Home สมุนไพร ต้นหนุมานนั่งแท่น สรรพคุณใช้เป็นยาทารักษาฝี

ต้นหนุมานนั่งแท่น สรรพคุณใช้เป็นยาทารักษาฝี

0
ต้นหนุมานนั่งแท่น สรรพคุณใช้เป็นยาทารักษาฝี
ต้นหนุมานนั่งแท่น สรรพคุณใช้เป็นยาทารักษาฝี เป็นไม้พุ่ม ใบเป็นรูปไข่โคนใบรูปหัวใจ ดอกสีแดงหรือส้ม ผลเป็นรูปกระสวยผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลือง สีดำ
หนุมานนั่งแท่น
เป็นไม้พุ่ม ใบเป็นรูปไข่โคนใบรูปหัวใจ ดอกสีแดงหรือส้ม ผลเป็นรูปกระสวยผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลือง สีดำ

หนุมานนั่งแท่น

หนุมานนั่งแท่น มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกากลาง ชอบที่แสงแดดจัดเต็มวัน ทนความแล้งได้ สามารถพบได้ตั้งแต่ที่สูงจากน้ำทะเลถึงระดับ 800 เมตร ชื่อสามัญ Fiddle-leaved Jatropha, Gout Plant, Guatemala Rhubarb [5] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Jatropha podagrica Hook. อยู่วงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ว่านหนูมานนั่งแท่น, ว่านเลือด (ภาคกลาง), หัวละมานนั่งแท่น (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), ว่านหนุมาน [1],[4]

ลักษณะของหนุมานนั่งแท่น

  • ต้น เป็นพรรณไม้พุ่ม ต้นสูงประมาณ 1.5-3 เมตร โคนลำต้นพอง ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ ผิวลำต้นไม่เรียบ เป็นสีน้ำตาลอมสีเขียว มีเหง้าใต้ดิน เหง้ามีลักษณะกลมยาวอาจจะเป็นเหลี่ยมนิดหน่อย มีน้ำยางสีขาวขุ่นใสในต้น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ใช้หัวหรือเหง้าที่ใต้ดิน โตได้ดีในที่มีความชุ่มชื้น [1],[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกกันเรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่กว้าง ที่โคนใบจะเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเว้าเป็น 3-5 แฉก ใบกว้าง 5-15 เซนติเมตร มีขนาดยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ที่ท้องใบจะเรียบ ส่วนที่หลังใบก็จะเรียบเช่นกัน ก้านใบมีขนาดยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะแตกแขนงยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[3]
  • ดอก ออกเป็นช่อกึ่งช่อเชิงหลั่น สามารถยาวได้ถึงประมาณ 26 เซนติเมตร แกนช่อดอกมีขนาดยาวถึงประมาณ 20 เซนติเมตร ออกดอกที่ปลายยอด ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีดอกย่อยสีแดงเป็นจำนวนมาก มีกลีบดอกสีแดงหรือส้มอยู่ 5 กลีบ ดอกเพศผู้จะมีกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่กว้าง มีความยาวประมาณ 0.6 มิลลิเมตร กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนาดยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร จานรองดอกจะเป็นรูปโถ เกสรเพศผู้มีความยาวประมาณ 6-8.5 มิลลิเมตร ก้านชูเกสรจะเชื่อมติดกันที่โคน ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงเป็นรูปรี มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบดอกมีความยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ก้านชูเป็นสีแดง และก้านชูช่อดอกก็เป็นสีแดงเช่นกัน[1],[2],[3]
  • ผล เป็นรูปกระสวยหรือรูปกลมรี ผิวผลจะเรียบ แบ่งเป็น 3 พู ที่ปลายผลจะมน มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีลักษณะเป็นสีเขียว ผลสุกเป็นสีเหลือง สีดำ ผลแห้งไม่แตกออก มีเมล็ดอยู่ในผล [1],[2],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • สารสกัดที่ได้จากเมล็ด ด้วยปีโตรเลียมอีเทอร์ จะมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา[2]
  • พบสารกลุ่ม phorbol esters ในเมล็ด เป็นพิษเหมือนสบู่ดำ[2]

ประโยชน์หนุมานนั่งแท่น

  • นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและว่านมงคลชนิดหนึ่งที่ตามบ้านและวัด จะนิยมขยายพันธุ์โดยใช้หัวหรือเหง้า ตอนรดน้ำให้พูดคาถานะโมพุทธายะ 3 จบ ควรปลูกวันพฤหัสบดีข้างขึ้น ถ้าจะเอาสมุนไพรไปใช้ให้บอกต้นไม้ว่าจะใช้รักษาอะไร แล้วน้ำยางจะไหลออกมาเยอะ[4] อีกความเชื่อระบุเอาไว้ว่าถ้าขุดหัวว่านมาใช้ ให้เสกคาถาสัพพาสี – ภาณามเห 3 หรือ 7 จบ รดน้ำรอบต้นแล้วขุด ขณะที่กำลังขุดให้เสกด้วยคาถาหะนุมานะ โสธาระ เป็นคาถาผูก 3 หรือ 7 จบ แล้วเก็บหัวว่านมาใช้ และตอนใช้ต้องเสกคาถานะโมพุทธายะ 3 จบก่อนทุกครั้ง เชื่อกันว่าจะมีอานุภาพฟันแทงไม่เข้า
  • เป็นยาที่ถูกใช้รักษาแผลม้า ปรากฏว่ายางสามารถรักษาแผลให้หายดีและเร็วกว่ายาสมานแผลทั่วไป ยาเนกาซันท์ ยาปฏิชีวนะ และเป็นยาชนิดเดียวที่ใช้รักษาบาดแผลเนื้องอกได้ โดยที่ยาอื่นไม่สามารถรักษาได้ และช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อยให้หายได้ (แม่โจ้)
  • สมัยก่อนมีการใช้ในทางคงกระพันชาตรี โดยนำนำหัวว่านมาแกะเป็นรูปพญาวานร เสกคาถาพุทธคุณ อิติปิโส ภะคะวา – ภะคะวาติ 3 หรือ 7 จบ แล้วอมหรือพกติดตัวเอาไว้ ทำให้ศัตรูแพ้พ่าย ถ้าแกะเป็นรูปพญานาคราช ให้เสกคาถา เมตตา3 หรือ 7 จบ เมื่อเจรจากับผู้ใด จะมีแต่ผู้รักใคร่ ปราถนาสิ่งใดสำเร็จทุกประการ หากแกะเป็นรูปพระพรหมแผลงศร ให้เสกคาถา อิติปิโส ภะคะวา – ภะคะวาติ 3 หรือ 7 จบ ใครมาทำร้ายทิ่มแทงเราจะล้มทับตัวเอง อาวุธจะพลัดหลุดจามือ จนต้องหลบหนีไป และถ้าแกะเป็นรูปภควัมบดีปิดหูปิดตา ปิดทวารทั้งเก้า ให้เสกคาถา อิติปิโส ภะคะว่า – ภะคะวาติ 7 จบ แล้วอมในปาก ทำให้ผู้อื่นจะมองไม่เห็น ไม่สามารถทำร้ายได้ ต้องการสิ่งใดก็สมดังปรารถนา ถ้าหากแกะเป็นรูปพระ แล้วเสกคาถา อะ อิ อุ ธะ 7 จบ ช่วยป้องกันอันตรายทั้งปวงได้[4]

สรรพคุณหนุมานนั่งแท่น

1. สามารถใช้เหง้านำมาโขลกละเอียดใช้เป็นยาทาพอกที่ตามข้อมือและข้อเท้า สามารถนวดแก้อาการเคล็ดขัดยอกได้ (เหง้า)[4]
2. สามารถนำหัวหรือเหง้า มาทานเป็นยาบำรุงพละกำลังผู้ที่ต้องใช้กำลังแบกหามหรือทำงานหนักได้ (เหง้า)
3. ยาพื้นบ้านล้านนานำน้ำยางมาใช้ห้ามเลือด ใช้เป็นยาทารักษาแผลมีดบาด แผลถลอก โดยล้างแผลด้วยน้ำสะอาด แล้วซับแผลให้แห้งด้วยสำลี แล้วใช้มือเด็ดก้านกลางใบ โดยให้เลือดใบที่ไม่แก่หรืออ่อนไป ถ้าน้ำยางเริ่มไหลออกให้ใช้นิ้วมือรองยางที่หยด ใช้ป้ายแผลวันละ 2-3 ครั้ง แผลจะเริ่มแห้งและตกสะเก็ดภายในเวลาประมาณ 1-2 วัน(น้ำยาง)[1],[2] เหง้าหนุมานจะมีสรรพคุณที่เป็นยาสมานแผล (เหง้า)[4]
4. เหง้าหนุมานจะมีสรรพคุณที่เป็นยาฟอกโลหิต (เหง้า)[4]
5. ในตำรับยาพื้นบ้านนำน้ำยางมาใช้เป็นยาทารักษาฝี (น้ำยาง)[1],[2]

พิษของต้นหนุมานนั่งแท่น

  • ยางกับเมล็ด จะมีสารพิษที่ออกฤทธิ์คล้าย curcin, toxalbumin พิษจาก resin alkaloid glycoside[5]
  • ถ้าน้ำยางโดนผิวหนังจะมีอาการบวมแดงแสบร้อน แพ้ระคายเคือง และถ้าทานเมล็ดจะทำให้มีอาการความดันโลหิตต่ำ การเต้นของหัวใจผิดปกติ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจเร็ว กล้ามเนื้อชักกระตุก ถ้าเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ ตาบอดชั่วคราว ถ้าได้รับปริมาณมาก ๆ อาจทำให้ตาบอดถาวร ห้ามนำเมล็ดหรือผลมาทานเด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้เสียชีวิตได้[5]

การรักษาพิษ

  • ให้ใช้สบู่ล้างน้ำยางออกจากผิวหนัง อาจจะทายาสเตียรอยด์ แต่ถ้าหากทานให้เอาส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมออกโดยการใช้ถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ล้างท้อง หรือรีบทำให้อาเจียนออกมา และรักษาตามอาการ[5]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หนุมาน นั่งแท่น (Hanuman Nang Thaen)”. หน้า 326.
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนุมานนั่งแท่น”. หน้า 134.
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “หนุมานนั่งแท่น”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้เมืองไทย พืชสมุนไพร1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [15 ก.ค. 2014].
4. ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “ว่านหนุมานนั่งแท่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/. [15 ก.ค. 2014].
5. พืชมีพิษต่อระบบทางเดินอาหารและโลหิต, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หนุ มาน นั่ง แท่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/use/toxic_002.htm. [15 ก.ค. 2014].
6. https://medthai.com

อ้างอิงรูปจาก
1. https://efloraofindia.com
2. https://www.flora-toskana.com/