ติ้วขน
ไม้ยืนต้นผลัดใบ ยอดและกิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น ดอกช่อกระจุกสีชมพูอ่อนถึงแดง กลิ่นหอมอ่อนๆ ผลแห้งปลายแหลม ผิวมีคราบสีนวล

ติ้วขน

ติ้วขน มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่าพบได้ในจีนตอนใต้อีกด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นตามป่าผลัดใบและป่าเบญจพรรณ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,000 เมตร ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum formosum subsp. pruniflorum (Kurz) Gogelein[1],[3] วงศ์ติ้ว (HYPERICACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ติ้ว(กาญจนบุรี), แต้ว(จันทบุรี), ติ้วเหลือง(ภาคกลาง), ติ้วยาง ติ้วเลือด(ภาคเหนือ), ติ้วหนาม เป็นต้น[1],[3],[5]

หมายเหตุ
สายพันธุ์นี้ไม่สามารถใช้รับประทานได้ และเป็นพืชคนละชนิดกับต้นติ้วขาว หรือผักติ้ว

ลักษณะของติ้วขน

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ จะมีความสูงอยู่ที่ 8-15 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลม แตกกิ่งก้านโปร่ง มีขนขึ้นอย่างแน่นหนาบริเวณยอดและกิ่งอ่อน เปลือกนอกของลำต้นมีสีน้ำตาลผสมกับดำ ตามแนวยาวแตกเป็นสะเก็ด เปลือกภายในเป็นสีน้ำตาลผสมเหลือง และมียางเหนียวสีเหลียงปนแดงอยู่ด้วย กิ่งของลำต้นขนาดเล็ก และจะถูกเปลี่ยนเป็นหนามแข็ง [1],[3],[5]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเป็นคู่เรียงตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับไปถึงรูปขอบขนาน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ มีขนขึ้นทั้งสองฝั่งของแผ่นใบ โดยหลังใบจะเป็นขนสาก ส่วนท้องใบจะเป็นขนนุ่มอยู่รวมกันอย่างแน่นหนา ใบมีความกว้างอยู่ที่ 3-5 เซนติเมตร ส่วนความยาวจะอยู่ประมาณ 3-13 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีแดงหรือชมพู และใบแก่จะเป็นสีแดงในช่วงก่อนผลัดใบ [1],[3]
  • ดอก เป็นดอกช่อกระจุก ออกบริเวณกิ่งด้านบนของรอยแผลใบ ดอกมีสีชมพูอ่อนถึงแดง ดอกจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยงอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกมีขนสีขาวขึ้นที่บริเวณขอบกลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงจะมีขนขึ้นอยู่บริเวณด้านนอกประปราย มีเกสรเพศผู้มากแบ่งออกมา 3 กลุ่ม ส่วนรังไข่จะมีลักษณะเกลี้ยงเป็นรูปทรงรี[1],[3]
  • ผล เป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นรูปรี ปลายผลแหลม มีความกว้างอยู่ที่ 0.4-0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ผิวผลมีลักษณะแข็ง ตามผิวจะมีคราบสีนวล ๆ อยู่ มีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่เกินครึ่งของผล เมื่อผลแห้ง ผลจะแตกออกเป็นพู 3 พู มีสีน้ำตาล และมีเมล็ดจำนวนมากอยู่ภายใน เมล็ดมีลักษณะเป็นขอบขนาน ดอกจะออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม[1],[3],[5]

ประโยชน์ติ้วขน

  • เนื้อไม้มีคุณสมบัติ ไม่มีกลิ่น มีขี้เถ้าน้อย และให้ความร้อนได้ดี จึงมีการนำมาทำเป็นฟืน[2]
  • สามารถใช้เปลือกต้นมาสกัดเพื่อทำสีย้อมผ้าได้ ซึ่งจะให้เป็นสีน้ำตาลเข้ม[2]
  • นำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำโครงบ้าน รั้ว เสาเข็ม ฯลฯ ได้ เนื่องจากเนื้อไม้มีความทนทานมาก และเนื้อไม้มีน้ำยางอยู่ทำให้ปลวกไม่กิน[2],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • ค่าความเป็นพิษต่อเซลล์ม้ามของสารสกัด คือ IC50 93.31 มก./มล. ซึ่งไม่มีผลต่อการเพิ่มจำนวนเซลล์ภูมิคุ้มกันโดยตรง แต่จะไปทำการลดอัตราการเพิ่มจำนวนของทีเซลล์และบีเซลล์
  • พืชชนิดนี้มีสารในกลุ่มเป็นแทนนิน คาร์ดิแอคไกลโคไซด์ อัลคาลอยด์ และฟลาโวนอยด์ เป็นองค์ประกอบ อีกทั้งยังสามารถช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อไวรัสโรคเริม Herpes simplex virus type 1 ต้านเชื้อแบคทีเรีย V. cholerae และ S. aureus ไม่มีฤทธิ์กลายพันธุ์ในภาวะที่ไม่มีหรือมีเอนไซม์ แต่จะให้ฤทธิ์ต่อต้านการกลายพันธุ์ในภาวะที่มีเอนไซม์ทำงานร่วมอยู่

(ข้อมูลจากการศึกษาสารสกัดจากลำต้นด้วย 50% แอลกอฮอล์)[5]

สรรพคุณติ้วขน

1. ช่วยในการรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ โดยนำเปลือกและใบมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าวทาบริเวณที่เป็น(เปลือกและใบ)[2]
2. ส่วนใบใช้แทนพลาสเตอร์ปิดแผลได้(ใบ)[2]
3. มีการนำรากมาทำเป็นยาเพื่อช่วยในการขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด[1]
4. ช่วยรักษาอาการปวดท้องได้ โดยการนำรากและใบมาต้มกับน้ำกิน(รากและใบ)[2]
5. มีการศึกษาว่าสารสกัดจากกิ่ง มีสารที่จะช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็งในเม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งค่อยๆ สลายตัวจากภายใน และไม่มีผลต่อเซลล์ข้างเคียง (ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา)[4]
6. มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการคันได้(ยาง)[2]
7. มีการใช้น้ำยางจากต้น มาทำเป็นยาในการสมานแผลและช่วยห้ามเลือด[2]
8. ช่วยแก้อาการปวดท้องได้ โดยใช้กิ่งและลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม(กิ่งและลำต้น)[5]
9. สามารถใช้แก้ธาตุพิการได้(เปลือกต้น)[2]

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติ ภาคเหนือ. “ติ้วขน”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้าที่ 117.
2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “ติ้วขาว, ติ้วขน”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [15 ม.ค. 2014].
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. “ติ้วขน”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [15 ม.ค. 2014].
4. ASTV ผู้จัดการออนไลน์. “แสงซินโครตรอนยืนยัน ติ้วขน-สนสามใบ ทำเซลล์มะเร็งทำลายตัวเองได้”. (ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [15 ม.ค. 2014].
5. โครงการจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพรที่สำรวจและวิจัยภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “ติ้วขน หรือ ติ้วหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: home.kku.ac.th/orip2/thaiherbs/. [04 พ.ย. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://inaturalist.ca/
2. https://www.nparks.gov.sg/
3. https://medthai.com/