ไมยราบยักษ์
เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง โคนใบจะมน มีขนคลุมหลังใบท้องใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกกลม เป็นสีชมพู สีม่วงอ่อน ผลเป็นฝักแบนโค้งงอมีขน

ไมยราบยักษ์

ไมยราบยักษ์ เป็นพืชดั้งเดิมของประเทศอเมริกากลาง และทางตอนเหนือแถบโคลัมเบีย เวเนซุเอลา ภายหลังได้แพร่กระจายมายังทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา ถึงทวีปเอเชีย อย่างเช่น ประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ชื่อสามัญ Maiyaraap ton[2], Giant sensitive[3] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Mimosa pigra L. อยู่วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่วงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ไมยราบหลวง, ฝีหมอบใหญ่ (ภาคอีสาน), ขี้แฮด (ภาคเหนือ), จี่ยอบหลวง, ไมยราบต้น (ภาคเหนือ),พรม (ภาคกลาง) [1],[2],[3]

ลักษณะของไมยราบยักษ์

  • ต้น เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ต้นสูงประมาณ 1-3 เมตร มีหนามแหลมงองุ้มลงตลอดลำต้นกับกิ่ง ที่ปลายกิ่งจะย้อย มีเนื้อแข็งเหนียว มักขึ้นเองที่ในเขตร้อนชื้น ตามที่กว้าง ริมถนนหนทาง ทุ่งหญ้า หุบเขา และที่รกร้างทั่วไป[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบประกอบ 3 ชั้น ก้านใบมีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ใบประกอบย่อยมีอยู่ประมาณ 6-14 คู่ ใบประกอบจะมีใบประกอบย่อยประมาณ 15-40 คู่ เป็นรูปขอบขนาน ที่ปลายใบจะมน ส่วนที่โคนใบจะมน มีขนขึ้นคลุมหลังใบ มีท้องใบเรียบ[1]
  • ดอก ออกเป็นช่อ ออกดอกที่ตามยอดที่ตามซอกใบ ช่อดอกมีลักษณะเป็นกระจุกกลม เป็นสีชมพู สีม่วงอ่อน มีดอกย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก กลีบเลี้ยงจะรวมกันเป็นเส้น ที่ปลายกลีบเลี้ยงจะแตกเป็นฝอย กลีบดอกรวมกันเป็นหลอด ที่ปลายจะแยกเป็น 4 กลีบ ก้านเกสรเพศผู้ยาวพ้นกลีบดอกมาเป็นจำนวน 8 ก้าน[1]
  • ผล เป็นฝัก ฝักแบน โค้งงอ ที่ปลายฝักจะแหลม จะมีขนขึ้นคลุม หนึ่งช่อดอกติดฝักประมาณ 3-16 ฝัก มีเมล็ดอยู่ในฝักประมาณ 9-25 เมล็ด ฝักแก่เป็นสีน้ำตาลดำ พอแก่จะแตกออกเป็นข้อทีละเมล็ด[1]

วัชพืชไมยราบยักษ์

ในปี พ.ศ.2490 ประเทศไทยมีการนำเมล็ดเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย เพื่อปลูกเป็นพืชคลุมดินในไร่ยาสูบ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศได้ดี จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายพันธุ์แบบรวดเร็ว ที่ตามแหล่งน้ำ การคมนาคมขนส่ง และได้เกิดการแพร่ระบาดไปเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย จึงทำให้ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ได้นำเข้าด้วงเจาะเมล็ดจากประเทศเม็กซิโก เพื่อใช้ในการกำจัดและช่วยลดการแพร่กระจาย นับว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยกับสภาพแวดล้อม และยังให้ผลควบคุมในระยะยาว[3]

ซึ่งเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในเขตที่ลุ่ม ที่ชายน้ำทางภาคเหนือ เนื่องจากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดได้ดี แต่ละปีมีการสร้างเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดพักตัวได้เป็นเวลาหลายปีเพื่อรอสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการงอก ทำให้แพร่กระจายไปได้หลายพื้นที่ เมื่อยึดครองพื้นที่แล้วก็ยากที่พรรณไม้อื่นจะผสมกัน เนื่องจากขึ้นคลุมหนาแน่น จึงทำให้พรรณพืชดั้งเดิมขาดแสงตายลงและค่อย ๆ หายไปจากพื้นที่

วิธีการป้องกันและวิธีกำจัด

จะต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โดยกำจัดตั้งแต่ยังเล็ก ด้วยการขุดรากถอนโคน การถาง การตัดออกไม่สามารถกำจัดได้ เนื่องจากเป็นพืชล้มลุกคาบปี ดอกออกติดเมล็ดเป็นจำนวนมาก ฝักแก่จะแตกออก และสามารถดีดตัวได้ จึงทำให้การกระจายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และเมล็ดยังมีความแข็งแรงทนทานเนื่องจากมีเปลือกที่แข็ง และวิธีการสุดท้ายจะต้องใช้สารเคมีช่วยกำจัด ถ้าพบเห็นให้รีบป้องกันและรีบกำจัด

สรรพคุณไมยราบยักษ์

1. นำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม สามารถช่วยแก้อาการปวดข้อได้ (ต้น)[2]
2. แพทย์ตามชนบทที่ทางภาคอีสาน นำทั้งต้นมาตากให้แห้งแล้วเอาไปคั่วไฟต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาช่วยขับน้ำนิ่วในไต ขับปัสสาวะได้ (ใบ, ทั้งต้น)[1]
3. นำต้นมาต้มกับน้ำ สามารถใช้ดื่มเป็นยาขับเสมหะได้ (ต้น)[2]
4. นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ สามารถใช้ดื่มเป็นยาบำรุงร่างกายได้ ชาวบ้านมักใช้ร่วมกับพืชชนิดอื่น นำมาต้มด้วยกันเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน (ใบ,ทั้งต้น)[2]
5. นำทั้งต้นมาตากให้แห้งแล้วคั่วไฟต้มกับน้ำ สามารถใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคปวดหลังได้ (ทั้งต้น)[1]
6. ใบ มีรสขมเฝื่อนนิดหน่อย สามารถนำมาตำใช้พอกเป็นยารักษาแผลฝีหนอง แผลเรื้อรัง แก้ปวดบวมได้ (ใบ)[2]
7. สามารถนำใบมาต้มหรือชงกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้บิดได้ (ใบ)[2]
8. ต้น มีรสขมเฝื่อนนิดหน่อย สามารถนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ต้น)[2]

ประโยชน์ไมยราบยักษ์

1. สามารถนำลำต้นใช้ทำฟืน ทำรั้ว ไม้ค้ำได้[5]
2. สามารถช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ได้ เนื่องจากช่วยตรึงไนโตรเจนได้[5]
3. สามารถใช้แปรรูปเป็นพลังงานทดแทนอัดแท่ง ใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนพลังงานรูปแบบต่าง ๆ โดยนำมาอัดให้เป็นแท่งถ่าน ถ้าเทียบกับถ่านไม้ทั่วไปที่ขายกันตามตลาดจะเกิดอัตราการสิ้นเปลืองสูง มอดเร็ว ทำให้มีการเปลี่ยนมาใช้ถ่านแท่งที่เอามาบดเป็นผงถ่าน ผสมตัวประสานเพื่อให้เป็นถ่านอัดแท่ง รูปแบบนี้ทำให้อัตราการสิ้นเปลืองลดลง จากการทดสอบปรากฏว่าประหยัดกว่าถ่านทั่วไปถึง 3 ส่วน[6]
4. สามารถช่วยป้องกันการชะล้างของหน้าดิน และช่วยป้องกันการพังทลายของตลิ่งได้[5]
5. สามารถใช้เป็นอาหารของสัตว์ได้ [5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • ยาสกัด 50% แอลกอฮอล์จากรากสามารถช่วยยับยั้งการเจริญของ S. typhimurium, B. subtilis, S. brunii, P. aeruginosa ได้[4]
  • ยาสกัด 50% แอลกอฮอล์จะแสดงผลมี alkaloid (s) เป็นสารสำคัญ ไม่มีผลเป็น steroid[4]
  • สารสกัด 50% แอลกอฮอล์ส่วนกลางลำต้นสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา T. rubrum ได้สมบูรณ์แบบ[4]
  • จากการศึกษาผลการต้านจุลินทรีย์ปรากฏว่ายาผงสกัดชนิด spray dried กับ ยาสกัด 50% แอลกอฮอล์ส่วนยอด ส่วนกลาง ส่วนราก สามารถช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อ S. aureus ที่เข้มข้น 0.6% และเข้มข้น 5% และยับยั้งการเจริญของ B. subtilis ได้[4]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ไมยราบยักษ์”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 129.
2. โครงการตาสับปะรด นักสืบเสาะภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชุมชนสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “ไมยราบยักษ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th. [21 พ.ค. 2014].
3. ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ. “ด้วงเจาะเมล็ดไมยราบยักษ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiocontrol.org. [21 พ.ค. 2014].
4. ฐานข้อมูลการเกษตรของประเทศไทย. “ประโยชน์ของไมยราบยักษ์ สารสกัดแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์”. (ฉันทรา พูนศิริ, พุทธรินทร์ วรรณิสสร, ศศิธร วสุวัต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pikul.lib.ku.ac.th/agdb/. [21 พ.ค. 2014].
5. หน่วยงานในกรมชลประทาน ส่วนกลาง, กรมชลประทาน. “ไมยราบยักษ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kromchol.rid.go.th. [21 พ.ค. 2014].
6. เดลินิวส์. “ถ่านอัดแท่งไมยราบยักษ์ จากวัชพืชสู่พลังงานทดแทน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [21 พ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com/photos/adaduitokla/5918060342
2. https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Mimosa_pigra_%28Fabaceae%29.jpg
3. https://medthai.com/