พริกระฆัง หรือพริกหวาน
พริกระฆังหรือพริกหวาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมได้ด้วยสารวิตามินซี แคโรทีน ลูทีอิน และแซนธิน มีสารต้านอนุมูลอิสระ

พริกหวาน หรือพริกระฆัง คือ

พริกหวาน หรือพริกระฆัง ( Bell Pepers ) คือ พริกที่มีรูปร่างเหมือนระฆัง มีหลายสีมาก เช่น สีเหลือง สีเขียว สีส้ม สีแดงและสีม่วง คนไทยมักนำมาประดับหรือใส่ในจานอาหารเพื่อเพิ่มสีสันให้กับอาหาร สีสันของอาหารเป็นตัวกระตุ้นช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น เมนูที่เราพบบ่อยคือ ผัดผักใส่พริกหวาน สลัดผักใส่พริกหวาน ผัดเปรี้ยวหวาน พริกหวานชุปแป้งทอด พริกหวานยัดไส้หมูนึ่ง พริกหวานเป็นพริกที่มีรสหวาน เผ็ดน้อยหรือบางลูกไม่มีรสเผ็ดแม้แต่น้อย จึงได้ชื่อว่าพริกหวาน

ลักษณะของพริกหวาน หรือพริกระฆัง

พริกหวาน หรือพริกระฆัง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum Annum L. มีชื่อสามัญว่า Bell Peper, Sweet Peper, Capsicum เป็นพืชในวงศ์มะเขือเทศ ( Solanaceae ) คนไทยรู้จักกันในชื่อ พริกยักษ์, พริกระฆัง และพริกตุ้มใหญ่ จัดเป็นพืชข้ามปีคือมีอายุหลายปีแต่ว่านิยมปลูกเป็นพืชฤดูเดียวมากกว่าเพราะผลผลิตในปีแรกจะให้ผลิตสูงที่สุด แต่ในปีต่อไปปริมาณผลผลิตจะน้อยลงจึงนิยมปลูกแค่ปีเดียวเท่านั้น ลำต้นมีความสูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร รากมีความลึกในแนวดิ่งประมาณ 90-120 เซนติเมตร แผ่วงกว้างรอบโคนต้นประมาณ 90 เซนติเมตร รากเจริญเติบโตและหนาแน่นมาที่ความลึก 50-60 เซนติเมตร ลำต้นช่วงแรกจะตั้งตรงเป็นต้นเดี่ยว เมื่อออกช่อดอกบริเวณยอดจะมีการแตกแขนงไปเรื่อย ๆ จนมีกิ่งเป็นจำนวนมาก ยิ่งกิ่งมีเป็นจำนวนมากจำนวนผลผลิตก็จะสูงตามไปด้วย กิ่งแก่นั้นเปราะหักง่าย มีใบเดี่ยวออกตามกิ่งและลำต้น ออกสลับกันจนถึงยอด ดอกมีสีขาวและสีม่วง ดอกเป็นดอกเดี่ยวคือในหนึ่งก้านจะมีเพียงดอกเดียวเท่านั้นไม่ออกดอกเป็นช่อ ดอกพริกหวานจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน สมารถผสมพันธุ์ในดอกหรือนอกดอกก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีพริกหวานสายพันธุ์ผสมข้ามสายพันธุ์เกิดขึ้นอยู่เสมอ ดอกมี 5 กลีบมีเกสรอยู่ตรงกลางของกลีบ เกสรตัวเมียมี 1 อยู่ตรงกลางส่วนเกสรตัวผู้เป็นเกสรย่อยอยู่รอบ ๆ เกสรตัวเมีย ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตในพื้นที่ความชื้นน้อย อากาศอบอุ่นและมีอุณหภูมิยู่ที่ 20-25 องศาเซลเซียส เม็ดสีคลลอโรฟิลล์เป็นที่มาของสีเขียวในพริกหวาน เม็ดสีแอนโธไซยานินจะทำให้พริกหวานมีสีม่วง เม็ดสีแคโรทีนอยด์ทำให้พริกหวานเป็นสีเหลือง สีส้มและสีแดง ส่วนการผสมของเม็ดสีคลอโรฟิลล์ ไลโคปีนและเบต้าแคโรทีนจะทำให้พริกหวานมีสีน้ำตาล ผลพริกหวานที่ทั้งรูปทรงเรียวและทรงคล้ายระฆังขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ พริกหวานที่มีรูปทรงเรียวยาวจะมีรสเผ็ดมากกว่าที่มีรูปทรงคล้ายระฆัง

พริกหวาน หรือพริกระฆัง ประโยชน์

ด้วยความที่พริกชนิดนี้มีหลายสีมาก พริกหวาน หรือพริกระฆัง จึงเป็นพริกที่อุดมได้ด้วยสารวิตามินซี แคโรทีน ลูทีอิน ( Lutenin ) และแซนธิน ( Zeaxanthin ) ที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดชนิดหนึ่ง ยิ่งพริกมีสีเข้มมากเท่าใดก็จะมีสารอาหารมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะพริกหวานสีเขียวที่เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวนั้น นั่นคือ พริกหวานเขียวจะมีวิตามินซีมากเกินความต้องการของร่างกาย 140% แต่รู้หรือไม่ว่าถ้าพริกหวานเขียวสุกเปลี่ยนเป็นสีแดง ปริมาณวิตามินซีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหรือ 280% เลยที่เดียว และปริมาณแคโรทีน ซีอะแซนและลูทีอินก็จะเพิ่มขึ้นอีก 9 เท่าตัว ซึ่งสารนี้เป็นสารที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระไม่ให้ทำปฏิกิริยากับไขมันเลว (LDL) ที่อยู่ในร่างกายเกิดเป็นสารที่มีพิษต่อหลอดเลือดและหัวใจ ป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดอักเสบ ไขมันอุดตันในเสส้นเลือดและโรคหัวใจ   

นอกจากนี้ พริกหวาน หรือพริกระฆัง ยังมีสารที่ให้ความเผ็ดที่เรียกว่า ( Capsaicin ) ถึงแม้ว่าจะมีในปริมาณที่น้อยกว่าพริกขี้หนูจึงไม่มีรสเผ็ดเหมือนพริกขี้หนู สารนี้จะช่วยให้ร่างกายเจริญอาหารสำหรับผู้ที่รู้สึกเบื่ออาหาร ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคขาดสารอาหาร ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้ทำงานได้เป็นปกติ ช่วยให้ต่อมน้ำลายทำงานได้ดีและสาร  ( Capsaicin ) จะเข้าไปกระตุ้นการสร้างสารแห่งความสุข ( Endorphins ) ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ลดความดันโลหิต ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้เป็นปกติ เพราะว่าสาร ( Capsaicin ) ให้เลือดอ่อนตัวทำให้เคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ลดการแข็งตัวของเลือดที่และยังช่วยขับสารพิษในร่างกายออกมาทางเหงื่อ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้

พริกหวาน หรือพริกระฆัง เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเป็นผักที่ควรสามารถรับประทานได้แบบสดและแบบปรุงสุกแล้ว การทานทั้ง 2 แบบจะให้คุณค่าทางโภชนาการไม่ต่างกันเท่าใดนัก สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะรับประทานพริกหวานอย่างไรดี ลองนำพริกหวานไปทำสลัดแบบของเราดูสิ รับรองว่าอร่อยและได้คุณค่าเต็ม ๆ

เมนูสลัด พริกหวาน หรือพริกระฆัง 

เมนูแนะนำสลัด 5 สี
ส่วนผสมสลัด 5 สี
1 พริกหวานสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีส้ม อย่างละ ¼ ผล
2 กะหล่ำปีม่วง 1 ถ้วยตวง
3 หัวหอมแดง ½ หัว
4 แอปเปิ้ลแดงหรือเขียว 1 ผล
5 น้ำส้ม 2 ช้อนโต๊ะ (ควรเลือกชนิดที่มีกลิ่นหอมจะช่วยเพิ่มความน่าทานให้กับสลัด)
6 น้ำมันมะกอก 1 ช้อนโต๊ะ

ขั้นตอนการทำสลัด 5 สี 

1.นำ พริกหวาน หรือพริกระฆังเตรียมไว้มาล้างให้สะอาด นำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆตามแนวยาวหรือจะหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าก็ได้ตามชอบ
2.หั่นหัวหอมแดง กะหล่ำปีเป็นชิ้น ๆ ขนาดตามชอบใจ
3.นำผักทั้งหมดมาคลุกเล้าให้เข้ากัน และเติมน้ำส้มกับน้ำมันมะกอกเข้าไปด้วย
4.นำแช่เย็นประมาณ 30-60 นาที ก่อนเสิร์ฟให้หั่นแอปเปิ้ลเป็นชิ้นบางๆ วางไว้ด้านบนด้วย เพียงเท่านี้สลัด 5 สีก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว ปริมาณสลัดทำได้ สามารถเสิร์ฟได้ 4 จานด้วยกัน

สลัด 5 สี สามารถทานเป็นอาหารจานหลักหรือออร์เดิร์ฟเพื่อเรียกน้ำย่อยก็ได้ หรือจะใช้เป็นเครื่องเคียงทานกับเนื้อสัตว์ก็อร่อยไม่แพ้กัน นอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว สลัด 5 สียังมีสารอาหารทางโภชนาการดังนี้

ข้อมูลทางโภชนาการ
สลัด 5 สี   (คำนวณจากปริมาณ 1 จาน)
                                                                                         ปริมาณสารอาหารในแต่ละจาน
พลังงานทั้งหมด                                                                                80   แคลอรี่
พลังงานจากไขมัน                                                                             33   แคลอรี่
%คุณค่าสารอาหารต่อวัน
ไขมันรวม                                   4 กรัม                     9%
ไขมันอิ่มตัว                             < 1 กรัม                     6%
คอเลสเตอรอล                             0 มิลลิกรัม               0%
โซเดียม                                    5 มิลลิกรัม                0%
คาร์โบไฮเดรตรวม                       13 กรัม                     4%
เส้นใยอาหาร                               2 กรัม                   10%
โปรตีน                                      1 กรัม
วิตามิน เอ    0%           วิตามิน ซี    100%            แคลเซียม    7%             ธาตุเหล็ก    2%

พริกหวาน หรือพริกระฆัง เป็นพริกที่มีรสหวานทานง่าย นำมาปรุงอาหารแล้วสีสันก็ยังคงสวยงามน่ารับประทาน และยังคุณค่าทางอาหารอีกมากมาย เวลาที่ปรุงอาหารเราควรหาพริกหวานมาปรุงด้วยเพื่อที่จะได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพิ่มมากขึ้น พริกหวานหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด วันนี้คุณทานพริกหวานกันแล้วหรือยัง?

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

“Species records of Capsicum”. Germplasm Resources Information Network. United States Department of Agriculture. Retrieved 2010-06-23.

Capsicum L”. Germplasm Resources Information Network. United States Department of Agriculture. 1 September 2009. Retrieved 2010-02-01.