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มักจะเรียกชื่อสิ่งของ หรือวัตถุต่างๆไม่ถูกต้อง เมื่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีอาการรับรู้มิติสัมพันธ์บกพร่อง หรือ ผิดเพี้ยน ถึงขั้นระดับรุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเดินหลงทาง หากมีญาติที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ระดับรุนแรง ต้องคอยเฝ้าดูผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพราะหากปล่อยให้อยู่คนเดียวอาจเดินหลงไปทางอื่นจนเกิดอันตรายได้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มักจะเรียกชื่อสิ่งของหรือวัตถุต่างๆไม่ถูกต้อง มีอาการรับรู้มิติสัมพันธ์บกพร่องหรือผิดเพี้ยน ถึงขั้นระดับรุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเดินหลงทาง

เมื่อผู้ป่วยโรคอัลซัลเมอร์มีอาการรับรู้มิติสัมพันธ์บกพร่องหรือผิดเพี้ยนในระดับที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยยังสามารถอยู่บ้านได้ยังไม่หลง แต่จะเกิดอาการสับสน จำผิดจำถูกว่าตัวเองอยู่ที่ไหน เป็นพักๆ เมื่อนอนหลับแล้วตืนขึ้นมา จะไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน ดังนั้น ผู้ที่ดูแลต้องจัดบ้านให้อยู่ในสภาพเดิมตลอด อย่าปรับเปลี่ยน เช่น เคยวางรูปภาพ แจกัน นาฬิกา ก็วางตรงนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่สภาพคุ้นชินกับสภาพแวดล้อม ทำให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตได้ ไม่หงุดหงิด ไม่ฟุ้งซ่าน จนเกิดอาการจิตตามมา แต่หากมีการรับรู้มิติสัมพันธ์บกพร่องระดับรุนแรง จะเรียกสิ่งที่อยากได้ไม่ถูก ไม่รู้เรียกว่าอะไร หรือบางรายจะชอบเก็บข้าวของเก่าๆไว้ แล้วก็เกิดอาการหวงของ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการและพฤติกรรมของผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์

ระดับความรุนแรงของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

ขั้นเริ่มต้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีความผิดปกติด้านอารมณ์ คือ จะมีอาการเฉยชา นิ่งเฉย และจะค่อยๆซึมเศร้า แต่อาการซึมเศร้าของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะไม่ได้แสดงออกว่าเสียใจ หรือท้อแท้หมดหวัง แต่แค่นั่งนิ่งๆ เฉยๆ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากขยับตัว ไม่อยากกิน อยากอยู่เฉยๆ     

ระดับกลาง ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีอาการเริ่มรุนแรงมากขึ้น คือ จะเห็นภาพหลอน เห็นคนเสียชีวิตไปแล้ว หรือคนที่รู้จักสมัยก่อนมาเยี่ยม ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นคนที่มีความผูกพัน เช่น สามี ภรรยา หรือบางรายมักจะคิดว่ามีคนมาขโมยของ หรือบางรายถึงขั้นคิดว่าบ้านที่ตัวเองอยู่ไม่ใช่บ้านของตัวเอง แต่ก็ไม่รู้ว่าของตัวเองอยู่ตรงไหน

ระดับสูง ผู้ป่วยมีอาการหนักจะจดจำเรื่องราวอะไรไม่ได้ ถึงขนาดจำสามีของตัวเองไม่ได้และไม่รู้ว่าคนที่เป็นสามีอยู่ตรงหน้านี้เป็นใคร ถ้าผู้ป่วยมีอาการถึงขั้นนี้ต้องใช้อดทนและความเอาใจในการดูและเป็นพิเศษ การเข้าไปช่วยเหลือหรือดูแลผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์ บางครั้งผู้ป่วยจะไม่เข้าใจ เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว หรือทำธุระส่วนตัวต่างๆ ผู้ป่วยจะไม่ชอบให้ผู้ดูแลเข้าไปยุ่ง ซึ่งก็น่าแปลกว่าที่ผู้ป่วยยังรู้ว่ามันเป็นธุระส่วนตัว ไม่ต้องการให้ใครมายุ่ง อัลไซเมอร์จะแสดงอาการออกทันที จึงมักแสดงอาการก้าวร้าวออกมา ส่วนผู้ป่วยบางรายหากดูแลไม่ดี ก็มักจะมีอาการเดินไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง ทำให้หลงทางอยู่บ่อยๆ การดูแลญาติๆควรพยายามเล่าเรื่องในอดีตให้ฟัง เพื่อรื้อฟื้นความจำเก่าๆ เช่น สถานที่ เพื่อนสมัยเรียน ละคร ดาราสมัยก่อน แต่อย่าเล่าเรื่องใหม่ๆ เพราะผู้ป่วยจะสับสนจนตามไม่ทัน

โรคอัลไซเมอร์ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน

เชื่อไหมว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน มีมากถึงร้อยละ 10 ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร เป็นอาการที่เรียกว่าสมองเสื่อมก่อนวัย ( Early Onset Dementia ) ส่วนมากคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจะมีประวัติว่าคนในครอบครัวหรือญาติเคยเป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งมักจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น อาการชัก ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก หรือขาสองข้างอ่อนแรง อาการจะแตกต่างจากผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์ของวัยหนุ่มสาวมักแสดงอาการเร็วกว่าวัยผู้สูงอายุ โดยนับตั้งแต่อาการเริ่มต้นที่เป็นอัลไซเมอร์ จนถึงอาการหลงลืม เดินหลงทาง ผู้สูงอายุจะใช้เวลาถึง 7 ปี แต่ในวัยหนุ่มสาวจะใช้เวลาแค่ 3 ปี สาเหตุที่เป็นแบบนี้เกิดจาก มีสารพันธุกรรมผิดปกติอยู่ในตัว ทำให้วัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนมีสารแอมีลอยด์ในอัตราสูง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเสียชีวิตเร็วกว่า

โรคอัลไซเมอร์ที่เกิดจากการติดเชื้อ

ผู้ป่วยโรคนี้ลักษณะการเสียชีวิตจะเกิดจากการติดเชื้อ เพราะว่าในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมักจะขยับตัวไม่ได้หรือขยับตัวลำบาก เนื่องจากสมองไม่ทำงานและไม่สั่งการ ทำให้พูดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ทำได้เพียงแค่นอนลืมตาเฉยๆ เวลาป้อนอาการจึงทำให้สำลักอาหารบ่อยๆ และติดเชื้อทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ระบบปัสสาวะ หรือเกิดแผลกดทับ ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยร้อยละ 10 จะมีอาการชัก และเสียชีวิตจากการติดเชื้อ การเสียชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ยังมีจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวานจนไตวาย เพราะในปัจจุบันการรักษาโรคอัลไซเมอร์สามารถชะลอการเดินทางของโรคทำให้อยู่ได้นานขึ้น ไม่ใช่แค่รักษาอาการ จนมีโรคแทรกซ้อนเข้ามา และเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน ก่อนที่จะเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์ 

https://www.youtube.com/watch?v=8Unm6uhreks

การรักษาโรคอัลไซเมอร์

ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย ต้องรักษาอย่างทันท่วงที มีญาติของผู้ป่วยหลายคนพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เมื่อได้รักษาด้วยการรับยา จะรู้ว่าเหมือนยาอายุวัฒนะ เพราะผู้ป่วยจะมีอายุยืนยาว ทั้งที่ตอนแรกไม่คิดว่าจะอยู่ได้นาน เมื่อเทียบกับญาติอีกคนที่ไม่ได้เป็นโรคอัลไซเมอร์กลับเสียชีวิตก่อนด้วยโรคอื่น แต่ในปัจจุบันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ยอมรับว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะอายุยืนเพราะยารักษาอัลไซเมอร์เพียงอย่างเดียว เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่กินยา แต่ผู้ป่วยที่ไม่กินยารักษา จะมีอาการรุนแรง คือ ก้าวร้าว หลงผิด เอะอะโวยวาย มากกว่าผู้ป่วยที่กินยา ซึ่งต่อมาก็มักจะมีอาการแทรกซ้อน จนเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต

ดังนั้น สำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ที่อาการยังไม่รุนแรงมาก ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมบ่อย ฝึกลับสมองบ่อย เพื่อให้สมองมีความคิดสร้างสรรค์ เช่น การออกกำลังกาย ฝึกคิด ฝึกเขียน ฝึกจำสิ่งของ อย่างน้อย วันละ 120 นาทีต่อสัปดาห์ และพยายามควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหารโดยการกินอาหารเพื่อสุขภาพ ก็จะช่วยทำให้อาการชะลอในการเป็นอัลไซเมอร์ หรือสมองเสื่อมได้

การรักษาโรคอัลไซเมอร์โดยการใช้ยา

ยาที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ ยังไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่เป็นกลุ่มยามาตรฐาน เพราะว่ายามีราคาสูง และใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์บางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งยารักษาโรคอัลไซเมอร์นี้เป็นยาในกลุ่มต้าน Acetylcholinestesterase ใช้ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงระยะที่รุนแรงและยังมียาในกลุ่มต้านตัวรับสารสื่อประสาท NMDA ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการป้องกันไม่ให้เซลล์แตกสลาย และยังช่วยป้องกันกระบวนการตายของเซลล์ ( Apoptosis ) ไม่ให้มีแคลเซียมซึมเข้าไปในเซลล์สมอง ยากลุ่มนี้จะนำมาใช้กับผู้ป่วยระยะกลางกับระยะรุนแรง

การรักษาโรคอัลไซเมอร์แบบไม่ใช้ยา

ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ไม่อยากใช้ยาในการรักษา ควรให้ผู้ป่วยได้ฝึกสมองในหลายๆด้าน เช่น การฝึกทักษะในการเตือนความจำ เกี่ยวกับ เวลา สถานที่ การเต้นรำ เล่นหมากรุก หมากฮอส หรือให้เล่นเกมต่างๆที่ต้องใช้ความคิด ซึ่งวิธีเหล่านี้ต้องค่อยๆทำทีละน้อยแต่ทำทุกวัน ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไป ผู้ดูแลอย่าพยามยัดเยียดให้ผู้ป่วยเรียนรู้หรือฝึกทีละเยอะๆหรือนานต่อเนื่องจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้เครียด ค่อยๆเป็นค่อยๆจะดีกว่า

การฟื้นฟูสภาพร่างของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

การฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเดิน หรือเคลื่อนตัว ขยับตัวได้ โดยการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ เพื่อไม่ให้ข้อติด และควรฝึกให้ผู้ป่วยบางรายที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการเดิน เช่น ไม้เท้า คอกช่วยเดิน หรือรถเข็ญ ให้ผู้ป่วยได้ทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระและเกิดความปลอดภัย โดยการฝึกให้ลูกจากเตียงแล้วมานั่งที่เก้าอี้ ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจจะต้องใช้วิธีธาราบำบัด คือ การดึงกล้ามเนื้อ การประคบร้อน ประคบเย็น การใช้เคลื่อนเสียง การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เพื่อทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ประสานกัน เพราะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักมีปัญหาในการเคลื่อนไหว สิ่งสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ได้อีกอย่างก็คือ การดูแลสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ให้ผู้ป่วยได้ดำเนินชีวิตด้วยความปลอดภัย ปรับปรุงห้องนอนกับห้องน้ำให้อยู่ใกล้กัน หลีกเลี่ยงการใช้กลอนประตูแบบล็อกจากด้านใน เพราะหากผู้ป่วยเผลอล็อกอาจจะออกมาไม่ได้ และการช่วยเหลือก็จะลำบาก พื้นบ้านก็ควรเป็นพื้นเรียบ ระดับดับเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยหกล้ม หรือการจัดวางสิ่งของควรวางอยู่จุดเดิม อย่าเปลี่ยนมุมบ่อย เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยจดจำไม่ได้และจำไม่ได้ว่าตัวเองอยู่บ้าน ดังนั้น ผู้ดูแลควรมีความอดทน และเข้าใจอาการของผู้ป่วยอย่างมาก เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้ และสามารถดูแลผู้ป่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันโดยเกิดปัญหาน้อยที่สุด

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

ขอคุณคลิปความรู้จาก : หมอปุ้ม พญ. สิรนาถ สุขภาพดี คุณมีได้

Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission 
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.

de Calignon A, Polydoro M, Suarez-Calvet M, et al. (2012). Propagation of tau pathology 
in a model of early AD. Neuron. 73(4) : 685-697.