อาการเป็นลมหมดสติ ( Syncope )
อาการเป็นลม อาการหน้ามืด จนหมดสติ หรืออาการวูบ เป็นอาการป่วยทั่วไปที่เข้ามารับการรักษาจากแผนกฉุกเฉิน มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป

อาการเป็นลม ( Syncope )

อาการหน้ามืด หรือ อาการเป็นลม ( Syncope ) จนหมดสติหรืออาการวูบ ( Syncope หรือ Spontaneous transient lost of consciousness ) เป็นอาการป่วยทั่วไปที่เข้ามารับการรักษาจากแผนกฉุกเฉิน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้แรงงานประมาณร้อยละ 1 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั้งหมด โดยในปัจจุบันนี้มีการให้คำนิยามของคำว่า “ Syncope ” คือ “ a transient loss of consciousness ( TLOC ) due to transient global cerebral hypoperfusion characterized by rapid onset , short duration , and spontaneous complete recovery ” หรือ “ การสูญเสียความรู้สึกหรือรู้สำนึกเพียงชั่วคราว ( TLOC ) เนื่องจากการลดลงของอาการสมองไม่สมดุลระหว่างสมองที่เกิดจากการเริ่มมีอาการอย่างรวดเร็วระยะเวลาสั้น ๆ และการฟื้นตัวที่สมบูรณ์แบบตามธรรมชาติ ” ภาวะเป็นลมมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป แต่ทว่าถ้าพบภาวะนี้ในวัยรุ่นมักจะมีสาเหตุที่ร้ายแรงมากกว่าที่พบในผู้สูงอายุ

ชนิดของ อาการเป็นลม

ชนิดของอาการเป็นลมที่พบในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา สามารถทำการแบ่งตามลักษณะทางพยาธิสรีรวิทยาออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.Reflex syncope หรือ neutrally mediated syncope

คือ อาการหน้ามืดหมดสติที่เกิดจากการทำงานระบบประสารทอัตโนมัติ ( Parasympathetic system ) ได้รับการกระตุ้นมากเกินไป ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นช้าลงหรือกระตุ้นทำให้หลอดเลือดมีการขยายตัวมากขึ้น จนเป็นผลให้ความดันโลหิตต่ำจนเลือดไม่สามารถที่จะพาออกซิเจนขึ้นไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอหรือขึ้นไปได้ในปริมาณที่น้อยมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเป็นลมและหมดสติในเวลาต่อมา ซึ่งสาเหตุของอาการหน้ามืดแบบนี้คือ

1.1 การเป็นลมธรรมดา ( Vasovagal syncope ( VVS ) หรือ common faint )

เป็นอาการหน้ามืดที่สามารถพบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุน้อยที่มีสุขภาพร่างกายหรือจิตใจอ่อนแอ เช่น คนป่วย อดนอน หิว หรืออยู่ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมหรือตัวกระตุ้น ( Triggers ) อื่น ๆ เช่น อากาศร้อน แสงแดด ความเครียด ความวิตกกังวล ยืนท่าเดียวเป็นเวลานาน ( Postural stress ) เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติเกิดการหยุดทำงานแบบชั่วคราว ทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงและเป็นลมหมดสติ หรือบางครั้งสิ่งเร้าอาจทำให้หัวใจมีจังหวะการเต้นที่ช้าลงหรือหัวใจหยุดเต้นเพียงเล็กน้อย หรือเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน กลางแจ้งโดย อาการเป็นลม หมดสติเนื่องจากความร้อน ( Heat syncope ) เกิดขึ้นได้ ซึ่งก่อนที่จะหมดสติผู้ป่วยมักมีอาการนำมาก่อน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หน้าซีด เหงื่อแตก จึงจะหมดสติ หรือเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดและเส้นประสาทเวกัส ( Vasovagal syncope หรือ neurocardiogenic syncope ) มีเลือดคั่งตามส่วนต่าง ๆ ทำให้เลือดพาออกซิเจนขึ้นไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอนั่นเอง

1.2 ภาวะเป็นลมเนื่องเกิดจากอากัปกิริยา ( Situational Syncope )

คือ อาการเป็นลมหมดสติเนื่องจากร่างกายมีการทำกิริยาใดกิริยาหนึ่งอย่างต่อเนื่องและรุนแรง เช่น การไออย่างรุนแรงติด ๆ การจาม การหัวเรา การกลืน ปัสสาวะหรือการอุจจาระ บ่อย ๆ หรือซ้ำ ๆ หลายครั้งจนทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติ ( Autonomic nervous system ) เกิดการดึงอย่างฉับพลัน ส่งผลให้เกิดอาการเป็นลม เช่น การเป็นลมเพราะปัสสาวะปัสสาวะ ( Micturition syncope ) เนื่องจากการเบ่งปัสสาวะหรือหลังจากปัสสาวะที่ทำการอั้นมานาน เป็นต้น

1.3 Carotid sinus syncope (CSS)

คือ อาการเป็นลมหมดสติที่เกิดจากการกระตุ้นคาโรติด ไซนัส ( Carotid sinus ) ด้วยการกดหรือการนวด การทำ Carotid Massage สามารถทำให้เกิดอาการซ้ำได้ ซึ่งมักเกิดจากหัวใจมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ( Arrhythmia ) หรือการที่โครงสร้างของหัวใจมีความผิดปกติที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพาการบีบของหัวใจทำงานได้ไม่ดี

2. ภาวะเป็นลมที่เกิดจากความดันโลหิตตกในท่ายืน ( Orthostatic hypotension )

คือ การที่ความดันในของหลอดเลือดที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด หรือความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic blood pressure หรือ systolic BP) และความดันเลือดที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจเกิดการพักคลายตัว หรือความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pressure หรือ diastolic BP) มีค่าลดลงมากกว่า 20 mmHg หรือเท่ากับ 10 mmHg ภายในระยะเวลา 3 นาที หลังจากทำการเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น เปลี่ยนจากท่านอนเป็นยืน ท่านั่งเป็นยืน เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 15 จะเป็นลมเนื่องจากสาเหตุนี้ ซึ่งจะพบว่าผู้สูงอายุจะเป็นลมเนื่องจากสาเหตุนี้มากกว่าวัยรุ่น และสามารถทำการแบ่งสาเหตุย่อยได้อีกดังนี้

2.1 ระบบประสาทอัตโนมัติล้มเหลว ( Autonomic failure ) ซึ่งอาจเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติเอง

( Primary Autonomic Failure )

คือ อาการเป็นลมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของระบบประสาทมีความผิดปกติหรือล้มเหลวจากโรค เช่น Multiple system atrophy (MSA) ที่ระบบของร่างกายเกิดความผิดปกติหรือมีความเสื่อมเกิดขึ้น โรคพาร์กินสันกับความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Parkinson’s disease with autonomic failure), โรคสมองเสื่อมจากมวลเลวีบอดี้ (Dementia with Lewy body) ที่มีความคิดสับสน บางวันปกติ บางวันไม่ชัด เห็นอาการของภาพหลอน (visual hallucination) มีอาการสั่นเทา ( tremor ) หรือข้อมีอาการแข็งเกร็ง ( rigidity )

2.2 อาการข้างเคียงจากโรคอื่น ๆ ( Secondary autonomic failure )

คือ อาการเป็นลมที่เกิดขึ้นจากโรคอื่น ๆ หรือโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ที่ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลิน ( Insulin ) , โรคแอมีลอยโดซิส หรือ อะมีลอยโดซิส ( Amyloidosis ) คือโรคที่เกิดจากโปรตีนมีความผิดปกติ ที่มักเรียกว่า แอมีลอยด์ ( Amyloid ) มีการสะสมในเนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกายมากเกินไป

2.3 Volume depletion

ภาวะขาดน้ำ สูญเสียเลือดหรือโรคแอดดิสัน ( Addison’s disease ) ที่ต่อมหมวกไตซึ่งอยู่เหนือไตทั้ง 2 ข้างผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล ( Cortisol ) และฮอร์โมนอัลดอสเตอโรน ( Aldosterone ) ได้ไม่เพียงพอ

2.4 ผลข้างเคียงของยา ( Drug induced )

อาการเป็นลม อาจเกิดเป็นอาการข้างเคียงของการได้รับยาบางชนิดได้ เช่น ยาขยายหลอดเลือด ( Vasodilators ) , ยาขับปัสสาวะ ( Diuretic ) ที่เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มของยาที่มีฤทธิ์ในการขับน้ำ ( Water Pills ) ออกจากร่างกายหรือยารักษาอาการซึมเศร้า ( Antidepressant ) เป็นต้น

อาการเป็นลม อาการหน้ามืด จนหมดสติ หรืออาการวูบ เป็นอาการป่วยทั่วไปที่เข้ามารับการรักษาจากแผนกฉุกเฉิน มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป

3.ภาวะเป็นลมจากโรคหัวใจ ( Cardiac syncope หรือ cardiovascular syncope )

คือ อาการเป็นลม ที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจ ทำให้การทำงานของหัวใจเพื่อสูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วย มีสาเหตุหลัก ๆ อยู่ 2 แบบด้วยกันคือ

3.1หัวใจเต้นผิดจังหวะ ( Arrhythmia )

อาการเป็นลม สามารถเกิดจากการที่หัวใจเต้นผิดปกติทั้งแบบหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ( Bradycardia ) คือ ภาวะที่อัตราการเต้นของหัวใจ ( Beat per minute ย่อว่า BPM ) ต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที ซึ่งน้อยกว่าการเต้นของหัวใจในอัตราปกติ หรือหรือแบบที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ( Tachycardia ) คือ ภาวะที่หัวใจมีอัตราการเต้น ( Beat per minute ย่อว่า BPM ) มากกว่า 100ครั้งต่อนาที

3.2รูปร่างหัวใจผิดปกติ ( Structural Heart Disease )

ซึ่งสามารถเกิดได้จาก obstructive heart diseases เช่น ลิ้นหัวใจตีบ ( aortic stenosis ) , กล้ามเนื้อหัวใจหนา โดยเฉพาะผนังหัวใจห้องซ้ายล่างที่กั้นระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างและขวาล่าง ( Interventricular septum ) จะมีความหนามากจนเข้าไปปิดกั้นการสูบฉีดเลือดที่มาจากหัวใจห้องซ้ายล่างไปยังหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า ( Hypertrophic Obstructive CardioMyopathy , HOCM ) , โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอดเฉียบพลัน Acute pulmonary embolism ( PE ) , prosthesis valve dysfunction หรือ non-obstructive heart disease เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ( Acute myocardial infarction ) โรคหัวใจขาดเลือด (  Ischemic Heart Disease ) เป็นต้น

4.ไม่ทราบสาเหตุ ( Undetermined )

ภาวะเป็นลมประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยบางครั้งอาจจะไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนของการเป็นลมได้

เมื่อผู้ป่วยมีภาวะเป็นลมเกิดขึ้นจำเป็นจะต้องทำการประเมินเบื้องต้นถึงสาเหตุที่ทำให้เป็นลมได้ ซึ่งหลักการประเมินเบื้องต้นที่ปฏิบัติ มีจุดประสงค์ก็เพื่อให้ทราบถึงคำตอบของคำถาม 3 ข้อ คือ

1.เกิดภาวะเป็นลมหมดสติ ( True syncope ) จริงหรือไม่

2.สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นลมได้หรือไม่

3.อาการเป็นลม ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมีอัตราความเสี่ยงสูงหรือไม่ เพื่อช่วยในการประเมินว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าพยาบาลหรือแพทย์ผู้ทำการรักษา ถ้าจำเป็นให้ทำการรับผู้ป่วยไว้เป็นผู้ป่วยใน พร้อมทั้งทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อเติมอย่างรวดเร็ว เพื่อหาสาเหตุของภาวะเป็นลมที่เกิดขึ้น

การประเมินความเสี่ยง ( Risk Stratification )

ลักษณะของภาวะเป็นลมของผู้ป่วยที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต ( Cardiovascular death ) ดังนี้

1.ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับโครงสร้าง ( Severe structural ) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease ) หรือโรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ( coronary artery ) เกิดการตีบหรือตัน

2.คุณสมบัติทางคลินิกหรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่มีการบ่งชี้ว่ามีลักษณะของหัวใจเต้นผิดจังหวะ ( Arrhythmia ) จนทำให้เกิดภาวะเป็นลม

3.โรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น โลหิตจาง ( Anemia ) หรือภาวะซีดที่ทำให้ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงอยู่ในเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้เลือดสามารถนำออกซิเจนไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง หรือความสมดุลของอิเล็กโตรไลท์ ( Electrolyte ) มีการถูกรบกวนทำให้เสียสมดุลไป ส่งผลให้ความดันผิดปกติ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติ

เมื่อพบผู้ป่วยที่เป็นลมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้

1. จัดท่าให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงายศีรษะต่ำกว่าลำตัว พร้อมทั้งทำการยกขาทั้งสองข้างขึ้นให้สูงกว่าหัวใจ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรู้สึกตัวได้ภายในเวลาสั้น

2. ทำการคลายเสื้อผ้าด้วยการปลดกระดุม สายรัดหรือเข็มขัดที่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อช่วยให้การหายใจและการไหลเวียนของเลือดไหลได้ดีขึ้น

3. ทำการตรวจนับอัตราการหายใจและอัตราการเต้นของหัวใจหรือจับชีพจรที่ข้อมือหรือบริเวณคอดูการเต้นของหัวใจ

4.รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

อาการเป็นลมบางครั้งอาจมองว่าเป็นภาวะที่ไม่อันตราย ผู้ป่วยบางรายไม่ให้ความสำคัญในการตรวจรักษา แต่รู้หรือไม่ว่า ภาวะเป็นลมบางครั้งอาจนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นเมื่อมีภาวะเป็นลมเกิดขึ้นควรรีบเข้าไปรับการรักษาเพื่อหาสาเหตุในทันที เนื่องจากภาวะเป็นลมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยการ ทำให้การหาสาเหตุที่แท้จริงของภาวะเป็นลมจึงมีความสำคัญสูงมาก เพราะสาเหตุบางชนิดที่ทำให้เกิดภาวะนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่รีบทำการรักษาอย่างทันท่วงที เช่น โรคหัวใจตีบหรือตัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเขารับการรักษาต้องทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียดตามหลักการเพื่อทำการแยกผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงน้อย สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถประเมินเบื้องต้นถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ ต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อเป็นองค์ประกอบในการวินิจฉัยสาเหตุและแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับตัวผู้ป่วยเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ลัลธธิมา ภู่พัฒน์ : อาการวิทยา ฉบับพกพา : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2560.

ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ. อาการทางอายุรศาสตร์ Medical Symptomatology ฉบับปรังปรุง : พิษณุโลก : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร,2559.