ตะขบไทย
เป็นไม้ยืนต้น ใบเดี่ยวกลมคล้ายกับใบพุทรา ผลกลมมีเนื้อสีขาวขนาดเท่าลูกพุทรา ผลสุกสีแดงหรือสีม่วง ผลแก่สีดำ มีรสหวานฝาดเล็กน้อย

ตะขบไทย

ตะขบบ้าน มีชื่อสามัญ คือ Coffee plum, Indian cherry, Indian plum, East Indian plum, Rukam, Runeala plum[2] และชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Flacourtia jangomas (Lour.) Raeusch. (ทั้งยังมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Flacourtia cataphracta Roxb. ex Willd.)[1] และปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์สนุ่น (SALICACEAE)
นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ อีก ว่า ครบ (ปัตตานี), มะเกว๋นควาย (ภาคเหนือ), ตะขบควาย (ภาคกลาง), กือคุ (มลายู ปัตตานี) เป็นต้น[1]

ลักษณะของตะขบไทย

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น เรือนยอดเป็นรูปไข่ทึบ ตรงโคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นมีสีน้ำตาลอ่อน เป็นแผ่นบาง ๆ จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบได้ตามป่าราบ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง และตามป่าผลัดใบ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลอยู่ที่ประมาณ 300-800 เมตร[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มีใบที่กลมคล้ายกับใบพุทรา มีลักษณะเป็นรูปวงรี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม ตรงโคนใบมน ส่วนขอบใบจะตื้น ใบมีขนาดกว้างอยู่ประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร ใบบางเป็นสีเขียว ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเป็นมัน[1],[2],[3]
  • ผล ผลสดมีเนื้อสีขาว ลักษณะเป็นลูกกลม ๆ ขนาดเท่าลูกพุทรา มีขนาดประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลสุกเป็นสีแดงหรือสีม่วง เมื่อแก่เป็นสีดำ มีรสหวานฝาดเล็กน้อย ภายในมีหลายเมล็ด ออกผลในช่วงประมาณเดือนเมษายน[1],[2],[3]

สรรพคุณของตะขบไทย

  • รากจะมีรสฝาดอยู่เล็กน้อย สามารถใช้ปรุงเป็นยาขับเหงื่อได้ (ราก)[1] ทั้งยังมีสรรพคุณเป็นยากล่อมเสมหะและอาจมอีกด้วย (ราก)[1]
  • ส่วนเนื้อไม้มีรสฝาด ๆ สามารถใช้ทำเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด และมูกเลือด (เนื้อไม้)[1]
  • สุดท้ายเปลือก แก่น และใบ สามารถเป็นยารักษาอาการปวดเมื่อยตามตัว แก้โรคเหน็บชา ทั้งรักษาอาการปวดข้อ และแก้เส้นเอ็นพิการ (เปลือก, แก่น, ใบ)[4]

ประโยชน์ของตะขบไทย

1. สามารถนำใบมาใช้เพื่อการย้อมสีได้ โดยใช้อัตราส่วนของใบสดต่อน้ำ 1:2 และนำไปสกัดใช้ใบสด 15 กรัม จะสามารถย้อมเส้นไหมได้ถึง 1 กิโลกรัม สีที่ได้จะขึ้นอยู่กับการสกัดสีและการใช้สาร สกัดสีโดยใช้ใบสดนำมาต้มกับน้ำนานประมาณ 1 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ และนำมาย้อมเส้นไหมด้วยวิธีการย้อมร้อนประมาณ 1 ชั่วโมง และนำมาแช่ในสารละลายช่วยในการจุนสีหลังย้อมเสร็จจะได้เส้นไหมสีน้ำตาลเขียว ส่วนในการใช้จุนสีขณะย้อมก็จะได้สีน้ำตาลเขียวเหมือนกัน แต่ถ้านำมาสกัดน้ำด้วยวิธีการคั้นเอาน้ำ และกรองเอาแต่น้ำ แล้วมาย้อมเส้นไหมด้วยวิธีการย้อมร้อน และนำมาแช่สารละลายช่วยจุนสีหลังย้อมจะกลายเป็นสีเขียวขี้ม้า[2]
2. ผลสุกจะมีรสหวานฝาด สามารถรับประทานได้[3],[4]
3. นำไปใช้ปลูกได้ทั่วไป สามารถปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาทั้งในสวนผลไม้หรือจะเป็นตามสวนป่าเพื่อเป็นอาหารของนกก็ได้เช่นกัน[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ตะขบไทย”. หน้า 302.
2. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม. “ตะขบควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : qsds.go.th/webtreecolor/. [22 ธ.ค. 2014].
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะขบควาย”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [22 ธ.ค. 2014].
4. ผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพร. “ตะขบควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.sisaket.go.th. [22 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Saipuddin Zainuddin, rohana kamarul ariffin, Ahmad Fuad Morad)