มารู้จักสารให้ความหวานกันเถอะ
น้ำตาลเทียม เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นมาให้มีความหวานเหมือนน้ำตาล สามารถนำมาใช้แทนน้ำตาลได้

สารให้ความหวาน

สารให้ความหวาน คือ สารที่สังเคราะห์ขึ้นมา โดยจะให้ความหวานเหมือนน้ำตาลจึงสามารถนำมาใช้แทนน้ำตาลได้ ทั้งยังได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาว่ามีความปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งทั้งนี้น้ำตาลเทียมก็มีมากมายหลายชนิด แต่ที่ได้รับการยอมรับและมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายที่สุด ก็คือ แซคคาริน แอสปาแทมนั่นเอง และเนื่องจากน้ำตาลเทียมไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ค่อยได้หรือต้องการควบคุมน้ำหนัก ก็สามารถใช้น้ำตาลเทียมในการประกอบอาหารหรือใส่ในเครื่องดื่มแทนได้เหมือนกัน แต่ก็ต้องใช้น้ำตาลเทียมอย่างถูกต้องและถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดโทษตามมานั่นเอง และที่สำคัญไม่ควรนำน้ำตาลเทียมมาปรุงในอาหารร้อนๆ เด็ดขาด โดยเฉพาะน้ำตาลเทียมชนิดซัคคารีนและแอสปาแทม เพราะทนความร้อนได้แค่ไม่เกิน 65 องศาเซลเซียสเท่านั้น หากเกินจากนี้จะก่อให้เกิดโทษได้ในที่สุด

ชนิดของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล

1. แอสปาแทม

แอสปาแทม ประกอบไปด้วยกรดอะมิโน 2 ชนิด ได้แก่ ฟินิลอลานินและกรดแอสปาติก สามารถให้ความหวานได้ที่ 200-300 เท่าของน้ำตาลทรายและมีรสชาติความหวานที่ใกล้เคียงกับน้ำตาลทรายมากที่สุด จึงนิยมนำมาใช้ในการเพิ่มความหวานให้กับเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือนำมาใส่ในอาหารแห้ง ไอศกรีม และพวกขนมหวานทั้งหลาย เป็นต้น แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างเหมือนกัน นั่นก็คือแอสปาแทมจะไม่ทนต่อความร้อน โดยจะเกิดการสลายตัวเมื่ออยู่ในอุณหภูมิสูงและในสภาพความเป็นกรดด่างที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้ ความหวานลดน้อยลงหรือสูญเสียไปจนหมดสิ้น นอกจากนี้หากใช้ในปริมาณสูงมาก ก็อาจทำให้เป็นมะเร็งและสมองมีความผิดปกติได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรทานแอสปาแทมในปริมาณที่เหมาะสม นั่นคือไม่เกินวันละ 10 มก./กก. ของน้ำหนักตัวนั่นเอง

2. ซัยคลาเมต

เป็นน้ำตาลเทียมที่ให้ความหวานประมาณ 30 เท่าของน้ำตาลทราย และไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย การทานน้ำตาลเทียมชนิดนี้จึงไม่ทำให้อ้วนนั่นเอง และยังให้รสชาติของอาหารที่พอดี ไม่หวานเอียนจนเกินไปอีกด้วย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสารชนิดนี้ได้ถูกห้ามใช้ไปแล้ว เพราะเมื่อราวปี พ.ศ.2500 ได้มีการค้นพบว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ

3. ซัคคารินหรือขันฑสกร

ซัคคารินเป็นสารให้ความหวานที่ให้ความหวานที่ประมาณ 300-400 เท่าของน้ำตาลทรายเลยทีเดียว จึงให้รสชาติที่หวานจัดและอาจหวานติดลิ้นได้ แต่ไม่ให้พลังงาน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความอ้วนหรือระดับน้ำตาลในเลือดนั่นเอง แต่ทั้งนี้หากใช้ในปริมาณมากก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกขมคอได้เหมือนกัน นอกจากนี้ยังพบว่าการทานซัคคารินในขนาด 5-25 กรัมต่อวันติดต่อกันเป็นเวลานานหรือทานในครั้งเดียวที่ 100 กรัม ก็จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ง่วงซึมหรือชักได้อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่นิยมนำซัคคารินมาใช้แทนน้ำตาลมากนัก โดยสำหรับอาหารที่นิยมใส่ซัคคารินก็ได้แก่ ไอศกรีม ขนมหวานและผลไม้ดอง เป็นต้น

4. อะซิซัลเฟม เค

สำหรับน้ำตาลเทียมชนิดนี้ ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำมาใช้ผสมอาหารได้ โดยมีคุณสมบัติในการให้ความหวานที่สูงกว่าน้ำตาลถึง 200 เท่า แต่ไม่ให้พลังงาน จึงสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักได้เหมือนกัน ซึ่งในปัจจุบันก็มีการใช้น้ำตาลเทียมตัวนี้อยู่ประมาณ 20 ประเทศ โดยจะนิยมใส่ในน้ำอัดลม ลูกกวาด ของหวานต่างๆ และเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ นั่นเอง

คุณสมบัติของสารที่ให้ความหวานแต่ละชนิด

สารให้ความหวาน รสชาติ พลังงาน (แคลอรี่/ กรัม) เหมาะกับโรคเบาหวานและคนอ้วน  ข้อควรระวัง
ฟรุคโตส อร่อย 4 ไม่เหมาะ มีมากในน้ำผลไม้
ซอร์บิทอล ไซลิทอล อร่อย 2.6 ไม่เหมาะ ถ้าบริโภคมากอาจท้องเสียและฟันผุได้
อีริไธทอล อร่อย น้อยกว่า 0.2 เหมาะ ราคาสูงมาก ไม่ทำให้ฟันผุ
ซูคราโลส อร่อย 0 เหมาะ ราคาสูง ไม่ทำให้ฟันผุ
สตีวิโอไซด์ (หญ้าหวาน) อร่อย 0 เหมาะ หวานปนขม ไม่ทำให้ฟันผุ
แอสปาเทม ปานกลาง 0 เหมาะ อย่าใส่ในอาหารร้อน

ห้ามใช้ในโรคฟีนิลคีโตนูเรีย

ไม่ทำให้ฟันผุ

ซัคคาริน แย่ 0 เหมาะ อย่าปรุงอาหารร้อน

ไม่ทำให้ฟันผุ

มีปนรสขนของโลหะ

อะซิซัลแฟมเค แย่ 0 เหมาะ ไม่ทำให้ฟันผุ

มีปนรสขมของโลหะ

น้ำตาลเทียมที่มีจำหน่ายในประเทศไทย

สำหรับน้ำตาลเทียมที่มีในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นน้ำตาลผสม โดยผสมน้ำตาลเทียมเล็กน้อยเข้ากับน้ำตาลแอลกอฮอล์ในปริมาณที่สูงกว่านั่นเอง ซึ่งก็จะมีขายในรูปของผงแบบบรรจุซอง และมีหลายยี่ห้อ เช่น สลิมมา 1 ซอง หวานเท่าน้ำตาลทราย 2 ช้อนชา

คอนโทรล 1 ซอง หวานเท่าน้ำตาลทราย 2.5 ช้อนชา

อีควล 1 เม็ด หวานเท่าน้ำตาลทราย 1 ช้อนชา

ยี่ห้อสารที่ให้ความหวานตามท้องตลาด

อีควล
สลิมม่า
ฟิตเน่
ไลท์ชูการ์
ทรอปิคาน่า
สวิซซี่
สวีตเอ็นโลว์
ดี-เอ็ด
คอนโทรล

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559. ISBN 978-616-18-7741-9.

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). กินเท่าไหร่ กินแค่ไหน ไม่เสี่ยงอ้วน. ใน: ธิดารัตน์ มูลลา.ชีวิตใหม่ไร้พุง. กรุงเทพฯ : บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด, 2557.