วิธีวิ่งหนีโรคแทรกซ้อนเบาหวาน
โรคแทรกซ้อนเบาหวาน หมายถึง การเกิดภาวะของโรคชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยโรคอาจมีความรุนแรงมากหรือน้อยก็ได้

โรคแทรกซ้อนเบาหวาน

โรคเบาหวานอาจดูเหมือนเป็นโรคธรรมดา ที่ไม่ได้ร้ายแรง ไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายจนถึงชีวิต เป็นโรคที่มีผู้ป่วยมากมายแต่ยังคงใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เพียงแค่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในค่ามาตรฐานปกติ แต่ทั้งนี้ยัง มีภัยเงียบอีกชนิดหนึ่งที่มักจะมาพร้อมกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานก็คือ ภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งโรคต่างๆเหล่านี้ บางชนิดของโรคเป็นโรคที่มีความรุนแรงของโรคสูงมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่น้อยเลย ดังนั้นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระมัดระวัง นอกจากระดับน้ำตาลไม่เลือดแล้วก็ต้องคอยตรวจสอบร่างกายตนเองไม่ให้เกิดภาวะ โรคแทรกซ้อนเบาหวาน จากโรคแทรกซ้อนต่างๆต่างๆ อีกด้วย 

โรคแทรกซ้อนเบาหวานคืออะไร

โรคแทรกซ้อนเบาหวาน หมายถึง การเกิดภาวะของโรคชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว โดยอาจมีทั้งโรคที่มีชนิดความรุนแรงของโรครุนแรงสูง หรือ โรคที่มีชนิดความรุนแรงของโรคต่ำก็ได้ ซึ่งภาวะของโรคแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยเบาหวานขาดการควบคุมระดับน้ำตาลตนเองให้ดี และยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ป่วยเป็นเบาหวานด้วย หากยิ่งเป็นเบาหวานระยะเวลานานเท่าใด โอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนก็จะมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ ชนิด2 มักจะมีโรคแทรกซ้อนในระยะยาว

โรคแทรกซ้อนที่มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

โรคแทรกซ้อนที่เรามักพบได้บ่อยๆ ในผู้ป่วยเบาหวานมีดังต่อไปนี้

1. โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้มากในผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานได้จำนวนมาก ประมาณ 2 ใน 3

วิธีการป้องกัน : ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องควบคุมระดับความดันโลหิตในอยู่ในค่ามาตรฐาน ไม่ให้เกิน 140 / 90 เพื่อป้องกันไม่ให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนักเกินไป และควรวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่ไปพบแพทย์

2. โรคไต การที่ร่างกายมีระดับของน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติ จนเกิดเป็นโรคเบาหวาน จะส่งผลให้ไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับของเสีย และสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น หลอดเลือดฝอยในไตจะค่อยๆ เสื่อมสภาพลง เมื่อหลอดเลือดฝอยในไตเสื่อมมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์จะทำให้การขับถ่ายของเสียลดลง มีของเสียในเลือดคั่งและเกิดภาวะไตวายในที่สุด

วิธีการป้องกัน : ควบคุมระดับน้ำตาลและระดับความดันโลหิตในเลือด ให้อยู่ในค่ามาตรฐาน ไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป ซึ่งจะช่วยลดภาระกานทำงานของไตลงได้ นอกจากนี้ควรตรวจค่าการทำงานของไตเพิ่มเติม ได้แก่

  • ครีอะตินิน Creatinine ระดับปกติในชายคือ 0.6 – 1.2 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในหญิง 0.5 – 1.1 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
  • บียูเอ็น ( BUN ) ระดับปกติคือ 10 – 20 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และ ควรตรวจสุขภาพไตทุก 1 – 3 ปี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานเกิน 5 ปีขึ้นไป 
  • ไมโครอัลบูมิน ( โปรตีนชนิดหนึ่งที่รั่วออกมาในปัสสาวะ ) ระดับปกติคือ < 30 ไมโครกรัม / มิลลิกรัม

3. โรคเกี่ยวกับดวงตา โรคเกี่ยวกับดวงตา ก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยอาการเกี่ยวกับดวงตามราพบเจอ เช่น อาการเบาหวานขึ้นตา โรคตาเป็นต้อหินหรือต้อกระจก เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา อาจมีผลร้ายแรงทำให้ตาบอดได้เลยทีเดียว

วิธีการป้องกัน : ควรตรวจสุขภาพของดวงตาปีละครั้ง หรือทุก 1 – 2 ปี และหมั่นควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในค่าปกติ ไม่ให้มีค่าสูง เนื่องจาก หากค่าน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลระดับน้ำตาลในตาสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้สารซอร์บิทอล ( Sorbitol ) สะสมในเลนส์แก้วตา จนทำให้เลนส์แก้วตาหนาขึ้น มีลักษณะคล้ายคนสายตาสั้น และเป็นต้นเหตุในการเกิดโรคต่างๆเกี่ยวกับตา

4. โรคหลอดหัวใจและโรคหลอดเลือดในสมอง ทั้ง 2 โรคนี้ ล้วนมีสาเหตุหลักมาจากการมีระดับปริมาณของไขมันในเลือดสูง ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงในโรคชนิดนี้สูงกว่าคนปกติประมาณ 2-3 เท่าตัว เป็นโรคที่มีความรุนแรงของโรคสูงมากชนิดหนึ่ง ที่มีผู้เสียชีวิตในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานมานานแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง

วิธีการป้องกัน : ผู้ป่วยต้องคอยคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมาตรฐาน ให้ได้ตามระดับต่อไปนี้

คอเลสเตอรอลรวม < 200 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
แอลดีแอลคอเลสเตอรอล < 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ( ค่าที่แนะนำคือ <70 มิลลิกรัม / เดซิลิตร )
เอชดีแอลคอเลสเตอรอล > 40 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ( ผู้ชาย )
>50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ( ผู้หญิง )

 

5. บาดแผลและโรคเกี่ยวกับเท้า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานควรระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลตามตัว เพราะแผลที่เกิดขึ้นนั้นจะหายยากและช้ากว่าคนปกติ โดยเฉพาะแผลที่บริเวณเท้า หากเกิดขึ้นแล้วต้องระมัดระวังการติดเชื้อมากเป็นพิเศษ เพราะหากติดเชื้อแล้ว ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจจะต้องตัดขานั้นทิ้งเลยทีเดียว

วิธีการป้องกัน : ผู้ป่วยควรระวังไม่ให้เกิดแผลขึ้นกับตนเองโดยเฉพาะบริเวณเท้า และควรตรวจสุขภาพเท้าทุก 6 – 12 เดือน เป็นประจำ 

6. โรคอื่นๆ นอกจากดังกล่าวที่ยกตัวอย่างแล้ว ภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นๆอาจเจอได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เช่น โรคเกี่ยวกับปาก โรคเกี่ยวกับระบบผิวหนัง และโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เป็นต้น

ข้อแนะนำการเกิดโรคแทรกซ้อนเบาหวาน

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หากไม่อยากให้ภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในร่างกายอยู่เสมอ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยอาจไปให้แพทย์เจาะเลือดตรวจที่โรงพยาบาล หรือ ใช้วิธีการตรวจสอบด้วยตนเอง จากเครื่องตรวจสอบระดับน้ำตาลที่ปลายนิ้ว หากพบว่าระดับน้ำเริ่มผิดปกติผู้ป่วยจะได้รู้ตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้ป่วยควรหาเวลาว่างในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ซึ่งในการออกกำลังกายผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ผู้ป่วยควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและสุขภาพช่องปากปีละ 2 ครั้ง เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะมีอาการโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับช่องปากได้บ่อยกว่าคนปกติ
  • ทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับยาจากแพทย์ เพื่อใช้ในการควบคุมระดับน้ำตาล ดังนั้นให้ทานให้ครบตามที่แพทย์สั่ง และไปพบแพทย์อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
  • ตรวจสอบสุขภาพเท้าและเล็บให้ดีอยู่เสมอ เนื่องจากเท้าเป็นอวัยวะที่สำคัญชนิดหนึ่งในร่างกาย ผู้ป่วยต้องคอยระมัดระวังการเกิดบาดแผลที่เท่า เพื่อให้ไม่เกิดการติดเชื้อ หากมีบาดแผลหรืออาการผิดปกติใดๆกับเท้าเกิดขึ้น ควรเข้าพบเพื่อปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเบาหวานได้
  • หมั่นตรวจสอบความดันโลหิต ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นสิ่งที่อันตรายกับร่างกายมาก ผู้ป่วยจึงควรตรวจวัดระดับความดันในเลือดอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติให้เข้าพบแพทย์โดยทันที

โรคแทรกซ้อนเบาหวาน หมายถึง การเกิดภาวะของโรคชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว โดยอาจมีทั้งโรคที่มีชนิดความรุนแรงของโรครุนแรงสูง หรือ โรคที่มีชนิดความรุนแรงของโรคต่ำก็ได้

การตรวจสอบและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 

จะเห็นได้ว่า ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน รวมทั้งภาวะ การเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานก็คือ ระดับน้ำตาลในเลือดนั่นเอง ดังนั้นการหมั่นควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ให้อยู่ในค่าปกติเสมอจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ปัจจุบันเทคโนโลยี การแพทย์ก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถตรวจสอบวัดระน้ำตาลในเลือดได้ด้วยตนเองแล้ว จากเครื่องวัดระดับน้ำตาลที่ปลายนิ้ว เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้อย่างง่ายและพกพาติดตัวได้สะดวก ผู้ป่วยไม่จำเป็นจะต้องไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจสอบระดับน้ำตาลเหมือนในอดีต ช่วยให้ผู้ป่วยมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง และที่สำคัญช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจาก เมื่อผู้ป่วยสามารถตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยตนเองแล้ว จึงทำให้สามารถทำการตรวจได้บ่อยตามที่ตนเองต้องการ

นอกจากการตรวจวัดระดับน้ำตาลบ่อยๆ แล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำคือ การวิเคราะห์และตรวจสอบว่า อาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานที่บริโภคในแต่ละมื้อมีอะไรบ้าง ปริมาณเท่าไรที่ทำให้ระดับน้ำตาลแปรปรวน จากนั้นจึงจัดการปรับการกินให้ระดับน้ำตาลเข้าสู่ระดับปกติในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง สิ่งนี้จะช่วยทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่ยากอีกต่อไป

เป้าหมายระดับน้ำตาลที่ดีในการควบคุมเบาหวาน
ระยะเวลา สมาคมโรคเบาหวาน แห่งสหรัฐอเมริกา ( ADA ) สมาพันธ์โรคเบาหวาน นานาชาติ ( IDF )

ก่อนอาหาร 90 – 130 < 110
หลังอาหาร 2 ชั่วโมง < 180 < 140
ค่าน้ำตาลเฉลี่ย ( HbA1c ) < 7 % < 6.5 %

ข้อแนะนำในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง

เนื่องจากเบาหวานมีหลายประเภท การตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดจึงอาจแตกต่างกันออกไป จึงมีข้อแนะนำในการตรวจดังต่อไปนี้

1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่ต้องฉีดอินซูลิน ควรตรวจระดับน้ำตาลวันละ 4 ครั้ง คือ ก่อนอาหารแต่ละมือ เช้า กลางวัน เย็น และเวลาก่อนนอน โดยในช่วงแรกอาจทำติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อให้เรียนรู้ระดับน้ำตาลปกติของตนเองก่อน จากนั้นจึงค่อยลดการตรวจลงเหลือวันละ 1-2 ครั้ง

2. สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ใช้การรักษาด้วยวิธีการกินยาและใช้การออกกำลังกายร่วม ความถี่การตรวจวัดระดับน้ำตาลอาจทำเพียงแค่ 1 -2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว 

3. ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน เช่น วิตามินซี อาจมีผลต่อค่าระดับน้ำตาลที่อ่านได้ โดยวิตามินซีปริมาณสูงมากๆ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติได้

4. ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ก็อาจมีผลต่อค่าระดับน้ำตาลที่อ่านได้เช่นกัน โดยแอสไพรินอาจทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงได้ เป็นต้น

ค่าความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด

ค่าความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด สามารถเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ ก็คือ สภาวะน้ำตาลในเลือดที่ต่ำกว่าปกติ และสภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุหลักในการเกิดก็คือ การควบคุมระดับน้ำตาลที่ไม่ดีเพียงพอของผู้ป่วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ

หมายถึง สภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานปกติ

อาการของผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ที่มีภาวะของระดำน้ำตาลต่ำกว่าปกติ โดยทั่วไปจะมีอาการที่พบได้ดังต่อไปนี้

  • มีอาการปวดและมึนศีรษะบ่อยๆ
  • ตาพร่ามัวหรือเห็นภาพซ้อน
  • ตัวเย็น เหงื่อออก หัวใจเต้นแรงและเร็ว
  • ชาบริเวณปลายนิ้วมือและรอบปาก
  • มีภาวะอารมณ์หงุดหงิดง่าย
  • หากมีอาการรุนแรง อาจชักและหมดสติได้ 

สาเหตุของภาวะน้ำตาลต่ำ

  • กินอาหารมื้อหลักหรืออาหารว่างๆไม่ตรงเวลา รวมถึงการงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง
  • ได้รับสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าปกติในมื้อล่าสุดก่อนตรวจระดับน้ำตาล
  • ออกกำลังกายมากกว่าปกติ นานเกินไป หรืออกแบบหักโหม
  •  ฉีดอินซูลินเกินขนาด ทำให้น้ำตาลต่ำกว่าปกติ
  • ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะท้องว่าง
  • ตับหรือไตทำงานมีการทำงานที่ผิดปกติ
  • กินวิตามินหรือ ยาในกลุ่มของแอสไพรินก่อนหน้าการตรวจเลือด

วิธีแก้ไขเมื่อเกิดเหตุน้ำตาลต่ำ

หากทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแล้วพบว่า ตนเองมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำกว่าปกติ ให้ใช้วิธีการต่อไปนี้แก้ไขในเบื้องต้น แต่หากทำตามแล้วยังไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์จะดีที่สุด

  • หากระดับน้ำตาลที่วัดได้มีค่าต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้ทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตปริมาณ 15 กรัม เพื่อช่วยปรับระดับน้ำตาลให้สูงขึ้น
  • หากระยะเวลาผ่านไปเกิน 15 นาที แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ผลการตรวจวัดระดับน้ำตาลยังคงต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ให้เพิ่มการทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตปริมาณเข้าไปอีก 15 กรัม
  • ทำการตรวจสอบนะดับน้ำตาลอีกครั้ง หากยังไม่ดีขึ้นให้ทำต่อไป จนระดับน้ำตาลกลับเข้าสู่ค่ามาตรฐาน
  • ในอาหารมื้อถัดไป ให้ทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นจากปกติอีก 15 กรัม
  • ตัวอย่างอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน ประเภทคาร์โบไฮเดรตปริมาณ 15 กรัม เช่น น้ำอัดลมชนิดปกติ 120-180 มิลลิลิตร , ลูกเกด 2 ช้อนโต๊ะ,นมพร่องไขมันหรือนมขาดมันเนย 1 ถ้วยตวง หรือ 240 มิลลิลิตร , น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง 3 ช้อนชา , น้ำผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ ½ ถ้วยตวง หรือ 120 มิลลิลิตร เป็นต้น
  • ไม่ควรใช้น้ำตาลเทียม เนื่องจาก จะไม่ช่วยในการเพิ่มระดับน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นช้า

การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ

  • กินอาหารให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ   
  • หากต้องเดินทางไปข้างนอก ควรเตรียมอาหารปะเภทคาร์โบไฮเดรตติดตัวไว้เสมอ
  • หมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาก่อนเข้านอน
  • ศึกษาข้อมูลทางด้านโภชนาการอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานแต่ละชนิด เพื่อให้ทราบปริมาณของน้ำตาลในอาหารนั้นๆ
  • ฉีดอินซูลินตามเวลาที่ควรฉีด หรือตามที่แพทย์แนะนำ
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่หักโหมเกินไป และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำในการออกกำลังกาย

2. ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

หมายถึง สภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์มาตาฐานปกติ

อาการของผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

ผู้ที่มีภาวะของระดำน้ำตาลสูงกว่าปกติ โดยทั่วไปจะมีอาการที่พบได้ดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียง่ายกว่าปกติ ปวดศีรษะ
  • ตาพร่ามัว การมองเห็นไม่ชัดเจน
  • มีอาการกระหายน้ำ และปัสสาวะบ่อยๆ
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย

สาเหตุของภาวะน้ำตาลสูง

  • กินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินปกติ จากมื้ออาหารล่าสุด
  • ขาดการกินยาหรือฉีดอินซูลิน หรือใช้ปริมาณที่ผิดปกติ จากตามที่แพทย์สั่ง
  • มีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับร่างกาย หรือ เกิดภาวะเครียดขึ้นทางจิตใจ
  • เกิดจากการพักผ่อนน้อย นอนหลับไม่เพียงพอ

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559. 

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). กินเท่าไหร่ กินแค่ไหน ไม่เสี่ยงอ้วน. ใน: ธิดารัตน์ มูลลา.ชีวิตใหม่ไร้พุง. กรุงเทพฯซ บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัดม 2557.

แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: หจก. อรุณการพิมพ์ม 2557.

สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.

แก้ว กังสดาลอำไพ. ความสัมพันธ์ระหว่างแอลกอฮอล์กับอาหาร [เว็บไซต์]. กรุงเทพฯ. หมอชาวบ้านว 2531.
งานวิจัยเกาหลี [เว็บไซต์]. เข้าถึงจาก www.diabassocthai.org.