สีเสียด
เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ใบเรียบสีเขียวมีขน ดอกย่อยขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล มีกลิ่นหอม ฝักแบนตรง

เสนียด

เสนียด เป็นไม้กลางแจ้งโตได้ดีในดินร่วนซุยความชื้นปกติพบได้ตามป่าเต็งรัง ชื่อสามัญ Malabar Nut Tree, Vassica, Adhatoda[3] ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia adhatoda L.อยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1],[2],[10] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ กระเนียด (ทั่วไป), กุลาขาว บัวลาขาว บัวฮาขาว (ภาคเหนือ), โมรา เสนียดโมรา (ภาคกลาง), กระเหนียด (ภาคใต้), เจี่ยกู่เฉ่า ต้าปั๋วกู่ ยาจุ่ยฮวา (จีนกลาง), ชิตาโหระ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), จะลึ้ม (ปะหล่อง)เป็นต้น[1],[3],[4],[6]

ลักษณะของเสนียด

  • ต้น เป็นไม้พุ่มทึบ แตกกิ่งก้านสาขามากรอบๆต้น มีความสูงราวๆ 1.4-3 เมตร มีขนเล็กน้อยบริเวณยอดกิ่งอ่อน ใช้เมล็ดและการปักชำในการขยายพันธุ์ [1],[3],[4]
  • ดอก ออกบริเวณง่ามใบใกล้กับปลายยอด เป็นดอกช่อ ความยาวของก้านช่อราวๆ 10 เซนติเมตร ดอกมีกลีบสีขาวและมีเส้นสีม่วง ยาวราวๆ 3 เซนติเมตร ลักษณะเป็นปากแยกแบ่งเป็นกลีบบนและกลีบล่าง มี 2 กลีบ ส่วนบนมีรอยแยกสีขาว 2 แฉกและส่วนล่างมีรอยแยกสีขาวปะม่วง 3 แฉก ดอกย่อยมีกลีบดอกสีเขียว มีใบประดับสีเขียวหุ้มซ้อนกันบริเวณดอกเป็นชั้นเดียว กลีบดอกย่อยกว้าง 3 มิลลิเมตร และยาว 1.2-1.4 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ยื่นออกมา 2 อันและมีเกสรตัวเมียที่สั้นกว่า เกสรตัวผู้มีปลายแยกเป็น 2 แฉกเป็นเส้นกลมยาว[1],[3],[4]
  • ใบ เป็นรูปใบหอกหรือรูปรีใหญ่ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน โคนใบเรียวมนรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีสีเขียว มีขนอ่อนๆขึ้นปกคลุมทั่วใบ ก้านใบยาว 1-2 เซนติเมตร ใบกว้างราวๆ 4-7 เซนติเมตรและยาวราว ๆ 8-15 เซนติเมตร[1],[3]
  • ผล ออกเป็นฝักมีขน ยาวราวๆ 2 เซนติเมตร มีเมล็ดอยู่ 4 เมล็ดใน 1 ฝัก[4] ผลแห้งแตกออกได้ ไม่ติดผล[1]

ประโยชน์ของเสนียด

  • นำต้นมาปลูกบริเวณริมตลิ่ง จะสามารถป้องกันการกัดเซาะได้[6]
  • นำเนื้อไม้มาทำเป็นรั้วได้[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • กบที่ได้รับสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada ในขนาด 2.5 และ 25 มก. พบฤทธิ์กดหัวใจ และลดแรงบีบตัวของหัวใจ แต่ให้สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ อัตรา 1:1 จากใบเข้าทางหลอดเลือดดำของสุนัข ไม่พบการเป็นพิษต่อหัวใจ [10]
  • มีการให้สารสกัดจากใบ ในขนาด 325 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวันกับหนูขาวที่ตั้งท้องในระหว่างวันที่ 1-9 ทางสายยาง และให้ใบ ละลายน้ำ 0.25 และ 2.5% แก่หนูขาวพบว่าไม่ทำให้แท้ง แต่เมื่อให้สารสกัดด้วยน้ำจากใบขนาด 175 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทางปากหนูขาวที่ตั้งท้องได้ 10 วัน พบว่าทำให้หนูแท้งได้ 100% ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าสาร Vasicine มีฤทธิ์ทำให้หนูตะเภาแท้งได้แต่ไม่มีฤทธิ์ทำให้หนูขาวแท้งโดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการตั้งท้อง และก่อนเกิด estradiol priming และมีการศึกษาในผู้ป่วยหลังคลอดปกติ ในวันที่ 2-8 ในโรงพยาบาล โดยให้สาร Vasicine ขนาด 16 มิลลิกรัม พบว่าผู้ป่วยทนต่อสารได้ดี มดลูกมีการบีบตัวดี และไม่มีผลข้างเคียง [10]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากใบ มีฤทธิ์ในการต้านการฝังตัวของตัวอ่อนของหนูขาวเพศเมียได้ประมาณร้อยละ 60-70[10]
  • นำมาใช้เป็นยารักษาโรคหืดหอบได้ เนื่องจากสาร Vasicine สามารถทำให้หลอดลมขยายตัว[4]
  • พบสาร Alkaloids ในราก อยู่หลายชนิด เช่น Vasicinol และในดอกและใบพบ Vasicine, Vasicinone ในดอกพบสาร Vasicinine, Betaine, Anisoine, Adhatodine และในใบพบ วิตามินซี,Vasakin เป็นต้น[4]
  • พบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบไม่มีพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยง CA-9KB และขนาดของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ร้อยละ 50 มากกว่า 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม[10]
  • การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้สาร Vasicine แก่ลิงและหนูขาวในเวลา 6 เดือนไม่พบพิษ ไม่พบพิษว่าเป็นพิษกับหนูถีบจักรที่ฉีดสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบ เข้าใต้ผิวหนังหรือทางสายยางในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษในหนูขาวเพศผู้ที่กินสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada ในขนาด 100-1,600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบว่าเป็นพิษในคนที่กินสารสกัดจากใบในขนาด 20 มิลลิลิตรต่อคน[10]
  • หนูถีบจักรเพศเมียเมื่อได้รับสารสกัดแอลกอฮอล์ สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์และสารสกัดด้วยน้ำจากใบทางปากก่อนการผสมพันธุ์ 7 วัน และ 14 วัน ในระหว่างการผสมพันธุ์ พบว่าไม่มีผลในการทำให้หนูเป็นหมัน[10]
  • สาร Vasicine มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจที่อยู่นอกร่างของหนูและกระต่ายทดลองให้มีการบีบตัวและมีการสูบฉีดหัวใจแรงขึ้นและช่วยลดความดันโลหิตของสุนัขทดลองได้เล็กน้อย[4]
  • ดอกและใบ มีสารอัลคาลอยด์Vasicinone และVasicine ซึ่งช่วยในการขยายหลอดลมและละลายเสมหะได้ โดยยาละลายเสมหะในปัจจุบันคือยา Bromhexine ซึ่งเป็นสารที่สังเคราะห์เลียนแบบโครงสร้างของอัลคาลอยด์จากใบนั่นเอง[2]

สรรพคุณของเสนียด

1. การใช้ต้นสด 60 กรัม, เจ็กลั้ง 30 กรัม, เถ้ากุเสียว 30 กรัม, เจตพังคี 20 กรัมและหญ้าผีเสื้อบิน 20 กรัม นำมารวมคั่วกับเหล้าให้ร้อน สามารถใช้แก้ปวดบวม แก้กระดูกร้าว ฟกช้ำดำเขียว ปวดตามข้อ และอาการเหน็บชาอันเนื่องมาจากลมชื้นได้(ต้น)[4]
2. ใบใช้ทำยาแก้ปวดบวมได้[5] อีกทั้งยังใช้แก้อาการเจ็บปวดข้อได้อีกด้วย[8]
3. ใบทำยาห้ามเลือดได้[1],[2],[3]
4. สามารถแก้ลมผิดเดือนของสตรีได้ โดยการนำใบมาต้มกับน้ำอาบ(ใบ)[7]
5. ต้น ลดอาการระคายเคืองของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารได้ แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้ท้องเดินหรืออาเจียนออกมาได้(ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1],[3]
6. มีสรรพคุณในการแก้อาการไอได้(ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1] ใช้น้ำใบสดคั้น 15 มิลลิลิตรผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำขิงสดดื่มจะช่วยในการแก้ไอและขับเสมหะได้(ใบ)[3],[5]
7. สามารถช่วยแก้อาหารหอบหืดได้ โดยนำใบแห้งมาหั่นมวนเป็นบุหรี่สูบ(ใบ)[1],[3],[5] หรือจะใช้ต้น ราก ใบ และดอกเป็นยาแก้หอบหืดก็ได้เช่นกัน(ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1] มีการใช้รากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคหอบหืด โดย ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่(ราก)[6]
8. ทำให้หายใจได้ดีขึ้น เนื่องจากรากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงปอด(ราก[1],[2], ต้น[7], ทั้งต้น[3])
9. สามารถช่วยแก้วัณโรคได้ โดยใช้รากมาปรุงเป็นยา(ราก[1],[2], ต้น[7], ทั้งต้น[3])
10. ทั้งต้นสามารถใช้อาการแก้ปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดเข่า ปวดหลังและเคล็ดขัดยอกได้ (ทั้งต้น)[4]
11. ทำเป็นยาแก้ฝีได้(ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1],[3] และรากยังสามารถทำเป็นยาแก้ฝีภายในได้อีกด้วย(ราก)[8]
12. มีฤทธิ์ในการแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ หรือประจำเดือนมามากเกินไปได้(ทั้งต้น[4], ใบ[8])
13. ใบ ใช้เข้ายากรณีประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ หรือนำมาต้มกับน้ำอาบหลังจากหญิงคลอดบุตรก็ได้(ใบ)[1] สำหรับคนที่ป่วยมาเป็นเวลานาน ไม่ค่อยมีแรงและสตรีหลังคลอดบุตร สามารถใช้ใบหรือรากนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ชาวปะหล่องมักใช้วิธีนี้กัน(ราก,ใบ)[6]
14. ทำเป็นยาขับเสมหะได้ โดยใช้ต้น ราก ใบ และดอกมาทำ(ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1]
15. ใบ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้[5]
16. ใบ ใช้ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมได้[5]
17. สามารถใช้เป็นยาฟอกเลือด และกระจายเลือดได้(ทั้งต้น)[4] ส่วนใบใช้เข้ายาที่เกี่ยวกับการบำรุงโลหิต[1],[3]

คำเตือน

  • ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากจะทำให้แท้งบุตรได้[4]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เสนียด (Sa Niat)”. หน้า 306.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เสนียด”. หน้า 37.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เสนียด”. หน้า 787-789.
4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เ ส นี ย ด”. หน้า 558.
5. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “เสนียด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [13 มิ.ย. 2014].
6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เสนียด”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 มิ.ย. 2014].
7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Justicia adhatoda L.”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน เล่ม 4 หน้า 665. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [13 มิ.ย. 2014].
8. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, กรมวิชาการเกษตร. “เ ส นี ย ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/hrc/chumphon/. [13 มิ.ย. 2014].
9. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “เสนียด, MALABAR NUT”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [13 มิ.ย. 2014].
10. ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เ ส นี ย ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/. [13 มิ.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.consultaplantas.com/index.php/en/plants-from-d-to-l/2306-justicia-adhatoda-or-malabar-nut-care-and-growing
2. https://twitter.com/StuartWilliams_/status/1023362183470575616
3. https://medthai.com/