โรคดีซ่าน ( Jaundice )
โรคดีซ่าน หมายถึง อาการที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าตามตัวมีสีเหลืองผิดปกติ นัยน์ตาเหลืองจนสังเกตเห็นได้

ดีซ่าน ( Jaundice )

สัญญาณอย่างหนึ่งของ ดีซ่าน ก็คืออาการตัวเหลือง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการตาเหลืองและตัวเหลืองจะเป็นโรคดีซ่าน ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีโรคดีซ่านรู้จักกันดีในกลุ่มคนทั่วไป และทุกคนรู้ประเด็นสำคัญที่ว่าเมื่อมีอาการตัวเหลืองผิดปกติจากที่เคยเป็น

นั่นหมายความว่าไม่นับรวมคนที่มีผิวโทนเหลืองมากๆ มาแต่กำเนิด เมื่อนั้นก็ต้องระวัง ดีซ่านแต่พอเวลาผ่านไปโรคนี้กลับมีคนเข้าใจน้อยลง ในขณะที่จำนวนคนป่วยอาจไม่ได้น้อยลงตามไปด้วย น่าจะเป็นเพราะมีโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่ดึงความสนใจของผู้คนไปได้ อย่างไรก็ตามโรคดีซ่านก็ยังเป็นโรคที่มีสาเหตุการเป็นที่อันตราย จำเป็นต้องเรียนรู้ เฝ้าระวังและรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา

ดีซ่าน คืออะไร

ดีซ่าน หมายถึงอาการที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าตามตัวมีสีเหลืองผิดปกติ นัยน์ตาเหลืองจนสังเกตเห็นได้ ประเด็นของนัยน์ตาเหลืองจะต่างจากคนที่นอนไม่พออยู่มาก คือไม่ใช่แค่ดูหมอง ไม่สดใส แต่จะออกสีเหลืองแบบที่มองครั้งเดียวก็สรุปได้เลยว่ามีสีเหลือง โดยปกติโรคดีซ่านเกิดจากการสะสมของสารบิลิรูบินมากเกินไป หากมากกว่า 3 มก. / ดล. เมื่อไร ก็มีความเสี่ยงว่าจะเป็นดีซ่านเมื่อนั้น สารบิลิรูบินที่ว่านี้ แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า ฮีมาตอยดิน เป็นผลผลิตจากการย่อยส่วนหนึ่งในฮีโมโกลบินที่เรียกว่า “ ฮีม ” ตามกระบวนการปกติสารนี้จะถูกขับออกจากร่างกายอยู่แล้ว แต่เมื่อมันมีมากเกินไปก็ไม่สามารถขับออกได้ทันนั่นเอง อาการที่มักพบร่วมกันกับอาการตัวเหลืองและตาเหลือง ได้แก่ อ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร เวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน ตัวบวม ท้องบวม ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไปจนถึงมีอาการหนาวสั่น เป็นไข้

สาเหตุของการเกิดดีซ่าน

ใจความหลักของดีซ่าน คือความไม่สมดุลของสารบิลิรูบินในร่างกาย ถ้ากล่าวในเชิงการแพทย์สักหน่อยก็คือ มีความผิดปกติเกี่ยวกับกระบวนการเมตาบอลิซึมของบิลิรูบินเอง

ความผิดปกติของกระบวนการเมตาบอลิซึมของบิลิรูบิน

1. Unconjugated hyperbilirubinemia 

มีอัตราการสร้างบิลิรูบินเพิ่มขึ้น : เนื่องจากการสร้างบิลิรูบินเกิดจากการสลายตัวของฮีม ดังนั้นต้นตอของปัญหาจริงๆ จึงอยู่ที่เม็ดเลือดแดง เช่น เม็ดเลือดแดงแตก เม็ดเลือดแดงที่สร้างออกมามีความผิดปกติ เป็นต้น

มีอัตราการรับสารบิลิรูบินเข้าสู่เซลล์ตับน้อยลง : อันที่จริงแล้วมีต้นเหตุแห่งการเกิดที่หลากหลาย บ้างก็เป็นความผิดปกติของร่างกาย บ้างก็เป็นผลกระทบจากอาการเจ็บป่วยอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นการใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อการทำงานของตับโดยตรง

การ conjugation ของบิลิรูบินลดลง : บ่อยครั้งที่พบว่าความผิดปกติแบบนี้เกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรม บ้างเกิดจากความผิดปกติของระดับเอนไซม์ ซึ่งเวลาที่ทำการตรวจอาจจะพบว่าค่าบิลิรูบินไม่ได้สูงมากนัก แต่มันจะรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีสิ่งเร้าอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยขาดน้ำหรืออาหาร เป็นต้น

2. Conjugated or mixed hyperbilirubinemia ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม แต่จะเป็นประเภทที่ไม่ได้พบกันบ่อยนัก อย่างเช่น Rotor’s syndome หรือ Dubin-Johnson syndome

ความผิดปกติของเซลล์ตับ

เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่อยู่ในวงจรของสารบิลิรูบิน โดยทำหน้าที่เปลี่ยนบิลิบูรินที่ไม่ละลายน้ำให้กลายเป็นแบบที่ละลายน้ำได้ จากนั้นจึงสามารถขับสารนี้ออกจากร่างกายร่วมกับน้ำดีต่อไป ดังนั้นเมื่อตับทำงานผิดปกติไป กระบวนการเหล่านี้ก็ไม่สมบูรณ์ หรือมีประสิทธิภาพที่ด้อยลงไป และสารบิลิบูรินก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นต้นเหตุของดีซ่านนั่นเอง ความผิดปกติของเซลล์ตับนี้ เราจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. Acute hepatocellular dysfunction เป็นอาการอักเสบของตับแบบฉับพลัน เกิดขึ้นทันทีทันใด นั่นหมายความว่าอาการของ ดีซ่านที่เกิดขึ้นก็จะรวดเร็วด้วยเช่นกัน ในผู้ป่วยหลายรายนี่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอาการตับวายในที่สุด กลุ่มโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ได้แก่

ภาวะติดเชื้อไวรัส : อาจจะเป็นไวรัสตับอักเสบเอ หรือไวรัสตับอักเสบบีก็ได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกอย่างชัดเจนล่วงหน้า คือ มีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย คล้ายกับคนที่เป็นไข้หวัด แล้วจากนั้นก็จะเริ่มสังเกตเห็นสีผิวที่เหลืองกว่าปกติ

ภาวะอักเสบจากยา : มีกรณีศึกษาจำนวนไม่น้อยเลยเกี่ยวกับการใช้ยาผิดวิธีหรือผิดขนาด ผลกระทบนั้นร้ายแรงเกินกว่าที่หลายคนเข้าใจ ไม่ใช่แค่อาการดื้อยาเท่านั้น แต่อาจเปลี่ยนระบบการทำงานในร่างกายได้เลย อย่างเช่นกรณีนี้ ยาจะส่งผลให้ตับเกิดการอักเสบจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

ภาวะอักเสบจากสิ่งเร้าอื่นๆ : บ้างก็เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นต้น บ้างก็เกิดจากผลข้างเคียงของโรคภัยอื่นๆ เช่น หลอดเลือดอุดตัน ไข้มาลาเรีย เป็นต้น

2. Chronic hepatocellular dysfunction เป็นอาการตับแข็งที่เราคุ้นหูกันดี แต่นี่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเท่านั้น มันมีสาเหตุหลายหลายรูปแบบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสก็ได้ เกิดจากอาการตับอักเสบเรื้อรังก็ได้ จึงเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อแยกแยะให้ได้ก่อนว่า สาเหตุที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ 

ดีซ่าน ( Jaundice ) หมายถึง อาการที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าตามตัวมีสีเหลืองผิดปกติ นัยน์ตาเหลืองจนสังเกตเห็นได้

ความผิดปกติในส่วนของน้ำดี

อย่างที่ได้รู้กันไปแล้วว่าสารบิลิบูรินจะถูกขับออกร่างกายร่วมกับน้ำดี เมื่อไรที่กระบวนการขับน้ำดีมีปัญหา เมื่อนั้นสารบิลิบูรินจึงตกค้างและสะสมปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อาจเกิดที่ท่อน้ำดีภายในตับ หรือท่อน้ำดีภายนอกตับก็ได้ รายละเอียดของทั้ง 2 กลุ่มมีดังนี้

1. Intrahepatic cholestasis เป็นภาวะที่ทางเดินน้ำดีเกิดการขยายตัวผิดปกติ อาจเกิดจากการใช้ยาก็ได้ หรือเกิดจากการติดเชื้อวัณโรคในตับก็ด้ หรือแม้แต่ภาวะตั้งครรภ์ ภาวะหลังการผ่าตัดใหญ่ ก็ล้วนเป็นสาเหตุได้ทั้งนั้น

2. Extrahepatic cholestasis เป็นภาวะที่ทางเดินน้ำดีเกิดการอุดตัน ส่วนใหญ่มักมีการติดเชื้อร่วมด้วย จึงมีอาการแสดงออกมาให้เห็นภายนอกได้อย่างชัดเจน เช่น มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น เราอาจคุ้นกับคำว่า “นิ่วในทางเดินน้ำดี” มากกว่า แต่ก็ไม่ใช่การเกิดเช่นเดียวกันกับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะแต่อย่างใด

การวินิจฉัย อาการดีซ่าน

ซักประวัติ : แน่นอนว่าทุกอาการเจ็บป่วยต้องเริ่มที่การซักประวัติ จะรู้ผลได้ตรงและรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลในตอนซักประวัตินี่เอง สำหรับ ดีซ่าน จะต้องสังเกตว่ามีอาการตาเหลืองร่วมกับตัวเหลืองด้วยหรือไม่ หรือมีเพียงแค่ตัวเหลืองเท่านั้น ระยะเวลาที่เป็นยาวนานเท่าไร มีอาการเจ็บป่วยแบบไหนก่อนหน้าหรือไม่ รวมไปถึงสอบถามประวัติคนในครอบครัว โรคประจำตัวและการใช้สารเสพติดทุกประเภทด้วย

ตรวจร่างกาย : ดูภาพรวมว่าร่างกายสมบูรณ์ดีหรือไม่ การดูแลเรื่องอาหารเป็นอย่างไร ตรวจวัดโรคเรื้อรังต่างๆ ที่อาจส่งผลให้มีอาการตัวเหลืองได้ วิเคราะห์ส่วนของช่องท้องอย่างละเอียด ตลอดจนตรวจความผิดปกติของทวารหนักและอุจจาระด้วย

ข้อมูลสำคัญที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยเพื่อแยกแยะกลุ่มของดีซ่าน

แม้ว่าจะแน่ใจแล้วว่าป่วยเป็นดีซ่านจริง ก็ยังต้องค้นหาต่อไปว่าสาเหตุของการป่วยคืออะไร เพราะกลุ่มย่อยของโรคดีซ่านมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้การรักษาต้องแตกต่างกันไปด้วย และต่อไปนี้จะเป็นจุดสำคัญที่ใช้เพื่อการแบ่งประเภทโรคดีซ่าน ก่อนนำข้อมูลไปยืนยันความถูกต้องอีกครั้งด้วยการตรวจละเอียดแบบเฉพาะเจาะจง

ช่วงอายุ : จากสถิติที่เคยมีมา ผู้ป่วยอายุน้อยจะเป็น ดีซ่านที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือการใช้ยาผิดวิธี ในขณะที่ผู้สูงวัยเกินกว่าครึ่งจะเป็นโรคดีซ่านที่เป็นผลข้างเคียงมาจากโรคเนื้องอก

สัญญาณล่วงหน้า : หากมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดเมื่อยร่างกายนำหน้ามาก่อนที่จะสังเกตเห็นภาวะตัวเหลือง ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อไวรัสแบบฉับพลัน แต่ถ้าอาการที่เกิดก่อนหน้าเป็นอาการจุกแน่นแถวๆ ชายโครง ก็มักจะเป็นนิ่วในถุงน้ำดี หากมีอาการคันที่ผิดปกติ ก็มีโอกาสที่จะเกิดจากความผิดปกติของการขับน้ำดีออกจากร่างกาย

ช่วงท้องเห็นหลอดเลือดดำชัดเจนกว่าปกติ : แบบนี้เกิดจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของหลอดเลือดดำ เป็นข้อบ่งชี้ว่ามีภาวะความดันสูง ซึ่งเกิดจากโรคตับแข็ง

มีภาวะท้องมาน : ท้องมานก็คือลักษณะของท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น โดยไม่ได้มีการตั้งครรภ์ มักเกิดจากมีของเหลวสะสมอยู่ระหว่างหน้าท้องและอวัยวะภายในช่องท้อง หากเป็นแบบนี้ก็คาดคะเนได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งบริเวณช่องท้อง

ประวัติการใช้ยา : ตัวที่โดดเด่นมากๆ ก็คือยาพาราเซตามอล เพราะเป็นยาสามัญประจำบ้าน ใครๆ ก็มี ใครๆ ก็ทานได้โดยง่าย หลายคนทานยาพาราเซตามอลแทบจะทุกวัน จึงเกิดขนาดการใช้ไปมาก แบบนี้ทำให้ตับอักเสบฉันพลันได้ เมื่อรู้ประวัติการใช้ยาที่ถูกต้องก็จะระบุ ภาวะดีซ่านได้แม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้รวมไปถึงยาแผนโบราณ อาหารเสริม และสารเสพติดด้วย

พฤติกรรมเสี่ยง : หากมีกิจกรรมบางอย่างที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสโดยไม่รู้ตัว เช่น สัมผัสกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ การรับเลือดจากผู้อื่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนการรับวัคซีนบางประเภท

มีภาวะตับโต : ตับโตจะมี 2 แบบคือ เมื่อกดแล้วเจ็บเป็นบางจุด จะเป็นการเกิดฝีที่ตับ แต่ถ้าไม่ใช่ก็อาจจะเป็นภาวะตับโตทั้งหมด ซึ่งแต่ละอย่างจะก่อให้เกิดโรคดีซ่านที่ต่างกัน

มีภาวะม้ามโต : ส่วนของม้ามไม่ได้มีผลโดยตรงต่อวงจรของสารบิลิบูรินที่เป็นต้นเหตุของดีซ่าน แต่จะเป็นสัญญาณที่บอกว่ามีภาวะตับแข็งอยู่ เมื่อเจอแบบนี้ก็ต้องไปตรวจตับอย่างละเอียดต่อไป

การตรวจพิเศษที่เกี่ยวกับดีซ่าน

  • Endoscopic retrograde cholangiopancreaticography ( ERCP )

การตรวจโดยใช้การส่องกล้องผ่านทางเดินอาหาร เพื่อดูความผิดปกติของท่อน้ำดี ถือเป็นวิธีที่ให้คำตอบแม่นยำที่สุดในขณะนี้ และยังเป็นกระบวนการที่ช่วยรักษาภาวะอุดตันของท่อน้ำดีได้ด้วย

  • การตรวจชิ้นเนื้อ

เมื่อซักประวัติและตรวจร่างกายจนครบถ้วนแล้ว ไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงในการเกิด ดีซ่านได้ ก็จะต้องตัดชิ้นเนื้อของตับเพื่อไปตรวจอย่างละเอียดด้วยวิธีการอื่นๆ แทน แม้ว่าจะใช้เวลามากสักหน่อย แต่ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำเช่นเดียวกัน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ลัลธธิมา ภู่พัฒน์ : อาการวิทยา ฉบับพกพา : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2560.
ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ. อาการทางอายุรศาสตร์ Medical Symptomatology ฉบับปรังปรุง : พิษณุโลก : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร,2559.

Roger Jones (2004). Oxford Textbook of Primary Medical Care. Oxford University Press. p. 758. ISBN 9780198567820. Archived from the original on 2017-09-08.

Ferri, Fred F. (2014). Ferri’s Clinical Advisor 2015: 5 Books in 1. Elsevier Health Sciences. p. 672. ISBN 9780323084307. Archived from the original on 2017-09-08.