ต้นรัก
เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก เปลือกต้นสีเทา ยางสีขาวข้น ดอกเป็นแบบซี่ร่ม สีขาว สีม่วง ผลเป็นฝักติดเป็นคู่มีนวลสีขาวเหนียวมือ ในฝักมีเมล็ดแบนสีน้ำตาล

รัก

ชื่อสามัญ Tembega, Giant Milkweed [3], Giant Indian Milkweed, Crown flower [1] เป็นพืชที่มาจากประเทศอินเดีย ชื่อสามัญจะเรียกตามลักษณะดอกที่คล้ายกับมงกุฎ หรือน้ำยางสีขาวคล้ายกับนม [2] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Calotropis gigantea (L.) Dryand. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Calotropis gigantea (L.) R. Br. ex Schult.) อยู่วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่วงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1],[3] มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น รักร้อยมาลัย, รักดอกขาว (ภาคกลาง), รัก (ภาคกลาง), ปอเถื่อน (ภาคเหนือ), รักเขา (จังหวัดเพชรบูรณ์), (ภาคเหนือ), รักแดง, รักดอกม่วง (ภาคกลาง), รักซ้อน (จังหวัดเพชรบูรณ์), รักดอก (ภาคกลาง), รักขาว (เพชรบูรณ์), ป่านเถื่อน (ภาคเหนือ) [1],[2],[3]

ลักษณะของรัก

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็กหรือจะเป็นไม้พุ่มที่มีขนาดกลาง ต้นสูงประมาณ 1-3 เมตร จะแตกกิ่งก้านเยอะอยู่ที่โคนต้น จะแตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกด้านข้างพอ เปลือกต้นมีลักษณะเป็นสีเทา สีน้ำตาลอ่อน จะแตกร่องตามแนวยาว ไม่มีเนื้อไม้ที่กิ่ง จะมีขนสีขาวปกขึ้นที่ตามกิ่งอ่อนยอดอ่อน มียางสีขาวข้นอยู่ทั้งต้น ขยายพันธุ์โดยการปักชำ การเพาะเมล็ด ทนต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในดินที่ไม่สมบูรณ์แห้งแล้ง มักพบขึ้นเองที่ตามธรรมชาติทั่วไป ที่ริมคลอง ริมถนน รกร้าง ตามหมู่บ้าน ริมทางรถไฟ ข้างถนน มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ที่ประเทศอินเดียถึงประเทศพม่า ประเทศไทย ประเทศจีน คาบสมุทรมลายู ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย และนิวกินี [1],[2],[5],[7],[9]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้าม ใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ที่โคนใบจะมนหรือจะเว้านิดหน่อย ส่วนที่ปลายใบจะเป็นติ่งแหลม ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 8-30 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและอวบน้ำ ที่ท้องใบจะมีขนสีขาวขึ้น ส่วนที่หลังใบก็จะมีขนสีขาวขึ้นเช่นกัน เวลาที่กระทบแสงจะสะท้อนเป็นสีเหลืองนวล ไม่มีก้านใบหรือมีก้านใบขนาดสั้น[1],[2],[5]
  • ดอก เป็นดอกช่อแบบซี่ร่ม ออกดอกที่ตามซอกใบใกล้กับยอดหรือที่ออกดอกที่ตามปลายกิ่ง ช่อแต่ละช่อจะมีดอกย่อยอยู่เยอะ ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร และก้านดอกย่อยมีความยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะเป็นสีม่วงหรือสีขาว กลีบดอกมีอยู่ 5 กลีบ กลีบดอกมีผิวที่เกลี้ยง กลีบแต่กลีบจะเป็นรูปรีถึงรูปใบหอก ที่ปลายแหลมหรือจะบิด มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมกัน มีหลอดกลีบดอกสั้น มีรยางค์เป็นรูปมงกุฎ มีขนาดที่สั้นกว่าเส้าเกสรเพศผู้ ที่ปลายจะมน และจะมีติ่งมนที่ด้านข้าง จะมีฐานเป็นเดือย อับเรณูจะมีเยื่อบางห่อหุ้มเอาไว้ มีกลีบเลี้ยงดอกอยู่ 5 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ที่ปลายกลีบเลี้ยงดอกจะแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ออกดอกได้ทั้งปี และติดผลได้ทั้งปีเช่นกัน จะออกดอกเยอะช่วงฤดูร้อน [1],[2],[5]
  • ผล ผลเป็นฝักติดเป็นคู่ ฝักเป็นรูปรีโค้ง ที่ปลายของฝักจะแหลมและงอ กว้างประมาณ 2.58-4 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ผิวของฝักจะเป็นคลื่น มีนวลสีขาวเหนียวมือ ฝักแก่จะมีเปือกเป็นสีน้ำตาลและจะแตกออก ถ้าเป็นฝักอ่อนจะมีเปลือกเป็นสีขาว มีเมล็ดแบนสีน้ำตาลอยู่ในฝัก เมล็ดมีความยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ที่ปลายเมล็ดจะมีขนสีขาวติดเป็นกระจุก มีความยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร [1],[2],[4]

พิษของยาง

  • ใบกับยางจะมีสารพิษ Digitalis จะออกฤทธิ์เป็นพิษกับหัวใจและเลือด ทำให้ระคายเคืองเยื่อบุปากกับกระเพาะอาหาร แล้วก็จะมีอาการท้องเดิน อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ ถ้าทานเยอะแล้วล้างท้องไม่ทัน ลำไส้จะดูดซึมสารพิษ แล้วก็จะแสดงความเป็นพิษกับหัวใจ จะเกิดขึ้นช้าเร็วขึ้นอยู่ที่ชนิดของไกลโคไซด์[3]
  • ยางเป็นอันตรายกับผิวหนังและดวงตา การเก็บดอกต้องแต่งกายรัดกุมมิดชิด สวมถุงมือยาง สวมแว่นตา ใส่ผ้าปิดปาก ใส่ผ้าปิดจมูก[6]

วิธีการแก้พิษ

ให้นำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเพื่อล้างท้อง และรักษาตามอาการ ถ้าจาก EKG พบว่ามี Ventricular tachycardia ควรให้ potossium chloride ประมาณ 5-10 g หรือ K+ ประมาณ80 mEq/L และถ้าหากเจ็บแขนก็อาจช่วยโดยวิธีนวดและประคบน้ำร้อน[3]

การเก็บรักษาดอก

  • ควรเก็บในถุงพลาสติกแช่ในน้ำแข็ง สามารถช่วยยืดอายุดอกได้ดีที่สุด เฉลี่ยประมาณ 11.3 วัน[6]
  • ให้เก็บที่อุณหภูมิต่ำ จะช่วยยืดอายุและช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของได้นานถึงประมาณ 7-10วัน (เฉลี่ย 7.6 วัน) ถ้าเก็บดอกไว้ในอุณหภูมิห้องปกติจะมีอายุการเก็บเฉลี่ย 2 วัน[6]

ประโยชน์รัก

  • สามารถเอาเนื้อไม้มาเผาเป็นถ่านใช้ผสมดินปืนได้[4]
  • ทางไสยศาสตร์นิยมใช้รากที่มีดอกซ้อนสีขาวมาแกะเป็นรูปนางกวัก รูปพระปิดตา หรือเป็นรูปเด็กขนาดเล็กที่รวมกับรูปเด็กที่แกะจากรากมะยม ที่เรียกว่า รักยม แล้วก็นำไปแช่ในขวดที่มีน้ำมันจันทน์ นับเป็นของขลังที่ชายไทยสมัยก่อนนิยมพกติดตัวเวลาที่ออกจากบ้าน [2]
  • ประเทศอินเดียใช้น้ำที่ได้จากผลเป็นส่วนผสมเครื่องดื่มที่เรียกกันว่า บาร์[5]
  • ดอกเป็นสินค้าที่คนไทยต้องการใช้ทั้งปี เนื่องจากใช้ร้อยพวงมาลัย[2]
  • สามารถใช้ดอกทำดอกไม้ประดิษฐ์ได้[7]
  • สามารถนำเส้นใยที่ได้จากลำต้นกับผลมายัดใส่หมอนได้[5]
  • มีรายงานว่าปุยจากเมล็ดใช้ทำเส้นด้ายสำหรับทอผ้า และสามารถใช้แทนนุ่นได้[7]
  • นำดอกมาร้อยเป็นพวงมาลัยสวมให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวแล้ว และนำใบมารองก้นขันใส่สินสอดกับขันใส่เงินทุนที่ให้คู่สมรส[2]
  • ชาวฮาวายถือว่ามาลัยดอกรักที่ใช้ทำสร้อยคอ (lei) คือ สัญลักษณ์ความเป็นกษัตริย์[8]

สรรพคุณรัก

1. ผล สามารถใช้แก้รังแคบนศีรษะได้ [2],[7]
2. สามารถช่วยแก้กลากเกลื้อนได้ (ยางสีขาวที่ได้จากต้น[1],[9], ดอก[2])
3. สามารถนำยางไม้ใส่แผลสดใช้เป็นยาฆ่าเชื้อได้ (ยางสีขาวที่ได้จากต้น)[5]
4. สามารถช่วยแก้ริดสีดวงในลำไส้ได้ (ยางขาวจากต้น)[2],[10]
5. ยางสีขาวที่ได้จากต้นจะมีฤทธิ์ที่เป็นยาถ่ายแรง (ยางสีขาวที่ได้จากต้น)[1],[4],[9]
6. สามารถช่วยย่อยได้ (ดอก)[1],[9]
7. สามารถช่วยขับเหงื่อได้ (ราก[4], เปลือกราก[7])
8. สามารถช่วยแก้หอบหืด แก้ไอ และแก้อาการหวัดได้ (ดอก)[1],[8],[9]
9. ยางสีขาวที่ได้จากต้นเป็นยาแก้ปวดฟัน และแก้ปวดหู (ยางสีขาวที่ได้จากต้น)[1],[7],[9]
10. ดอก มีรสเฝื่อน สามารถช่วยทำให้เจริญอาหารได้ [1],[9]
11. สามารถใช้ใบสดเป็นยาพอกบรรเทาอาการโรคไขข้อได้ (ใบ)[5]
12. สามารถใช้ยางสีขาวที่ได้จากต้น แก้โรคเรื้อนได้ (ยางสีขาวที่ได้จากต้น)[4]
13. สามารถช่วยแกคุดทะราดได้ (ใบ)[2]
14. เปลือกต้น มีสรรพคุณที่สามารถช่วยขับน้ำเหลืองเสียได้ (เปลือกต้น)[1],[9]
15. ใบ มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารได้ (ใบ)[2],[7]
16. สามารถใช้เป็นยาขับพยาธิได้ ด้วยการนำยางสีขาวที่ได้จากต้นมาใช้ทาปลาช่อนแล้วย่างกับไฟให้เด็กทานเป็นยาเบื่อพยาธิไส้เดือน (ยางขาวจากต้น)[1],[2]
17. สามารถใช้เป็นยาแก้โรคบิดได้ (ราก[4], เปลือกราก[7],[9])
18. สามารถช่วยแก้บิดมูกเลือดได้ (ราก)[7]
19. เปลือกรากจะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยขับเสมหะได้ (เปลือกราก)[8],[9]
20. สามารถช่วยทำให้อาเจียนได้ (เปลือกต้น[1],[7],[9], ราก[4], เปลือกราก[7],[9])
21. สามารถใช้รากเป็นยาแก้ไข้ได้ (ราก)[7]
22. สามารถแก้ไข้เหนือได้ (ราก)[10]
23. ต้น รสเฝื่อนขม มีสรรพคุณที่สามารถช่วยบำรุงทวารทั้งห้าได้ [10]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “รัก (Rug)”. หน้า 258.
2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 272 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “รัก ชื่อนั้นสำคัญยิ่งนัก”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [28 พ.ค. 2014].
3. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [28 พ.ค. 2014].
4. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. “รัก”.
5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “รักดอก”. อ้างอิงใน: Nordic Journal of Botany, Volume 11, No.3, Page 306-307. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [28 พ.ค. 2014].
6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. (กาญจนา เหลืองสุวาลัย, ศิริชัน อริยานนท์ภิญโญ, นิพนธ์ ทรัพย์ทิพย์). “การยืดอายุการเก็บรักษาดอกรัก”.
7. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). (สุภาภรณ์ เยื้อนหนูวงค์). “ต้นรัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [28 พ.ค. 2014].
8. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “รัก (ไม้พุ่ม)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org. [28 พ.ค. 2014].
9. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “รัก”. หน้า 673-674.
10. หนังสือเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช). “รัก”.

อ้างอิงรูปจาก
1. https://floridaseeds.net/
2. https://commons.wikimedia.org/
3. https://www.quintadosouriques.com/
4. https://medthai.com