อาการกลืนลำบาก ( Dysphagia )
อาการกลืนลำบากสามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่บริเวณปาก คอหอย หลอดเสียง หลอดอาหาร

อาการกลืนลำบาก ( Dysphagia )

อาการกลืนลำบาก ( Dysphagia ) คือ อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกลำบากในการกลืนหรือมีอาการเจ็บในขณะที่กลืนอาหารทั้งที่เป็นของแข็งและของเหลว ซึ่งหมายรวมถึงอาการที่ไม่สามารถเริ่มกลืนอาหารหรือเมื่อกลืนอาหารเข้าไปมีความรู้สึกติดที่ระบบทางเดินอาหาร การกลืนเป็นการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อที่ระบบทางเดินอาหาร โดยเริ่มตั้งแต่ริมฝีปาก ช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร เพื่อนำอาหารไปสู่อวัยวะที่ทำหน้าที่ในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร คือ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อกล้ามเนื้อหรืออวัยวะที่ระบบทางเดินอาหารเกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะกลืนลำบาก ( Dysphagia ) ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกตัวว่าเกิดภาวะกลืนลำบากแต่คิดว่าอาหารแข็งเกินไป ความรู้สึกว่ามีก้อนจุกที่บริเวณลำคอที่เกิดขึ้นในขณะที่ไม่ได้มีการกลืนหรือการที่บริเวณคอหอยไม่มีความรู้สึกก็ได้ ซึ่งภาวะทีเกิดขึ้นเรียกว่า อาการกลืนลำบาก ( Dysphagia ) พบได้มากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท

กลุ่มอาการกลืนลำบาก

1. อาการของการกลืนลำบากที่ปากและคอหอย ( Oropharyngeal dysphagia ) คือ อาการที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกกลืนลำบาก ไม่สามารถควบคุมการทำงานของปากและการหลั่งของน้ำลายได้ เวลากลืนจะมีอาการไอหรือสำลักออกทางปากหรือจมูกเกิดขึ้นทุกครั้ง หลังจากทำการกลืนลักษณะของเสียงพูดอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจากโรคของคอหอยหลอดอาหารส่วนบนหรือกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนบน ที่เกิดความผิดปกติหรือความเสียหายกับระบบประสาท หรือหลอดอาหารมีอดการโป่งพองเกิดขึ้น หรือผู้ที่เป็นโรคมะเร็งในระบบอาหารส่วนบน เป็นต้น
2. การกลืนลำบากในหลอดอาหาร ( Esophageal dysphagia ) คือ ผู้ป่วยที่มีอาการกลืนลำบาก หรือรู้สึกว่าอาหารติดอยู่หลอดอาหารไม่ลงสู่กระเพาะอาหารหรือบริเวณท้อง เกิดจากโรคของหลอดอาหารหรือกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เช่น ภาวะกล้ามเนื้อเรียบเกิดการไม่คลายตัว โรคหลอดอาหารมีการบีบเกร็งจนอาหารขย้อนออกมา ภาวะหลอดอาหารตีบทำให้อาหารไม่สามารถลงสู่กระเพาะอาหารได้ เนื้องอกหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในหลอดอาหาร เป็นโรคกรดไหลย้อนหรือมีการอักเสบเกิดขึ้นที่บริเวณหลอดอาหาร โรคหนังแข็งที่บริเวณหลอดอาหารหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการฉายรังสีเพื่อรักษาโรค เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกลืนลำบาก

สาเหตุของอาการกลืนลำบาก ที่ทำให้ผู้ป่วยมีความลำบากหรืออาการเจ็บในขณะที่ทำการกลืนอาหารทั้งที่เป็นของเหลว อย่างที่เราทราบว่าอาการกลืนลำบากสามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่บริเวณปาก คอหอย หลอดเสียง หลอดอาหาร ซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างส่งผลให้การทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารเกิดการผิดพลาดไม่สามารถนำพาอาหารไปยังอวัยวะย่อยอาหารอย่างกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกลืนลำบาก สามารถแบ่งตามตำแหน่งที่ทำให้เกิดอาการกลืนลำบากออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. สาเหตุของอาการการกลืนลำบากที่เกิดจากผิดปกติที่ตำแหน่งของคอหอย

บริเวณหลอดอาหารส่วนบนและระบบการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดที่ส่วนของหลอดอาหารส่วนบน ซึ่งเกิดจากความผิดปกติดังนี้
1.1 ความผิดปกติของระบบประสาทที่ทำให้ระบบการสั่งการในการกลืนอาหารทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจึงไม่สามารถทำการกลืนอาหารได้ เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โปลิโอ เนื้องอกในสมอง หรือพาร์กินสัน เป็นต้น
1.2 การติดเชื้อทำให้บริเวณคอหอย หลอดอาหารหรือกล้ามเนื้อของหลอดอาหารส่วนบนเกิดการอักเสบ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะลดลง เช่น การติดเชื้อโรคคอตีบ การติดเชื้อซิฟิลิส เป็นต้น
1.3 ความผิดปกติของระบบการเผาพลาญพลังงานในร่างกายทำให้กล้ามเนื้อขาดพลังงานในการทำงาน ส่งผลให้ผู้ป่วยกลืนลำบาก เช่น กลุ่มอาการคุชชิ่งที่ทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ( Cortisol ) สูง ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ทำหน้าในการช่วยกลืน เป็นต้น
1.4 ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ มีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น จึงเข้าไปขัดขวางการกลืนทำให้เกิดภาวการณ์กลืนลำบาก
1.5 ผลข้างเคียงจากการรักษาทางการแพทย์ เช่น การได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิด การฉายแสงหรือการฉานแสงเพื่อรักษาโรคบางชนิด หรือการกลืนสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างทำให้ผิวหนังภายในปาก ลำคอและหลอดอาหารเกิดอาการบาดเจ็บขึ้น

2. สาเหตุของอาการกลืนลำบากจากความผิดปกติที่ตำแหน่งหลอดอาหาร

รวมถึงส่วนของกล้ามเนื้อหูรูดที่บริเวณหลอดอาหารส่วนกลาง และความผิดปกติของหลอดอาหารส่วนที่อยู่ติดกับกระเพาะอาหารส่วนบนด้วย ซึ่งมีความผิดปกติ ดังนี้
2.1 ความผิดปกติทางกายภาพของหลอดอาหาร หมายถึง การเกิดหรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามากีดขวางหรือทำให้บริเวณทางเดินในหลอดอาหารมีขนาดที่เล็กลง เช่น เนื้องอกที่เกิดขึ้นในหลอดอาหาร โรคหลอดอาหารตีบที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยทำมีการกลืนสารที่มีความเป็นกรดหรือด่างสูง หลอดอาหารมีการเกิดพังผืนทำให้กีดขวางทางเดินอาหาร การที่ทรวงอกมีการขยายขนาดหรือมีก้อนเนื้อเกิดขึ้นจึงเข้าไปกดเบียดหลอดอาหารจากภายนอกทำให้ทางเดินอาหารมีขนาดเล็กลง เป็นต้น
2.2 การทำงานที่ผิดปกติของหลอดอาหารในการบีบตัวเพื่อเคลื่อนย้ายอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร เช่น กล้ามเนื้อส่วนของหูรูดที่บริเวณหลอดอาหารส่วนล่างมีการหดรัดตัวทำให้อาหารไม่สามารถเข้าสู่กระเพาะอาหารได้หรือกล้ามเนื้อของหลอดอาการมีการหดตัวทั่วทั้งหลอดอาหารทำให้อาการเคลื่อนที่เข้าสู่หลอดอาหารได้ยาก
2.3 การที่ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีก้อนอยู่ภายในลำคอ หรือรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่บริเวณลำคอตลอดเวลา แม้ในขณะที่ไม่ได้รับประทานอาหาร ซึ่งอาจเกี่ยวข้องความรู้สึกหรือความวิตกกังวลของผู้ป่วยนั่นเอง
เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาด้วย อาการกลืนลำบาก แพทย์จะสามารถวินิจฉัยสาเหตุของอาการด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกายและทางห้องปฏิบัติการ

อาการกลืนลำบากสามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่บริเวณปาก คอหอย หลอดเสียง หลอดอาหาร

การวินิจฉัยสาเหตุของกลืนลำบาก

1. การซักประวัติ จัดเป็นแนวทางที่สามารถช่วยระบุถึงสาเหตุของอาการกลืนลำบาก ได้มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งข้อมูลที่ควรทำการซักประวัติ คือ ผู้ป่วยมีความรู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ที่บริเวณคอตลอดอยู่เวลาแม้ในขณะที่ไม่ได้กำลังกลืนอาหาร ( globus senstion ) หรือว่าผู้ป่วยมีปริมาณน้ำลายน้อยหรือไม่ ซึ่งการซักประวัติของผู้ป่วยสามารถถามประวัติดังนี้

  • ผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบากตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มกลืนอาการ หรือมีอาการสําลักอาหารออกทางจมูกหรือไม่ มีอาการไอหรือลักษณะของเสียงพูดเปลี่ยนไป เช่น พูดเสียงขึ้นจมูก พูดไม่ชัด เสียงพูดเปลี่ยนไป เสียงมีการแหบหรือมีกลิ่นปาก หรือไม่ ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวแสดงว่าผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบากแบบ oropharyngeal dysphagia
  • ผู้ป่วยมีประวัติการเป็นโรคที่เกี่ยวของกับระบบประสาทหรือความผิดปกติของระบบประสาทหรือไม่ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น ถ้ามีแสดงว่าผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก oropharyngeal dysphagia
  • อาหารที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก โดยถ้าผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบากกับอาหารทั้งของแข็งและของเหลว แสดงว่าการเคลื่อนไหวหรือการทำงานของหลอดอาหารมีความผิดปกติเช่น achalasia ที่มีการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายน้อยลงและมีการหดเกร็งของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ( Lower esophageal sphincter หรือ LES ) ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกลืนของแข็งลําบาก แสดงว่าผู้ป่ายอาจเป็นโรคที่หลอดอาหารมีการตีบแคบลงหรือการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารเกิดความผิดปกติและมีความดันส่วนของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างต่ำ หรือการที่ผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 5 ปีและมีลักษณะของการกลืนลำบากเฉพาะของแข็งมาก่อน แสดงว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคมะเร็งของหลอดอาหาร และเมื่อโรคมะเร็งเกิดการลุกลามรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการกลืนลำบากทั้งของแข็งและของเหลว
  • ลักษณะอาการกลืนลำบากมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการหนักขึ้นเรื่อยเรื่อย และระยะเวลาที่มีเกิดอาการในแต่ละครั้งมีความยาวนานแค่ไหน โดยถ้าอาการมีอาการเดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย และในการเกิดแต่ละอาการเท่าเดิม แสดงว่าผู้ป่วยมีอาการ Schatzki ring แต่ถ้ามีอาการหนักขึ้นทุกครั้งติดต่อกันเป็นเดือนเป็นปี และน้ำหนักของผู้ป่วยไม่มีความเปลี่ยนแปลง แสดงว่าผู้ป่วยมีอาการ benign stricture แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก เกิดขึ้นถี่และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกครั้งและน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วแสดงว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารได้
  • ตำแหน่งที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าเมื่อกลืนอาหารแล้วติดอยู่ โดยให้ผู้ป่วยระบุตำแหน่งที่รู้สึกว่าเมื่อกลืนอาหารเข้าไปแล้วอาหารติดที่ตำแหน่งนั้น โดยถ้าผู้ป่วยระบุที่ตำแหน่งต่ำกว่าที่รอยบุ๋มเหนือกระดูกกลางหน้าอก ( suprasternal notch ) แสดงว่ามีการอุดตันของหลอดอาหารในต่ำแหน่งที่กว่าตำแหน่งที่ผู้ป่วยชี้ แต่ถ้าผู้ป่วยระบุตำแหน่งที่บริเวณเหนือที่รอยบุ๋มเหนือกระดูกกลางหน้าอก ( suprasternal notch ) แพทย์จะไม่สามารถระบุตำแหน่งที่เกิดการอุดตันได้
  • ผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนหน้าอกหรือไม่ แสดงว่าผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบากจากโรคกรดไหลย้อน ( gastroesophageal reflux disease ) และความผิดปกติร้ายแรงของหลอดอาหาร ( achalasia ) ไม่ใช่อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร ( adenocarcinoma ) ที่มีสาเหตุมาจากโรคหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ( Barette’s esophagus ) แต่ทว่าผู้ป่วย 2 ใน 3 ที่เป็นโรคมะเร็งหลอดอาการอาจมีอาการแสบร้อนที่หน้าอกได้ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนที่หน้าอกควรทำการตรวจอาการเบื่ออาหาร ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักว่ามีการลดลงอย่างรวดเร็วหรือไม่ ขณะที่ทำการกลืนมีความรู้สึกเจ็บเกิดขึ้นหรือไม่ด้วยทุกครั้งจึงจะสามารถวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก จากสาเหตุใด
  • โรคประจําตัวของผู้ป่วยที่อาจก่อให้เกิดอาการกลืนลำบากได้ เช่น ภาวะที่มีการหนาและแข็งตัวขึ้นของผิวหนัง ( scleroderma ), โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ( rheumatoid arthritis ) และโรคเรื้อรังที่เกิดจากภูมิต้านทานเกิดภาวะทำร้ายตนเอง ( systemic lupus erythematosus ) ที่อาจมีอาการแทรกซ้อนหรือความผิดปกติของของระบบการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารได้ หรือประวัติเจ็บป่วยของผู้ป่วยในอดีตที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของการกลืน เช่น โรคทางระบบประสาท และโรคมะเร็งโดยเฉพาะที่หลอดอาหาร เป็นต้น รวมถึงประวัติการรักษา เช่น การฉายแสง การผ่าตัดบริเวณใบหน้าและลำคอ และประวัติการใช้หรือการได้รับยา โดยเฉพาะยาในกลุ่ม anti-cholinergic หรือ steroid ที่มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทควบคุมการทำงานของอวัยวะทางเดินอาหาร

2.การตรวจร่างกาย หลังจากทำการซักประวัติแล้ว ต้องทำการตรวจร่างกายผู้ป่วย ซึ่งการตรวจร่างกายของผู้ป่วยมีขั้นตอนดังนี้

  • ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามี อาการกลืนลำบาก ชนิด oropharyngeal dysphagia ต้องทำการตรวจที่บริเวณลำคอ ได้แก่ บริเวณก้อนที่คอ ต่อมน้ำเหลือง thyroid ช่องคอหอย ( pharyngeal pouch )ที่บริเวณลำคอด้านซ้าย โดยเมื่อทำการกดจะได้ยินเสียงของอาหารและอากาศผ่านเข้าไปสู่ส่วนของคอหอย และทำการตรวจรอยผ่าตัด tracheostomy จากการฉายแสงที่ส่วนของช่องปาก คอหอย ด้วยการวางนิ้วชี้และนิ้วกลางบนกระดูก hyoid และ laryngeal cartilage แล้วให้ผู้ป่วยทำการกลืนน้ำลาย โดยถ้ากระดูก hyoid และ laryngeal cartilage ไม่มีการยกขึ้นแสดงว่าผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติเกี่ยวระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการกลืน และให้ทำการตรวจเกี่ยวกับระบบประสาทอย่างละเอียดต่อไป
  • ตรวจประเมินภาวะทุพโภชนาการของร่างกาย ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่ต้องการหรือไม่ โดยดูจากลักษณะการเลือกรับประทานอาหารและการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว ที่จะช่วยระบุได้ว่าร่างกายขาดสารอาหารชนิดใดบ้าง ซึ่งสารอาหารดังกล่าวสามารถส่งผลให้การทำงานของระบบทางเดินอาหาร เส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารหรือกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจลักษณะของโรคที่เกี่ยวข้องกับ collagen vascular disease เช่น ผื่น ข้อ calcinosis, telangiectasia, sclerodactyly
  • ตรวจลักษณะของผู้ป่วยที่สามารถบ่งบอกถึงโรคมะเร็งได้ เช่น การลดลงของน้ำหนัก การเกิดก้อนเนื้อ เป็นต้น โดยเฉพาะมะเร็งที่เกิดขึ้นในอวัยวะทางเดินอาหารหรืออวัยวะใกล้เคียงระบบทางเดินอาหาร
  • ตรวจหาว่าผู้ป่วยมีลักษณะของพาร์กินสัน ( Parkinson’s disease ) และการสึกกร่อนของฟัน ( dental erosion ) ที่ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำให้ยาก
  • ตรวจระบบประสาทของร่างกายว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยทำการตรวจเส้นประสาทสมอง โดยเฉพาะเส้นประสาทตำแหน่งที่ 5,7,9,11,12
  • ตรวจช่องปากดู เพื่อดูลักษณะทางพยาธิสภาพของปากทั้งที่บริเวณภายนอก อย่างริมฝีปากและบริเวณภายในช่องปาก ลิ้นและฟัน เพื่อตรวจสอบว่ามีความผิดปกติหรือเกิดการอักเสบที่จะส่งผลให้เกิดการกลืนลำบากหรือไม่
  • ความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การผิดรูปของลำคอหรือการหาสิ่งผิดปกติด้วยการคลำที่บริเวณลำคอ เช่น ขนาดของต่อมน้ำเหลืองหรือต่อมไทรอยด์ว่ามีขนาดใหญ่ผิดปกติหรืไม่ หรือมีก้อนเนื้อที่บ่งบอกความผิดปกติอื่นๆ เกิดขึ้นหรือไม่

3.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากการซักประวัติและการตรวจร่างกายแล้ว เพื่อความแน่ใจและยืนยันผลการวินิจฉัยของแพทย์ สามารถทำได้ด้วยการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติ ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมที่ใช้มีดังนี้

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง ( CBC ) เพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีภาวะซีด ที่เกิดจากการขาดสารอาหารจนทำให้เกิดภาวะกลืนลำบากหรือไม่
  • การเอกซเรย์ปอด ( Chest x-ray ) คือ การถ่ายภาพปอด ซึ่งเป็นอวัยวะภายในทรวงอกลงบนแผ่นฟิล์ม เพื่อช่วยคัดกรองโรคระบบทางเดินหายใจกับอาการกลืนลำบาก
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ( CT brain ) เพื่อตรวจความผิดปกติของระบบประสาทและสมองที่สามารถส่งผลให้เกิดอาการกลืนลำบากได้ โดยจะส่งตรวจในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทจนทำให้เกิดภาวะกลืนลำบากเท่านั้น
  • การตรวจการตรวจหลอดอาหาร ( Barium Swallowing ) คือการตรวจผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากที่มีที่บริเวณภายในหลอดอาหาร ซึ่งวิธีการตรวจเริ่มจากให้ผู้ป่วยกลืนแป้งแบลเรียมซัลเฟต ที่มีคุณสมบัติเป็นสารทึบรังสีและทำการเอกซเรย์ออกมา ซึ่งสามารถทำให้เห็นความผิดปกติของหลอดในการกลืนอาหารได้ว่ามีความผิดปกติที่ส่วนใดของหลอดอาหาร
  • Video fluoroscopy ( VFS ) และ Fiberoptic endoscopic evaluation of ( FEES ) สำหรับการตรวจที่ช่วยในการประเมินการกลืนที่อยู่ระหว่างช่องปากและคอหอย
  • การตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร ( Esophageal manometry ) เพื่อตรวจดูการเคลื่อนไหวและการบีบตัวของหลอดอาหารในขณะที่มีอาหารเดินทางผ่านหลอดอาหาร ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสามารถประเมินความดันอาหาร การทำงานของหูรูดทั้งส่วนบนและส่วนล่างได้ด้วย โดยที่การตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารจะทำการตรวจในผู้ป่วยที่มีน่าจะมีผิดปกติทางการบีบตัวของหลอดอาหาร เช่น Achalasia เป็นต้น
  • การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น จัดเป็นการตรวจที่สามารถช่วยยืนยันว่าผู้ป่วยมี อาการกลืนลำบากจากโรคมะเร็ง หลอดอาการมีการตีบแคบหรือเกิดการอักเสบภายใน ซึ่งการตรวจนี้สามารถทำการตัดชิ้นเนื้อจากภายหลอดอาหารเพื่อนำมาส่งตรวจว่าผู้ป่วยเป็นก้อนเนื้อร้ายจริงหรือไม่ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการกลืนลำบากว่าเกิดจากโรคมะเร็งในหลอดอาหารหรือไม่ได้อีกด้วย

อาการกลืนลำบากบางครั้งผู้ป่วยอาจคิดว่าเกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไปมีความแข็งหนืดมากเกินไปจึงทำให้เกิดการกลืนลำบาก ดังนั้นผู้ป่วยต้องสังเกตตนเองอยู่เรื่อยๆ ว่า อาการกลืนลำบากที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลงหรือไม่ ถ้าส่งผลดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าอาการกลืนลำบากเกิดขึ้นจากสาเหตุใด อย่าได้นิ่งนอนใจเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะบางครั้งโรคที่ทำให้เกิดการกลืนลกบากอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยถึงสาเหตุและหาแนวการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ลัลธธิมา ภู่พัฒน์ : อาการวิทยา ฉบับพกพา : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2560.

ธนกร ลักาณ์สมยา และคณะ : อาการทางอายุรศาสตร์ Medical ymptomatology ฉบับปรับปรุง : พิษณุโลก : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร,2559.

Spechler SJ, Souza RF, Rosenberg SJ, et al. Heartburn in patients with achalasia. Gut 1955, 37: 305-308.