Home สมุนไพร ต้นมะกล่ำเผือก ใช้ใบพอกหน้าลดจุดด่างดำบนใบหน้า

ต้นมะกล่ำเผือก ใช้ใบพอกหน้าลดจุดด่างดำบนใบหน้า

0
ต้นมะกล่ำเผือก ใช้ใบพอกหน้าลดจุดด่างดำบนใบหน้า
ต้นมะกล่ำเผือก ใช้ใบพอกหน้าลดจุดด่างดำบนใบหน้า ไม้เถา ดอกเป็นแบบช่อกระจะสีชมพูอ่อน ทรงคล้ายดอกถั่ว เปลือกฝักมีขนสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุม เมล็ดมีผิวมันเงา และเรียบเกลี้ยง
มะกล่ำเผือก
เป็นไม้เถา ดอกเป็นแบบช่อกระจะสีชมพูอ่อน ทรงคล้ายดอกถั่ว เปลือกฝักมีขนสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุม เมล็ดมีผิวมันเงา และเรียบเกลี้ยง

มะกล่ำเผือก

สามารถพบได้ในแถบภูมิภาคมาเลเซียและอินโดจีน, ประเทศอินเดีย, ประเทศเนปาล, ประเทศจีน, ประเทศภูฏาน, ประเทศบังกลาเทศ, ประเทศฟิลิปปินส์, ประเทศปาปัวนิวกินี, ประเทศพม่า และประเทศศรีลังกา เจริญเติบโตในสภาพพื้นที่ตามป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น[1],[2],[3],[5]ชื่อวิทยาศาสตร์ Abrus pulchellus Thwaites ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Abrus fruticulosus auct. non Wight & Arn., Abrus pulchellus subsp. pulchellus จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[3],[5] ชื่ออื่น ๆ จีกู่เฉ่า (ภาษาจีนกลาง), โกยกุกเช่า (ภาษาจีนแต้จิ๋ว), คอกิ่ว มะขามป่า (จังหวัดจันทบุรี), มะกล่ำตาหนู แปบฝาง (จังหวัดเชียงใหม่), มะขามย่าน (จังหวัดตรัง) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของมะกล่ำเผือก

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทเถา (โดยจะทำการเลื้อยทอดยาวไปกับพื้นดินหรือเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น ๆ)
    – ลำต้นมีสีน้ำตาลเข้มอมสีม่วงแดง ลำต้นมีความยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร แผ่กิ่งก้านออกมามากเป็นทรงพุ่มทึบ ก้านมีขนสีเหลืองขึ้นปกคลุม
    – ต้นมีเถาสีเขียวลักษณะกลมยาว และต้นมีรากกลมใหญ่ มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร
  • ใบ
    – ใบจะออกเรียงสลับกัน มีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่
    – ใบย่อยมีรูปร่างเป็นรูปไข่กลับ ตรงปลายใบเป็นติ่งหนามหรือโค้งมน ขอบใบเรียบ ส่วนที่โคนใบเบี้ยว ใบด้านบนไม่มีขน ส่วนด้านล่างจะมีขนสีขาวขึ้น มีหูใบรูปใบหอก และมีหูใบย่อยเป็นเส้นเรียวยาว มีเส้นกลางใบนูนขึ้นเล็กน้อย มีเนื้อใบบาง ใบย่อยมีอยู่ประมาณ 4-7 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน [1],[2],[3],[5]
    – ใบย่อยมีขนาดความยาวประมาณ 3.2-4.5 เซนติเมตร มีก้านใบยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และใบหลักมีขนาดที่ยาวกว่าใบย่อย มีก้านใบยาวประมาณ 2-3เซนติเมตร
  • ดอก
    – ดอกมีรูปร่างเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกมีอยู่ 5 กลีบ มีความยาวได้ประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร ตรงกลางกลีบมีสีขาว กลีบมีรูปร่างเป็นรูปรี ตรงปลายกลีบเว้าบุ๋ม ขอบเรียบ ที่โคนกลีบเป็นรูปลิ่ม ส่วนกลีบเลี้ยงมีสีเขียวแกมสีชมพูอ่อน ที่โคนกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ตรงปลายโคนเว้าเป็นปลายตัด หรือเป็นรอยหยักตื้น ๆ และดอกมีใบประดับเป็นรูปไข่ มีความยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร
    – กลีบด้านข้างมีสีชมพูอ่อน มีรูปร่างเป็นรูปเคียว ตรงปลายมน ที่โคนสอบเรียว และมีรยางค์เป็นติ่ง มีความยาวรวมก้านกลีบประมาณ 1.1-1.2 เซนติเมตร
    – กลีบด้านล่างเป็นสีชมพู มีรูปร่างเป็นรูปเคียว ตรงปลายมน โคนมีสีขาวมีลักษณะสอบเรียวยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร
    – ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 9 อัน รูปร่างเป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร อับเรณูมีสีเหลือง ติดอยู่บริเวณทางด้านหลัง ตรงโคนมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปหลอด มี 2 แบบ ออกเรียงสลับกัน คือแบบสั้นและแบบยาว แบบสั้นก้านชูอับเรณูจะมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร แบบยาวก้านชูอับเรณูจะมีความยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร
    – ดอกมีเกสรเพศเมียมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปแถบ แบน และมีขนขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น
    – ออกดอกตามบริเวณซอกใบ ดอกมีลักษณะเป็นแบบช่อกระจะ[1],[3],[5]
  • ผล
    – ผลมีรูปร่างลักษณะเป็นฝักรูปขอบขนาน เปลือกฝักมีขนสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุม ผลมีขนาดความกว้างประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร เมื่อฝักแห้งฝักจะแตกตัวออกมา
  • เมล็ด
    – เมล็ดมีผิวมันเงา และเรียบเกลี้ยง เมล็ดมีรูปร่างกลมรีและแบนเล็กน้อย ภายในฝักมีเมล็ดอยู่ประมาณ 4-5 เมล็ด
    – เมล็ดอ่อนมีสีขาว ส่วนเมล็ดสุกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีดำเข้ม [1],[3],[5]

สรรพคุณของมะกล่ำเผือก

1. ทั้งต้นนำมาใช้ทำเป็นยาแก้อาการปวดกระดูกเนื่องจากลมชื้นเกาะติด[3]
2. ทั้งต้นนำมาใช้ทำเป็นยาแก้พิษงู (สำหรับใช้ภายนอก)[3]
3. ทั้งต้นนำมาทำเป็นยาแก้พิษร้อน แก้อาการร้อนใน และบรรเทาพิษไข้ (ทั้งต้น)[3]
4. ทั้งต้นนำมาทำเป็นยาแก้อาการปวดกระเพาะ[3]
5. ทั้งต้นหรือเครือ นำไปต้มกับน้ำใช้ทานช่วยลดความดันโลหิต[4]
6. ตำรับยากล่อมตับ ระบุไว้ว่า ให้ใช้ต้นสดในปริมาณ 30 กรัม, ตี้เอ๋อเฉ่าในปริมาณ 30 กรัม, ต้นยินเฉินในปริมาณ 30 กรัม, ซานจีจื่อ (เมล็ดพุดตานแห้ง) ในปริมาณ15 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้รับประทาน โดยยาจะมีสรรพคุณในการรักษาอาการตับอักเสบชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง รักษาตับอักเสบที่ติดเชื้อแบบดีซ่าน
(ถ้ามีอาการอักเสบและตัวร้อน ก็ให้เพิ่มดอกสายน้ำผึ้งในปริมาณ 30 กรัม กับต้นหมากดิบน้ำค้างในปริมาณ 30 กรัม เข้าไปในสูตรตำรับยาข้างต้น) (ทั้งต้น)[3]
7. ใบนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยารักษาหลอดลมอักเสบ ช่วยกระตุ้นน้ำลาย และแก้อาการเจ็บคอ (ใบ)[4]
8. ใบนำมาใช้ทำเป็นยาแก้อาการปวดบวมตามข้อ และปวดตามแนวประสาท (ใบ)[4]
9. ใบมีสรรพคุณแก้อาการอักเสบ และปวดบวม โดยให้นำใบมาตำใช้พอกบริเวณที่มีอาการ (ใบ)[4]
10. ใบนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)[4]
11. เถาและรากนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่ม มีสรรพคุณเป็นยารักษาหลอดลมอักเสบ แก้อาการร้อนใน แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ แก้หืด แก้อาการไอแห้ง และแก้อาเจียน [4]
12. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการจุกเสียดท้องและอาการปวดท้อง (ราก)[1]
13. เมล็ดนำมาบดผสมกับน้ำมันพืช ทำเป็นยาใช้เฉพาะภายนอก โดยมีสรรพคุณในการฆ่าพยาธิผิวหนัง รักษาฝีมีหนอง บรรเทาโรคกลากเกลื้อน และอาการผิวหนังบวมอักเสบ [4]

ประโยชน์ของต้นมะกล่ำเผือก

1. ใบนำมาใช้แทนน้ำตาลทรายได้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากมีสาร glycyrrhizin ที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 50 เท่า[1],[2]
2. ใบนำมาตำใช้สำหรับพอกหน้า จะช่วยแก้จุดด่างดำบนใบหน้าได้ (ใบ) [4]
3. เมล็ดนำมาทำเป็นยาฆ่าแมลงได้ โดยจะออกฤทธิ์ได้นานถึง 2 วัน [4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • จากงานวิจัยใบพบว่า ภายในใบมีสารจำพวก Sterol, สารจำพวก Flavonoid, Amino acid และสารที่ให้รสหวานที่มีชื่อว่า Glycyrrhizin, Abrine และสาร Choline อยู่ [3]

ขนาดและวิธีใช้

1. ยาแห้งใช้ในปริมาณครั้งละ 10-15 กรัม นำไปใช้เข้ากับตำรายาอื่น ๆ หรือนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับรับประทาน
2. ยาสดใช้ในปริมาณครั้งละ 30-60 กรัม หรือตามที่ต้องการ นำมาใช้ภายนอก
3. ห้ามนำเมล็ดมารับประทานเพราะมีพิษอยู่[3]

ข้อควรระวัง

1. ถ้านำเมล็ดมาทำยา ให้ใช้เฉพาะภายนอกเท่านั้น และควรระมัดระวังในการใช้ [3]
2. เมล็ดมีสารพิษที่ส่งผลทำให้ถึงตายได้ [1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “มะกล่ำเผือก”. หน้า 145.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะกล่ำเผือก”. หน้า 30.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “มะกล่ำเผือก”. หน้า 422.
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะกล่ำเผือก”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา)., หนังสือสารานุกรมสมุนไพร : รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [05 พ.ย. 2014].
5. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “มะกล่ำเผือก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [05 พ.ย. 2014].
6. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://indiabiodiversity.org/
2. https://maklum101.files.wordpress.com/