กระเจียวแดง
กระเจียวแดง (Curcuma sessilis Gage) เป็นพืชในวงศ์ขิงที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ดอกอ่อนมีรสเผ็ดร้อนและกลิ่นหอมจึงทำให้มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้ดี นอกจากนั้นกระเจียวแดงยังมีเส้นใยอาหารที่ช่วยในเรื่องของการขับถ่ายได้อย่างดีอีกด้วย หน่ออ่อนและดอกอ่อนของกระเจียวแดงสามารถนำมาปรุงอาหารหรือใช้รับประทานในรูปแบบผักได้ เป็นต้นที่หาได้ง่ายตามป่าทั่วไป
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระเจียวแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma sessilis Gage.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระเจียว กระเจียวแดง” ภาคเหนือเรียกว่า “อาวแดง” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดเลยเรียกว่า “กาเตียว” จังหวัดสกลนครเรียกว่า “ว่านมหาเมฆ” ภาคใต้และจังหวัดชุมพรและจังหวัดสงขลาเรียกว่า “จวด” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กระเจียวสี กระเจียวป่า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
ลักษณะของกระเจียวแดง
กระเจียวแดง เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน สามารถอยู่ได้นานหลายปี อาจขึ้นเป็นต้นเดียวหรือหลายต้นรวมกันเป็นกอ มักจะพบตามป่าดิบทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและที่โล่งทั่วไป
เหง้า : มีเหง้าใหญ่รูปวงรีในแนวดิ่ง มีผิวเป็นสีน้ำตาล ภายในเป็นสีขาว สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยเหง้า
ใบ : ใบมีลักษณะเป็นกาบห่อรวมตัวกันแน่นเป็นลำต้นเทียม เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแคบ ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแน่นแบบช่อเชิงลดรูปทรงกระบอก ก้านช่อดอกชูออกจากปลายลำต้นเทียม แต่ละช่อมีดอกประมาณ 2 – 7 ดอก ใบประดับที่โคนช่อดอกรองรับดอกสีเขียว ดอกเป็นสีเหลือง แฉกบนเป็นรูปวงรี แฉกด้านข้างแคบกว่าเล็กน้อย กลีบปากเป็นรูปไข่กลับและมีสีเหลือง ปลายแยกออกเป็นพู 2 พู เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันจะเป็นรูปไข่กลับหรือรูปวงรี มีสีเหลืองและมีขนสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้สมบูรณ์และมีจุดสีแดงจำนวนมาก โคนอับเรณูเรียวแหลมเป็นเดือย 2 อัน โค้งเข้าหากัน เกสรเพศเมียมีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบและมีขนสั้นขึ้นหนาแน่น มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปไข่และที่ผิวมีขนหนาแน่น
เมล็ด : เมล็ดมีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ
สรรพคุณของกระเจียวแดง
- สรรพคุณจากกระเจียวแดง ป้องกันอาการท้องผูก ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดสารพิษและสารก่อมะเร็ง
- สรรพคุณจากดอกอ่อน เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อและลดกรดในกระเพาะอาหาร
- สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด
- สรรพคุณจากหน่ออ่อน เป็นยาสมานแผล
- สรรพคุณจากเหง้า เป็นยาแก้ปวดเมื่อย
ประโยชน์ของกระเจียวแดง
เป็นส่วนประกอบของอาหาร หน่ออ่อนนำมาทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อยและส้มตำได้ ช่อดอกอ่อนนำมาลวกให้สุกทานกับน้ำพริกหรือปรุงเป็นแกงรวมกับผักหวานปลาย่างและเครื่องแกง หรือทานดอกสดได้ สามารถนำมาทำแกงส้มหรือไม่ก็นำมาแกล้มกับขนมจีน ลาบ ก้อยได้
กระเจียวแดง เป็นต้นที่มีรสเผ็ดร้อนทำให้มีสรรพคุณช่วยขับลมในร่างกายได้ และยังมีกลิ่นหอมชวนให้น่าชมได้อีกด้วย สามารถหาได้ตามป่าทั่วไปและมีเหง้าอยู่ใต้ดิน นิยมนำส่วนของหน่ออ่อนและช่อดอกอ่อนมารับประทานเป็นผักและปรุงในอาหาร กระเจียวแดงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของดอกอ่อน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ป้องกันอาการท้องผูก ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อและลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยแก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอดได้ เป็นยาสมุนไพรที่ดีต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายในร่างกาย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กระเจียวแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [08 ก.ค. 2015].
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “อาวแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [08 ก.ค. 2015].
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ. “กระเจียว…”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : royal.rid.go.th/phuphan/. [08 ก.ค. 2015].
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดแพร่, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระเจียว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phrae.mju.ac.th/cms/rspg/. [08 ก.ค. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/