กวาวเครือแดง
เป็นไม้เถายืนต้นขนาดใหญ่เลื้อยไปพันตามต้นไม้ มียางสีแดงข้นลักษณะคล้ายเลือด หัวอยู่ใต้ดินรูปทรงกระบอก

กวาวเครือแดง

กวาวเครือแดง เป็นไม้เถายืนต้นขนาดใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Butea superba Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABACEAE เหมือนกับกวาวเครือขาว จะพบตั้งแต่ชายแดนไทย-พม่าตรงถึงภาคเหนือ เป็นไม้ที่ชอบขึ้นตามภูเขาสูง มีดอกเป็นสีส้มเหลืองบานสะพรั่งอยู่บนยอดดอย ปัจจุบันนั้นหาได้ไม่ง่ายนัก เพราะมีไม่มากเท่ากวาวเครือขาวแล้ว[8] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ กวาวเครือ ตานจอมทอง กวาวหัว จอมทอง ไพมือ เป็นต้น มีสรรพคุณในการเป็นยาอายุวัฒนะช่วยในการบำรุงร่างกาย และช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศเช่นเดียวกับยาไวอากรา

ลักษณะกวาวเครือแดง

  • เป็นพืชที่ มีหัวอยู่ใต้ดินรูปทรงกระบอก มีหลายขนาด
  • เปลือกจะมียางสีแดงข้นลักษณะคล้ายเลือด
  • ใบลักษณะคล้ายกับใบทองกวาว แต่จะมีใบที่ใหญ่กว่ามาก
  • ใบที่อ่อนจะมีขนาดเท่ากับใบของต้นสักหรือใบพลวง
  • อายุยิ่งมากเท่าไหร่เถาก็จะยิ่งใหญ่กลายมาเป็นต้น และยังมีการส่งเถาเลื้อยไปพันตามต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง
  • รากของพืชชนิดนี้มีขนาดใหญ่เท่าน่องขาเลื่อยออกมาจากต้นโดยรอบ มีความยาวประมาณ 2 วา

ประโยชน์กวาวเครือแดง

1. มีคุณสมบัติช่วยบำรุงหลอดเลือด สามารถนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงรากผมได้ดี จึงมีการนำมาทำเป็นแชมพู สูตรทำให้เส้นผมแข็งแรง ป้องกันผมหงอกก่อนวัย ป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผม และเมื่อมาผสมกับสมุนไพรกวาวเครือขาวที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงเรื่องหนังศีรษะ ช่วยลดรังแค เมื่อนำมาใช้ทำเป็นแชมพูแล้วก็จะยิ่งทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น[4],[5]
2. สามารถนำมาใช้เพื่อทำเป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสัตว์[1]
3. มีการนำไปผลิตเป็นยาสมุนไพรอย่างหลากหลาย เช่น ยา ครีม เจล สบู่ ครีมนวด แคปซูล
4. สามารถใช้ใบห่อข้าวแทนใบตองได้[8]

สรรพคุณของกวาวเครือแดง

1. สามารถทำให้หลอดเลือดหดตัว ช่วยกดการทำงานของหัวใจ เพิ่มความดันโลหิต และช่วยกระตุ้นการหายใจได้[3]
2. สามารถใช้เปลือกเถาในการแก้พิษงูได้ (เปลือกเถา)[1]
3..ใช้ในการแก้ตัวพยาธิได้ (ผล)[3]
4. มีฤทธิ์ในการขับเสมหะ (เปลือก)[3]
5. สามารถใช้ในการแก้ไข้ได้ (เปลือก, ทั้ง 5 ส่วน)[3]
6. ราก สามารถช่วยแก้ลมอัมพาตได้ (ราก[1], ต้น[3])
7. มีสรรพคุณในการบำรุงสายตาได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
8. ช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี มีคุณสมบัติช่วยบำรุงหลอดเลือด (หัว)[4]
9. กวาวเครือช่วยทำให้หน้าอกมีขนาดที่เพิ่มขึ้น (หัว)[1]
10. ผลของกวาวเครือช่วยเจริญธาตุไฟในร่างกายได้ (ผล)[3]
11. หัว สามารถใช้เป็นยาอายุวัฒนะ และช่วยบำรุงสุขภาพร่างกาย (หัว)[1]
12. ข้อมูลจากผู้จำหน่ายสมุนไพรสำเร็จรูปบอกไว้ว่า ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศชาย ลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยรักษาโรคเส้นเลือดอุดตัน ลดความอ้วน ไปช่วยลดไขมันในเส้นเลือดจึงช่วยรักษาโรคหัวใจบางชนิดได้ ทำให้ผมดกดำ[8] ช่วยบำรุงประสาทและสมอง ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ช่วยป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต ป้องกันมะเร็งในต่อมลูกหมาก ช่วยเสริมสร้างแคลเซียมในการสร้างกระดูก ลดเลือนริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าหัวมีสาร Flavonoids (วิตามินพี) ในปริมาณสูง ทำให้มีประโยชน์ในการเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยต่อต้านเซลล์มะเร็ง (ผู้เขียนยังหาข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนไม่ได้ว่ามีสรรพคุณเช่นนั้นจริงหรือไม่เพราะอาจมีการเข้าใจผิดกันได้ ฉะนั้นควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน)
13. สรรพคุณช่วยแก้เสมหะ แก้ลม ลมที่เป็นพิษ ดับพิษ ช่วยชำระล้างลำไส้ สมานลำไส้ แก้โรคดี แก้โรคตับ แก้ริดสีดวงทวาร และขับระดูร้าย[1]
14. ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (หัว)[1]
15. ผลสามารถแก้อาการจุกเสียด แก้อาการลงท้อง แก้สะพั้นได้ (ผล)[3]
16. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้ (ทั้ง 5 ส่วน)[3]
17. ช่วยรักษาอาการปวดฟันได้ (เปลือก)[3]
18. สามารถใช้รากและต้นในการช่วยแก้โลหิตได้ (ราก[1], ต้น[3])
19. สามารถใช้ใบและรากช่วยทำให้นอนหลับและเสพติดได้ (ราก, ใบ)[3]
20. ช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศ ช่วยเพิ่มจำนวนของอสุจิ มีฤทธิ์เพิ่มความแข็งตัวของอวัยวะเพศ เช่นเดียวกับฤทธิ์ของยาไวอากรา (Viagra) (หัว)[1],[2]
21. ช่วยบำรุงผิวพรรณ บำรุงสุขภาพเนื้อหนังให้เต่งตึงได้ (หัว)[1]
22. สามารถช่วยทำให้เซลล์ต่าง ๆ มีอายุยืนยาวขึ้น ช่วยทำให้ร่างกายชะลอเวลาในการเสื่อมของเนื้อเยื่อได้[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • มีการศึกษาทางคลินิกของฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ มีอาสาสมัครที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อรับประทานวันละ 4 แคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
    เป็นเวลา 3 เดือน พบว่ามีสมรรถภาพทางเพศที่ดีขึ้นสูงถึง 82.4% กล่าวได้ว่า สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศได้ และไม่พบการเกิดพิษแต่อย่างใด (พิชานันท์ ลีแก้ว, 2553, โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, จุลสารข้อมูลสมุนไพร)[1]
  • มีฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน ช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว ช่วยกดการทำงานของหัวใจ ช่วยกระตุ้นการหายใจ และเพิ่มความดันโลหิต[3]
  • ได้มีการทดลองในหนูขาวพันธุ์วิสตาร์ทั้งตัวผู้และตัวเมียเป็นระยะเวลา 6 เดือน ผลการทดลองพบว่าการให้ผงกวาวเครือแดงขนาดมากกว่า 100 มก./กก. ต่อวัน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของค่าโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมีและพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน และในหนูทดลองที่ได้รับผงกวาวเครือขนาด 1,000 มก./กก. ต่อวัน พบว่ามีระดับเอนไซม์ Aspartate aminotransferase, Alanine aminotransferase, Alkaline phosphatase และ bilirubin ซึ่งแสดงถึงการทำงานของตับเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการให้ผงกวาวเครือแดงเพียงแค่ขนาด 10 มก./กก. ต่อวัน พบว่าไม่มีพิษต่อค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมีและพยาธิสภาพของอวัยวะภายในและจากการตรวจสอบทางจุลพยาธิก็พบว่าเกิดความผิดปกติในตับหนูอย่างมีนัยสำคัญ จากผลการทดลองจึงพบว่าการให้ผงในขนาด 250 มก./กก. ต่อวันหรือมากกว่านั้นจะทำให้เกิดพยาธิสภาพของอวัยวะภายในของหนูโดยเฉพาะที่ตับ[7]
  • การศึกษาทางเภสัชวิทยาของฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลอง พบว่าหนูแรทตัวผู้ที่ได้รับในรูปแบบสารสกัดเอทานอล พบว่าความยาวขององคชาตเพิ่มขึ้น ทำให้หนูมีพฤติกรรมการสืบพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนูแรทตัวผู้ที่ได้รับในรูปแบบผงป่นละลายน้ำเข้มข้น 0.5 และ 5 มก./มล. ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ พบว่าหนูแรทมีน้ำหนักตัวและปริมาณของอสุจิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและเมื่อศึกษาต่อไปอีก 6 สัปดาห์พบว่าหนูที่ได้รับในรูปของสารสกัดเอทานอล มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ Seminal Vesicles ลดลงส่วนหนูที่ได้รับแบบผงป่นละลายน้ำ มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ Seminal Vesicles ต่อมลูกหมาก ความยาวขององคชาต และพฤติกรรมการสืบพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเมื่อศึกษาไปในระยะยาวและในปริมาณของสารสกัดที่เพิ่มมากขึ้นก็พบว่าระดับฮอร์โมน Testosterone ลดลง และมีปริมาณเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น ดังนั้นการรับประทานในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้ (พิชานันท์ ลีแก้ว, 2553, โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, จุลสารข้อมูลสมุนไพร)[1]

คำแนะนำและข้อควรระวัง

  • การรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดพิษต่อตับ หรืออาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ได้[1]
  • กวาวเครือชนิดหัวแดงนี้มีพิษมาก การรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ เช่น อาจมีอาการมึนเมา มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ตามที่ตำราสมุนไพรไทยระบุไว้[1]
  • ขนาดการรับประทานไม่ควรเกินวันละ 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวันตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาของประเทศไทย (อย.) ระบุไว้ [1]
  • ให้รับประทานแบบชงวันละ 2 ใน 3 ส่วนของเมล็ดพริกไทย หรือรับประทานเท่าขนาดของเมล็ดมะกล่ำใหญ่ ตามตำรับยาพื้นบ้านของภาคเหนือระบุไว้
  • มีพิษเมา[1]
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้สมุนไพรชนิดนี้[1]
  • กวาวเครือถูกขึ้นบัญชีเป็นสมุนไพรควบคุมประกาศของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2549 เพื่อจำกัดการครอบครองในกรณีที่ขุดจากป่าและเพาะปลูกเอง เมื่อขุดแล้วต้องปลูกทดแทน โดยผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้าน (40-120 กิโลกรัม) หรือหน่วยงานศึกษาวิจัยต่าง ๆ (80-240 กิโลกรัม) โรงงานอุตสาหกรรม (400-1,200 กิโลกรัม) และสำหรับเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป (20-60 กิโลกรัม) สามารถครอบครองสมุนไพรควบคุมดังกล่าวได้ในปริมาณตามที่ระบุไว้ในประกาศตาม พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นการนำสมุนไพรกวาวเครือทุกชนิดมาใช้ควรได้รับการแนะนำจากแพทย์แผนไทยและต้องคำนึงถึงกฎหมายด้วยแม้ว่าปริมาณที่รับประทานจะปลอดภัยมากกว่ายาไวอากราก็ตาม[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1.ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [16 ต.ค. 2013].
2.มูลนิธิสุขภาพไทย. “กวาวเครือแดงแรงฤทธิ์ ข่าวดีสำหรับบุรุษ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [16 ต.ค. 2013].
3.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สมุนไพรในร้านขายยา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th. [16 ต.ค. 2013].
4.กิจการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “กวาวเครือ ใช่แค่อึ๋มปึ๋งปั๋งยังบํารุงเส้นผม“. (รศ.ดร.วิชัย เชิดชีวศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.research.chula.ac.th. [16 ต.ค. 2013].
5.โรงเรียนมัธยมบึงปรือ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: school.obec.go.th/mattayommb. [16 ต.ค. 2013].
6.หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [16 ต.ค. 2013].
7.สถาบันวิจัยสมุนไพร. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. “พิษเรื้อรังของกวาวเครือแดง“. ทรงพล ชีวะพัฒน์, ปราณี ชวลิตธำรง, สมเกียรติ ปัญญามัง, สดุดี รัตนจรัสโรจน์, เรวดี บุตราภรณ์
8.“กวาวเครือ ยอดสมุนไพรไทย“. (สันยาสี). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sanyasi.org. [16 ต.ค. 2013].
9. https://medthai.com