ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด มีข้อบ่งชี้วิธีการใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมอย่างไร
อินซูลินเป็นยาชนิดฉีดที่ใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ

อินซูลิน ( Insulin )

โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินสุลินได้ในปริมาณที่สูงพอที่จะจัดการเก็บน้ำตาลจากเลือดเข้าเซลล์เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับสู่ค่าปกติ ผู้ป่วยจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ โดยการ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และใช้ยา เพียงเท่านี้ผู้ป่วยก็จะมีชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขเหมือนคนทั่วไป ในเรื่องการใช้ยา มียาอยู่ 2 ประเภทได้แก่ ยารับประทาน และยาฉีด อินซูลิน ( Insulin )

ยาชนิดรับประทาน ( Oral Hypoglycemic Agents )

ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ( ได้แก่ โภชนบำบัด การออกกำลังกาย การเรียนรู้โรคเบาหวานและการดูแลตนเอง ) ร่วมกับการใช้ยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีนั้นเพื่อที่จะป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรคทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง รวมทั้งรักษาอาการที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงคนปกติ ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทานแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

ยากลุ่มไบกัวไนด์ Biguanide
ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย Sulfonylurea
ยาต้านแอลฟากลูโคซิเดส L-Glucosidase Inhibitor
ยาเพิ่มความไวต่ออินซูลิน Insulin Sensitizer

1.1 ยากลุ่มไบกัวไนด์

ทางการแพทย์ นำมาใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ข้อดีของยานี้คือ ไม่ก่อให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ สารอนุพันธ์ไบกัวไนด์ที่มีการใช้บ่อยที่สุดคือ ยา Metformin ข้อดีของ ยา Metformin ได้แก่ก่อให้มีความเสี่ยงน้อยต่อการ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นยาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความดันโลหิต และช่วยลดไขมัน ไตรกลีเซอไรด์อีกด้วย

ยาในกลุ่มนี้เท่าที่เคยมีจำหน่าย คือเฟนฟอร์มิน PHENFORMIN บูฟอร์มิน BUFORMINแต่ปัจจุบันเลิกจำหน่ายไปแล้วเหลือเฉพาะ เมตฟอร์มิน METFORMIN ตัวเดียวที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

Metformin มีชื่อการค้าต่างๆ เช่น กลูโคเฟจ Glucophage ไดอะเมต Diamet เป็นต้น

1.2 ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย

ยานี้ใช้ได้ผลดีในผู้ป่วเบาหวานที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไปและเป็นชนิดไม่มีอาการแทรกซ้อนประสิทธิภาพของยากลุ่มนี้ขึ้นกับว่าตับอ่อนของผู้ป่วยเบาหวานยังสามารถทำงานได้มากน้อยเพียงใดยากลุ่มนี้ใช้ไม่ได้กับผู้ป่วยที่ตับอ่อนไม่ทำงานแล้ว  

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย

1.เพิ่มประสิทธิ์ภาพของอินซูลินในการนำน้ำตาลเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย

2.ช่วยลดการเกาะกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นช่วยป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนทางหลอดเลือด

3.กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินออกมามากขึ้น

4.ระงับการสร้างน้ำตาลจากตับ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารลดลง

ยากลุ่มนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ

กลุ่มที่สังเคราะห์ขึ้นมารุ่นแรก First Generation ได้แก่
ทอลบูตาไมด์ Tolbutamide มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นประมาณ 4-6 ชั่งโมง ต้องรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง จึงจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไปได้ทั้งวัน
อะซีโตเฮกซะไมด์ Acetohexamide  ออกฤทธิ์ยาวปานกลาง
คลอร์โพรพาไมด์ Chlorpropamide ออกฤทธิ์ยาวประมาณ 30-36 ชั่วโมง รับประทานเพียงวันละครั้ง
กลุ่มที่สังเคราห์รุ่นที่ 2 second generation มีฤทธิ์แรงขึ้นออกฤทธิ์ยาวปานกลางประมาณ 5-8 ชั่วโมง รับประทานวันละ 2 ครั้ง จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไปได้ทั้งวัน ได้แก่
กลิเบนคลาไมด์ Glibenclamide
กลิคลาไซด์ Gliclazide
กลิพิไซด์ Gligizide

ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียทุกชนิดดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานก่ออาหาร  ถ้ารับประทานยาพร้อมอาหารหรืออาหารการดูดซึมของยาจะลดลง

การเปลี่ยนยาจากชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่งอาจได้ผลที่แตกต่างกันได้ เนื่องจากการดูดซึมยาต่างกันและการตอบสนองของผู้ป่วยต่อตัวยาอาจแตกต่างกันได้ ดังนั้นในกรณีที่ใช้ยาชนิดหนึ่งไม่ได้ผลอาจจะลองเปลี่ยนยาเป็นอีกชนิดหนึ่งในกลุ่มเดียวกันได้

1.3 ยาต้านแอลฟากลูโคซิเดส

ยาแอลฟา-กลูโคซิเดส เป็นหมวดยาสังเคราะห์ ที่ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยจะใช้กลไกป้องกันมิให้ร่างกายย่อยคาร์โบไฮเดรตให้กลาย เป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก ( น้ำตาลชนิดสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน ) ในธรรมชาติต้นพืชหลายชนิดก็มีสารประเภทแอลฟา-กลูโคซิเดสอยู่ด้วยเช่น ในเห็ดไมตาเกะ ( Maitake mushroom ) ซึ่งนัก วิจัยค้นพบว่าการบริโภคเห็ดชนิดนี้สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ 

ปัจจุบันยาในกลุ่มนี้มีขายในประเทศไทยแล้ว 2 ชนิด คือ

อะคาร์โบส Acarbose มีชื่อการค้าว่ากลูโคเบย์ Glucobay

และโวกลิโบส Voglibose มีชื่อการค้าว่าเบเซน Basen

1.4 ยาเพิ่มความไวต่ออินซูลิน

ยาเพิ่มความไวต่ออินซูลินเป็นพัฒนาการใหม่ล่าสุดของยารักษาโรคเบาหวานชนิดรับประทาน ยาใหม่ในกลุ่มนี้คือกลุ่มไทเอโซลิดีนไดโอน Thiazolidinedione ซึ่งปัจจุบันมีใช้แล้ว 2 ชนิด คือ

ยาโรซิกลิตาโซน Rosiglitazone เช่น ยาอะแวนเดีย เป็นต้น
ยาไพโอกลิตาโซน Pioglitazone เช่น ยาแอกทอส Actos เป็นต้น
ภาวะดื้อต่ออินซูลินมีผลกระทบต่อการเผาผลาญไขมันด้วย จึงพบว่าในผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลินจะมีระดับไขมันในโลหิตสูงขึ้น รวมทั้งสารต่างๆ ที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นยาที่ช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินอาจมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีกว่ายาในกลุ่มอื่นๆ ที่ใช้รักษาเบาหวาน

อาการข้างเคียงของยาชนิดรับประทาน

ยากลุ่มไบกัวไนด์มีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย แต่ก็ไม่รุนแรงมากนัก เป็นอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น

ยาต้านแอลฟากลูโคซิเดสมีอาการข้างเคียง คือ อาการท้องอืด ซึ่งเป็นผลมาจากการหมักหมมของคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ถูกย่อยแต่ถูกแบคทีเรียในลำไส้เล็กย่อยแทน ทำให้เกิดแก๊สขึ้นในทางเดินอาหาร นอกจากนี้อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่พบได้ คือ ท้องเดิน ถ่ายเหลว เรอ คลื่นไส้ อาเจียน แต่อาการเหล่านี้จะลดน้อยลงเมื่อใช้ยาต่อๆ ไป

ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียมีอาการข้างเคียงคืออาการแพ้ยาจะเกิดขึ้นใน 2-6 สัปดาห์ หลังเริ่มให้การรักษา โดยจะเป็นผื่นแดงคันบางรายอาจมีตับอักเสบ ปริมาณเม็ดเลือดขาวลดต่ำลงได้ แต่พบน้อยมากส่วนอาการอื่นๆได้แก่ คลื่นไส้ ท้องอืด ปวดศีรษะ ชาตามแขนขา อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและเป็นอยู่ไม่นานก็หายได้ 

การฉีดอินซูลิน ( Insulin preparations )

อินซูลิน ( Insulin ) เป็นยาชนิดฉีดที่ใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติเท่าที่ทำได้ ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ทุกราย และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีด้วยการควบคุมอาหารและการใช้ยาเม็ดลดระดับน้ำตาลอินซูลินต้องใช้โดยการฉีดเท่านั้น ไม่สามารถรับประทานได้ทางปากโดยทั่วไปจะมีอินซูลิน 100 ยูนิตต่อ 1 มิลลิลิตร ( ซีซี ) ของน้ำยาซึ่งเรียกว่า ยู 100 อินซูลิน ( U 100 insulin ) แหล่งที่มาของอินซูลินมี 2 แหล่ง คือ ได้มาจากการสกัดจากตับอ่อนจองหมูและวัว ส่วนอีกแหล่งได้มาจากการสังเคราะห์โดยวิธีทางพันธุวิศวกรรม Genetic Engineering ทำให้ได้อินซูลินที่เหมือนกับอินซูลินของมนุษย์ ซึ่งนิยมใช้กนในปัจจุบัน

ชนิดของอินซูลิน

แบ่งออกได้ตามการออกฤทธิ์ของอินซูลินได้เป็น 4 ชนิด คือ

อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วมาก ( Rapid-acting Insulin ) อินซูลินชนิดนี้ถูกเรียกว่า อินซูลินชนิดน้ำใส (ตามลักษณะทางกายภาพของยา) ใช้ฉีดในเวลาที่ต้องการลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร เมื่อฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนังจะออกฤทธิ์เร็วภายใน 10-15 นาทีและมีฤทธิ์อยู่นาน 3-5 ชั่วโมง
อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วและสั้น ( Short-acting Insulin ) ใช้ฉีดก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารหรือใช้ฉีดเมื่อมีภาวะฤทธิ์ในเวลา 30 – 60 นาทีและมีฤทธิ์อยู่นาน 5 – 7 ชั่วโมง
อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง ( Intermediate-acting Insulin ) อินซูลินชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นน้ำสีขาวขุ่นจึงมักเรียกกันว่า อินซูลินชนิดน้ำขุ่น โดยทั่วไปจะใช้เป็นอินซูลินตัวหลักในการรักษาโรคเบาหวานโดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังวันละ 1-2 ครั้ง หลังฉีดอินซูลินแล้วจะออกฤทธิ์ในเวลา 2 – 4 ชั่วโมงและมีฤทธิ์อยู่นาน 18-24 ชั่วโมง
อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ยาว ( Long-acting Insulin ) มีลักษณะเป็นน้ำใสใช้เพื่อปรับระดับอินซูลินในเลือดให้สูงขึ้นในปริมาณหนึ่งตลอดวันและป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ยาวเข้าใต้ผิวหนังอินซูลินจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2 ชั่วโมงและมีฤทธิ์นาน 24 ชั่วโมง

วิธีการฉีดอินซูลิน

ปัจจุบันแพทย์จะแนะนำให้ฉีดอินซูลินเข้า บริเวณหน้าท้อง เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากสามารถดูดซึงยาได้ดีในอัตราที่สม่ำเสมอ และมีชั้นไขมันหนาผู้ป่วยจะเจ็บน้อยที่สุด 

ขั้นตอนในการฉีดอินซูลินควรปฏิบัติดังนี้

1.ควรล้างมือให้สะอาดแล้วเช็คให้แห้งทุกครั้งก่อนฉีดอินซูลิน
2.คลึงขวดยาอินซูลินไปมาในฝ่ามือทั้งสองข้างห้ามเขย่าขวดอินซูลินโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดฟอง
3.ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดจุกยางของขวดยาอินซูลิน
4.ดูดอากาศเข้ามาในหลอดฉีดยาให้มีจำนวนเท่ากับปริมาณยา หน่วยเป็นยูนิต ที่จะต้องใช้
5.แทงเข็มฉีดยาให้ผ่านจุกยางเข้าไปในขวดยาแล้วดันอากาศเข้าไปในขวด
6.คว่ำขวดยาลงแล้วค่อยๆ ดูดยาอินซูลินเข้าหลอดฉีดยาในปริมาณที่ต้องการ
หากมีฟองอากาศให้ฉีดยากลับเข้าไปในขวดใหม่แล้วดูดยากลับเข้ามาช้าๆ จนได้ปริมาณที่ต้องการ
7.ตรวจดูขนาดของยาอินซูลินก่อนที่จะฉีดให้แน่ใจอีกครั้งจากนั้น ปิดปลอกเข็มฉีดยาเตรียมฉีดได้เลย

ในกรณีที่ต้องการฉีดอินซูลิน 2 ชนิด ควรปฏิบัติ ดังนี้

1.กลิ้งขวดยาชนิดน้ำขุ่นไปมาบนฝ่ามือให้ยาผสมเป็นเนื้อเดียวกันอย่าเขย่าขวดอินซูลินเพราะจะทำให้เกิดฟอง
2.เช็ดปากขวดยาทั้งสองด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์
3.ก่อนปักเข็มลงในปากขวดยา ดูดลม…ยูนิต ( เท่าจำนวนยาน้ำขุ่นที่ต้องการ )
4.ปักเข็มลงไปในปากขวดยาชนิดน้ำขุ่นแล้วดันลมที่ดูดไว้ทั้งหมดใส่ลงไปในขวดยา ก่อนดึงหลอดฉีดยาเปล่าออกมา
ดูดลด…ยูนิต ( เท่าจำนวนยาน้ำใสที่ต้องการ ) ปักเข็มลงไปในขวดยาน้ำใสแล้วดันลมลงไปทั้งหมดก่อนคว่ำขวด ดึงยาใสออกมา…ยูนิต ( เท่าจำนวนยาน้ำใสที่ต้องการ )
5.จากนั้นปักเข็มลงไปในขวดยาน้ำขุ่นแล้วดูดยาน้ำขุ่นออกมาอีก…ยูนิต ( เท่าจำนวนยาน้ำขุ่นที่ต้องการรวมกันเป็น…ยูนิต )
การดูดยา 2 ชนิดผสมในเข็มเดียวควรฉีดทันทีหรือภายใน 15 นาทีเพราะหากทิ้งไว้นานจะทำให้การออกฤทธิ์ของยาเปลี่ยนไป

อินซูลินที่เปิดใช้แล้ว และเก็บอยู่ในปากกาฉีดอินซูลิน สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้อง ( 25 องศาเซลเซียส ) ได้นานประมาณ 30 วัน

หลังจากได้บรรจุยาอินซูลินในหลอดฉีดยาแล้ว การฉีดยาเข้าไปในบริเวณที่ต้องการควรปฏิบัติดังนี้

ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะฉีดยา
ใช้มือข้างหนึ่งดึงบริเวณที่จะฉีดยาให้สูงขึ้น แล้วแทงเข็มฉีดยาลงไปตรงๆ ให้ตั้งฉากกับผิวเข้าชั้นใต้ผิวหนังให้มิดเข็ม ค่อยๆ ดึงก้านสูบขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อดูว่าแทงเข็มเข้าไปในหลอดเลือดหรือไม่ ถ้ามีเลือดเข้าไปในหลอดฉีดยาให้ถอนเข็มออกแล้วเปลี่ยนที่ฉีดใหม่ถ้าไม่มีเลือดออกก็ค่อยๆ เดินยาจนหมด
ถอนเข็มฉีดยาออก ใช้สำสีแห้งกดตำแหน่งที่ฉีดยาไว้ชั่วขณะ
นอกเหนือจากการใช้หลอดฉีดยาธรรมกาดังกล่าวแล้วยังมีการฉีดอินซูลินแบบใหม่ 2 แบบ คือ 

1.ปากกาฉีดอินซูลิน ลักษณะคล้ายกับปากกาหมึกซึมขนาดใหญ่ โดยมีอินซูลินบรรจุในหลอดแก้วขนาดเล็กใส่เข้ากับตัวปากกาพอดี ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้กันมาก เนื่องจากสะดวกในการพกพาและการใช้สอย ทำได้โดยการหมุนเกลียวไปตามตัวเลขที่ต้องการก็จะได้ปริมาณอินซูลินตามนั้น ไม่ต้องใช้วิธีดูดยาออกจากขวด แต่มีราคาค่อนข้างสูง

2.อินซูลินปัมพ์ เป็นเครื่องมือที่จะติดอยู่กับตัวผู้ป่วยตลอดเวลาโดยมีเข็มแทงเข้าใต้ผิวหนังซึ่งต่อกับตัวเครื่องซึ่งควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะตั้งโปรแกรมให้ฉีดอินซูลินขนาดต่ำ ๆ เข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา และฉีดอินซูลินปริมาณเพิ่มขึ้นก่อนอาหาร เป็นการเลียนแบบคนปกติ

การเก็บรักษาอินซูลิน

อินซูลินที่ยังไม่ได้เปิดใช้ หากเก็บที่อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส เก็บได้นานเท่ากับอายุยาข้างขวดแต่สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ( ประมาณ 25 องศาเซลเซียส ) ได้นานประมาณ 30 วัน อินซูลินที่เก็บในอุณหภูมิสูง เช่น กลางแดดจัด หรือที่อุณหภูมิต่ำมากๆ เช่น ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่ควรใช้เป็นอย่างยิ่งเนื่องจากยาเสื่อมคุณภาพ และไม่แนะนำเก็บที่ฝาตู้เย็น เนื่องจาก อาจทำให้อุณหภูมิไม่ค่อยคงที่ จากการปิด-เปิดตู้เย็น

อินซูลินแบบขวดที่เปิดใช้แล้วและเก็บในตู้เย็น ( 2-8 องศาเซลเซียส ) จะเก็บได้นานประมาณ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่เปิดขวด ถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้อง ( 25 องศาเซลเซียส ) ได้นานประมาณ 30 วัน

ผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากรับอินซูลินไปฉีดตามแพทย์สั่งแล้ว ยังต้องระวังการติดเชื้อให้ดีๆ ด้วยการรักษาอนามัยส่วนตัวให้สะอาด โดยเฉพาะฟันและเท้า รวมทั้งบาดแผล รอยข่วน หรือแผลเปื่อยยิ่งต้องระมัดระวังความสะอาดเป็น พิเศษ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกาย  ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด อย่าลืมทำจิตใจให้สบาย  และสุดท้ายควรมีบัตรประจำตัวระบุชื่อนามสกุล ชื่อแพทย์ประจำตัว เบอร์โทรศัพท์ ชื่อชนิดและขนาดของอินซูลินที่ใช้พกติดตัวเสมอ เผื่อยามฉุกเฉินคนรอบข้างจะได้ช่วยเหลือทัน

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: หจก. อรุณการพิมพ์, 2557.

Hutton B, McGill S. “Home telehealth for diabetes management: a systematic review and meta-analysis”. Diabetes Obes Metab 11 (10): 913–30.