Home สมุนไพร ต้นโกฐจุฬาลัมพา มีออกฤทธิ์ต้านไข้มาลาเรีย

ต้นโกฐจุฬาลัมพา มีออกฤทธิ์ต้านไข้มาลาเรีย

0
ต้นโกฐจุฬาลัมพา มีออกฤทธิ์ต้านไข้มาลาเรีย
ต้นโกฐจุฬาลัมพา มีออกฤทธิ์ต้านไข้มาลาเรีย เป็นไม้ล้มลุก ใบจะแผ่บนพื้นดินเรียงสลับไม่มีขน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน
โกฐจุฬาลัมพา
เป็นไม้ล้มลุก ใบจะแผ่บนพื้นดินเรียงสลับไม่มีขน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน

โกฐจุฬาลัมพา

โกฐจุฬาลัมพา หรือชิงเฮา เป็นสมุนไพรที่มีแหล่งปลูกแถบตะวันตกเฉียงใต้ และมณฑลไห่หนาน ซื่อชวน หูเป่ย เจียงซู และมหานครฉงชิ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Artemisia annua L. (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Artemisia apiacea Hance) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) ชื่อสามัญ Sweet wormwood, Sweet annie, Sweet sagewort, Annual mugwort, Annual wormwood (Chinese: 青蒿 ) ชื่ออื่นๆ โกฐจุฬา โกฐจุฬาลัมพาจีน แชเฮา ชิงฮาว จีนกลาง เซียงเก่า ชิงเฉา ชิงเฮา

ลักษณะของต้นโกฐจุฬาลัมพา

  • ต้น เป็นไม้ล้มลุกจะมีอายุประมาณ 1-2 ปี เมื่อดอกออกและผลแล้วต้นจะล้มตาย ต้นจะกลมสูงโดยประมาณ 40-150 เซนติเมตร ถ้าโตเต็มที่จะสูงประมาณ 2 เมตร กิ่งก้านแตกสาขามาก ลำต้นจะมีเส้นลายตรง ไม่มีขน เรียบเงามัน จะมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยทั่วทั้งต้น ต้นไม้ชนิดนี้ชอบอากาศอบอุ่น มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน แต่ตอนนี้พบได้หลายประเทศ เช่น ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป ทางประเทศไทยทดลองปลูกทางภาคกลางและภาคเหนือ(ปลูกได้ดีกว่าภาคกลาง) นำเมล็ดสายพันธุ์เวียดนามปลูกที่เชียงใหม่ จะเจอสารสำคัญ (อาติมิซินินลดลงกว่า50%)
  • ใบ แตกจากโคนต้นใบจะแผ่อยู่บนพื้นดิน ใบจะเรียงสลับ ใบอ่อนจะเป็นเสี้ยว ใบแก่จะมีสีเขียวอมเหลือง ไม่มีขน ก้านจะมีใบเล็กน้อย ใบจะประกอบแบบขนนก ออกเป็นสามแฉก หน้าใบจะมีสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบจะมีสีเขียวอ่อน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย จะมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อยทั้งหน้าและด้านใน
  • ดอก จะออกเป็นช่อ ช่อจะออกแถวปลายกิ่ง ดอกจะเล็กเป็นสีเหลืองอ่อน ดอกจะกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ตอนดอกบานกลีบดอกจะเป็นรูปทรงกระบอก มีเกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน
  • ผล มีรูปยาวรีหรือกลมรี หากผลแห้งจะมีขนาดเล็กมาก

สรรพคุณของโกฐจุฬาลัมพา

1. ตามตำราสมุนไพรที่ใช้ตามองค์ความรู้เดิม มีการใช้ในตำรับยารักษาโรคในระบบต่างๆ ในร่างกายมี 4ตำรับ ตำรับยาหอมนวโกฐ ตำรับยาหอมเทพจิตร (สองตำรับนี้สรรพคุณแก้ อาการหน้ามืดตาลายใจสั่น แก้ลมวิงเวียน อาเจียน คลื่นเหียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง) ตำรับยาแก้ไข้ห้าราก และตำรับยาจันทร์ลีลา (สองตำรับนี้แก้ไข้ .ไข้เปลี่ยนฤดู อาการไข้ตัวร้อน)
2. ยังมีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยมีชื่อว่า พิกัดโกฐ โกศจุฬาลัมพา จัดอยู่ใน พิกัดโกฐทั้งห้า (เบญจโกศ) พิกัดโกฐทั้งเจ็ด (สัตตโกฐ) และพิกัดโกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ) จะมีสรรพคุณรวมคือ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้ไข้ แก้หอบ แก้ไอ แก้ลมในกองธาตุ แก้สะอึก ขับลม บำรุงเลือด บำรุงกระดูก เป็นยาชูกำลัง
3. ทั้งต้น มีกลิ่นหอม รสขม เผ็ดเล็กน้อย เป็นยาเย็น จะมีการออกฤทธิ์ต่อตับ ดี ม้าม และกระเพาะใช้เป็นยาลดไข้ ทำให้เลือดเย็น แก้ร้อนใน แก้ร่างกายอ่อนแอ กระสับกระส่าย มีไข้ แก้ไข้จับสั่นมาลาเรีย แก้ไข้วัณโรค ลดเสมหะ แก้หอบ แก้หืด แก้ไอ ใช้ขับเหงื่อ รักษาริดสีดวงทวาร และแก้ดีซ่าน

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. จากข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยาที่ทำการศึกษาในคน เมื่อนำมาใช้ในคน มีรายงานการเกิดอาการข้างเคียงน้อยมาก และเป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง อาการที่พบคือ มีไข้ คลื่นไส้ และอาการที่พบได้เล็กน้อย คือ เม็ดเลือดแดงลดลง มีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) คือ หัวใจเต้นช้าลง

2. มีสารประกอบมากถึง 79 ชนิด โดยมี Arteamisinin ที่มีชื่อเรียกในภาษาจีน คือ Qinghaosu และสาร Abrotanine ทั้งต้นมีน้ำมันระเหยประมาณ 0.3-0.5% (Cineole หรือ Eucalyptol), Artemisia ketone, C10H16O), (1-B-artemisia alcohol acetate, C10H160CO.CH3), (1-camphor), (Cuminal), (Carypohyllene), (C15H240), (Cadinene, C15H24), (Scodolin, C16H18O9), (Scopoletin, C10H8O4) เป็นต้น

3. มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ป้องกันการเกิดแผลที่กระเพาะอาหาร ปกป้อง DNA ต้านเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพหลายชนิด ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ มีฤทธิ์กดภูมิต้านทาน

4. จากการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา Dihydroartemisinin ทางคลินิกในผู้ป่วยติดเชื้อมาลาเรียชนิดดื้อยา โดยทดสอบตัวยา 3 สูตร ในผู้ป่วยกลุ่มละ 60 คน ได้แก่ 1. ยา Dihydroartemisinin ที่สังเคราะห์และพัฒนายาเองทุกขั้นตอนโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม, 2. ยา Dihydroartemisinin ที่นำเข้าวัตถุดิบมาจากประเทศเวียดนามและใช้สูตรยาขององค์การเภสัชกรรม และ 3. ยา Dihydroartemisinin สำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นในประเทศจีน ทำการทดลองให้ยาแก่ผู้ป่วยในขนาด 600 มิลลิกรัม แบ่งรับประทาน 5 วัน ผลการรักษาพบว่าผู้ป่วยทุกรายไม่มีเชื้อในเลือดภายใน 3 วัน หลังจากเริ่มการรักษาและไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอัตราการหายจากโรคคิดเป็น 92%, 85% และ 80% ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า Dihydroartemisinin ออกฤทธิ์เร็ว ซึ่งมีข้อดีคือ จะทำให้เชื้อดื้อต่อยาได้ยากขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้ใช้เป็นยาต้านมาลาเรียเฉพาะกับผู้ป่วยมาลาเรียชนิดที่ใช้ยาต้านมาลาเรียอื่นไม่ได้ผลเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสการดื้อยาของเชื้ออันเนื่องมาจากการใช้ยาผิดวิธีนั่นเอง

5. การสังเคราะห์ทางเคมี การสังเคราะห์สาร Artemisinin และสารอนุพันธ์ด้วยวิธีดังกล่าวต้องผ่านหลายขั้นตอน ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่คุ้มทุน จึงนิยมสังเคราะห์โดยใช้ Artemisinin ที่แยกได้จากพืชเป็นตัวตั้งต้นปฏิกิริยา สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรมได้ทำการสกัดโดยวิธี Solvent extraction และทำให้สารบริสุทธิ์โดย Preparative MPLC แล้วสังเคราะห์อนุพันธ์ของ Artemisinin ที่แยกได้โดยใช้เครื่องทำปฏิกิริยาเคมีขนาด 20 ลิตร และสามารถสังเคราะห์อนุพันธ์ได้ 3 ชนิด คือ Artemether, Artesunate และ Dihydroartemisinin โดยพบว่าอนุพันธ์ Dihydroartemisinin นั้นมีขั้นตอนการสังเคราะห์ที่สั้นกว่าอนุพันธ์อื่นและมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อมาลาเรียได้ดีกว่า Artemisinin จึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรียชนิดดื้อยาได้ จากนั้นได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาสูตรยา Dihydroartemisinin ตลอดจนพัฒนาวิธีการควบคุมคุณภาพจนได้เป็นยาเม็ด Dihydroartemisinin ชนิดฟิล์มเคลือบขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม และยา Dihydroartemisinin ชนิดแคปซูลขนาด 100 มิลลิกรัม

6. เมื่อให้ Artemisinin แก่หนูทดลองทางปาก ยาจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วและมีความเข้มข้นในเลือดสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนยาที่เหลือจะถูกกำจัดที่ตับโดยเปลี่ยนเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ ส่วนอนุพันธ์ของ Artemisinin คือ Artemether และ Artesunate จะถูกเปลี่ยนเป็น Dihydroartemisinin ซึ่งเป็นตัวที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย เนื่องจากยากลุ่มนี้มีค่าครึ่งชีวิตสั้น (ประมาณ 4 ชั่วโมงในกระแสเลือด) และการออกฤทธิ์เร็วของยาจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นภายใน 3-4 วัน แต่ต้องใช้ยากลุ่ม Artemisinin ในการรักษานานประมาณ 5-7 วัน เมื่อเทียบกับเมโฟรควินซึ่งมีค่าครึ่งชีวิตนานถึง 6-22 วัน ทำให้ยาออกฤทธิ์ช้าและเกิดอาการดื้อยาได้ง่าย

7. เมื่อเอาความเข้มข้น 1 ต่อ 3 ของน้ำแช่ต้นมาทดลองกับเชื้อราของโรคผิวหนังในหลอดทดลอง พบว่า ความเข้มข้น 7.8 มิลลิกรัมต่อซีซี สามารถยับยั้งเชื้อราได้ดี

8. การนำมาใช้รักษามาลาเรีย เนื่องจากสาร Artemesinin เป็นสารที่ละลายยากทั้งในน้ำและในน้ำมัน ปัจจุบันจึงมีการแยกสังเคราะห์แบ่งแยกสารอนุพันธ์ของ Artemesinin แยกออก ได้แก่ Artemether กับ Artesunate เป็นสองชนิด[1] โดย Artemether จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียได้ดีกว่า Artemesinin ประมาณ 2-3 เท่า ละลายในน้ำมันได้ดี จึงสามารถนำไปเตรียมเป็นยาฉีดเข้ากล้ามได้ ส่วน Artesunate จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียได้ดีกว่า Artemesinin ประมาณ 2-3 เท่าเช่นกัน แต่จะละลายในน้ำได้ดี จึงสามารถนำไปเตรียมเป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำได้ และส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า

9. Artemisinin และสารอนุพันธ์ จะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายเป็นสาร Active metabolite คือ Dihydroartemisinin ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียได้ดีกว่า Artemisinin 2 เท่า โดยออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียในระยะที่เป็น Blood schizont สารกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อ Plasmodium ทุก species ทั้งที่ดื้อและไม่ดื้อต่อยาคลอโรควิน ในปัจจุบันสารกลุ่มนี้ได้มีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง ทั้งในสัตว์ทดลองและการทดลองทางคลินิกทั้ง 4 ระยะ จนได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ให้ใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรียที่เกิดจากเชื้อ Plasmodium falciparum ที่ดื้อต่อยาคลอโรควิน ซึ่งพบมากในประเทศไทย

10. กลไกการออกฤทธิ์ต้านมาลาเรีย สาร Artemisinin นั้นจัดอยู่ในกลุ่ม Sesquiterpene Lactone ชนิดที่มี Endoperoxide bridge อยู่ภายใน ring ซึ่งไม่ค่อยพบได้ในธรรมชาติ โดยเชื่อว่ากลุ่ม Endo-peroxide (C-O-O-C) นี้เป็นส่วนสำคัญในการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรีย เนื่องจากอนุพันธ์ของ Artemisinin ที่ไม่มีกลุ่ม Endoperoxide จะไม่มีฤทธิ์เลย คาดว่ากลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้อาศัยกระบวนการสร้างอนุมูลอิสระ คือ เชื้อมาลาเรียจะทำลายเม็ดเลือดแดงในผู้ป่วย โดยเปลี่ยน Haemoglobin (Fe3+) ให้เป็น Haem (Fe2+) ซึ่ง (Fe2+) ที่เกิดขึ้นจะไปเร่งปฏิกิริยาเปลี่ยน Endoperoxide ให้เป็นอนุมูลอิสระ และอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้จะไปจับกับโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย ทำให้เชื้อถูกทำลาย ซึ่งกลไกดังกล่าวจะต่างไปจากยาต้านมาลาเรียที่ใช้อยู่เดิม เช่น ยาในกลุ่มควินิน ซึ่งจะออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสังเคราะห์ DNA และ RNA จึงทำให้ยาชนิดนี้ใช้ได้ผลดีกับเชื้อมาลาเรียชนิดดื้อยา

ประโยชน์ของโกฐจุฬาลัมพา

1. ทั้งต้นทำเป็นยาฆ่ายุงได้ด้วยวิธีคั้นน้ำ
2. ปัจจุบันสาร Artemisinin และอนุพันธ์ ที่อยู่ในต้น นำมาศึกษากันอย่างมาก และได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยา และหลายประเทศรวมทั้งไทย ใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรียเกิดจากเชื้อ Plasmodium falciparum ดื้อต่อยาคลอโรควิน ซึ่งพบ ในประเทศไทยมาก ผลิตแบบเม็ดและยาฉีด

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐจุฬา”. หน้า 204.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชิงเฮา Qinghao”. หน้า 56.
3. องค์การเภสัชกรรม. (ดร.ประภัสสร สุรวัฒนาวรรณ). “ชิงเฮา…สมุนไพรต้านมาลาเรีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.gpo.or.th. [05 ม.ค. 2015]. 4 4 ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐจุฬาลัมพา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [05 ม.ค. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://efloraofindia.com/