ผักแขยง

ผักแขยง

ผักแขยง สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ทั้งต้นและใบเมื่อนำมาหักจะมีกลิ่นหอมและรสเผ็ดร้อน เป็นต้นที่มี 2 ชนิด แต่ละชนิดอยู่กันคนละวงศ์พืชอีกด้วย ทว่าทั้ง 2 ชนิดก็มีสรรพคุณและสามารถนำมารับประทานได้ทั้งคู่ ภายในต้นผักแขยงจะมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีกลิ่นคล้ายกับน้ำมันสน เป็นผักพื้นบ้านในกลุ่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ถือเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี แต่ก็มีโทษเช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักแขยงชนิดที่ 1

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnophila aromatica (Lam.) Merr.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักพา” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “จุ้ยหู่โย้ง” จีนกลางเรียกว่า “สุ่ยฝูโหยง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ผักกะแยง แขยง คะแยง ผักกะออม มะออม ผักลืมผัว ควันเข้าตา อีผวยผาย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักแขยงชนิดที่ 2

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnophila geoffrayi Bonati
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักพา” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “กะแยง กะออม” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “กะแยงแดง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มณเฑียรทอง (SCROPHULARIACEAE)

ลักษณะของผักแขยง

ลักษณะของผักแขยงชนิดที่ 1

ผักแขยงชนิดที่ 1 เป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนฤดูเดียวหรือหลายฤดู เป็นวัชพืชในนาข้าว มักจะขึ้นตามริมคูหรือคันนา อ่างเก็บน้ำ บริเวณที่มีน้ำขังเล็กน้อย และพื้นที่ชุ่มชื้น
ลำต้น : ลำต้นกลม กลวงและเป็นข้อ อาจแตกกิ่งมากหรือไม่แตกกิ่งเลย ลำต้นทอดเลื้อย ผิวเกลี้ยงหรือมีต่อม แตกรากจากข้อ ทั้งต้นและใบเมื่อนำมาหักจะมีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ตามข้อทุกข้อตลอดลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบห่อติดกับลำต้น ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเป็นสีเขียว เส้นใบเป็นแบบขนนก ไม่มีก้านใบ
ดอก : ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ จะออกเป็นช่อกระจะตรงส่วนยอดของต้น ลักษณะของดอกเป็นรูปกรวย ปลายบานออกเล็กน้อย แยกออกเป็น 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีแดง สีม่วง สีขาว หรือสีชมพูอ่อน ก้านชูเกสรเพศผู้ส่วนปลายพองออก ก้านชูเกสรเพศเมียสั้นแยกเป็น 2 แฉก
ผล : ออกผลเป็นฝักยาววงรี เมื่อแก่จะแตกออก

ลักษณะของผักแขยงชนิดที่ 2

ผักแขยงชนิดที่ 2 เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียว มักจะขึ้นตามริมคูหรือคันนา อ่างเก็บน้ำ บริเวณที่มีน้ำขังเล็กน้อย และพื้นที่ชุ่มชื้นที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก
ลำต้น : ลำต้นเรียวยาว กลมกลวง อวบน้ำ และมีขนหนาแน่น ลำต้นตั้งตรงและเป็นข้อ ทั้งต้นและใบเมื่อนำมาหักจะมีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ตามข้อทุกข้อตลอดลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมวงรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบห่อติดกับลำต้น ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเป็นสีเขียว ไม่มีก้านใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะตรงซอกใบและส่วนยอดของต้น มีดอกย่อยประมาณ 2 – 10 ดอก จะออกพร้อมกันทั้งต้น ลักษณะของดอกเป็นรูปหลอดขนาดเล็กคล้ายถ้วย หรือรูปกรวย ตรงปลายบานออกเล็กน้อย แยกออกเป็น 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วง ผิวด้านนอกเรียบ ส่วนด้านในตอนล่างของกลีบดอกมีขน
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย เมื่อแก่จะแตกออก
เมล็ด : เมล็ดมีลักษณะรูปร่างกลมวงรี เป็นสีน้ำตาลดำ และมีขนาดเล็กมาก

สรรพคุณของผักแขยง

  • สรรพคุณจากผักแขยง ต้านอนุมูลอิสระสูง ต้านมะเร็ง ต้านการเจริญของเชื้อโรค
  • สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดอาการเบื่ออาหาร ป้องกันเส้นเลือดตีบตันและไข้ร้อนใน เป็นยาขับลมและเป็นยาระบายท้อง เป็นยาระบายอ่อน ๆ พอกแก้อาการบวม ช่วยแก้น้ำนมแม่ที่มีรสเปรี้ยว
    – เป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ ด้วยการนำทั้งต้นสดประมาณ 15 – 30 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
    – แก้ไข้หัวลม โดยตำรายาพื้นบ้านภาคอื่นนำทั้งต้นและรากในปริมาณตามต้องการมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำกิน
    – แก้อาการคัน แก้กลากและฝี ด้วยการนำทั้งต้นสดมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่มีอาการ หรือนำมาคั้นเอาน้ำทา หรือนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น
    – แก้พิษเบื่อเมา ด้วยการนำทั้งต้นแห้งที่เก็บไว้นาน 1 ปี มาต้มกับน้ำดื่ม
    – ช่วยขับน้ำนมของสตรี โดยตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานนำทั้งต้นมาใช้หลังจากการคลอดบุตร
  • สรรพคุณจากต้น
    – เป็นยาแก้พิษงูที่ไม่มีพิษร้ายแรง ด้วยการนำต้นสดประมาณ 15 กรัม มาตำให้ละเอียดผสมกับต้นฟ้าทะลายโจรสด ประมาณ 30 กรัม แล้วนำไปผสมกับน้ำส้มในปริมาณพอควร คั้นเอาน้ำดื่ม ส่วนกากที่เหลือให้เอามาพอกรอบบาดแผล แต่อย่าพอกบนบาดแผล

ประโยชน์ของผักแขยง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ทั้งต้น ยอดอ่อน และใบอ่อน สามารถทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ก้อย แจ่ว น้ำพริก ส้มตำ ซุบหน่อไม้ หรือนำไปเป็นเครื่องปรุงรสและแต่งกลิ่นช่วยดับกลิ่นคาวสำหรับต้มส้ม แกงหน่อไม้ แกงอ่อมได้
2. ช่วยดับกลิ่น ช่วยดับกลิ่นตัวและกลิ่นเต่าด้วยการทานสด
3. ใช้ในด้านเศรษฐกิจ ผักแขยงแห้งเป็นสินค้าสำหรับการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
4. ใช้ในด้านอุตสาหกรรม เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ สารสกัดด้วยไอน้ำช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มักพบปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารและนม รวมถึงเนื้อสัตว์และไข่ไก่ ซึ่งทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ
5. ใช้ในด้านการเกษตร เป็นยาฆ่าแมลงในกลุ่มที่ทำลายผลไม้
6. เป็นความเชื่อ ผู้ที่รับประทานผักแขยงสดก่อนนอน ผีพ่อม่ายหรือผีแม่ม่ายจะไม่กล้ามาเอาไปเป็นผัวเมีย

คุณค่าทางโภชนาการของผักแขยงต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของผักแขยงต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 26 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณที่ได้รับ
น้ำ 92%
โปรตีน 1.2 กรัม
ไขมัน 0.5 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 4.2 กรัม 
ใยอาหาร 1.2 กรัม เถ้า
0.9 กรัม วิตามินเอ 3,833 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.85 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.12 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.44 มิลลิกรัม 
วิตามินซี 10 มิลลิกรัม
แคลเซียม 10 มิลลิกรัม 
ธาตุเหล็ก 2.7 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 3.3 กรัม

ข้อควรระวังในการใช้ผักแขยง

1. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน
2. ผักแขยงมีสารแคลเซียมออกซาเลต (oxalate) ในปริมาณสูง เพราะมีส่วนทำให้เกิดนิ่วในอวัยวะต่าง ๆ แต่สามารถนำมาทำให้ดองเปรี้ยวได้ เพราะสารที่ให้รสเปรี้ยวนี้จะสามารถทำให้ออกซาเลตละลาย
3. ไม่ควรทานในปริมาณมากจนเกินควร และไม่ทานบ่อยจนเกินไป

ผักแขยง เป็นผักที่นำมาใช้กันมาตั้งแต่อดีต เป็นผักที่อยู่ในผักพื้นบ้านทั่วไป มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและเป็นยาสมุนไพร ทว่าก็เป็นผักที่มีโทษเช่นกัน ผักแขยงมีสรรพคุณทางยาจากส่วนของทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ต้านมะเร็ง ต้านการเจริญของเชื้อโรค ป้องกันเส้นเลือดตีบตันและแก้ไข้ได้ ถือเป็นผักที่ค่อนข้างนิยมในทางภาคอีสานมากกว่าที่อื่น

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักแขยง”. หน้า 470-471.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักแขยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [23 ส.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักแขยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [23 ส.ค. 2014].
มูลนิธิสุขภาพไทย. “ผักแขยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaihof.org. [23 ส.ค. 2014].
ไทยโพสต์. “หอมผักแขยง ผักกลางนารสร้อนแรง ต้านมะเร็ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net. [20 ส.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com
http://www.epharmacognosy.com/2022/11/limnophila-aromatica.html