ต้นลำโพงกาสลัก
ไม้ล้มลุก ดอกเดี่ยวสีม่วง ผลเป็นสีเขียวอมสีม่วง ค่อนข้างกลม เมล็ดแบนคล้ายกับเมล็ดมะเขือ

ลำโพงกาสลัก

ลำโพงกาสลัก มีลักษณะสีแดงเกือบดำ มีดอกเป็นสีม่วงและเป็นชั้น ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Datura metel L. (Datura metel var. fastuosa (L.) Saff.) (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Datura fastuosa L.) อยู่วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1],[2],[3] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ลำโพงดำ, กาสลัก, มะเขือบ้าดอกดำ (จังหวัดลำปาง), ลำโพงแดง, ลำโพงกาลัก (จังหวัดชุมพร, จังหวัดสุราษฎร์ธานี)[1],[2],[3] ในไทยนิยมใช้ทำยามีอยู่ 2 ชนิด คือ ลำโพงกาสลัก และ ลำโพงขาว (ต้นมีลักษณะเขียว และดอกเป็นสีขาว) ด้านการทำยานิยมใช้ดอกสีม่วงดำ ยิ่งมีชั้นเยอะก็จะยิ่งมีฤทธิ์แรง[3]

ลักษณะของต้นลำโพงกาสลัก

  • ต้น เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปี ต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร กิ่งก้านมีลักษณะเป็นพุ่ม ที่ตามลำต้นกับกิ่งก้านจะเป็นสีม่วง[1]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับกัน ใบเป็นรูปไข่ ที่ปลายใบจะแหลม ส่วนที่โคนใบจะมนและขนาดไม่เท่ากัน ขอบใบจะจักเป็นซี่ฟันห่าง ใบกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร[1],[3]
  • ดอก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว จะออกดอกที่ตามซอกใบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นสีม่วง ที่ปลายกลีบจะบานเป็นรูปแตร ส่วนที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมกัน มีกลีบซ้อนกันอยู่ 2-3 ชั้น ดอกมีความยาวประมาณ 3.5-5.5 นิ้ว กลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นสีเขียวติดเป็นหลอด มีความยาวประมาณครึ่งหนึ่งของดอก[1],[3]
  • ผล เป็นสีเขียวอมสีม่วง ผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ 1-1.5 นิ้ว ผิวผลจะเป็นขนคล้ายกับหนามเป็นตุ่ม เนื้ออ่อนจะเป็นตุ่มรอบ มีลักษณะขั้วเป็นแผ่นกลมหนาริมคม ผลแห้งสามารถแตกได้ มีเมล็ดอยู่ในผลเยอะ
  • เมล็ด ลักษณะกลมแบนคล้ายกับเมล็ดมะเขือ[1],[3]

สรรพคุณลำโพงกาสลัก

1. น้ำมันที่ได้จากเมล็ดจะมีรสเมาเบื่อ สามารถนำมาใช้ปรุงเป็นยาใส่แผล แก้เหา กลากเกลื้อน ผื่นคัน และหิดได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[3]
2. สามารถนำใบมาใช้เป็นยาทาแก้อักเสบเต้านมได้ (ใบ)[3]
3. น้ำที่คั้นได้จากต้น ถ้านำมาใช้หยอดตาจะช่วยทำให้ม่านตาขยายได้ (ต้น)[3]
4. เมล็ดจะมีรสเมาเบื่อ สามารถเอามาคั่วให้หมดน้ำมัน ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้กระสับกระส่าย และแก้ไข้ได้ (เมล็ด)[3]
5. นำดอกมาหั่นแล้วเอาไปตากแดดผสมยาสูบ สามารถใช้สูบแก้การบีบตัวของหลอดลม แก้อาการหอบหืด(ดอก)[1],[2],[3]
6. ใบจะมีสรรพคุณที่ช่วยขยายหลอดลม แก้หอบหืดได้ (ใบ)[3]
7. สามารถนำเมล็ดมาหุงทำน้ำมันเอาใส่แผล ใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อนผื่นคันได้ (เมล็ด)[1],[2]
8. ใบกับยอด มีสารอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ สามารถช่วยแก้อาการปวดเกร็งท้อง (ใบกับยอด)[3]
9. ใบ มีฤทธิ์กดสมอง มีสรรพคุณที่ช่วยแก้อาการอาเจียนเนื่องจากเมาเรือเมารถได้ (มีอาการข้างเคียงก็คือ จะทำให้คอแห้ง ปากแห้ง) (ใบ)[3]
10. ใบ มีรสขมเมาเบื่อ จะมีสรรพคุณที่ช่วยแก้สะอึกในไข้พิษกาฬได้ (ใบ)[3]
11. สามารถนำรากมาสุมให้เป็นถ่านใช้ปรุงเป็นยาไข้กาฬ ไข้เซื่องซึมแก้ไข้พิษได้ (ราก)[1],[3]
12. ราก มีรสหวานเมาเบื่อ สามารถนำมาฝนทาใช้แก้ปวดบวม แก้พิษร้อน แก้อักเสบ ดับพิษฝีได้ (ราก)[1],[3] นำเมล็ด 30 กรัม มาทุบให้พอแหลก แล้วเอาไปแช่น้ำมันพืชเป็นเวลาประมาณ 7 วัน แล้วนำมาใช้ที่ที่มีอาการขัดยอก ปวดเมื่อย สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และก็สามารถนำมาใช้ใส่ฟันที่เป็นรูได้จะบรรเทาอาการปวด (เมล็ด)[3]
13. นำดอกไปตากแห้งแล้วเอามาผสมกับยาเส้นสูบ สามารถช่วยแก้ริดสีดวงจมูก แก้โพรงจมูกอักเสบได้ (ดอก)[3]
14. นำใบสดมาตำพอกฝี สามารถช่วยทำให้ฝียุบ และแก้อาการปวดบวมอักเสบได้ (ใบ)[1],[2],[3]
15. ทั้งต้น มีฤทธิ์ที่เป็นยาเสพติด สามารถแก้อาการเกร็ง ช่วยระงับอาการปวดได้ (ทั้งต้น)[1],[3]
16. ราก มีรสหวานเมาเบื่อ สามารถใช้ฝนทาแก้ปวดบวม แก้พิษร้อน แก้อักเสบ และดับพิษฝีได้ (ราก)[1],[3]
17. สามารถนำใบมาใช้เป็นยาพอกแก้พิษจากสัตว์กัดต่อย ปวดแสบบวมที่แผล แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้แผลเรื้อรัง แก้พิษฝี (ใบ)[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • มีสารอัลคาลอยด์ Hyoscine และสาร Hyocyamine ซึ่งอาการข้างเคียงก็คือ จะทำให้คอแห้ง ปากแห้ง[2]
  • ใบกับยอด มีสารอัลคาลอยด์ Hyoscine กับสาร Hyocyamine ที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ สามารถใช้แก้หอบหืด ช่วยขยายหลอดลม แก้อาการปวดท้องเกร็งได้[2]
  • มีสารอัลคาลอยด์ Hyoscine ซึ่งมีฤทธิ์กดสมอง ใช้ควบคุมอาการอาเจียนที่เกิดจากเมารถได้[2]

พิษของต้นลำโพงกาสลัก

  • ผลกับเมล็ดเป็นพิษ จะมีสารอัลคาลอยด์ hyoscine กับสาร hyoscyamine ถ้าทานเข้าไป อาการข้างต้น ก็คือ รู้สึกสับสน มีอาการไข้ขึ้นสูง ผิวหนังร้อนแดง สายตาพร่ามัว ปากแห้ง การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ ปวดศีรษะ มีผื่นแดงที่ตามใบหน้า คอ หน้าออก ม่านตาขยายและปรับสายตาไม่ได้ ทำให้ตาไม่สู้แสง กระหายน้ำมาก ถ้าได้รับในปริมาณเยอะ ๆ จะทำให้มีอาการวิกลจริต เพ้อคลั่ง เคลิ้มฝัน และมีอาการทางจิตและประสาท ตัวเขียว หายใจได้ช้าลง ตาแข็ง ตื่นเต้น หายใจได้ไม่สะดวก พูดไม่ออก เมื่อแก้พิษแล้ว จะยังมีอาการวิกลจริตตลอดไป เนื่องจากรักษาไม่ค่อยหาย[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ลำโพง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [30 พ.ค. 2014].
2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ลำโพง กาสลัก (Lam Phong Ka Salak)”. หน้า 270.
3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ลำโพง กาสลัก”. หน้า 99.
4.  https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.invasive.org/
2. https://www.etsy.com/