ต้นไฟเดือนห้า
เป็นไม้ล้มลุก ก้านมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม ดอกเป็นช่อกระจุก รยางค์รูปมงกุฎสีเหลืองแกมส้ม เมล็ดเป็นรูปไข่แบนสีน้ำตาลเข้ม และมีขนยาวสีขาวขึ้นปกคลุม

ไฟเดือนห้า

ไฟเดือนห้า ประเทศไทยสามารถพบเห็นได้ตามป่า และตามริมทางในชนบท[1],[2] ชื่อสามัญ Bastard ipecacuanha, Butterfly Weed, Blood Flower, Milkweed, Silkweed[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Asclepias curassavica L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1],[3] ชื่ออื่น ๆ เหลียนเซิงกุ้ยจื่อฮวา จิงเฟิ่งฮวา (ภาษาจีนกลาง), เทียนใต้ (ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เทียนแดง (ในภาคกลาง), บัวลาแดง (จังหวัดเชียงใหม่), คำแค่ (จังหวัดแม่ฮ่องสอน), ไม้จีน (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), ค่าน้ำ เด็งจ้อน (จังหวัดลำปาง), ดอกไม้เมืองจีน ไม้เมืองจีน (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของไฟเดือนห้า

  • ต้น 
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทล้มลุกที่มีอายุอยู่ได้นานหลายปี
    – ลำต้นจะแผ่กิ่งก้านขยายออกมา ตามกิ่งก้านจะมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั่ว
    – กิ่งก้านมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม
    – ความสูงของต้นประมาณ 40-60 เซนติเมตร และบางต้นอาจสูงได้ถึง 1 เมตร
  • ใบ
    – รูปร่างของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอกยาว ตรงปลายใบแหลม และขอบใบเรียบ
    – ใบ เป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงตรงข้ามกันตามบริเวณกิ่งและก้าน
    – ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 7-13 เซนติเมตร และก้านใบสั้น[1]
  • ดอก
    – ดอกจะมีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ กลีบมีสีแดง ลักษณะของกลีบดอกคือกลีบดอกจะพับงอ และมีกระบังหรือรยางค์รูปมงกุฎที่มีสีเหลืองแกมส้ม ยื่นออกมาเล็กน้อย ส่วนก้านช่อดอกมีขนสั้น ๆ ขึ้นปกคลุม  มีความยาวประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร
    – ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน[1],[2]
    – ออกดอกในลักษณะที่เป็นช่อกระจุก โดยภายใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 7-20 ดอก ซึ่งจะออกช่อดอกที่บริเวณปลายกิ่งและง่ามใบ
  • ผล
    – ผลมีรูปร่างเป็นรูปทรงยาวคล้ายรูปกระสวย มีความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เมื่อผลแก่ ผลสามารถแตกออกได้[1],[2]
  • เมล็ด
    – เมล็ด มีขนาดความยาวอยู่ที่ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ลักษณะรูปร่างของเมล็ดเป็นรูปไข่แบนมีสีน้ำตาลเข้มและมีขนยาวสีขาวขึ้นปกคลุม ขนมีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร

สรรพคุณของต้นไฟเดือนห้า

1. ต้นนำมาใช้รักษาอาการติดเชื้อที่มดลูกหลังการคลอดบุตร (ต้น)[3]
2. ทั้งต้นนำมาทำเป็นยารักษาแผลในลำไส้ แก้บิด รักษาแผลในมดลูก และรักษาโรคกระเพาะอาหาร (ทั้งต้น)[6]
3. ต้นนำมาใช้ทำเป็นยารักษาโรคไข้ตรีโทษ (ต้น)[3]
4. ต้นมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงธาตุไฟในร่างกาย (ต้น)[3]
5. ในตำรับยารักษาโรคมะเร็งของหมอสมหมาย ทองประเสริฐ จะมีต้นไฟเดือนห้าเป็นส่วนประกอบหลัก จึงคาดว่าต้นมีสรรพคุณในการช่วยยับยั้งมะเร็ง
6. ใบนำมาใช้ทำเป็นยาแก้พิษฝี และยาฆ่าเชื้อโรคเรื้อน (ใบ)[3]
7. ใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคหนองในได้ (ใบ)[6]
8. ใบนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน (ใบ)[3],[6]
9. รากนำมาทำเป็นยาสำหรับรักษาอาการกระดูกหัก หรือกระดูกร้าว (ราก)[1]
10. รากนำมาใช้ทำเป็นยาทาภายนอก แก้อาการฟกช้ำ (ราก)[3]
11. รากนำมาใช้ทำเป็นยาแก้อาการปวดประจำเดือน (ราก)[1]
12. เมล็ดนำมาใช้ทำเป็นยารักษาโรคกลากเกลื้อน และอาการผดผื่นคันตามผิวหนัง (เมล็ด)[1]
13. นำเมล็ดในปริมาณ 6-10 กรัม มาต้มกับน้ำใช้รับประทานเป็นยารักษาฝีหนองภายนอก (เมล็ด)[1]
14. เมล็ดมีสรรพคุณทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นได้ (เมล็ด)[1]
15. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการคนที่มีเหงื่อออกมามาก ๆ ได้ (เมล็ด)[1]
16. เมล็ดนำมาใช้ทาน มีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวดประจำเดือน (เมล็ด)[1]
17. เมล็ดนำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับขับพิษเลือดในเดือนอยู่ไฟของสตรีได้ (เมล็ด)[1]
18. ทั้งต้น ใบ และเมล็ดจะนำมาใช้ทำเป็นยาห้ามเลือด แก้อาการอักเสบ และแก้ปวด (เมล็ด[1], ใบ, ทั้งต้น[6])
19. ต้นและเมล็ดมีสรรพคุณรักษาโรคหัวใจอ่อนแรงได้ (ต้น[3], เมล็ด[1])
20. ต้นและเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ต้น[3], เมล็ด[1])
21. นำเมล็ดในปริมาณ 6-10 กรัม มาต้มกับน้ำใช้รับประทานเป็นยาแก้อาการเต้านมอักเสบ หรือจะนำรากมาตำใช้พอกบริเวณที่เป็นก็สามารถทำได้เช่นกัน (ราก, เมล็ด)[1]
22. รากหรือทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยขับอาเจียน (ราก[1], ทั้งต้น[6])
23. นำดอกและเมล็ดในปริมาณที่เท่า ๆ กัน มาบดรวมกันให้เป็นผง ใช้สำหรับโรยลงบนบริเวณที่มีบาดแผล โดยมีสรรพคุณในการรักษาแผลสด (ดอก, เมล็ด)[1]

ประโยชน์ของต้นไฟเดือนห้า

1. ขนของเมล็ดสามารถนำไปใช้แทนนุ่นได้[4]
2. นำมาปลูกเป็นไม้ประดับสำหรับตกแต่งบ้าน ตกแต่งตามอาคาร หรือปลูกไว้ในสวนสาธารณะก็ได้ เนื่องจากดอกมีสีสันสดใสสวยงาม[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. จากการวิจัยต้น พบสารสำคัญ ได้แก่ Calotropin, Asclepin, Curassvicin และ Ascurogenin เป็นต้น และจากการทดลองกับสัตว์ทดลอง พบว่าสาร Calotropin  จะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งในโพรงจมูกที่อยู่นอกตัวของสัตว์ทดลองได้[1]
2. จากงานวิจัยพบว่า ยางจากต้นมีฤทธิ์ในการต่อต้านการเติบโตของเชื้อราบางชนิดได้[1]
3. จากการทดลองสารสกัดจากต้นในกระต่ายทดลอง ผลพบว่าสาร Curassicin, Ascurogenin และ Asclepin มีฤทธิ์ในการเข้าไปกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจของกระต่ายทดลองมีการบีบตัวแรงขึ้น[1]

ขนาดและวิธีใช้

1. เมล็ดนำมาใช้ในปริมาณครั้งละ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับทานเป็นยา
2. รากนำมาใช้ในปริมาณครั้งละ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้สำหรับรับประทานเป็นยา หรือนำมาตำใช้พอกบริเวณที่เป็นแผล[1]

ข้อควรระวังในการใช้

  • ส่วนของรากและดอก มีสาร Asclepiadin อยู่ ถ้านำมาใช้ในปริมาณที่มากเกินไป จะเป็นพิษได้ โดยถ้าหากนำมาให้สัตว์เลี้ยงกินในปริมาณที่มากจนเกินไป จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเป็นอัมพาต และทำให้ตายได้[2],[5]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ไฟเดือนห้า”.  หน้า 414.
2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ไฟเดือนห้า”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [06 พ.ย. 2014].
3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ไฟ เดือน ห้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [07 พ.ย. 2014].
4. ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “ไฟ เดือน ห้า ขนเมล็ดมีประโยชน์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.  [07 พ.ย. 2014].
5. ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา.  “พืชมีพิษในประเทศไทย (2)”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_display.asp.  [07 พ.ย. 2014].
6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “ไฟ เดือน ห้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [07 พ.ย. 2014].
7. https://medthai.com
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.gardensonline.com.au/
2.https://monarchbutterflygarden.net/