ดูแลชีวิต พิชิตโรค
อาหารรมควัน อาหารเหล่านี้จะมีเกลือมาก ซึ่งความเค็มจะทำให้หลอดเลือดแดงมีความตึง ไตทำงานหนักขึ้น

สุขภาพดีพิชิตโรค

อย่าปล่อยให้โรคร้ายทำลายคุณไม่ว่าจะร่ำรวยมีเงินทอง มีบ้านหลังใหญ่ๆ มีรถดีๆขับแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ใครหลายคนคงอยากให้เกิดกับตัวเองก็คือ การมีสุขภาพร่างกายที่ดี แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ การมีสุขภาพดีพิชิตโรค ไม่สามารถใช้เงินทองมากมายที่คุณมีหาซื้อมาได้ การดูแลสุขภาพตนเองเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรปฏิบัติ เหมือนคำที่ว่า “ดูแลชีวิต พิชิตโรค”

ในยุคสมัยนี้ ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์เราเอง มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น มีเครื่องมือทุ่นแรงเกิดขึ้นมากมายให้ได้เลือกใช้ หากไม่ได้คิดอะไรมากมาย หลายคนก็คงคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ช่วยทำให้ประหยัดเวลาและช่วยทุ่นแรงได้มากขึ้นในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่หากมองลงไปให้ลึกก็จะพบว่า การที่มนุษย์เรามีความสะดวกสบายเกินไปทำให้ละเลยเรื่องสุขภาพแบบนี้ ก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพได้เช่นกัน

ทุกวันนี้มนุษย์เราขาดการออกกำลังกายและยังมีเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ประกอบกับสมัยนี้ที่มีอาหารให้เลือกกินกันอย่างมากมาย โดยอาหารในปัจจุบันหลายๆอย่างเน้นไปทางสร้างความอร่อย รสชาติเข้มข้น และมีสีสันที่สวยงาม จนผู้บริโภคมองข้ามเรื่องของหลักโภชนาการไป หลายๆเมนูมากไปด้วยไขมัน และน้ำตาลปริมาณมาก แต่เราก็สามารถเลือกกินอาหารที่ดีพิชิตโรคร้ายได้โดยไม่พึ่งยา

นอกจากเรื่องความสะดวกสบายและการทานอาหารที่ผิดหลักโภชนาการแล้ว ผู้คนในสมัยนี้หลายๆคน มักให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อเสียงเงินทองเป็นหลัก จนบางคนยอมทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้ได้เงินแยอะๆ หรือ เพื่อให้ได้การยอมรับจากหัวหน้างาน ได้เลื่อนตำแหน่ง มีชื่อเสียงดังไปไกล จนลืมไปว่าร่างกายของคนเรา ต้องการเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ เนื่องจากมนุษย์เราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง  หลายคนที่พักผ่อนน้อยก็มักใช้อุปกรณ์ในการกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวให้ทำงานได้ต่อเนื่อง เช่น ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ เครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้สุขภาพของใครหลายๆคนแย่ลงตามไปด้วย

ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวไปนี้ ล้วนแต่เป็นตัวบั่นทอนทำลายสุขภาพมนุษย์เรา จนทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆมากมาย ทั้งโรคเบาหวาน โรคความดันสูง โรคมะเร็ง โรคไตวาย เป็นต้น  ดังนั้นหากตัวเราเองอยากมีสุขภาพที่ดี และห่างไกลจากโรคภัยต่างๆก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และใส่ใจเรื่องการบริโภคอาหารให้มากขึ้น โดยมีคำแนะนำดังต่อไปนี้

หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำลายสุขภาพ

เรื่องการบริโภคอาหาร เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก หลายคนมักจะทานอาหารตามใจที่ตนเองชอบ โดยไม่ได้มองว่าอาหารต่างๆเหล่านั้น มีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร ซึ่งอาหารในกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงมีดังต่อไปนี้   
1. อาหารที่มีปริมาณของน้ำตาลสูง เมนูอาหารมากมายในปัจจุบันนี้ หลายๆเมนูมันจะประกอบไปด้วยปริมาณน้ำตาลที่สูง เช่น ขนมหวานชนิดต่างๆ  น้ำอัดลม ผลไม้แช่อิ่ม น้ำผลไม้กระป๋อง  เป็นต้น อาหารที่มีปริมาณของ น้ำตาลเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่สูงนี้ หากทานเข้าไปบ่อยๆมากๆ ก็สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคชนิดต่างๆได้หลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน  โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ดังนั้นจึงควรเลือกทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลไม่สูงจะดีที่สุด
2. อาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น  เครื่องในสัตว์ นม เนย ไข่แดง อาหารทะเล กุ้ง ปู ปลาหมึก หอยนางรม กะทิ เป็นต้น เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะมีปริมาณของไขมันอิ่มตัวที่สูง หากกินเข้าไปประจำมากๆ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการมีระดับไขมันในเส้นเลือดสูง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายอย่างเช่น โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองได้ด้วย
3. เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มบำรุงกำลังบางชนิด เนื่องจากการได้รับปริมาณของคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก จะส่งผลให้ไปกระตุ้นหัวใจให้ทำงานหนักขึ้น กระตุ้นการสูบฉีดเลือดให้แรงขึ้น จึงเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงควรทานแต่ในปริมาณพอดี ไม่ให้มากจนเกินไป
4. สารเคมีที่ใช้ประกอบอาหาร อาหารที่อร่อยและมีสีสันสวยงามในหลายๆเมนู อาจจะมีส่วนประกอบของสารเคมีที่ถูกผลิตขึ้นมาใช้กับอาหาร เช่น ผงชูรส ผงฟู โซเดียม สารกันบูด เป็นต้น  แม้ว่าสารเคมีเหล่านี้จะถูกผลิตขึ้นมาใช้กับอาหาร แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากๆ ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน
5. อาหารที่มีความเค็มเป็นหลัก รวมถึงอาหารแห้ง อาหารหมักดอง และอาหารรมควันด้วย เช่น ปลาเค็ม กุ้งแห้ง เนื้อเค็ม หมูแฮม เบคอน ไส้กรอก เป็นต้น เนื่องจากอาหารรสเค็มเหล่านี้ จะมากไปด้วยเกลือ หรือโซเดียม ซึ่งความเค็มจะทำให้หลอดเลือดแดงมีความตึงตัวมากขึ้น การทานอาหารประเภทนี้มากๆ จะส่งผลให้ ไตทำงานหนักขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรคอย่าง โรคหลอดเลือดหัวใจ  โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคไต รวมถึงโรคมะเร็งอันมีสาเหตุจากเชื้อราที่สะสมอยู่ในอาหารแห้งบางชนิด ดังนั้น จึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น
6. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ เป็นต้น หลายคนมักจะชอบเป็นพิเศษกับเครื่องดื่มเหล่านี้  โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการสังสรรค์ เป็นพิเศษ แต่หากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากๆ จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เนื่องจาก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนของเลือดเร็วและแรงขึ้น หัวใจทำงานหนัก ความดันโลหิตสูงขึ้น  ซึ่งจะทำให้ไปกระตุ้นการเกิดโรคร้ายต่างๆได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งตับ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน เป็นต้น ในทางที่ดีควรลดหรือเลิกบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้ไปเลย เพราะนอกจากจะมีราคาที่สูงแล้ว ยังไร้ประโยชน์กับร่างกายอีกด้วย

พิชิตโรคร้ายด้วยการเริ่มต้นดูแลสุขภาพของคุณตั้งแต่วันนี้

การปรับสมดุลร่างกาย

การปรับสมดุลร่างกาย เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้สุขภาพร่างกายเราดีขึ้น หากทำได้อย่างถูกวิธี  โดยปกติ ร่างกายและจิตใจของมนุษย์ มีพลังที่สามารถรักษาสุขภาพ และขจัดความเจ็บป่วยในตัวเองได้  ด้วยวิธีการรักษาท่าทางให้ถูกต้อง การบริหารร่างกายและออกกำลังกายให้ถูกวิธี ดังต่อไปนี้
1. การรักษาท่าทางที่ถูกต้อง  เช่น การเดิน การนั่ง การนอน การยืน การกระทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าสิ่งไหนจะต้องมีสติในการทำเสมอ ต้องคอยรักษาทวงท่าให้ถูกต้อง แนวกระดูกสันหลังต้องยืดตรงเพื่อรักษาสมดุลของโครงสร้างทั้งหมดของร่างกาย โดยเฉพาะเวลานั่งทำงานนานๆ หรือต้องเดินไกลๆ เพื่อรักษาพื้นฐานท่าทางที่ถูกต้อง มีหลักการดังนี้

  • แขม่วหน้าท้องให้ชิดหลัง รักษากระดูกสันหลัง กระชับหน้าท้องให้แบนราบ
  • สะบักชนก้น ยืดอก ดึงกระดูกสันหลังให้ชิดก้นบริเวณกลางสันหลัง
  • คางชิดคอ รักษาหน้าให้ตั้งตรง ด้านหลังคอ และท้ายทอยยืดตรง

2. การหายใจพื้นฐาน วิธีการนี้ จะใช้การหายใจเข้า หายใจออกทางรูจมูก อย่างช้าๆ ลึกๆ ไม่ให้เกิดเสียงดังขึ้น โดยจะต้องให้ทรวงอกยืดขยายเต็มที่ และต้องทำการขมิบบริเวณทวารเล็กน้อย

3. การบริหารร่างกาย หรือการออกกำลังกาย  วิธีนี้ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง สำหรับผู้ที่เริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ ควรเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ ไม่หักโหมจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากนั้นจึงค่อยๆพัฒนาขึ้นตามความสามารถและความแข็งแรงของร่างกายอย่างช้าๆ ค่อยๆเป็นค่อยๆไป และต้องเลือกอุปกรณ์การแต่งกายให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ ควรหาเวลาออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกิจวัตรประจำวัน ให้เป็นการออกกำลังกายไปในตัว เช่น เดินขึ้นสะพานลอย แทนการข้ามถนน เดินขึ้นบันได 3-4 ชั้น แทนการขึ้นลิฟต์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้หากทำเป็นประจำจนเป็นนิสัยก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดีได้ไม่ยาก

เลิกพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

1. ด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลายๆพฤติกรรมในชีวิต ที่ไม่ดีและเป็นอันตรายต่อร่างกาย ก็ควรที่จะเลิกหรือตัดทิ้งให้ออกจากชีวิตไป เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้สุขภาพมีแต่แย่ลง แม้ว่าอาจจะทำได้ยากสักหน่อย แต่ควรหาแรงบันดาลใจที่จะทำให้ได้ เช่น ให้คิดซะว่าทำเพื่อลูก หรือทำเพื่อคนที่เรารัก เพื่อจะได้มีกำลังใจในการในการเลิกพฤติกรรมไม่ดีเหล่านี้ให้พ้นออกไปจากชีวิต 

2. ด้านสภาวะอารมณ์ อารมณ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยกำหนด ทิศทางของสุขภาพเราได้เช่นกัน เพราะหากตัวเรามีสภาวะอารมณ์ที่ไม่ดี มีแต่ความเครียด ก็จะส่งผลให้เกิดโรคร้ายๆตามมาได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เพราะอารมณ์ที่ฉุนเฉียว โกรธ เกรี้ยวกราด ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักมากยิ่งขึ้น มีการสูบฉีดเลือดแรงขึ้น หลอดเลือดก็ทำงานหนักขึ้น จนทำให้ร่างกายเกิดความแปรปรวนในระบบต่างๆ ตามไปด้วย ดังนั้นจึงควรรู้จักวิธีในการบริหารอารมณ์ตัวเองให้ดีเสมอ อย่าให้มีภาวะความเครียดสะสม

จะเห็นได้ว่าแนวทางต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  แต่ละข้อแต่ละวิธีนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้และไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป เพียงแต่ทุกวันนี้ คนเรามักยึดติดกับความสบาย และใช้ชีวิตตามความพึงพอใจของตนเองเป็นหลัก จนลืมไปว่าสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ  เพราะหากเกิดความเจ็บป่วยขึ้นมาแล้ว ตัวเราเองนั้นละที่จะต้องเจ็บปวดและทรมานกับโรคร้ายต่างๆที่เกิดขึ้น  ร่างกายมนุษย์เราไม่ใช่เครื่องจักรหรือหุ่นยนตร์ ที่เสียแล้วสามารถนำกลับมาซ่อมใหม่ได้ตลอด  ดังนั้นควรเริ่มหันมาดูแลสุขภาพตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้สุขภาพดีๆอยู่กับเราต่อไปนานๆ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

แอพเพิลเกต, ลิซ. 101 อาหารรักษาหัวใจ.–กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 342 หน้า. 1. อาหารเพื่อสุขภาพ. 2.โภชนบำบัด. I.จงจิต อรรถยุกติ, ผู้แปล. II.ชื่อเรื่อง. 641.56311 ISBN 974-00-8692-6.

Bucci, Luke (1995). Nutrition applied to injury rehabilitation and sports medicine. Boca Raton: CRC Press. p. 151. ISBN 0-8493-7913-X.