การดูแลสุขภาพกายและใจของผู้ป่วยเบาหวาน
การดูแลสุขภาพกายและใจของผู้ป่วยเบาหวาน

โรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน เป็น ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำอาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วไปใช้ได้อย่างเหมาะสม และเป็นอีกโรคหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในระยะแรกๆ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเจ็บปวดทรมาน อันเป็นสาเหตุให้บางครั้งผู้ป่วยไม่อยากมาพบแพทย์ตามนัดเพราะไม่มีอาการหรือความไม่สบายกายแต่อย่างใด ดังนั้นในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงต้องมีการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงอาการของโรคและความเป็นมา ตลอดจนการรักษาและโรค แทรกซ้อนที่จะตามมาในภายหลังผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นมานานและไม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติอย่างเสมอจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเมื่อโรคแทรกซ้อนทวีความรุนแรงมากขึ้นจะเกินอาการเจ็บปวดและทรมานได้

ผู้ป่วยโรคเบาหวานเมื่อเริ่มรักษาต้องมีการปรับตัว คือ ต้องหมั่นมาพบแพทย์ มีความอดทนและปรับพฤติกรรมในการเลือกรับประทานอาหารไม่ตามใจตนเอง และที่สำคัญยอมรับว่าตนเป็นโรคเบาหวานและต้องให้ความร่วมมือในการรักษาและการปฏิบัติตนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตลอดไปโดยผู้ป่วยต้องได้รับทราบว่าแพทย์มีเป้าหมายการรักษาอยู่ที่ การควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงคนปกติ ซึ่งมีแผนการรักษาดังนี้

1.การควบคุมอาหาร
2.ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
3.พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัด เพื่อตรวจร่างกาย ติดตามผลการรักษาและประเมินสภาพของโรค รวมทั้งการรับประทานยาหรือฉีดอินซูลินในปริมาณแพทย์สั่งโดยเคร่งรัด
4.อารมณ์และจิตใจของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ความรู้สึกของผู้ป่วยโรคเบาหวานในระยะแรก คือ กลัว ตกใจ สับสนไม่เชื่อว่าจะรักษาไม่หายจึงเปลี่ยนสถานที่รักษา มีความหวังว่าจะได้พบแพทย์เก่งๆ ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จนบางครั้งหยุดการรักษาด้วยแผนปัจจุบันหันไปรักษาแผนโบราณ ใช้ยาสมุนไพร หรือวิธีอื่นๆ เหมือนถูกบังคับ ทำให้ควบคุมอาหารได้ไม่นานก็กลับมารับประทานในลักษณะเดิมอีก เนื่องจากไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพร่างกายหรือมีอาการแทรกซ้อนแสดงให้เห็นทันที

ความรุนแรงและระยะที่เกิดอารมณ์ในผู้ป่วยแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ ขึ้นกับพื้นฐานทางสุขภาพจิตของผู้ป่วย กำลังใจ

ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะยอมรับความจริงได้ เช่น ได้พบเห็นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและมีโรคแทรกซ้อนที่ประสบความทุกข์ทรมานจึงเกิดความกลัวว่าจะเป็นเช่นนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อแพทย์ตรวจพบหรือมีอาการแสดงของโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยส่วนมากจะยอมรับและปฏิบัติตามที่แพทย์และพยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด แต่ก็มักเป็นการสายเกินไป เนื่องจากโรคแทรกซ้อนเหล่านี้รักษาไม่หายขาดและจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ความรุนแรงและระยะที่เกิดอารมณ์ในผู้ป่วยแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ ขึ้นกับพื้นฐานทางสุขภาพจิตของผู้ป่วย กำลังใจ และแรงสนับสนุนที่ได้รับจากสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆ อารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยจะแสดงออกมาแตกต่างกันได้หลายรูปแบบดังนี้

รูปแบบที่ 1 ต่อต้าน ผู้ป่วยมักมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย รู้สึกรำคาญต่อภาวะและกิจกรรมบำบัดรักษาต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของตนเปลี่ยนไปผู้ป่วยอาจไม่ให้ความร่วมมือต่อการรักษาของแพทย์ ไม่ไยดีต่อคำวิงวอนร้องขอหรือแม้กระทั่งการบังคับขู่เข็ญ ญาติพี่น้องและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องมีความอดทนต่อพฤติกรรมของผู้ป่วย ค่อยๆอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจเมื่อระยะเวลาผ่านไปผู้ป่วยอาจจะเปลี่ยนใจให้ความร่วมมือขึ้นมาก็ได้

รูปแบบที่ 2 หลีกหนี ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่านขั้นตอนของการยอมรับความจริงจะเกิดอาการปฏิเสธและหลีกหนีการเผชิญความจริง ไม่ยอมแม้กระทั่งจะไปพบแพทย์ หรือการเปลี่ยนสถานที่รักษาหลายแห่งโดยมีความเชื่อว่าจะต้องมีแพทย์ที่เก่งและรักษาโรคนี้ให้หายโดยไม่ยอมรับฟังคำอธิยายความเป็นจริงจากใครทั้งสิ้น ลักษณะเช่นนี้ผู้ที่ใกล้ชิดจะต้องพยายามเตือนสติให้ผู้ป่วยได้คิดถึงอนาคต คิดถึงบุคคลหรือสิ่งอื่นๆ ที่เขารักและให้ความสำคัญ อาจทำให้ผู้ป่วยหันมายอมรับความจริงได้มากขึ้น

รูปแบบที่ 3 ปกปิด ผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานโดยพยายามแสดงให้เห็นว่าไม่มีอาการแสดงของโรค เมื่อใกล้วันที่จะมาพบแพทย์หลอกตนเองโดยรับประทานน้อยลง หลีกเลี่ยงสิ่งต้องห้ามเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดในวันที่มาพบแพทย์ไม่สูงหรือเป็นปกติ และจะบอกตนเองว่าหายแล้วไม่ไปพบแพทย์และหยุดยาช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากยังสบายดีไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะกลับมามีพฤติกรรมเดิมคือ ไม่ควบคุมอาหาร จนกระทั่งเริ่มมีอาการของภาวะแทรกซ้อนจึงกลับไปพบแพทย์อีก ซึ่งอาจจะสายเกินแก้และผู้ป่วยจะเกิดความรู้สึกซึมเศร้า เส้นใจ ผู้ที่ใกล้ชิดและสมาชิกในครอบครัวต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้

รูปแบบที่ 4 ยอมรับ มักจะเป็นปฏิกิริยาของผู้ป่วยที่มีพื้นฐานทางสุขภาพจิตดี มีครอบครัวอบอุ่น ผู้ป่วยยอมรับความจริง ยินดีให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีครอบครัวอบอุ่น ผู้ป่วยยอมรับความจริง ยินดีให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จะพยายามทุกวิถีทางที่จะบำบัดโรคของตนเองและได้รับการเสริมกำลังใจที่ดีจากผู้ใกล้ชิด ผู้ป่วยสามารถยืนหยัดกับโรคเบาหวานได้เหมือนคนปกติโดยไม่รู้สึกกว่าถูกควบคุมหรืออึดอัดต่อกิจกรรมและพฤติกรรมที่ต้องเปลี่ยนแปลงในระยะต้น ต่อมาสามารถปรับให้เป็นพฤติกรรมที่ต้องกระทำในชีวิตประจำวันได้

อย่างไรก็ดี บุคคลสำคัญที่สุดที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตที่พร้อมจะเผชิญกับโรคเบาหวานได้ดีคือ ตัวผู้ป่วยเอง เพราะหากผู้ป่วยไม่ยอมช่วยเหลือตนเอง ผู้อื่นก็ยากที่จะแทรกเข้ามาช่วยได้ การรู้จักรักตนเองจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เพราะหากขาดสิ่งนี้ก็เท่ากับขาดปัจจัยสำคัญทางจิตใจ

การดูแลสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

การดูแลสุขภาพร่างกายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าปกติจึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย เช่น เกินการอักเสบของผิวหนัง ช่องปาก และเท้า เป็นต้น ถ้าควบคุมเบาหวานเหล่านี้เกิดขึ้นการควบคุมโรคจะยิ่งเลวลง

ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าวผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรปฏิบัติดังนี้

1.นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
2.หลีกเลี่ยงความเครียดทางอารมณ์ เพราะจะมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายสดชื่นและควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น โดยเลือกประเภทของการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายของตนเอง ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยชั่งน้ำหนักตัวทุกวัน ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่าปล่อยให้อ้วนเพราะจะทำให้การควบคุมเบาหวานยากขึ้น
4.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเหล้า
5.ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอแม้จะรู้สึกสบายดี เพื่อรับการตรวจสุขภาพและคำแนะนำที่ถูกต้อง ทั้งนี้เนื่องจากโรคแทรกซ้อนส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวหรือมีอาการ

ผู้ป่วยโรคเบาหวานกับสุขภาพตา

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรดูแลสุขภาพตาดังนี้

ควรพบจักษุแพทย์ตรวจสุขภาพตาโดยละเอียดอย่างน้อยปีละครั้งถ้ามีอาการผิดปกติทางตา เช่น ตามัว ควรปรึกษาจักษุแพทย์ทันที

ผู้ป่วยโรคเบาหวานกับสุขภาพฟัน

เพื่อป้องกันการติดเชื้อและอักเสบ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรให้ความสนใจสุขภาพฟันดังนี้

1.หมั่นรักษาความสะอาดของฟันและช่องปาก แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันเพื่อการทำความสะอาดซอกฟันให้ทั่วถึงแต่ควรระมัดระวังไม่ให้โดนเหงือก
2.ควรพบทันตแพทย์ตรวจสุขภาพของฟันและช่องปากทุก 6 เดือน 

ผู้ป่วยโรคเบาหวานกับสุขภาพผิวหนัง

ผิวหนังจัดเป็นปราการชั้นนอกสุดในการป้องกันเชื้อโรค จึงควรมีการดูแลรักษาดังนี้

1.ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะตามซอกอันชื้น เช่น ใต้ราวนม รักแร้ และขาหนีบ หลังอาบน้ำต้องเช็ดบริเวณเหล่านี้ไม่ให้อับชื้น มิฉะนั้นจะเกิดเชื้อราได้ง่าย
2.ถ้าผิวหนังแห้ง ควรทาครีมเพื่อให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอ
3.ถ้าเหงื่อออกมากทาแป้งฝุ่นบางๆ เพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น
4.สวมเสื้อผ้าที่สะอาดและสบาย
5.ถ้ามีอาการอักเสบของผิวหนัง ผื่นคัน ฝีพุพอง ควรปรึกษาแพทย์ทันที

ผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งมีปลายประสาทรับความรู้สึกเสื่อมลงจะมีระดับของการสูญเสียความรู้สึกแตกต่างกันมาก บางคนอาจจะเหยียบตะปู เดินเตะถูกของแข็งโดยไม่รู้สึกเจ็บ จนถึงบางคนรองเท้าหลุดไปแล้วก็ยังไม่รู้ตัว

ผู้ป่วยโรคเบาหวานกับสุขภาพเท้า

สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลเท้าก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดแผล การละเลยต่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อาจจะทำให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนของทั้งระบบประสาทและหลอดเลือด การตีบตันของหลอดเลือดนั้นถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในหารส่งผลให้แผลหายเร็วหรือช้าทั้งนี้ เนื่องจากหลอดเลือดเป็นเส้นทางซึ่งสารอาหารและยาถูกขนส่งไปยังบริเวณที่เป็นแผลรวมทั้งเป็นเส้นทางกำจัดของเสียจาแผลด้วย อาการที่บ่งบอกว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับหลอดเลือด คือ อาการปวดขาเวลาเดินเมื่อหยุดพักสักครู่ก็จะหาย เป็นแผลแล้วหายช้าผิวหนังบริเวณเท้าและขาแห้งและปราศจากขน เป็นต้น

  • ล้างเท้าทุกวันด้วยสบู่อ่อน และอย่าแช่เท้าไว้ในน้ำนานกว่า 5 นาที
  • เช็ดเท้าเบาๆ ให้แห้งด้วยผ้าที่นุ่ม โดยเฉพาะระหว่างซอกนิ้วเท้าอย่าให้อับชื้น
  • ตับเล็บด้วยความระมัดระวัง โดยตัดขวางเป็นเส้นตรงแล้วใช้ตะไบถูให้เรียบพอดีกับเนื้อ อย่าตัดให้สั้นเกินไป
  • รักษาความชุ่มชื้นของเท้าให้เหมาะสม ถ้าผิวหนังบริเวณเท้ามีลักษณะชื้นง่ายก็ควรใช้แป้งฝุ่นโรย อย่าให้ครีมหรือแป้งจับตัวกันเป็นก้อนเพราะจะทำให้เกิดการหมักหมม เป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคได้ง่าย
  • เปลี่ยนถุงเท้าทุกวันและเลือกสวมถุงเท้าที่ซึมซับเหงื่อได้ดี ถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้ายเหมาะสมกว่าถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์เนื่องจากมีการถ่ายเทอากาศที่ดีกว่าและทำให้เท้าแห้งอยู่เสมอ
  • เลือกรองเท้าที่มีขนาดกระชับเหมาะสมให้ความรู้สึกสบายขณะสวมใส่ รองเท้าควรทำด้วยหนังและไม่ควรเลือกขนาดที่คับเกินไปเพราะจะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ถ้าเท้าชาควรสวมรองเท้าหุ้มส้น การสวมรองเท้าใหม่ควรค่อยๆ ใส่ให้ชิน โดยลองสวมใส่วันละ 1-2 ชั่วโมงก่อน
  • ปกป้องเท้าของท่านอยู่เสมอโดยหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกบ้าน
    สำรวจดูเท้าทุกวันว่ามีบาดแผล ตุ่มพอง รอยแดง เชียวช้ำ และรอยแตกหรือไม่ ถ้าก้มลงมองไม่สะดวกควรใช้กระจกส่องดู
  • ก่อนสวมรองเท้าทุกครั้งควรตรวจสอบภายในก่อนว่ามีวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมใดๆ อยู่หรือไม่ เช่น กรวด ทราย ฯลฯ
  • ออกกำลังกายบริเวณขาและเท้าอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 15 นาที เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดตามขาและเท้าดีขึ้นปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีบาดแผล เล็บขบเชื้อราในซอกเท้า มีอาการปวดหรือบวมบริเวณกล้ามเนื้อน่องหรือเท้า

สิ่งที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ควรปฏิบัติ คือ

1.ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ควรสวมรองเท้าเสมอแม้แต่อยู่ในบ้านเพราะอาจมีเศษวัสดุหรือของมีคมตกหล่นอยู่ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลได้โดยไม่รู้ตัว
2.ไม่ควรวางกระเป๋าน้ำร้อนบนขาหรือแช่เท้าในน้ำอุ่นโดยเด็ดขาด เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีปลายประสาทเสื่อม ผิวหนังรับรู้อุณหภูมิได้ไม่ดี อาจผสมน้ำร้อนจนลวกเท้าพองโดยผู้ป่วยไม่รู้สึกร้อนหรือเจ็บเกิดเป็นแผลเรื้อรังได้
3.ไม่ควรตัดหนังแข็งๆ ตาปลาออกเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษา
4.ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดอุดตันทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง 

ศาสตราจารย์ นพ. เทพ หิมะทองคำ และคณะบรรณาธิการ ศาสตราจารย์ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และรองศาสตราจารย์ ภญ.ธิดา นิงสานนท์. ความรู้เรื่องเบาหวานฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์, 2557.

บุษบา จินดาวิจักษณ์. ยารักษาโรคเบาหวานใช้อย่างไร [เว็บไซต์]. กรุงเทพฯ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2553.