สรรพคุณและประโยชน์ของขี้เหล็ก (Thai Copper Pod)
ขี้เหล็กเป็นพืชที่นิยมนำมาเป็นอาหารแล้วยังใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาได้หลายโรค

ขี้เหล็ก

ขี้เหล็ก ( Thai Copper Pod ) คือ สมุนไพรพื้นบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna siamea มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น ประโยชน์ของขี้เหล็กมีมาก มีรสขมเล็กน้อย และมีความนุ่ม นิยมนำดอกอ่อนและยอดอ่อนมาทำอาหาร ทั้งเป็นอาหารและเป็นยาสมุนไพรรักษา และบรรเทาอาการต่างๆได้หลายโรค คนโบราณกินแกงขี้เหล็กต้านหวัดแล้วได้ผล เพราะขี้เหล็กมีวิตามินซีสูงมากกว่าส้ม เป็นพืชสมุนไพรประจำท้องถิ่นในภูมิภาคทวีปเอเชีย เช่น เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นต้น ขี้เหล็กบ้านมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่จะมีแค่พันธุ์ที่พบในประเทศไทยเท่านั้นที่นิยมนำมาประกอบเป็นอาหาร เมนูยอดฮิตอย่างแกงกะทิขี้เหล็กในเนื้อย่างหรือหมู หรือปลาย่าง ที่เป็นอาหารถูกปากใครหลายๆคน ส่วนแกงแบบพื้นบ้านทางภาคเหนือก็คือแกงบวน ภาคอีสานก็คือแกงซกเล็ก แกงขี้เหล็กย่านาง แกงขี้เหล็กใส่วุ้นเส้น เป็นต้น

ขี้เหล็ก ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ขี้เหล็กชื่อนี้เป็นสมุนไพรชื่อคุ้นหูเป็นอย่างดีสำหรับคนไทย ขี้เหล็กเป็นไม้เบญจพรรณยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ ลำต้นขี้เหล็กสามารถสูงได้ถึงประมาณ 8 – 15 เมตร มีลักษณะเป็นพุ่มใหญ่ ขี้เหล็กใบมีขนาดเล็กเรียงกันกับก้านตรงกลาง ลักษณะคล้ายกับขนนก ดอกช่อสีเหลืองอยู่ตามปลายกิ่ง ดอกจะบานจากโคนช่อไปยังปลายช่อ กลีบเลี้ยงมี 3-4 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ เกสรตัวผู้10 อัน ผลเป็นฝักแบนยาวมีสีคล้ำ เมล็ดรูปไข่ยาวแบนสีน้ำตาลอ่อนเรียงตามขวางมี 20-30 เมล็ด เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ทั้งผลและใบสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ โดยเฉพาะใบของขี้เหล็ก ซึ่งมีสีเขียวเข้มนี้มีคุณค่าทางสารอาหารเยอะมาก อุดมไปด้วยโปรตีน และเบต้าแคโรทีน ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็กสูง และมีเส้นใยอาหารอยู่มาก อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินซี สามารถปลูกขึ้นได้ง่ายในดินทุกชนิด โตเร็ว เป็นไม้ที่มีเนื้อแข็ง ขี้เหล็กทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ดี ในส่วนของดอกขี้เหล็กจะมีสีเหลืองและสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี จึงนิยมปลูกเป็นต้นไม้ในบ้านไม้ตามรั้วบ้าน ใช้วิธีการขยายพันธุ์ขี้เหล็กด้วยเมล็ด

ขี้เหล็ก คุณค่าทางโภชนาการ

ใบขี้เหล็ก 100 กรัม ให้พลังงาน 87 กิโลแคลอรี

เบตาคาโรทีน 1.4 มิลลิกรัม
ใยอาหาร 5.6 กรัม
แคลเซียม 156 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 190 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 5.8 มิลลิกรัม
โปรตีน 7.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 10.9 กรัม

ดอกขี้เหล็ก 100 กรัม ให้พลังงาน 98 กิโลคาลอรี

มีเบตาคาโรทีน 0.2 มิลลิกรัม
ใยอาหาร 9.8 กรัม
แคลเซียม 13 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 1.6 มิลลิกรัม
โปรตีน 4.9 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 18.7 กรัม

ขี้เหล็ก สรรพคุณและประโยชน์

  • เป็นยาระบายชนิดอ่อน สำหรับผู้ที่มีปัญหาอาการท้องผูกชนิดไม่รุนแรง
  • เป็นสมุนไพรช่วยขับสารพิษร้ายออกจากร่างกาย
  • สารบาราคอล (Baracol) ในขี้เหล็กเป็นยานอนหลับแบบธรรมชาติที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย
  • ดอกของต้นขี้เหล็ก สามารถช่วยรักษาโรคหิต รักษารังแคได้
  • ใบขี้เหล็กมีสารแอนไฮโดรบาราคอล (Anhydrobarakol)ช่วยระงับประสาทช่วยให้คลายเครียดได้
  • ช่วยบำรุงสายตา จากสารเบต้าแคโรทีนที่ร่างกายจะนำไปสร้างวิตามินเอ
  • ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
  • บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • เป็นอาหารที่มีวิตามินซีสูง ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต

ขี้เหล็ก ข้อควรระวัง

การรับประทานขี้เหล็กในลักษณะที่นำใบขี้เหล็กไปตากแห้งแล้วบรรจุเป็นเม็ด อาจทำให้เกิดการเสื่อมและทำลายเซลล์ตับ หรือตับอักเสบ ทำให้เกิดโรคตับ สารบาราคอลที่ได้รับในปริมาณมากจากขี้เหล็ก อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม สารในกลุ่มสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ จึงไม่ควรรับประทานมาก และผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรรับประทาน

โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักจะรู้จักขี้เหล็กในรูปแบบของแกงกะทิที่มีรสชาติดี กินอร่อย แต่หลายคนหารู้ไม่ว่านอกจากขี้เหล็กจะเป็นอาหารที่อร่อยแล้ว ขี้เหล็กยังเป็นพืชสมุนไพรที่ดีมีประโยชน์ และเต็มไปด้วยสรรพคุณมากมาย  และยังเป็นสมุนไพรชนิดที่หาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด หรือหากที่บ้านมีพื้นที่มากพอ จะปลูกต้นขี้เหล็กไว้เองก็ทำได้ไม่ยากนักเป็นพืชที่โตง่าย ดูแลรักษาไม่ยาก ดังนั้นเมื่อรู้แบบนี้แล้วควรหันมาทานขี้เหล็กเป็นอาหารให้บ่อยๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเรา และเพื่อเป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้อีกด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), www.pharmacy.mahidol.ac.th