Home สมุนไพร สรรพคุณของขมิ้นเครือ ช่วยแก้อาการคัน แก้ตาแดง

สรรพคุณของขมิ้นเครือ ช่วยแก้อาการคัน แก้ตาแดง

0
สรรพคุณของขมิ้นเครือ ช่วยแก้อาการคัน แก้ตาแดง
สรรพคุณของขมิ้นเครือ ช่วยแก้อาการคัน แก้ตาแดง เป็นไม้เถาเนื้อแข็งดอกออกเป็นช่อสีขาวแกมสีเหลืองหรือแกมเขียว ผลทรงกลมออกเป็นช่อ
ขมิ้นเครือ
เป็นไม้เถาเนื้อแข็งดอกออกเป็นช่อสีขาวแกมสีเหลืองหรือแกมเขียว ผลทรงกลมออกเป็นช่อ

ขมิ้นเครือ

ขมิ้นเครือ เป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง มักจะขึ้นที่ตามชายป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้นที่สูงไม่เกิน 300 เมตร มีเขตการกระจายพันธุ์และมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคใต้ สำหรับต่างประเทศสามารถพบเจอได้ที่ประเทศจีน (เกาะไหหลำ) ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย[3] ชื่อทางวิทยาศาสตร์  Arcangelisia flava (L.) Merr. อยู่วงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)[1]  ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ชั้วตั่วเหล่ง (ม้ง), ขมิ้นฤๅษี ฮับ (ภาคใต้) [2]

ลักษณะของต้นขมิ้นเครือ

  • ลักษณะของต้น เป็นพรรณไม้เลื้อยหรือเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เกลี้ยงทุกส่วน ยกเว้นที่มีต่อมที่ใบ ลำต้นจะมีเนื้อไม้เป็นสีเหลือง มียางสีเหลือง ที่ตามก้านใบที่ร่วงไปจะมีรอยแผลเป็น รอยแผลเป็นรูปถ้วย[1],[2] รากสดที่มีอายุน้อย มีขนาดเล็กมีรูปร่างโค้งงอไปมา ค่อนข้างแบน มีร่องคล้ายแอ่งเล็กตรงกลางตลอดแนวยาวของราก ผิวเรียบมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอมสีเขียว สีเทาปนสีน้ำตาล บางตอนรากจะมีรอยแตกเล็กพาดขวาง รากที่มีอายุ มีขนาดใหญ่ จะมีลักษณะเป็นทรงกระบอกค่อนข้างที่จะตรง โค้งงอบางตอน มีผิวเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อน เปลือกบางเป็นรอยแตกเล็กตามแนวยาวราก รอยแตกที่พาดขวางเป็นรอยนูนนิดหน่อย รากแห้ง ผิวมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีรอยแตกพาดขวางทั่วไป เปลือกสามารถหลุดได้ง่าย[5]
  • ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยว ออกใบเรียงเวียนสลับกัน ใบเป็น รูปไข่กว้าง รูปไข่ รูปหัวใจ รูปไข่แกมรี ใบกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 10-16 เซนติเมตร ที่ปลายใบจะเรียวแหลม ส่วนที่โคนใบจะกลม ตัด หรือจะเป็นรูปหัวใจนิดหน่อย เนื้อใบมีลักษณะหนาคล้ายกับแผ่นหนัง ที่หลังใบจะเป็นมัน ที่ท้องใบจะเรียบและไม่มีขน มีเส้นใบออกจากโคนใบมีลักษณะเป็นรูปฝ่ามือ 5 เส้น มีเส้นแขนงใบ 1-3 คู่ มักออกเหนือครึ่งหนึ่งของเส้นกลางใบ ใบแห้งจะเห็นเส้นร่างแหไม่ชัด มีก้านใบยาว ที่ปลายใบจะบวม ส่วนที่โคนจะบวมเช่นกัน โคนก้านใบจะงอ[1],[2],[5]
  • ลักษณะของดอก ดอกออกเป็นช่อ ออกดอกที่ตามง่ามใบ ที่ตามเถา มีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แตกกิ่งที่ด้านข้างมีความยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร เป็นดอกแบบแยกเพศ มีลักษณะเป็นสีขาวแกมสีเหลืองหรือจะแกมสีเขียว ดอกเพศผู้ไม่มีก้านหรือมีก้านขนาดสั้น ใบประดับย่อยเป็นรูปไข่ มีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ที่โคนหนา มีกลีบเลี้ยงวงนอกอยู่ประมาณ 3-4 กลีบ จะสั้นกว่า 1 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงวงในใหญ่จะมีขนาดกว่า เป็นรูปรี รูปไข่ มีความยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้เชื่อมกัน มีความยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงอยู่ 6 กลีบ เป็นรูปขอบขนานแคบ สามารถยาวได้ประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร ที่ปลายจะโค้ง เกสรเพศผู้ปลอมมีลักษณะคล้ายกับเกล็ดและมีขนาดเล็ก มีเกสรเพศเมียอยู่ 3 อัน มีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียจะกว้าง ไม่มีก้าน เป็นตุ่ม[1],[2] ออกดอกช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[3]
  • ลักษณะของผล เป็นผลสด ผลเป็นรูปทรงกลม ผลออกเป็นช่อตามลำดับ มักจะแตกก้านที่มีความยาวประมาณ 7-30 เซนติเมตร แกนกลางกับก้านใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ผลและก้านผลแตกจากด้านข้าง มีผลประมาณ 1-3 ผล จะติดกันบนก้านที่เป็นรูปตะบอง ปลายจะบวม มีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลสุกมีลักษณะเป็นสีเหลือง ค่อนข้างที่จะแบน เป็นรูปกึ่งไข่ตามแนวขวาง มีความยาวประมาณ 2.5-3.3 เซนติเมตร มีขนาดกว้างประมาณ 2.2-3 เซนติเมตร หนาประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ผลแห้งจะย่น ไม่มีขน ผนังผลชั้นในจะแข็ง[1],[2] มีเมล็ดอยู่ในผล 1 เมล็ด ติดผลช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[3]

สรรพคุณขมิ้นเครือ

1. สามารถนำเนื้อไม้มาขูดใช้เป็นยาล้างแผลเรื้อรัง แผลพุพอง และสามารถช่วยแก้อาการคันได้ (เนื้อไม้)[2]
2. สามารถนำเนื้อไม้มาใช้เป็นยาขับประจำเดือนได้ และส่วนน้ำที่ได้จากการต้มลำต้นหรือรากจะมีสรรพคุณที่เป็นยาขับประจำเดือน ช่วยแก้ปวดท้องได้ (ลำต้น, เนื้อไม้, ราก)[1],[2],[5]
3. เนื้อไม้ มีสรรพคุณที่เป็นยาสมานลำไส้ได้ (เนื้อไม้)[5]
4. สามารถใช้เป็นยาแก้ท้องเสียได้ (ลำต้น, เนื้อไม้, ราก)[1],[4]
5. สามารถนำน้ำที่ได้จากการต้มลำต้นหรือกิ่งก้าน สามารถใช้เป็นยาแก้ระบบย่อยอาหารไม่ปกติได้ (ลำต้น, กิ่งก้าน)[2]
6. สามารถนำน้ำที่ได้จากต้มลำต้นหรือราก สามารถใช้เป็นยาแก้ไอได้ (ลำต้น, ราก)[2]
7. ลำต้นกับรากจะมีสารอัลคาลอยด์ที่ชื่อ berberine สามารถใช้เป็นยาขมได้ ช่วยทำให้เจริญอาหาร รักษาไข้มาลาเรีย แก้ไข้ รักษาโรคอหิวาต์ได้ดีเท่ากับยาคลอแรมเฟนิคอล (ลำต้น, ราก)[1]
8. สามารถใช้ลำต้นกับรากเป็นยาแก้เบาหวานได้ (ลำต้น, ราก)[4]
9. ในตำรายาไทยนำเนื้อไม้มาใช้เป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงธาตุ (เนื้อไม้)[1],[5] สามารถนำน้ำที่ได้จากการต้มลำต้นหรือรากมาใช้เป็นยาบำรุงได้ (ลำต้น, ราก)[2]
10. ชาวม้งนำใบมาทุบ ใช้พันตรงบริเวณที่เอ็นขาดเพื่อช่วยประสานเอ็น (ใบ)[2]
11. สามารถนำลำต้นหรือกิ่งก้านมาต้ม ทานน้ำเป็นยาแก้โรคดีซ่าน (ลำต้น, กิ่งก้าน)[2]
12. ราก มีสรรพคุณที่เป็นยาระบาย (ราก)[1]
13. ในรัฐซาราวักจะนำลำต้นกับรากมาใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะ (ลำต้น, ราก)[4]
14. ยางสามารถใช้เป็นยาแก้โรคเมืองร้อนที่เกี่ยวกับอาการอาหารไม่ย่อยได้ (ยาง)[2]
15. สามารถใช้รากเป็นยาขับลมได้ (ราก)[5]
16. ยางสามารถใช้ดื่มเป็นยาลดไข้ได้ (ยาง)[2]
17. สามารถใช้รากเป็นยาหยอดตา แก้ตาแฉะ แก้ตาแดง แก้ตาเปียกได้ (ราก)[5]
18. รากมีสรรพคุณที่เป็นยาบำรุงน้ำเหลือง (ราก)[5]

ประโยชน์ขมิ้นเครือ

  • ในกาลิมันตันจะนำสีเหลืองจากลำต้นมาย้อมเสื่อที่ทำมาจากหวาย ในประเทศอินเดียและในประเทศอินโดจีนจะใช้ย้อมผ้า บางครั้งจะนำสีเหลืองที่ได้มาผสมสีที่ได้จากคราม โดยจะให้สีเขียว[4]
  • เมล็ด มีพิษ ถ้าทานเข้าไปอาจจะทำให้อาเจียนและอาจถึงตายได้ ทำให้ถูกใช้เป็นยาเบื่อปลา[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • รากกับลำต้นที่ได้จากร้านขายยาแผนโบราณที่ป่าหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจากสวนสมุนไพรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดจันทบุรี มีปริมาณสาร berberine ถึง 3.22% และจากตลาดจะมีปริมาณสาร berberine น้อยกว่ามาก ส่วนของจังหวัดสงขลาไม่มีสาร berberine เลย และรากจากสวนสมุนไพร จังหวัดจันทบุรี มีปริมาณสาร berberine สูงมากที่สุด[5]
  • มีรายงานว่าเป็นพิษกับเม็ดเลือดในหลอดทดลอง ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ควรมีการทดลองศึกษาความเป็นพิษวิทยาเพิ่มเติมก่อนจะนำมาใช้[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ขมิ้นเครือ”. หน้า 54.
2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ขมิ้นเครือ”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [08 มิ.ย. 2015].
3. พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ขมิ้นเครือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th. [08 มิ.ย. 2015].
4. หนังสือทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 : พืชให้สีย้อมและแทนนิน. (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย). “ขมิ้น เครือ”. หน้า 89-90.
5. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. (ถนอมหวัง อมาตยกุล, ดรุณ เพ็ชรพลาย). “การศึกษาทางพฤกษศาสตร์และเภสัชเวทของขมิ้นเครือ (Arcangelisia flava)”. หน้า 19-30.

อ้างอิงรูปจาก
1.https://kebunrayabanua.kalselprov.go.id/web/?p=5186
2.https://www.orami.co.id/magazine/manfaat-akar-kuning