โครเมียมทำหน้าที่อะไรในร่างกาย (Chromium)
โครเมี่ยมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายเพื่อการเจริญเติบโต ซึ่งมีส่วนสำคัญในขบวนการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส คาร์โบไฮเดรต และไขมัน

โครเมียม ( Chromium )

โครเมียม ( Chromium ) คือ ส่วนประกอบสำคัญของสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า GTF โดยสารชนิดนี้จะมี ไนอะซิน โครเมียมและกรดอะมิโนบางอย่างเป็นส่วนประกอบอยู่ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการกระตุ้นให้ร่างกายสามารถนำกลูโคสมาใช้ได้และสามารถควบ คุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ไม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย นอกจากนี้ก็พบว่าร่างกายของคนเราจะมีโครเมียมอยู่น้อยกว่า 6 มิลลิกรัม แต่จะค่อยๆลดลงเมื่ออายุมากขึ้นนั่นเอง

หน้าที่ของโครเมียม (Chromium)

1. โครเมียมช่วยกระตุ้นให้น้ำย่อยที่เกี่ยวกับการเผาผลาญกลูโคสให้เป็นพลังงานและสังเคราะห์กรดไขมันและคอเลสเตอรอล ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2. โครเมียมช่วยให้อินซูลินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป ซึ่งพบว่าหากร่างกายขาดโครเมียม ก็จะทำให้มีปัญหาน้ำตาลในเลือดสูงหรือมีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงได้ และด้วยเหตุนี้เองแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นเบาหวาน ทานโครเมียมในรูปของแคปซูลเสริมเข้าไปนั่นเอง

3. โครเมียมทำงานร่วมกับ RNA เพื่อการสังเคราะห์โปรตีนอย่างมีประสิทธิภาพ

4. โครเมียมทำหน้าที่ในการป้องกันพิษที่เกิดจากตะกั่ว

การดูดซึมโครเมียม ( Chromium )

ร่างกายของคนเราสามารถดูดซึมโครเมียมจากอาหารได้ที่ร้อยละ 0.5 และจะขับออกมาทางปัสสาวะมากถึง 5-10 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนที่ถูกขับออกทางอุจจาระก็จะมีน้อยมาก

แหล่งเก็บโครเมียม ( Chromium )

โดยปกติแล้วโครเมียมจะถูกเก็บไว้ที่ไต ม้ามและอัณฑะ เป็นส่วนใหญ่ และจะถูกเก็บไว้ที่ตับอ่อน สมอง ปอดและ หัวใจในปริมาณที่น้อยมาก นอกจากนี้ปริมาณของโครเมียมก็จะลดลงไปตามอายุอีกด้วย

แหล่งที่พบโครเมียม
โครเมียมมักจะพบได้มากที่สุดในไข่แดง เครื่องในสัตว์ เนยแข็ง ยีสต์ เนื้อสัตว์และธัญพืชที่ไม่ได้ขัดสี ส่วนในผักผลไม้จะพบในปริมาณที่น้อยมาก

ปริมาณโครเมียมอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทยวัยต่าง ๆ

เพศ อายุ ปริมาณ หน่วย
ทารก 6-11 เดือน 5.5 ไมโครกรัม/วัน
เด็ก 1-3 ปี 11 ไมโครกรัม/วัน
เด็ก 4-8 ปี 15 ไมโครกรัม/วัน
วัยรุ่นผู้ชาย 9-12 ปี 25 ไมโครกรัม/วัน
วัยรุ่นผู้ชาย 13-18 ปี 35 ไมโครกรัม/วัน
วัยรุ่นผู้หญิง  9-12 ปี 21 ไมโครกรัม/วัน
วัยรุ่นผู้หญิง 13-18 ปี 24 ไมโครกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ผู้ชาย 19-50 ปี 35 ไมโครกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ผู้ชาย 51 – ≥ 71 ปี 30 ไมโครกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ผู้หญิง 19-50 ปี 25 ไมโครกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ผู้หญิง 51 – ≥ 71 ปี 20 ไมโครกรัม/วัน
หญิงตั้งครรภ์ ควรเพิ่มอีก 5 ไมโครกรัม/วัน
หญิงให้นมบุตร ควรเพิ่มอีก 20 ไมโครกรัม/วัน

ผลจากการขาดโครเมียม ( Chromium )

เมื่อร่างกายได้รับโครเมียมน้อยกว่าปกติ จะทำให้ไกลโคเจนที่สะสมไว้ในร่างกายลดลงไปอย่างรวดเร็ว และทำให้การเผาผลาญกรดอะมิโนมีความผิดปกติอีกด้วย นอกจากนี้ก็จะไปเพิ่มระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดและทำให้ผนังเส้นเลือดเป็นแผลได้เหมือนกันและนอกจากนี้การขาดโครเมียมก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้ เพราะจะทำให้อินซูลินทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างน่าตกใจและยังลดอัตราการเจริญเติบโตลงอีกด้วย

การเป็นพิษของโครเมียม ( Chromium )

โครเมียม แม้ว่าจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็เป็นอันตรายไม่ น้อยเหมือนกัน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็งนั่นเอง โดยทางสำนักงานมาตรฐานอาหารของอังกฤษ ก็ได้ออกมาเตือนว่าไม่ควรทานเกินวันละ 10 มิลลิกรัมเด็ดขาด

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Brandes, E. A.; Greenaway, H. T.; Stone, H. E. N. (1956). “Ductility in Chromium”. Nature. 178 (587): 587.

Weast, Robert (1984). CRC, Handbook of Chemistry and Physics. Boca Raton, Florida: Chemical Rubber Company Publishing. pp. E110. ISBN 0-8493-0464-4.