ผลิตภัณฑ์นมคืออะไร? (Milk Product)
ผลิตภัณฑ์นมคือ อาหารที่ผลิตจากน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง มีลักษณะหลากหลายรูปแบบ

ผลิตภัณฑ์นม คือ

ผลิตภัณฑ์นม ( Milk Product ) คือ ส่วนประกอบใดๆก็ตามที่มีการแปรรูปจากนม นม ( Milk ) เป็นอาหารที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เมื่อเราคลอดจากครรภ์มารดา นมคืออาหารชนิดแรกที่เราได้รับเข้าสู่ร่างกาย นม มีลักษณะเป็นของเหลวสีขาวขุ่นมีโครงสร้างเป็นอิมัลชั่น ( Emulsion ) นั่นคือ น้ำนมจะประกอบด้วยไขมันนม ( Butter Fat ) ที่มีลักษณะเป็นหยดเล็กๆ กระจายตัวอยู่ในน้ำ ไขมันนมนี้จะไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ แต่ก็จะไม่รวมตัวกันจนเกิดการแยกชั้น

สำหรับบางคนแล้วเมื่อรับประทานนมเข้าไปอาจจะทำให้เกิดท้องเสียได้ โดยเฉพาะคนแถบเอเซีย เช่น ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เป็นต้น เนื่องจากคนเอเชียเมื่อมีอายุมากกว่า 5 ปี ถ้าไม่ได้บริโภคนมอย่างต่อเนื่องแล้ว เอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยน้ำตาลแล็กโตสในนมจะหมดไป ดังนั้นเมื่อไม่มีเอนไซม์ย่อยน้ำตาลในนม เมื่อดื่มนมเข้าไปน้ำตาลไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ กลับไปเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ในลำไส้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการท้องเสียเมื่อรับประทานนมนั่นเอง การแก้ปัญหาดื่มนมแล้วท้องเสียง่ายนิดเดียว เพราะว่าเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยน้ำตาลในนมนั้น ร่างกายสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ เพียงแต่ต้องได้รับการกระตุ้นจากการดื่มนมก่อน ดังนั้นถ้าต้องการรับประทานนมแล้วไม่เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง ให้เริ่มต้นจากการรับประทานนมทีละน้อย คือ ครั้งแรกให้ดื่มนมเพียงครึ่งแก้วก่อน ดื่มต่อเนื่องทุกวันประมาณหนึ่งสัปดาห์ ร่างกายก็จะทำการผลิตเอนไซม์สำหรับย่อยน้ำตาลในนมออกมา พอเราดื่มนมในครั้งต่อไปเราก็จะไม่ท้องเสียอีก

สารอาหารหลักในน้ำนม

นมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูงมากเพราะมีสารอาหารหลักครบทั้ง 5 หมู่ ในน้ำนมจะประกอบไปด้วย

1.โปรตีน โปรตีนที่อยู่ในน้ำนมประกอบไปด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด ซึ่งโปรตีนที่ได้จากนมจะมีกรดอะมิโนทั้งที่จำเป็นต่อร่างกายและกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายก็คือกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นมาเองได้ หรือที่เราเรียกว่า “ เอสเซนเซียล อะมิโนเอซิด ( Assential Amino Acid ) ” เช่น ลิวซีน เวลีน ไอโซลิวซีน เมทีโอนีน ทริปโตเฟน อาร์จินีน ( Arginine ) เป็นต้น โปรตีนที่พบในน้ำนมประมาณ 80% จะเป็นเคซีน (Casein) โปรตีนที่มีอยู่ในนมจะช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายได้เป็นอย่างดี

2.ไขมันนม ( Butter Fat ) นมมีส่วนประกอบที่เป็นไขมันเรียกว่า “ ไขมันนมหรือมันเนย ” ซึ่งไขมันนี้จะอยู่ในรูปของไตรกลีเซอร์ไรด์ ( Triglyceride ) ไขมันนมจัดเป็นแหล่งให้พลังงานของนม ซึ่งให้พลังงานที่สูงมาก โดยมันเนย 1 กรัมจะให้พลังงานกับร่างกายถึง 9 แคลอรี่เลยทีเดียว

3.น้ำตาลนม ( Milk Sugar ) นมประกอบด้วยน้ำตาลแล็กโทสเป็นหลัก ซึ่งน้ำตาลแล็กโทสเมื่อย่อยแล้วจะได้น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวคือ น้ำตาลกลูโคส ( Glucose ) หนึ่งโมเลกุลและน้ำตาลกาแล็กโทส ( Galactose ) หนึ่งโมเลกุล ซึ่งน้ำตาลทั้งสองนี้เป็นแหล่งพลังงานให้กับร่างกายเช่นเดียวกับไขมันนม 

4.วิตามิน นมอุดมไปด้วยเกลือแร่และวิตามินหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซิน ( Niacin ) กรดโฟลิก วิตามินซี วิตามินดี วิตามินเค แคลเซียม และ ฟอสฟอรัส ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟันของร่างกาย แคลเซียมที่ได้จากนมยังช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคอ้วน เนื่องจากแคลเซียมจะเข้าไปช่วยลดกรดน้ำดีที่ผลิตจากไขมัน ทำให้กรดน้ำดีที่ผลิตออกมาจากไขมันส่วนเกินมีปริมาณลดลง น้ำดีจึงไม่สามารถเข้ามาทำร้ายลำไส้ให้เกิดการระคายเคืองหรือเกิดการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เซลล์เกิดการกลายพันธุ์กลายเป็นเซลล์มะเร็งที่ลำไส้ได้

5.น้ำ เป็นส่วนประกอบหลักของนม นมมีน้ำอยู่ประมาณ 85% น้ำมีหน้าที่เป็นตัวทำละลายสารอาหาร วิตามิน น้ำตาล ไขมันนมให้รวมอยู่ด้วย เมื่อเรารับประทานนมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากจะได้สารอาหารแล้วร่างกายยังได้รับน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับเซลล์ภายในร่างกายอีกด้วย

น้ำนมจะประกอบด้วยไขมันนม ( Butter Fat ) ที่มีลักษณะเป็นหยดเล็กๆ กระจายตัวอยู่ในน้ำ ไขมันนมนี้จะไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ แต่ก็จะไม่รวตัวกันจนเกิดการแยกชั้น นมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูงมากเพราะมีสารอาหารหลักครบทั้ง 5 หมู่

ประเภทของนมโค

การบริโภคนมช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน การบริโภคนมก็ควรเลือกบริโภคนมให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายจึงส่งผลดีต่อร่างกาย ดังนั้นก่อนที่เราจะบริโภคนมนั้นเรามาทำความรู้จักกับชนิดของนมที่มีอยู่ในท้องตลาดกัน เพื่อที่เราจะได้เลือกบริโภคนมได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในที่นี้เราจะกล่าวถึงนมโคเพียงอย่างเดียวก่อน

1.นมสด ( Fresh Milk ) คือ นมจากธรรมชาติที่รีดออกมาจากเต้านมของสัตว์โดยตรง และนำมาบรรจุในบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่อง ขวด กระป๋อง เป็นต้น ซึ่งข้างกล่องจะระบุว่าเป็นนมโค 100% แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ 

1.1 นมธรรมดา คือ นมที่ผ่านกรรมวิธีให้ความร้อนเพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำนมออกเพื่อป้องกันการบูดของนม ซึ่งกรรมวิธีที่ใช้ในการจำกัดจุลินทรีย์ในนม เราแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ

1.พลาสเจอร์ไรซ์ ( Pasteurized Milk ) คือ การนำนมสด 100% ทำการผ่านความร้อนประมาณ 63-65 องศาเซลเซียส นาน 30 นาทีหรือการทำให้ร้อนที่อุณหภูมประมาณ 72 องศาเซลเซียสนาน 16 นาที และทำให้เย็นลงทันทีที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส ซึ่งนมชนิดนี้จะมีปริมาณไขมันประมาณ 3.8 % นมพลาสเจอร์ไรซ์สามารถเก็บไว้ได้นาน 10 ในตู้เย็นหรือตู้แช่นที่มีอุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียส

2.นมสเตอริไลซ์ ( Sterillized Milk ) คือ การนำนมสด 100% ทำการผ่านความร้อนที่อุณหภูมิ 118 องศาเซลเซียส นาน 12 นาที นมสเตอริไลซ์ที่ยังไม่ได้เปิดภาชนะบรรจุจะสามารถเก็บไว้ได้นาน 1 ปีโดยไม่ต้องแช่เย็นแต่ถ้าเปิดแล้วดื่มไม่หมดต้องนำไปแช่นเย็นจึงจะเก็บรักษาต่อไปได้

3.นมยูเอสที ( UHT / Ultra High Temperature Milk ) คือ นมสด 100% ทำการผ่านความร้อนที่อุณหภูมิ 135-150 องศาเซลเซียส นาน 2-3 วินาที และนำมาบรรจุในภาชนะด้วยขั้นตอนที่ปลอดเชื้อ นมยูเอสทีควรเก็บไว้ในที่ไม่โดนแสงแดดหรือเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส จะเก็บไว้ได้นาน 6 เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น

1.2 นมสดพร่องมันเนย ( Low Fat Milk ) หรือนมไขมันต่ำ คือ นมสดที่มีการแยกเอาไขมันบางส่วนออกไป เพื่อลดพลังงานที่ได้จากนมให้น้อยลง แต่สารอาหารที่ได้รับยังคงเหมือนกับการดื่มนมสดพร่องมันเนย เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสารอาหารครบถ้วนแต่ต้องการพลังงานจากนมในปริมาณที่น้อย

1.3 นมสดขาดมันเนย ( Skim Milk /Non Fat milk ) คือ นมสดที่ทำการแยกไขมันออกทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด เช่น ไขมัน 0% ไขมัน 0.15% เป็นต้น เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการพลังงานจากการดื่มนม แต่ต้องการสารอาหารจากนม ทว่าวิตามินที่ละลายได้ในไขมันในนมก็จะมีปริมาณที่น้อยลงตามปริมาณไขมันที่มีอยู่เช่นกัน

นมขาดมันเนยเหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก

2.นมผง ( Milk Powder ) คือ เป็นนมอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม โดยการนำน้ำนมไประเหยน้ำออกด้วยกรรมวิธีทำให้แห้ง ( Dehydration ) เพื่อให้น้ำนมอยู่ในรูปของผงพร้อมชง ซึ่งขั้นตอนการทำนมผงมีดังนี้ 

1.ตรวจสอบคุณภาพ คือ การนำน้ำนมดิบมาตรวจสอบคุณภาพว่ามีปริมาณสารอาหาร วิตามินและเกลือแร่อยู่ในน้ำนมดิบปริมาณเท่าใด รวมถึงการตรวจสอบปริมาณของจุลินทรีย์ที่พบในน้ำนมด้วย

2.ปรับมาตราฐาน ( Standardization ) คือ การปรับส่วนประกอบภายในน้ำนมให้มีปริมาณของไขมันนม วิตามิน แร่ธาตุ ให้มีค่าตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ ซึ่งแต่ละบริษัทแตละยี่ห้อจะมีค่ามาตราฐานที่แตกต่างกันไป

3.การพลาสเจอไรซ์ ( Pasteurization ) คือ การนำน้ำนมที่ผ่านการปรับมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว มาทำการผ่านความร้อนประมาณ 63-65 องศาเซลเซียส นาน 30 นาทีหรือการทำให้ร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 72 องศาเซลเซียสนาน 16 นาที และทำให้เย็นลงทันทีที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำนมให้หมดไป ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในนมผงที่ได้

4.การฮอร์โมจีไนซ์ ( Homogenization ) คือ การทำให้ไขมันนมเกิดการแตกตัวให้เล็กลงและรวมตัวกันเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ และไม่เกิดการแยกชั้นขึ้นในกระบวนการทำให้แห้ง

5.การทำให้เข้มข้นด้วยการระเหย ( Evaporation ) คือ การระเหยเอาน้ำออกจากน้ำนม ทำให้น้ำนมมีความเข้มข้นสูงขึ้น ในการผลิตนมผงนิยมนำมาทำให้เข้มข้นก่อนที่จะนำไปทำให้แห้งเพื่อลดต้นทุน ลดเวลาและลดพลังงานในการทำให้แห้ง

6.การทำให้แห้ง ( Dehydration ) คือ การทำนมที่เข้มข้นให้แห้งกลายเป็นนมผง ซึ่งมีอยู่ 2 ระบบที่นิยมใช้ในการทำให้แห้งคือ

6.1 การทำให้แห้งด้วยลูกกลิ้ง ( Drum Drier ) ทำโดยการนำลูกกลิ้งที่มีความร้อนสูงไปสัมผัสกับน้ำนมเข้มข้น น้ำที่มีอยู่ในน้ำนมจะระเหยออกไปจนหมด เหลือแต่ผงของนมติดอยู่บนลูกกลิ้ง แล้วทำการขุดผงนมที่ติดอยู่บนลูกกลิ้งออกมาทำการบดอีกครั้งจะได้เป็นนมผง การทำให้แห้งด้วยลูกกลิ้งไม่เป็นผลดีต่อนมผงที่ได้เพราะน้ำนมต้องสัมผัสกับความร้อนสูงจากลูกกลิ้ง จึงเกิดปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลส่งผลให้น้ำตาลและกรดแอมิโนไลซีนมีกลิ่นไหม้ โปรตีนในน้ำนมไม่สามารถละลายน้ำได้หมด

6.2 การทำให้แห้งด้วยระบบฉีดฝอย ทำได้โดยการฉีดพ่นน้ำนมให้เป็นฝอยเข้าไปในห้องที่มีความร้อนหรือให้สัมผัสกับลมร้อนในห้องที่ทำแห้ง ซึ่งลมหรือไอความร้อนจะมีอุณหภูมิประมาณ 150-300 องศาเซลเซียส ปล่อยลมร้อนเข้าไปด้วยความเร็ว 50 เมตรต่อวินาที ซึ่งการปล่อยลมร้อนนี้สามารถปล่อยไปในทิศทางเดียวกับที่ฉีดน้ำนมหรือปล่อยในทิศทางที่สวนกับทิศการปล่อยน้ำนมก็ได้ 

นมผงที่ผ่านขั้นตอนการผลิตมาแล้วนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ขึ้นอยู่กับน้ำนมสดที่นำมาผลิตนมผง ดังนี้

2.1 นมผงธรรดา ( Dried / Powder Milk ) หรือนมผงพร้อมมันเนย ( Dry Whole Milk ) คือนมผงที่ผลิตจากน้ำนมธรรมดาที่มีปริมาณไขมันเนยตามธรรมปกติ นำมาผ่านกรรมวิธีการระเหยน้ำออกจนเหลือน้ำประมาณ 3-5%

2.2 นมผงขาดมันเนย ( Dried Skim Milk ) หรือนมผงพร่องมันเนย ( Non Fat Dried Milk ) คือนมผงที่ผลิตจากนมที่ผ่านขั้นตอนการนำไขมันนมออกไป เรียกว่า “หางนม” นมผงชนิดนี้จะมีปริมาณไขมันน้อยกว่านมผงธรรมดาจึงให้พลังงานต่อร่างกายน้อยเช่นกัน แต่สารอาหารทั้งโปรตีน แคลเซียม และวิตามินนั้นใกล้เคียงกับนมผงธรรมดา

2.3 นมผงดัดแปลง ( Humanized / Modified Milk ) คือ นมผงที่มีการรเติมสารอาหาร แร่ธาตุและวิตามินเข้าไปเพื่อให้มีคุณค่าทางอาหารคล้ายกับนมมารดาหรือบางครั้งมีการเพิ่มสารอาหารให้มากกว่าในนมมารดา นมผงชนิดนี้พัฒนามาให้เหมาะสมสำหรับเด็กทารกใช้ดื่มแทนนมมารดาหลังจากที่นมมารดาหมดหรืออายุครบ 1 ปีขึ้นไป

3.นมดัดแปลง ( Filled Milk ) คือ นมที่มีการดัดแปลงเอาไขมัน ชนิดอื่นมาใส่ในนมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร เช่น การผสมน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

4.นมเปรี้ยว ( Culture Milk ) หรือโยเกิร์ต ( Yoghurt ) คือ นมที่หมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อกินเข้าจะไปเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ลำไส้และกระเพาะอาหาร นมเปรี้ยวมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว อร่อยดื่มง่ายและอาจมีการแต่งกลิ่นและสีเลียนแบบธรรมชาติ นมเปรี้ยวควรเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิห้องหรือประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส นมเปรี้ยวแต่ละชนิดจะมีอายุการเก็บรักษาที่ต่างกันขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการผลิตและชนิดของจุลินทรีย์ที่ใช้ในการผลิต ก่อนบริโภคควรสังเกตวันเดือนปีหมดอายุก่อน

5.นมข้น คือ นมที่นำมาระเหยน้ำออกไปเพียงบางส่วน ซึ่งจะมีความเข้มข้นมากกว่านมธรรมดา สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

5.1.นมข้นจืด ( Condensed Milk ) คือ นมที่มีการระเหยน้ำออกไป 50% แต่ถ้ามีการเติมไขมันเนยเพิ่มลงไปจะเรียกว่า “นมข้นคืนรูปไม่หวาน” แต่ถ้ามีการเติมไขมันชนิดอื่นแทนการเติมไขมันเนยลงไปจะเรียกว่า “นมข้นแปลงไขมันชนิดไม่หวาน” นมข้นจืดชนิดนี้จะมีกรดไขมันจำเป็นและวิตามินน้อยกว่านมสดธรรมดา นิยมนำมาปรุงอาหารหรือขนมหวาน เช่น การนำมาใส่ในต้มยำน้ำข้น การชงกาแฟเย็น เป็นต้น   

5.2.นมข้นหวาน ( Sweetened Condensed Milk ) คือ นมที่ระเหยน้ำออกไปบางส่วนแต่มีความเข้มข้นสูงกว่านมข้นจืด หรือผลิตจากการใช้นมผงขาดมันเนยนำมาผสมกับไขมันปาล์มหรือไมขันเนยขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ผลิต และมีการปรุงแต่งให้มีรสหวานมากขึ้นโดยการเติมน้ำตาล 45-55% นมชนิดนี้นิยมนำมาเป็นสารให้ความหวาน เช่น ใส่ในกาแฟแทนน้ำตาลทราย เป็นต้น

จะพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนมนั้นมีอยู่หลากหลายเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกรับประทานกัน แล้วเราจะรู้ว่าควรเลือกดื่มนมชนิดไหนเมื่อไหร่ ถึงร่างกายจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนม

การเลือกดื่มนมที่ถูกต้อง

1.ควรดื่มนมขณะหลังกินอาหาร การดื่มนมในขณะที่ท้องว่างร่างกายจะดูดซึมสารอาหารได้น้อยกว่าการดื่มนมหลังจากรับประทานอาหารแล้ว เนื่องจากการดูดซึมแคลเซียมต้องอาศัยวิตามินดีและแมกนีเซียมที่มีอยู่ในอาหารเป็นตัวช่วย ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้โดยตรง

2.งดดื่มนมกับยา การดื่มนมพร้อมกับยาจะทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมตัวยาเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้นควรดื่มนมก่อนหรือหลังกินยาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง

3.ไม่ควรกินนมเดือด การกินนมอุ่นเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพแต่การดื่มนมที่ร้อนหรืออุ่นจนนมเดือดจะส่งผลเสียต่อร่างกายเพราะที่อุณหภูมิเกิน 100 องศาเซลเซียส น้ำตาลในนมจะเกิดการไหม้เกรียมและแคลเซียมจะจับตัวเป็นก้อนทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ และอาจจะสะสมบริเวณผนังลำไส้ทำให้ลำไส้เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้นการอุ่นนมเพื่อดื่มควรอุ่นที่อุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียสจึงจะเหมาะสม

4.ไม่ควรเลี้ยงเด็กนมเปรี้ยว เพราะว่าในนมเปรี้ยวมีปริมาณจุลินทรีย์สูงเกินความจำเป็นของทารก เมื่อร่างกายได้จุลินทรีย์มากเกินไปอาจจะทำให้เด็กเกิดภาวะลำไส้อักเสบได้

5.ไม่ควรเลี้ยงเด็กด้วยนมข้นหวาน เพราะในนมข้นหวานมีปริมาณน้ำตาลสูง ถ้านำไปเลี้ยงทารกจะทำให้ทารกได้รับน้ำตาลเข้สู่ร่างกายสูงมาก ส่งผลให้เด็กเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนได้ 

6.ควรดื่มต่อเนื่อง การดื่มนมเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงควรดื่มนมเป็นประจำทุกวันต่อเนื่อง ไม่ควรดื่มวันละมากเกินวันละ 2 แก้ว เพราะว่าร่างกายเราจะสามารถดูดซึมสารอาหารจากนมได้สูงสุดเพียง 2 แก้วต่อวัน ถึงจะดื่มนมมากกว่า 2 แก้วต่อวัน ร่างกายก็ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้มากกว่านั้นแล้ว และควรดื่มนมต่อเนื่องทุกวันเพื่อที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารทุกวันในการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย

นมเป็นอาหารชนิดแรกของคนเรา และเป็นอาหารที่ทรงคุณค่าต่อร่างกาย เพราะนมมีทั้งโปรตีน กรดอะมิโน น้ำตาล น้ำ แร่ธาตุและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย เพื่อสุขภาพที่ดีเราควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 1 แก้วทุกวัน เราก็จะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559. ISBN 978-616-18-7741-9.

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). กินเท่าไหร่ กินแค่ไหน ไม่เสี่ยงอ้วน. ใน: ธิดารัตน์ มูลลา.ชีวิตใหม่ไร้พุง. กรุงเทพฯ : บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด, 2557.

ขอบคุณคลิปดี ๆ มีสาระจาก หมอปุ้ม พญ. สิรนาถ.