ต้นกระชายแดง
เป็นไม้ล้มลุกมีเหง้า ผิวใบเรียบเป็นมันทรงแกมหอก ปลายแหลม ขอบขนาน โคนสอบ ก้านใบเป็นร่อง ดอกสีชมพู

กระชายแดง

กระชายแดง สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยมักจะพบในพื้นที่ดินที่มีความชื้นสูง[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia pandurata (Roxb.) Schltr., Gastrochilus pandurata (Roxb.) Ridl., Kaempferia pandurata Roxb.[4] จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ ขิงละแอน (ในภาคเหนือ)[4], ขิงแดง[4], กระชายป่า[1], ขิงแคลง[2], ขิงทราย (ในภาคอีสาน)[4] เป็นต้น

ลักษณะต้นกระชายแดง

  • ต้น
    1. เป็นพันธุ์ไม้ประเภทไม้ล้มลุกที่มีอายุอยู่ได้นานหลายปี
    2. มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้ามีลักษณะเรียวยาว กระจายตัวออกเป็นกระจุก เหง้ามีสีน้ำตาลอ่อน เหง้าจะทำหน้าที่ในการสะสมอาหารเอาไว้ สามารถสังเกตเหง้าที่ทำการสะสมอาหารเอาไว้ได้จากรูปร่างที่จะพองตรงกลาง มีลักษณะเป็นแท่งกลม และมีความฉ่ำน้ำ ลำต้นมีกาบใบสีน้ำตาลแดงที่มีลักษณะเรียงซ้อนกันอยู่หลายชั้นอยู่บนเหง้า และเหง้ามีความสูงของทรงพุ่มอยู่ที่ประมาณ 30-80 เซนติเมตร
    3. มีลักษณะที่คล้ายกันกับกระชายเหลือง โดยจะแตกต่างกันตรงที่เนื้อด้านในมีสีเหลืองแก้มส้มออกไปทางสีแดงอย่างเห็นได้ชัด
    4. ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ เป็นพืชที่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำดี และชอบอยู่ในพื้นที่ร่ม [1],[2],[3],[4]
  • ใบ
    1. รูปร่างของใบเป็นรูปใบแกมหอก ใบมีสีเขียว มีผิวใบเรียบเป็นมัน ตรงปลายใบแหลม ขอบใบขนาน และที่โคนใบสอบ มีก้านใบเป็นร่อง โดยใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว
    2. ใบมีกาบใบที่ทำหน้าที่ช่วยห่อหุ้มลำต้นเอาไว้ ที่บริเวณโคนกาบใบจะมีสีแดง[1],[2],[3]
    3. ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร
  • ดอก
    1. กลีบดอกมีสีชมพูอ่อนมีทั้งหมด 3 กลีบ โดยแบ่งเป็น 1 กลีบด้านบน และ 2 กลีบด้านล่าง กลีบมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปไข่ ตรงขอบกลีบจะม้วนเล็กน้อย กลีบด้านบนจะโดดเด่นเป็นพิเศษเนื่องจากมีรอยหยักที่กลีบ ดอกมีเกสรเพศเมียมีสีขาวแกมชมพูอ่อน มีรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ ดอกมีก้านเกสรสั้น โดยที่โคนก้านเกสรจะมีต่อมอยู่ 2 ต่อม มีรูปร่างเรียวยาว
    2. ออกดอกในลักษณะที่เป็นช่อ ซึ่งช่อดอกจะโผล่ขึ้นมาจากบริเวณตรงกลางระหว่างใบ จะโผล่มาเฉพาะส่วนที่เป็นกลีบดอกและใบประดับที่ห่อช่อดอกเอาไว้เท่านั้น กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ตรงปลายกลีบเลี้ยงแยกออกเป็นหยัก 3 หยัก
    3. ดอก จะค่อย ๆ ทยอยบานทีละดอก ไม่บานทีเดียวพร้อมกัน[2],[3]
  • ผล
    1. ผล เมื่อผลยังอ่อนจะไม่มีพูปรากฏขึ้น แต่เมื่อผลแก่แล้วจะปรากฏพูขึ้นมา 3 พู[2]
    2. ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่

สรรพคุณของกระชายแดง

1. หัวมีสรรพคุณในการบำรุงระบบประสาท (หัว)[5]
2. หัวมีฤทธิ์ในการช่วยป้องกันโรคเบาหวาน (หัว)[5]
3. หัวนำมาใช้รับประทานเป็นยาอายุวัฒนะ โดยมีฤทธิ์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ (หัว)[3]
4. หัวมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (หัว)[4]
5. หัวมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดแข็งตัวได้ (หัว)[5]
6. หัวมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดเบ่ง (หัว)[4]
7. หัวมีฤทธิ์ในการรักษาอาการบิดมูกเลือด (หัว)[4]
8. หัวมีสรรพคุณในการขับสารที่เป็นพิษต่อตับ (หัว)[5]
9. หัวมีสรรพคุณในการป้องกันโรคมะเร็ง (หัว)[5]
10. หัวมีสรรพคุณในการรักษาอาการมุตกิดระดูขาวของสตรี และช่วยขับระดูขาว (หัว)[4]
11. หัวมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม (หัว)[5]
12. หัวมีสรรพคุณในการเป็นยาขับพยาธิ (หัว)[4]
13. น้ำมันหอมระเหยที่สกัด มีฤทธิ์ในการช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้อบริเวณระบบทางเดินอาหารหดตัวได้[5]
14. หัวมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (หัว)[4]
15. หัวมีสรรพคุณรักษาโรคภายในช่องปากต่าง ๆ ได้ เช่น รักษาแผลในช่องปาก แก้อาการปากแตก แก้อาการปากเปื่อย เป็นต้น (หัว)[4]
16. หัวมีสรรพคุณในการรักษาโรคกามตายด้าน และมีส่วนช่วยบำรุงกำหนัด (หัว)[3],[4]
17. หัวมีสารชนิดหนึ่งที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย E.coli ได้ โดยเชื้อชนิดนี้เป็นสาเหตุของการเกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง (หัว)[5]
18. หัวมีสรรพคุณในการรักษาอาการใจสั่น และรักษาอาการลมในหัวใจ (หัว)[4]
19. หัวมีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดมวนท้อง (หัว)[4]
20. จากรายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล มีข้อมูลระบุเอาไว้ว่า สาร Pinostrobin ในกระชายมีฤทธิ์ช่วยต่อต้านการเจริญของเชื้อ Candida albican อยู่ ซึ่งเชื้อตัวนี้เป็นสาเหตุของอาการตกขาวในสตรี และอีกทั้งยังช่วยต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งเชื้อรานี้ก็เป็นต้นตอของการทำให้เกิดโรคกลาก 3 ประเภทอีกด้วย[5]
21. สาร Cineole มีสรรพคุณในการลดอาการบีบตัวของลำไส้ได้ [5]
22. ในตำรับยาแก้โรคมะเร็งกระดูก (BOE) จะนำมาบดให้ละเอียดเป็นผง แล้วนำไปชงกับน้ำร้อนใช้ดื่ม โดยดื่มวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ดื่มก่อนอาหารเป็นปริมาณครั้งละ 2 ช้อนชา[5]
23. ในตำรายารักษามะเร็งเม็ดเลือด (BVHJ) จะมีเป็นส่วนประกอบ โดยใช้ในปริมาณ 50 กรัม และส่วนประกอบอื่น ๆ อย่าง หญ้างวงช้างทั้งต้นในปริมาณ 50 กรัม, สบู่แดงทั้งต้นในปริมาณ 50 กรัม และแพงพวยดอกขาวทั้งต้นในปริมาณ 50 กรัม ซึ่งการปรุงยานั้นก็ให้นำมาบดให้เป็นผงละเอียด จากนั้นนำมาชงกับน้ำร้อนใช้สำหรับดื่ม โดยดื่มวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ดื่มหลังอาหารเป็นปริมาณครั้งละ 2 ช้อนชา (ทั้งต้น)[5]

ประโยชน์ของกระชายแดง

1. ในด้านความเชื่อ สามารถแก้การถูกคุณไสยใส่ หรือโดนเล่นของใส่ได้ โดยระบุวิธีไว้ว่า ให้นำหัวมาโขลกให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำผึ้งจากนั้นปั้นเป็นยาลูกกลอน แล้วทำการปลุกเสกด้วยคาถาบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ “อิติปิโสภะคะวา จนถึง ภะคะวาติ” สวดให้ครบ 16 จบ หลังจากนั้นก็เป็นอันเสร็จ สามารถนำไปให้ผู้ที่ถูกคุณไสยใส่ หรือโดนเล่นของใส่รับประทานได้
2. ในทางความเชื่อต้นหากนำปลุกเสกคาถา แล้วนำมารับประทานจะสามารถทำให้ร่างกายอยู่ยงคงกระพันได้[3],[4]
3. หน่ออ่อนมักนำมาปรุงรสในน้ำยาขนมจีน
4. หน่ออ่อนสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดทานร่วมกันกับน้ำพริกได้[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [20 พ.ย. 2013].
2. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักพื้นบ้าน กระชายแดง“. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านภาคอีสาน (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข). หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25. [20 พ.ย. 2013].
3. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ว่านกระชายแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [20 พ.ย. 2013].
4. ว่านและพรรณไม้สมุนไพรไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “กระ ชาย แดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th. [20 พ.ย. 2013].
5. ไทยรัฐออนไลน์. “กระชายแดงกับงานวิจัยใหม่“. โดยนายแพทย์นพรัตน์ บุณยเลิศ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [20 พ.ย. 2013].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.healthbenefitstimes.com