กล้วยหมูสัง
กล้วยหมูสัง บุปผาสีแดงสดกับกลิ่นหอมหวนยามพลบค่ำ ผลลักษณะคล้ายหวีกล้วย ผลแก่รสหวานอมเปรี้ยว

กล้วยหมูสัง

กล้วยหมูสัง ในชื่อทางวิทยาศาสตร์ Uvaria grandiflora Roxb. Ex Hornem. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกล้วยหมูสัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กล้วยหมูสัง (ภาคใต้), กล้วยมดสัง กล้วยมุดสัง ย่านนมควาย (ตรัง), กล้วยมูซัง (สงขลา) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกล้วยหมูสัง

  • ต้นกล้วยหมูสัง จัดเป็นพืชที่หายากชนิดหนึ่ง เป็นพรรณไม้เถาที่มีเนื้อที่แข็งและมีขนาดใหญ่ แยกออกจากโคนต้นได้หลายเถา สามารถเลื้อยพาดผ่านตามพุ่มไม้ไปได้ไกลถึง 30 เมตรเลยทีเดียว เนื้อไม้เหนียวแข็ง ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นอย่างหนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีปักชำกิ่ง ชอบดินร่วน ต้องการน้ำปานกลาง และชอบที่ที่มีแสงแดดทั้งวัน มีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศพม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยนั้นจะพบกระจายพันธุ์ทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักจะขึ้นตามชายป่าดิบชื้น ป่าโปร่งที่ชุ่มชื้น ป่าละเมาะที่ชุ่มชื้น บริเวณที่โล่งติดริมลำธาร ในพื้นที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 700 เมตร[1],[2],[3]
  • ใบกล้วยหมูสัง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะรูปใบเป็นรูปรีแกมรูปไข่กลับ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน มีปลายใบที่แหลม โคนใบมีส่วนเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบนั้นเรียบ แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน โดยแผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมันและมีขนขึ้นประปรายตามเส้นตรงกลางใบกับเส้นแขนงใบ ส่วนด้านล่างใบมีสีเขียวนวลมีขนที่สั้นนุ่มขึ้นทั่วไป ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร และก้านใบยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร[1],[2]
  • ดอกกล้วยหมูสัง เป็นดอกเดี่ยว มีสีแดงสด และจะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในช่วงพลบค่ำและกลางคืน โดยดอกนั้นจะออกที่ปลายกิ่งจรดไปตามกิ่ง ออกตรงข้ามหรือเยื้องกับใบกันเล็กน้อย กลีบดอกมีทั้งหมด 6 กลีบ เรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกจะค่อนข้างหนา กลีบดอกนั้นมีสีแดงสดหรือสีแดงเลือดนก ส่วนโคนกลีบดอกนั้นเป็นสีเหลืองอ่อน ลักษณะกลีบดอกมีลักษณะรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายมน ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกนั้นมี 3 กลีบ กลีบเลี้ยงจะค่อนข้างบอบบาง มีสีเขียวอมเหลือง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวด้านนอกมีขนสั้นขึ้นประปราย ส่วนผิวด้านในเกลี้ยง มีน้ำหวานจำนวนมากรอบฐานดอก ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นจำนวนมาก อยู่ชิดติดกันแน่นเป็นพุ่มกลม รังไข่ยาวได้ประมาณ 7 มิลลิเมตร มีขนสั้น และยอดเกสรเพศเมียจะแผ่ออกคล้ายรูปแตร มีเมือกเหนียวสีเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีที่เข้มขึ้น ตอนเมื่อดอกบานเต็มที่นั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-11 เซนติเมตร[1],[2]
  • ผลกล้วยหมูสัง ออกผลเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มจะมีผลย่อยอยู่อีกจำนวนมาก อยู่ที่ประมาณ 6-15 ผล อยู่บนแกนตุ้มกลม ก้านช่อของผลยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ลักษณะของผลย่อยมีลักษณะรูปทรงกระบอกสั้น ๆ ยาวได้ประมาณ 3-6 เซนติเมตร ปลายผลนั้นมน ส่วนก้านผลย่อยยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร บางตอนของผลจะคอดมีส่วนเว้าเล็กน้อย ตามผิวผลนั้นมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นกระจายและมีขนขึ้นประปราย ผลตอนอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลตอนสุกมีสีเหลืองอมส้ม มีรสชาติหวานเปรี้ยวนำมารับประทานได้ ภายในผลนั้นมีเมล็ดอยู่มาก[1],[2] ออกดอกและผลในช่วงดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน และพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[3]

สรรพคุณของกล้วยหมูสัง

1. ใบกับรากนั้น นำเอามาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำบัดอาการปวดท้องได้ (ใบและราก)[1],[2]
2. ชาวมลายูจะนำใบกล้วยหมูสัง เอามาต้มกับข้าวรับประทานเป็นยาบรรเทาอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ (ใบ)[1],[2]

ประโยชน์ของกล้วยหมูสัง

1. ผลเมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นที่หอมและมีรสชาติที่หวานเปรี้ยว นำมารับประทานได้[1],[2]
2. กล้วยหมูสังเป็นพรรณไม้ที่มีดอกสีแดงสดสวยงามมาก จนมีการนำมาพัฒนาเป็นไม้เลื้อยประดับ โดยจะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในช่วงพลบค่ำและในช่วงกลางคืน[4]
3. เถาเอามาใช้ประโยชน์แทนหวายได้[2]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “กล้วยหมูสัง”. หน้า 90.
2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ย่านนมควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [23 มิ.ย. 2015].
3. พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ย่านนมควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th. [23 มิ.ย. 2015].
4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “กล้วยหมูสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [23 มิ.ย. 2015].
รูปจาก : nparks