ความสามารถในการทำนิติกรรมของผู้ป่วยสมองเสื่อม
คนวิกลจริต เน้นไปที่ความผิดปกติทางด้านจิตใจเป็นหลัก อาจเรียกง่ายๆ ว่ากลุ่มคนสติวิปลาสหรือคนบ้า

โรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม เป็นโรคที่มีความซับซ้อนค่อนข้างมาก ตั้งแต่การค้นหาสาเหตุไปจนถึงลำดับการรักษา เพราะใจความสำคัญของโรคสมองเสื่อมมีเพียงแค่อย่างเดียว นั่นคือมีความเสียหายเกิดขึ้นที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่ง จึงส่งผลกระทบทำให้ระบบการทำงานของสมองและร่างกายบกพร่องไป ในการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายก็ต้องมีการตรวจวินิจฉัยกันอย่างละเอียดก่อนว่าความเสียหายของสมองนั้นคือบริเวณไหน และระดับความเสียหายมากเท่าไร ด้วยความที่ตำแหน่งของต้นเหตุและความรุนแรงของอาการที่ต่างกัน จะทำให้ต้องเลือกวิธีแก้ไขที่ต่างกันนั่นเอง

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจึงเป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่ายคือ ตัวผู้ป่วยเอง ทีมแพทย์และญาติหรือผู้ดูแลใกล้ชิดของผู้ป่วย นอกจากเรื่องของการใช้นวัตกรรมการทางแพทย์รักษาในส่วนของโรค พร้อมกับการปรับตัวของผู้ป่วยและญาติที่ต้องเปลี่ยนแปลงกันยกใหญ่แล้ว ยังมีข้อกำหนดทางกฎหมายอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงด้วยเหมือนกัน เพราะอย่างไรเสียผู้ป่วยก็อาจยังต้องทำกิจกรรมอื่นใดทางกฎหมายอยู่ และเพื่อไม่ให้การกระทำนั้นกลายเป็นโมฆะในภายหลังซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายบางประการ ก็ต้องทำความเข้าใจหลักการทำนิติกรรมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเอาไว้ด้วย

โดยหลักทั่วไปบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำกิจกรรมใดๆ ก็ได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมไปถึงการทำสัญญาหรือนิติกรรมต่างๆ ด้วยแต่ในทางกฎหมายก็ได้มีข้อยกเว้นเอาไว้ในบุคคล 3 กลุ่มได้แก่ ผู้เยาว์ บุคคลไร้ความสามารถ และบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ เหตุผลก็คือคนกลุ่มนี้อาจมีสติสัมปชัญญะไม่เพียงพอขณะทำนิติกรรม หรือมีสุขภาพ ความประพฤติ ตลอดจนความนึกคิดต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำนิติกรรม จึงต้องมีผู้ดูแลช่วยจัดการให้แทน เพื่อคุ้มครองสิทธิและป้องกันความเสียหายอันจะเกิดกับคนทั้ง 3 กลุ่มและคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นก่อนอื่นมาดูก่อนว่าบุคคลแบบไหนที่จะเข้าข่าย 3 กลุ่มที่จะหย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมกันบ้าง

บุคคล 3 กลุ่มที่หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรม

1. ผู้เยาว์ หมายถึง บุคคลที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ถือว่ายังมีวุฒิภาวะน้อยและอาจจะยังอ่อนประสบการณ์อยู่มาก การทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ จึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นบิดามารดานั่นเอง และผู้เยาว์จะเริ่มทำนิติกรรมด้วยตัวเองเพียงลำพังได้ก็ต่อเมื่อบรรลุนิติภาวะที่อายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือมีการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วเท่านั้น

2. บุคคลไร้ความสามารถ หมายถึง บุคคลที่มีจิตไม่ปกติหรือมีความพิการทางสมอง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว มีอาการควบคุมสติตัวเองไม่ได้และไม่สามารถเข้าใจถึงความผิดชอบชั่วดีได้อย่างคนปกติทั่วไป ทำกิจวัตรส่วนตัวไม่ได้ต้องมีคนคอยดูแลใกล้ชิดอยู่เสมอ กลุ่มนี้จะต้องมีผู้ทำนิติกรรมแทนทั้งหมดและบางอย่างก็ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนด้วย เราสามารถแยกคนกลุ่มนี้ให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นโดยแบ่งเป็น 2 ประเภทดังนี้

2.1 คนวิกลจริต : เน้นไปที่ความผิดปกติทางด้านจิตใจเป็นหลัก อาจเรียกง่ายๆ ว่ากลุ่มคนสติวิปลาสหรือคนบ้า และต้องมีลักษณะ 2 ประการประกอบกันคือ

  • ต้องเป็นอย่างมาก คือ มีระดับความผิดปกติทางจิตใจที่รุนแรง ไม่รู้สิ่งใดผิดหรือถูก สติฟั่นเฟือน หลงๆ ลืมๆ จนก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้
  • ต้องเป็นประจำ คือ ความผิดปกติทางจิตใจที่เป็นอยู่นั้นต้องเป็นอยู่เรื่อยๆ อาจดีบ้าง สลับกับวิกลจริตบ้าง ไม่เกี่ยวกับว่าแต่ละครั้งที่จิตผิดปกติจะกินเวลานานเท่าไร แต่ต้องมีอาการมานานมากพอให้ระบุได้ว่าบุคคลนี้มีความวิกลจริต

2.2 คนไร้ความสามารถ : บุคคลที่หย่อนความสามารถเนื่องจากอาการทางจิต และถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว โดยที่ศาลจะต้องถูกร้องขอจากคนที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลนั้น จึงจะออกคำสั่งได้ บุคคลที่มีสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ใครคนใดคนหนึ่งหลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ได้แก่

  • คู่สมรส โดยต้องเป็นลักษณะของการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย หากเป็นเพียงคู่สามีภรรยาที่อยู่กินกันธรรมดาหรือจัดพิธีแต่งงานเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจยื่นคำร้องได้
  • บุพการี หมายรวมทั้งบิดามารดา และเครือญาติสายเลือดเดียวกันที่ดูแลใกล้ชิดมาตลอด
  • ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูกหลาน
  • ผู้ปกครอง ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลแทนกรณีไม่มีบิดามารดาหรือญาติพี่น้องอื่นๆ
  • ผู้พิทักษ์ คือผู้ควบคุมดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ เขายื่นคำร้องต่อศาลเมื่อผู้ที่อยู่ในความดูแลเกิดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากคนเสมือนไร้ความสามารถกลายเป็นคนวิกลจริตหรือไร้ความสามารถขึ้นมา
  • พนักงานอัยการ

3. บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ หมายถึง บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เพราะเล็งเห็นว่ามีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจไปในทางที่ไม่ชอบได้ ได้แก่

3.1 บุคคลที่พิการทางกาย : จะเป็นมาแต่กำเนิดหรือเกิดจากอุบัติเหตุในภายหลังก็ได้

3.2 บุคคลที่มีจิตไม่สมประกอบ : มีอาการจิตเภทหรือสมองพิการ แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นวิกลจริต

3.3 มีความประพฤติที่สุรุ่ยสุร่าย : ใช้จ่ายเกินฐานะอยู่ตลอดเวลาจนสูญเสียทรัพย์สินไปเป็นอันมาก

3.4 ติดสุราหรือสารเสพติด : ต้องถึงขั้นที่ไม่สามารถดูแลงานที่เป็นหน้าที่ของตัวเองได้

จะเห็นว่าเมื่อแจกแจงรายละเอียดออกมาจนหมดแล้ว ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมก็มีโอกาสที่จะเข้าข่ายผู้หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมตามกฎหมายได้ถึง 2 กลุ่มด้วยกัน นั่นคือ กลุ่มบุคคลไร้ความสามารถและกลุ่มบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ

ผลของการไร้ความสามารถในการทำนิติกรรม

เมื่อเข้าข่ายของผู้ที่หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมแล้ว ก็ต้องปรับตัวไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดทางกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีผู้แทนโดยชอบธรรมรับหน้าที่ดูแลนิติกรรมทั้งหมดของผู้ไร้ความสามารถในการทำนิติกรรม จะเป็นบิดามารดา สามีภรรยา หรือคนอื่นที่ใกล้ชิดกันก็ได้ตามแต่ความประสงค์ของผู้ไร้ความสามารถและผู้ดูแล ตลอดจนได้รับความเห็นชอบจากศาลด้วย หากผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีระดับอาการที่ไม่รุนแรงมากและบังเอิญเข้าข่ายกลุ่มคนเสมือนไร้ความสามารถ ก็จะสามารถทำนิติกรรมบางอย่างได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใดเลย ยกเว้นนิติกรรมที่เห็นชัดเจนว่าเมื่อทำแล้วเกิดความเสียหายต่อผู้ใดแม้แต่คนเดียว หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินก็จะต้องได้รับความยินยอมเสียก่อน ยังมีการทำนิติกรรมที่ละเอียดมากไปกว่านั้นอีกก็คือ บุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถที่มีความผิดปกติตามเงื่อนไขของผู้หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมแล้ว แต่ยังไม่มีการร้องขอต่อศาลและศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถตามกฎหมาย ก็อาจทำนิติกรรมและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายได้ในบางกรณี ตัวอย่างเช่น

กรณีที่ 1 : ถ้าการทำนิติกรรมระหว่างบุคคลวิกลจริตกับบุคคลปกติเกิดขึ้นในช่วงที่บุคคลวิกลจริตนั้นไม่มีอาการ หมายความว่ามีจิตที่เป็นปกติดีทุกอย่าง และผู้ที่เป็นคู่กรณีในการทำนิติกรรมไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นบุคคลวิกลจริต แบบนี้นิติกรรมนั้นก็ถือว่าเสร็จสิ้นสมบูรณ์มีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย

กรณีที่ 2 : ถ้าการทำนิติกรรมระหว่างบุคคลวิกลจริตกับบุคคลปกติเกิดขึ้นในช่วงที่บุคคลวิกลจริตนั้นมีอาการจิตไม่ปกติ และผู้ที่เป็นคู่กรณีก็ล่วงรู้ดีอยู่ในเรื่องนี้ แต่มีเจตนาให้การทำนิติกรรมนั้นเกิดขึ้น แบบนี้จะถือว่าสัญญาข้อตกลงใดๆ ก็ตามนั้นกลายเป็นโมฆะไปเสีย

ต่างกันกับกรณีของบุคคลที่ศาลสั่งแล้วว่าเป็นบุคคลที่เข้าข่ายกลุ่มคนไร้ความสามารถ ไม่ว่าจะทำนิติกรรมอะไร และทำเมื่อไรก็ตาม ทั้งในช่วงเวลาที่จิตปกติและจิตไม่ปกติ นิติกรรมทั้งหมดล้วนกลายเป็นโมฆะทั้งสิ้น

การปรับตัวของญาติเกี่ยวกับการทำนิติกรรมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

การแยกแยะผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมว่าเป็นผู้หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมหรือไม่คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก แต่ที่ต้องปรับกันยกใหญ่คงจะเป็นฝ่ายของญาติหรือผู้ดูแลซะมากกว่า เพราะจากสถิติปัจจุบันพบว่าญาติผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมส่วนมากไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการทำนิติกรรมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอย่างถูกต้องมากนัก อาจมีเพียงร้อยละ 50 ของทั้งหมดเท่านั้นเอง หนึ่งในสาเหตุหลักก็คือกฎหมายมักใช้ภาษาที่เข้าใจยากและบางครั้งเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวแต่หาความกระจ่างชัดได้ยาก แม้แต่กลุ่มคนในวงการกฎหมายเองก็อาจจะไม่สามารถตอบคำถามได้ทุกประเด็น ความยุ่งยากและความเหน็ดเหนื่อยจากการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมก็กินเวลาในแต่ละวันไปมากแล้ว ญาติหรือผู้ดูแลส่วนใหญ่จึงไม่อาจหาเวลาเพื่อไปศึกษาข้อบทกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ อย่างไรก็ตามเมื่อกิจกรรมบางอย่างที่ทำนั้นมีปัจจัยด้านกฎหมายมาเกี่ยวข้อง ก็เป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่ทำความเข้าใจและหาความรู้ในด้านนี้

ความสำคัญของการเรียนรู้กฎหมายในการทำนิติกรรมของญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ได้แก่

  • เพื่อให้การดูแลรับผิดชอบทำนิติกรรมแทนผู้ป่วยนั้นเป็นไปอย่างชอบธรรม และมีผลบังคับใช้ถูกต้องตามกฎหมาย
  • เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด หรือปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง เช่น การถูกฟ้องร้องหรือคดีพลิกไปในทางที่ไม่ดี
  • เพื่อช่วยคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ป่วย ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลอื่นได้
  • เพื่อให้กิจกรรมบางอย่างสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างสมบูรณ์
  • เพื่อป้องกันความเสียหายจากการไม่ทำนิติกรรม ทั้งต่อผู้ป่วยเองและต่อผู้อื่นด้วย

จะเห็นว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญซึ่งละเลยไม่ได้ ญาติหรือผู้ดูแลจึงต้องปรับทัศนคติต่อการเรียนรู้กฎหมายการทำนิติกรรมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ด้วยการเปิดใจที่จะเรียนรู้เสียก่อน แม้ภาษาหรือข้อกำหนดจะดูยุ่งยากไปบ้าง แต่ก็คงไม่มีสิ่งใดที่จะเกินความสามารถของมนุษย์ไปได้ อีกด้านหนึ่งก็คงเป็นความสนับสนุนจากสังคมหรือหน่วยงานรอบข้าง เช่น โรงพยาบาลเฉพาะทางเกี่ยวกับสมองควรมีการให้ความรู้ และกระตุ้นให้เกิดความสนใจในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากขึ้น อาจจัดทำให้เป็นรูปแบบของเอกสารหรือหนังสือคู่มือแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมด้านกฎหมายก็ได้ พร้อมทั้งควรมีศูนย์ให้คำแนะนำกรณีพิเศษเพื่อให้ญาติหรือผู้ดูแลสามารถเข้าไปขอรับคำปรึกษาในส่วนที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วย

ทั้งตัวผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและครอบครัวจะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงมากมายในเวลาเดียวกัน ส่วนของการรักษาร่างกาย การบำบัดจิตใจก็ส่วนหนึ่ง การรับผิดชอบต่อสังคมหรือการรักษาสิทธิที่พึงได้ก็อีกส่วนหนึ่ง จะขาดหรือพร่องส่วนใดไปไม่ได้เลย สิ่งหนึ่งที่พอจะช่วยแบ่งเบาไม่ให้เกิดภาระหนักหนาจนเกินไป ก็คือหมั่นสังเกตคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม ว่าเขามีอาการใดที่ผิดปกติไปหรือไม่ มีอารมณ์ไม่คงที่ มีอาการหลงๆ ลืมๆ หรือไม่ อย่าได้เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นตามวัย ให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาจะได้ตรวจสอบปัญหาและเร่งแก้ไขโดยเร็ว เพราะโรคสมองเสื่อมนั้น ยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งให้ผลลัพธ์ที่ดี

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission 
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.