ซิลิเนียม (Selenium) สารอาหารเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง
อาหารจะพบซีลีเนียมได้มากเป็นอาหารทะเล ตับ ไต เนื้อสัตว์ ปลาทูน่า จมูกข้าวสาลี รำข้าว หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ บรอกโคลี ข้าวกล้อง

ซีลีเนียม ( Selenium )

ซีลีเนียม ( Selenium ) คือ แร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบในร่างกายน้อยมาก ซึ่งเป็นส่วนที่ร่างกายสามารถสกัดได้เองจากยีสต์ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

หน้าที่สำคัญของซีลีเนียม

1. ซีลีเนียมทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของน้ำย่อยชนิดหนึ่ง ชื่อว่าน้ำย่อยกลูทาไทโอนเปอร์ออกซิเดส Glutathione Peroxidade โดยจะช่วยกระตุ้นการกำจัดไฮโดรเปอร์ออกไซด์และออแกนิคเปอร์ออกไซด์ให้หมดไป รวมถึงป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อถูกทำลายอีกด้วย ซึ่งจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับวิตามินอีด้วยนั่นเอง และนอกจากนี้จากการศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ ก็พบว่าซีลีเนียมสามารถต้านการเกิดมะเร็งได้เหมือนกัน โดยเฉพาะ มะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะพบว่าเมื่อซีลีเนียมในร่างกายต่ำ ก็จะมีโอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากสูงขึ้น

2. ซีลีเนียมช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและการติดลูก ทำให้ร่างกายมีการเติบโตอย่างสมวัย

3. ซีลีเนียมช่วยให้เนื้อเยื่อสามารถหายใจได้ดีและรับส่งอีเล็กตรอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

4. ซีลีเนียมทำหน้าที่ในการประสานการทำงานของเอนไซม์ระหว่าง วิตามินดี วิตามินซี และ วิตามินเอ

การดูดซึมและการเก็บซีลีเนียม ( Selenium )

ซีลีเนียม สามารถถูกดูดซึมได้ดีที่ลำไส้เล็ก แต่ก็ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของซีลีเนียมและกำมะถันด้วย ว่ามีความสมดุลกันมากแค่ไหน ส่วนการเก็บซีลีเนียมไว้ในร่างกาย จะเก็บไว้ที่ตับและไตมากที่สุด โดยคิดเป็น 4-5 เท่าของซีลีเนียมที่ พบอยู่ในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่นๆ และจะมีบางส่วนที่ถูกขับออกมาทางปัสสาวะ โดยหากพบว่ามีซีลีเนียมถูกขับออกมาทางอุจจาระด้วย นั่นแสดงว่าอาจมีความผิดปกติหรือมีการดูดซึมที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง

แหล่งอาหารที่พบซีลีเนียม ( Selenium )

สำหรับแหล่งอาหารที่พบซีลีเนียมส่วนใหญ่จะพบได้มากในอาหารทะเล ตับ ไต และเนื้อสัตว์ และพบได้น้อยมากในพืช โดยซีลีเนียมที่พบในพืชนั้นก็จะขึ้นอยู่กับซีลีเนียมที่มีอยู่ในดินที่ปลูกด้วยนั่นเอง โดยพืชที่มีซีลีเนียมได้แก่ ต้นหอม มะเขือเทศ ถั่ว จมูกข้าว หน่อไม้ กระเทียม เมล็ดพืช หอมแดงและหอมใหญ่ เป็นต้น

ปริมาณซีลีเนียมอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทยวัยต่าง ๆ 

เพศ อายุ ปริมาณที่ควรได้รับ หน่วย
เด็ก 1-3 ปี 20 ไมโครกรัม/วัน
เด็ก 4-8 ปี 30 ไมโครกรัม/วัน
วัยรุ่น 9-12 ปี 40 ไมโครกรัม/วัน
วัยรุ่น 13-18 ปี 55 ไมโครกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ 19-≥ 71 ปี 55 ไมโครกรัม/วัน
หญิงตั้งครรภ์ ควรเพิ่มอีก 5 ไมโครกรัม/วัน
หญิงให้นมบุตร ควรเพิ่มอีก 15 ไมโครกรัม/วัน

การขาดซีลีเนียม ( Selenium )

พบว่าเมื่อร่างกายขาดซีลีเนียมหรือได้รับน้อยเกินไป จะทำให้แก่ก่อนกำหนดได้ สังเกตได้จากริ้วรอยก่อนวัยและผิวที่เหี่ยวย่นลง นั่นก็เพราะซีลีเนียมจะทำหน้าที่ในการรักษาความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ หากมีซีลีเนียมน้อย จึงส่งผลดังกล่าวนั่นเอง นอกจากนี้ยังพบว่าในเด็กที่มีซีลีเนียมน้อยก็มักจะมีปัญหาฟันผุต้องถอนและอุดบ่อยมากอีกด้วย อย่างไรก็ตามยังไม่มีทฤษฎีที่สามารถอธิบายได้

การเป็นพิษของซีลีเนียม ( Selenium )

การได้รับซีลีเนียมเข้าสู่ร่างกายมาเกินไป คือ 5-10 ส่วนต่อล้าน จะทำให้ซีลีเนียมเข้าไปแทนที่กำมะถันที่อยู่ในอณูของซีนทีน เมไทโอนีนและซีสเทอีน เป็นผลให้ร่างกายไม่สามารถนำกรดอะมิโนเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งก็ส่งผลเสียต่อระบบต่างๆ ในร่างกายไม่น้อยเลยทีเดียว และที่สังเกตได้ชัดที่สุด ก็คือ อาการเล็บฉีก ผมแห้งขาดความชุ่มชื่น และผมแตกปลายนั่นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Ruyle, George. “Poisonous Plants on Arizona Rangelands” (PDF). The University of Arizona. Retrieved 2009-01-05.

House, James E. (2008). Inorganic chemistry. Academic Press. p. 524. ISBN 0-12-356786-6.

Magnetic susceptibility of the elements and inorganic compounds, in Lide, D. R., ed. (2005). CRC Handbook of Chemistry and Physics (86th ed.). Boca Raton (FL): CRC Press. ISBN 0-8493-0486-5.

Weast, Robert (1984). CRC, Handbook of Chemistry and Physics. Boca Raton, Florida: Chemical Rubber Company Publishing. pp. E110. ISBN 0-8493-0464-4.