การวินิจฉัยไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง
อาการปวดบั้นเอว อาจจะมีอาการปวดร้าวไปถึงขาหนีบ ซึ่งอาจจะเกิดมาจากโรคถุงน้ำในไต

วินิจฉัยโรคไต

การ วินิจฉัยโรคไต แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคไตตามขั้นตอนโดยจะต้องอาศัยข้อมูล พร้อมทั้งประวัติและอาการของผู้ป่วยที่แสดงได้อย่างชี้ชัด  พร้อมทั้งผลการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย 

1. แพทย์ทำการซักประวัติ พร้อมทั้งอาการป่วย ซึ่งแพทย์อาจจะสอบถามผู้ป่วยว่ามีอาการอย่างไรบ้าง  ปัสสาวะได้ดีแค่ไหน และมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น

2. แพทย์ทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุ

  • แพทย์อาจดูผิวหนัง รวมไปถึงอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง
  • ดูลักษณะของทรวงอก การหายใจที่มีกลิ่นยูเรีย
  • การค้นพบความดันเลือดต่ำ หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย  หรือ ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • การค้นพบอาการปากอักเสบ  ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อุจจาระร่วง เป็นต้น
  • เมื่อฟังเสียงปอดแล้วมีเสียงกรอบแกรบ
  • ปัสสาวะน้อยกว่า 400 มิลลิลิตรภายใน 24 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยมีอาการสับสน ซึม หรือ หมดสติ

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • เจาะเลือด เพื่อตรวจดูการทำงานของไต และดูค่าบียูเอ็น และ ครีเอตินีน พร้อมทั้งตรวจดูของเสียคั่งค้าง
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ ว่ามีไข่ขาว หรือ สารเคมี พร้อมทั้งสิ่งปกติหรือไม่

4. การประเมินอาการความรุนแรงของโรคไตวาย 

  • การตรวจดูค่าครีเอตินีน เคลียรานส์  พร้อมทั้งเจาะเลือดหาค่าครีเอตินีน
  • เจาะเลือดตรวจอีเลคโตรไลท์  เพื่อดูค่าโซเดียม โพแทสเซียม ฟอสเฟต และสภาวะเลือดเป็นกรด
    ค่าปกติของโปรตีนและค่าอัลบูมินจากปัสสาวะ
  • ปกติแล้ว ค่าโปรตีนรวมในปัสสาวะ ช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ค่าปกติน้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ค่าโปรตีนรวมในปัสสาวะเพียงแค่ครั้งเดียว  ค่าปกติน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ค่าอัลบูมินในปัสสาวะ ช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ค่าปกติต้องน้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวัน  ส่วนไมโครอัลบูมิน  ค่าจะอยู่ที่ 30-300 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ค่าอัลบูมินในปัสสาวะเพียงแค่ครั้งเดียว ค่าปกติจะน้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวันส่วนไมโครอัลบูมินจะอยู่ที่ 30 -300 มิลลิกรัมต่อวัน

การวินิจฉัยโรคไตวายและแยกแยะโรคที่มีอาการใกล้เคียง

ในกรณีที่ ไตวายเฉียบพลัน  มักจะมีอาการรุนแรง และ เฉียบพลันส่วน ภาวะไตวายเรื้อรัง  เป็นอาการป่วยที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจง ไม่ได้เฉียบพลัน  ซึ่งอาการส่วนใหญ่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย  จำเป็นจะต้องตรวจดูการทำงานของไตเป็นหลักการแยกแยะโรค ผู้ป่วยและญาติจำเป็นจะต้องสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งดูความสัมพันธ์ที่อาจจะส่งผลทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นได้  เพื่อที่จะสามารถแจ้งอาการทั้งหมดให้แพทย์ทราบได้อย่างละเอียด ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคไตและแยกแยะได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ หากผู้ป่วยและญาติ สามารถบอกอาการได้มากพอและมีความชัดเจน   

โรคที่มีอาการใกล้เคียงกับโรคไตวาย

1. อาการปวดบั้นเอว  อาจจะมีอาการปวดร้าวไปถึงขาหนีบ  ซึ่งอาจจะเกิดมาจากโรคถุงน้ำในไต ซึ่งสามารถแยกโรคนี้ออกจากโรคไตวายได้เช่นกัน

2. อาการปัสสาวะเป็นเลือด หรือ เป็นน้ำล้างเลือด และมีอาการปวดบั้นเอวร่วมด้วย อาจจะเกิดจากโรคมะเร็งที่ไต  มีนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะ  มีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ  มีก้อนนิ่วหลุดออกมา เป็นต้น

3. อาการปัสสาวะน้อย หรือ ไม่มีปัสสาวะ อาจจะเป็นโรคที่เกิดจาก เลือดออกในทางเดินอาหารมาก  กระเพาะอาหารทะลุ  ร่างกายขาดน้ำมาก เนื่องจากท้องเสีย  ทางเดินปัสสาวะอุดกั้น  มีอาการต่อมลูกหมากโต  การบวมบริเวณท่อปัสสาวะโดยตรง  กระเพาะปัสสาวะอักเสบ  ผู้ป่วยหลังทำการผ่าตัด หรือ ผู้ป่วยฉีดยาเข้าเส้นประสาทหรือไขสันหลัง  เป็นต้น

4. อาการบวม  สามารถพบได้ในโรคหน่วยไตอักเสบ ,โรคไตเนฟโฟรติก โรคตับเรื้อรัง ภาวะหัวใจวาย โรคท่อน้ำเหลืองอุดตัน บวมจากอาการแพ้ยา

5. อาการซีด เลือดจาง  อาจจะมีสาเหตุมาจาก โรคเลือดบางชนิด ร่างกายขาดธาตุเหล็ก ร่างกายขาดสารอาหาร เป็นต้น

6. อาการปัสสาวะแสบขัด ต้องออกแรงเบ่ง ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือ ไม่สุด อาจจะเกิดจากโรคการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคนิ่วในไต  ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

ในกรณีที่ผู้ป่วยค้นพบอาการที่ผิดปกติของตนเองอย่างชัดเจนแล้ว  หากไม่แน่ใจและไม่สามารถแยกแยะโรคในเบื้องต้นได้  ควรพบแพทย์และเข้ารับการรักษาโดยด่วน ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นโรคไตวายเรื้อรัง หรือ โรคไตวายเฉียบพลันหรือไม่ การเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ย่อมสามารถต่อชีวิตคุณได้อย่างแน่นอนที่สุด

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Lee A. Hebert, M.D., Jeanne Charleston, R.N. and Edgar Miller, M.D. (2009). “Proteinuria”. 2011-03-24.

Katzung, Bertram G. (2007). Basic and Clinical Pharmacology (10th ed.). New York, NY: McGraw Hill Medical.

National Kidney and Urologic Diseases Information Clearinghouse (2012). “The Kidneys and How They Work”. National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. January 2013.