หงอนไก่ไทย
ไม้พุ่มขนาดเล็ก ดอกขนาดเล็กเป็นละออง ดอกบิดจีบม้วนคล้ายกับหงอนไก่ ดอกสีเหลือง หรือสีแดง หรือสีขาว หรือสีชมพู

หงอนไก่ไทย

หงอนไก่ไทย เป็นพืชปลูกในประเทศในเขตอบอุ่น ส่วนประเทศไทยพบตามชายป่า และริมถนน ชื่อสามัญ คือ Common cockscomb, Wild Cockcomb, Crested celosin, Cockcomb ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Celosia cristata L., Celosia argentea var. cristata (L.) Kuntze อยู่วงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น โกยกวงฮวย (จีนแต้จิ๋ว), ซองพุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), หงอนไก่ไทย (ภาคกลาง), หงอนไก่ฝรั่ง (ภาคกลาง), หงอนไก่ดอกกลม (ภาคกลาง), สร้อยไก่ (ภาคเหนือ), ดอกด้าย (ภาคเหนือ), จีกวนฮวา (จีนกลาง), แชเสี่ยง (จีนแต้จิ๋ว), หงอนไก่ดง (นครสวรรค์), กระลารอน (เขมร-ปราจีนบุรี), ชองพุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), พอคอที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หงอนไก่เทศ (ภาคกลาง), หงอนไก่ฟ้า (ภาคกลาง), หงอนไก่ (ภาคเหนือ), ด้ายสร้อย (ภาคเหนือ) [1],[5],[8]

ลักษณะของหงอนไก่ไทย

  • ต้น เป็นไม้พุ่มที่มีขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 20 นิ้ว ไม่มีแก่น ต้นหงอนไก่เป็นพรรณไม้ที่สามารถกลายพันธุ์ได้ง่าย ทำให้บางต้นมักไม่เป็นสีเขียว อาจเป็นสีแดง สีเขียวอ่อน สีขาว เป็นต้น แล้วแต่พันธุ์ของต้น ขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในที่ดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี เป็นไม้กลางแจ้ง ต้นหงอนไก่จะชอบแสงแดดจัด เติบโตง่าย งอกงามเร็ว [1]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเป็นกลุ่มที่ตามข้อลำต้น ใบเป็นรูปหอก รูปทรงมนรี รูปรี ที่โคนใบจะสอบ ส่วนที่ปลายใบจะแหลม ขอบใบเรียบไม่มีหยัก แผ่นใบมีลักษณะเป็นสีเขียว ใบกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร สามารถยาวได้ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ที่ผิวใบด้านบนจะเป็นสีเขียว หรือสีม่วงแดง จะย่นนิดหน่อย เส้นกลางใบจะเป็นสีชมพู[1],[5],[8]
  • ดอก มีขนาดเล็กเป็นละออง ออกติดแน่นเป็นช่อเดียวกันคล้ายหงอนไก่ ขนาดประมาณ 2-4 นิ้ว ช่อดอกบิดจีบม้วนไปมาในช่อดูคล้ายกับหงอนไก่ แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงอยู่ 3 กลีบ และมีกลีบดอก 5 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปปลายแหลม มีขนาดยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ดอกจะมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน ที่ปลายจะมีรอยแยก 2 รอยตื้น สีดอกแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ อย่างเช่น สีเหลือง สีแดง สีขาว สีชมพู สีผสม เมื่อช่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร[1],[5],[8]
  • ผล เป็นผลแห้ง ผลเป็นรูปทรงกลม มีเมล็ดอยู่ในผล เมล็ดเป็นรูปกลมแบน ที่เปลือกนอกเมล็ดจะมีลักษณะเป็นสีดำแข็ง เป็นมัน[1],[5]

ข้อห้ามในการใช้หงอนไก่

  • ห้ามให้ผู้ที่เป็นโรคตาบอดใสทานสมุนไพรหงอนไก่[4]
  • ห้ามให้สตรีที่อยู่ระหว่างการมีประจำเดือนทานสมุนไพรหงอนไก่[1]

ประโยชน์หงอนไก่ไทย

  • ปลูกเป็นไม้ตัดดอกทำดอกไม้แห้ง[5]
  • ปลูกเป็นไม้ประดับแปลงทั่วไป ปลูกเป็นไม้กระถาง ปลูกริมทางเดิน ปลูกตามขอบแปลง [5]

สรรพคุณหงอนไก่ไทย

1. ใบจะมีสรรพคุณที่ช่วยบรรเทาอาการคันเพราะยางของต้นรักได้ (ใบ)[9]
2. สามารถนำลำต้นอ่อนมาตำให้ละเอียด แล้วใช้เป็นยาพอกแก้ตะขาบกัดได้ (ลำต้น)[1]
3. สามารถนำใบกับก้านมาตำใช้พอกรักษาบาดแผลที่มีเลือดออกได้ (ใบกับก้าน)[1]
4. สามารถช่วยแก้มุตกิดตกขาวของสตรีได้ โดยนำดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) มาต้มทาน หรือนำดอกมาต้มกับเหล้าขาวทาน (สามารถใช้ได้ทั้งดอกหงอนไก่ไทยและหงอนไก่เทศ)[1],[3],[8]
5. สามารถใช้แก้ริดสีดวงทวารได้ (ดอก,เมล็ด)[3],[5]
6. ดอกสามารถใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ (ดอก)[7]
7. ในตำรายาแผนไทยจะนำเมล็ดมาใช้เป็นยาแก้ท้องร่วงได้ (เมล็ด)[7]
8. สามารถช่วยแก้อาการท้องอืดได้ (ราก)[5]
9. สามารถนำเมล็ดมาต้ม แล้วเอาไปใช้กลั้วรักษาแผลในช่องปาก (เมล็ด)[7]
10. สามารถใช้เป็นยาแก้เสมหะได้ (ราก)[2],[3],[5]
11. สามารถใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง เยื่อตาอักเสบ ทำให้ตาสว่าง ตาปวด โดยนำดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) มาต้มทาน (ดอก)[1],[3],[4]
12. สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ที่มีอาการในทางเดินอาหารร่วม อย่างเช่น ไข้อาหารเป็นพิษ ไข้ท้องอืดเฟ้อ แก้ไข้เพื่อลม ไข้พิษได้ (ราก)[2],[3],[5],[6]
13. ก้าน ดอก ใบหงอนไก่เทศ จะมีรสชุ่มเป็นยาเย็น จะออกฤทธิ์กับตับ ไต มีสรรพคุณที่ทำให้เลือดเย็น (ก้าน, ใบ,ดอกหงอนไก่เทศ)[8]
14. เมล็ดจะมีรสขม เป็นยาเย็น จะออกฤทธิ์กับตับ สามารถใช้เป็นยาแก้ร้อนในตับ และสามารถช่วยขับลมร้อนในตับได้ (เมล็ด)[4]
15. สามารถใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูงได้ โดยนำเมล็ดหงอนไก่แห้งประมาณ 4.5-9 กรัม มาต้มทานหรือใช้ทำยาเม็ดทาน (เมล็ดแห้ง)[1],[4],[5]
16. รากจะมีรสขมเฝื่อน จะมีสรรพคุณที่เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)[2],[3],[5]
17. ดอกสามารถใช้รวมกับพืชชนิดอื่น ๆ เป็นยาบำรุงกำลังได้ (ดอก)[9]
18. ในตำรายาไทยจะนำรากหงอนไก่เป็นยาแก้โลหิตเป็นพิษ (ราก)[2],[3]
19. สามารถช่วยแก้เลือดลมไม่ปกติได้ (ดอก)[7]
20. สามารถช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ได้ (ราก)[6]
21. สามารถใช้แก้อาการปวดศีรษะได้ โดยนำดอกสดที่มีรสฝาดเฝื่อนประมาณ 30-60 กรัม ถ้าใช้ดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม มาต้มทาน (ดอก)[1],[3],[4]
22. สามารถช่วยแก้ตาฟางในเวลากลางคืนได้ โดยนำเมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม มาต้มทานหรือทำยาเม็ดทาน (เมล็ดแห้ง)[1]
23. สามารถช่วยแก้อาการไอ และไอเป็นเลือดได้ โดยนำดอกหงอนไก่เทศสดประมาณ 30-60 กรัม มาต้มทาน ถ้าใช้ดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม (ดอก)[1],[8]
24. สามารถใช้เป็นยาแก้หืดได้ (ราก)[2],[3],[5]
25. สามารถใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสียได้ โดยนำลำต้นสดมาต้มทาน (ลำต้น)[1]
26. สามารถใช้เป็นยาระบายได้ นำใบสดกับก้านประมาณ 30-60 กรัม มาต้มหรือคั้นเอาน้ำทาน (ก้านและใบ)[1]
27. สามารถช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือดได้ (ดอกหงอนไก่เทศ)[8]
28. สามารถใช้แก้ประจำเดือนมามากผิดปกติ และแก้ประจำเดือนไม่ปกติได้ โดยนำดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าใช้ดอกแห้งให้ใช้ 15-30 กรัม) มาต้มทาน (ดอก)[1],[5]
29. สามารถใช้เป็นยาห้ามเลือด และแก้เลือดไหลไม่หยุดได้ (ก้านและใบ,ดอก,เมล็ดแห้ง)[1],[3],[4],[5],[8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • จากการที่รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงในช่วง 160-220 / 100-135 มม. ปรอท ด้วยการทำการรักษาโดยนำเมล็ดหงอนไก่แห้งประมาณ 30 กรัม มาต้มสกัดเอาน้ำ 2 ครั้ง แบ่งทาน 3 ครั้งต่อวัน ผลการทดลองปรากฏว่า หลังจากที่ได้รับประทานไปแล้ว 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีความดันลดลงอยู่ในช่วง 125-146 / 70-90 มม. ปรอท[1] จากการนำมาทดลองกับสัตว์ ปรากฏว่าเมล็ดหงอนไก่ช่วยลดความดันโลหิตได้[4]
  • พบสาร โพแทสเซียมไนเตรด, กรดไขมัน, Celosiaol, Nicotinic acid, Oxalic acid ในเมล็ด และพบน้ำมันระเหยอีกหลายชนิด[4]
  • น้ำมันระเหยที่ได้จากเมล็ดหงอนไก่ จะมีฤทธิ์ที่สามารถทำให้ม่านตาดำขยายตัว[4]
  • สารสกัดจากเมล็ดและดอก เมื่อนำมาทดลอง ปรากฏว่ามีฤทธิ์ที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อ Trichomonas vaginalis ได้ดี เชื้อชนิดนี้เมื่อเอามาต้มด้วยความร้อนสูงเป็นเวลา 5-10 นาทีก็จะตายไป[1]

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หงอนไก่”. หน้า 794-796.
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หงอนไก่ไทย”. หน้า 65.
3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หงอนไก่ไทย (Ngonkai Thai)”. หน้า 312.
4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หงอนไก่ไทย”. หน้า 570.
5. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หงอนไก่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [06 ก.ค. 2014].
6. หนังสือประมวลสรรพคุณยาไทย. (สมาคม ร.ร.แพทย์แผนโบราณ). “หงอนไก่”.
7. ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “หงอนไก่ เมล็ดกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www. thairath.co.th. [06 ก.ค. 2014].
8. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หงอนไก่เทศ (หงอนไก่ฝรั่ง)”. หน้า 572.
9. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “หงอนไก่ไทย”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [06 ก.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://travaldo.blogspot.com/
2. https://travaldo.blogspot.com/
3. https://medthai.com/