Home สมุนไพร หญ้าดอกขาว ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ

หญ้าดอกขาว ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ

0
หญ้าดอกขาว ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ
หญ้าดอกขาว ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีขนาดเล็ก เป็นสีเขียวเข้ม มีเส้นใบที่หลังใบ ดอกเป็นช่อกระจุกแน่น สีม่วงอ่อนอมแดง สีชมพู สีม่วง ดอกแก่เป็นสีขาว เปลือกผลสีน้ำตาลแข็งแห้ง
หญ้าดอกขาว
เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ใบสีเขียวเข้มมีเส้นที่หลังใบ ดอกเป็นช่อกระจุก สีม่วงอ่อนอมแดง สีชมพู สีม่วง ดอกแก่สีขาว เปลือกผลสีน้ำตาลแข็งแห้ง

หญ้าดอกขาว

ดอกขาว เป็นไม้กลางแจ้ง ต้องการน้ำปานกลาง ความชื้นปานกลาง สามารถพบเจอได้ทั่วไปตามทุ่งนาชายป่า สนามหญ้า ที่รกร้าง ชื่อสามัญ Purple-flowered fleabane, Ash-coloured ironweed, Little ironweed, Ash-coloured fleabane, Purple fleabane [6] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cyanthillium cinereum (L.) H.Rob. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Cacalia cinerea (L.) Kuntze, Conyza cinerea L., Vernonia cinerea (L.) Less.) อยู่วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[7] มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ม่านพระอินทร์, ซางหางฉ่าว (จีนกลาง), เซียวซานหู่ (จีนกลาง), เซียวซัวโห้ว (จีนแต้จิ๋ว), หญ้าหมอน้อย (จังหวัดกรุงเทพมหานคร), หนาดหนา (จังหวัดชัยภูมิ), ฝรั่งโคก (จังหวัดเลย), หญ้าสามวัน (จังหวัดเชียงใหม่), ยาไม่ต้องย่าง, เซียวซัวเฮา (จีนกลาง), หมอน้อย (จังหวัดกรุงเทพมหานคร), เสือสามขา (จังหวัดตราด), ถั่วแฮะดิน (จังหวัดเลย), ก้านธูป ต้นก้านธูป (จังหวัดจันทบุรี), หญ้าละออง (จังหวัดกรุงเทพมหานคร), เซียหั่งเช่า (จีนแต้จิ๋ว), ผ้ำสามวัน, เย่เซียงหนิว (จีนกลาง) [1],[2],[3],[7]

ลักษณะของหญ้าดอกขาว

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีขนาดเล็ก สามารถมีอายุได้ถึงประมาณ 1-5 ปี ต้นสูงประมาณ 20-80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงจะแตกกิ่งก้านนิดหน่อย กิ่งกับก้านเรียว เป็นร่อง มีขนสีเทาขึ้น และมีลายเส้นนูนขึ้นที่ตามข้อ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด[1],[4],[6]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับกัน ใบเป็นรูปใบหอก รูปขอบขนาน รูปไข่ รูปไข่กลับ รูปแถบ ปลา โคนใบมนหรือแหลม ใบกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีขนาดยาวประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตร มีเส้นใบที่หลังใบชัดเจน เป็นสีเขียวเข้ม ทั้งสองด้านจะมีขนขึ้น ใบที่โคนต้นนั้นจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าใบที่ปลายยอด[1],[2],[5]
  • ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแน่น ออกดอกที่บริเวณปลายยอด ช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 20 ดอก ดอกออกรวมเป็นช่อแยกแขนง มีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 5-35 เซนติเมตร ใบประดับเป็นรูปคล้ายระฆัง 4 ชั้น ดอกย่อยเป็นหลอด มีความยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ดอกเป็นสีม่วงอ่อนอมแดง สีชมพู สีม่วง ดอกบานเต็มที่จะสีดอกจะจางลง ดอกแก่เป็นสีขาว เมื่อดอกร่วงจะเห็นผลเป็นรูปทรงกระบอก[1],[6]
  • ผล เป็นรูปทรงกระบอกแคบ เป็นสีน้ำตาลเข้ม เปลือกผลจะแข็งแห้ง มีความยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ที่ด้านบนจะมีขนสีขาว ผลเป็นพู่แตกบาน ทำให้เมล็ดลอยตามลมได้ [1],[6]

ประโยชน์หญ้าดอกขาว

  • มีการพัฒนาเป็นยาในรูปแบบต่างๆ แบบผลิตภัณฑ์ผสมกาแฟ หมากฝรั่ง ลูกอมเม็ดแข็ง ชาชง แบบแผ่นฟิล์มละลายเร็ว แบบแคปซูล แบบลูกกวาดนุ่ม หาซื้อง่าย ปัจจุบันชาหญ้าดอกขาวถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2555 ในส่วนยาพัฒนาจากสมุนไพรสำหรับลดความอยากบุหรี่รูปแบบชง ใช้ทานครั้งละ 2 กรัม ด้วยการชงกับน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิเมตร ใช้ทานหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้ง ในรูปแบบชาชง คือนำหญ้าดอกขาวแห้งมาบดให้เป็นผงละเอียด บรรจุในถุงชาขนาดเล็ก วิธีทานคือนำถุงชาจุ่มลงน้ำร้อน ทิ้งไว้สักพัก อมในปากเป็นเวลาประมาณ 1-2 นาที ส่วนรูปแบบยาอมแบบอัดเม็ด มาจากการนำมาเคี่ยวทำเป็นผงแห้งก่อนอัดเม็ด รูปแบบนี้จะทำให้พกพาง่าย พกพาสะดวก ก่อนสูบบุหรี่ทุกครั้งให้นำมาอมไว้จนละลายหมดค่อยสูบบุหรี่ จะช่วยทำให้เลิกบุหรี่ได้ [3],[4]
  • ในปัจจุบันมีการใช้เป็นยาแก้อาการติดบุหรี่ เนื่องจากทานแล้วทำให้เหม็นบุหรี่และไม่อยากสูบบุหรี่ ทางโรงพยาบาลหลายแห่งใช้อย่างแพร่หลาย ต่อมาในปี พ.ศ.2547 มีการจดสิทธิบัตรในอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ที่ใช้สารสกัดจากที่ได้ใส่ในก้นกรองของบุหรี่เพื่อช่วยลดความอยากสูบบุหรี่[3]
  • ช่วยทำให้สมรรถภาพทางกายดีขึ้น เลือดมีคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มยิ่งขึ้น ทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่คั่งค้างในปอดลดลง ผลข้างเคียงของการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีนี้มีน้อยมาก (อย่างเช่น สมาธิแปรปรวน มีอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย)[3]

โทษของหญ้าดอกขาว

เมื่อทานยาชนิดนี้จะทำให้ไม่อยากอาหาร ปากแห้ง คอแห้ง (ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคไตเพราะมีโพแทสเซียมสูง) อาจมีประโยชน์ในการใช้เพื่อควบคุมน้ำหนัก[3]

สรรพคุณหญ้าดอกขาว

1. สามารถช่วยลดอาการอยากบุหรี่ โดยนำทั้งต้นมาประมาณ 2-3 ต้น ใส่น้ำให้พอท่วมยา ต้มให้เดือดเป็นเวลา 10 นาที ทานบ่อย ๆ หรือใช้รูปแบบชาชงขนาด 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง (ทั้งต้น)[3]
2. ทั้งต้นสามารถใช้เป็นยาแก้เด็กกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แก้ปัสสาวะรดที่นอน โดยนำลำต้นแห้งประมาณ 15-30 กรัม มาชงกับน้ำร้อนทานเป็นชา (ทั้งต้น)[2],[5],[6],[7]
3. สามารถใช้แก้อาการแขนขาไม่มีแรง แก้เหน็บชาได้ โดยทั้งต้น และกิ่งก้านใบทองพันชั่ง มาต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชา (ทั้งต้น)[3]
4. สามารถช่วยรักษาโรคเท้าช้างได้ (ใบ[5], ทั้งต้น[1])
5. สามารถช่วยรักษาแผลเบาหวานได้ โดยนำทั้งต้นรวมรากด้วยประมาณ 1-2 กำมือ มาต้มกับน้ำประมาณ 6-8 แก้ว ให้เดือด แล้วปล่อยให้เดือดกรุ่นประมาณ 5-10 นาที จนได้น้ำยาที่มีสีเหลืองแบบชา หรือตากแห้งแล้วนำมาต้มหรือใช้ชงทาน (ทั้งต้น)[3]
6. สามารถช่วยแก้บวม รักษาแผลบวมอักเสบ ดูดฝีหนองได้ (ทั้งต้น)[4],[5],[6]
7. ในตำรายาพื้นบ้านล้านนานำทั้งต้นรวมรากมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง ใช้ห้ามเลือด ใช้เป็นยารักษาแผลสด แผลเรื้อรัง ผิวหนังพุพอง และ (ทั้งต้น)[2],[6]
8. สามารถช่วยแก้ปัสสาวะขัด ช่วยขับปัสสาวะได้ โดยนำรากสด 30-60 กรัม ถ้าใช้รากแห้งให้ใช้ 15-30 กรัม มาต้มเอาน้ำทาน (ราก[6],[7], ใบ[5], ทั้งต้น[3])
9. สามารถนำเมล็ดป่นมาชงกับน้ำร้อนทานเป็นยาแก้ปัสสาวะขัด (เมล็ด)[4],[6],[7]
10. สามารถใช้เป็นยาแก้บิดได้ (ใบ[5], ทั้งต้น[1])
11. สามารถนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำใช้ดื่มแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ (ทั้งต้น)[2],[5],[6]
12. สามารถนำเมล็ดป่นมาชงกับน้ำร้อนทานเป็นยาแก้ท้องอืดได้ (เมล็ด)[6],[7]
13. สามารถช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ แก้ประสาทอ่อนได้ (ทั้งต้น)[1]
14. สามารถช่วยแก้เต้านมอักเสบได้ (ทั้งต้น)[1]
15. ใบ มีรสเย็น มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ และแก้หืด (ใบ)[5]
16. ใช้เป็นยาล้างปอดได้ดี มีการนำมาใช้แก้หอบ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ช่วยลดเสมหะ ช่วยน้ำมูกเวลาเป็นหวัด (ทั้งต้น)[3]
17. ถ้าเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ให้นำทั้งต้นมาตากแห้งไว้ต้มทานเป็นประจำ (ทั้งต้น)[3],[6]
18. ในตำรับยาลดความดันโลหิตสูงอีกวิธี ให้นำลำต้นแห้ง 15 กรัม, ต้นส้มดินแห้ง 15 กรัม, ต้นสะพานก๊นแห้ง 15 กรัม มาต้มรวมกัน เอาน้ำมาทาน[7]
19. สามารถช่วยบำรุงกำลังได้ (ทั้งต้น)[5]
20. ทั้งต้นมีรสขมชุ่ม จะเป็นยาเย็น จะออกฤทธิ์กับปอด ตับ มีสรรพคุณที่ทำให้เลือดเย็น เป็นยาแก้พิษ (ทั้งต้น)[1]
21. เมล็ดมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้พิษ โดยนำเมล็ดแห้ง 2-4 กรัม มาป่นให้ละเอียด ชงกับน้ำร้อนทาน (เมล็ด)[6],[7]
22. การแพทย์โบราณ การแพทย์พื้นบ้าน มีการใช้บรรเทาโรคและอาการต่าง ๆ เยอะมาก อย่างเช่น ไข้มาลาเรีย มะเร็ง ในกัมพูชาใช้เป็นยาลดไข้ในผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ในอินเดียใช้น้ำที่คั้นได้บรรเทาอาการปัสสาวะขัดในเด็ก บรรเทาอาการไอ เมล็ดสามารถใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม พยาธิเส้นด้าย เป็นต้น[6]
23. เมล็ด มีรสเฝื่อน สามารถนำมาตำใช้พอกช่วยกำจัดเหาได้ (เมล็ด)[5]
24. สามารถใช้รักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดข้อ โดยนำมาต้มทาน (ทั้งต้น)[3]
25. ในตำรับยาแก้ฟกช้ำ ใช้ทั้งต้นหญ้าดอกขาว, ทั้งต้นบัวบก, ทั้งต้นฝาง, ยาหัว, เถาไม้กระเบื้องต้น มาต้มกับน้ำทานจนหาย (ทั้งต้น)[3]
26. ทั้งต้นสามารถใช้ภายนอกเป็นยาแก้พิษงู ฝีหนอง ผ้ำ งูสวัด แผลกลาย (ทั้งต้น)[1],[3]
27. ในตำรับยาแก้ผ้ำหรืออาการติดเชื้อมีหนองในเนื้อเยื่อลึกคล้ายกับฝีแต่ไม่ใช่ฝี ให้นำมาต้มใช้ไอรมแผล เมื่อยาเย็นลงให้นำน้ำต้มยามาล้างแผล 1 วัน รม 3 ครั้ง 3 วัน โดยให้ใช้ยาหม้อเดิมทั้ง 3 วัน (ทั้งต้น)[3]
28. สามารถใช้แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน (ทั้งต้น)[1]
29. สามารถนำใบมาตำใช้พอกแก้กลากเกลื้อน เรื้อนกวางได้ (ใบ)[2],[5],[6]
30. สามารถนำเมล็ดมาตำใช้พอกหรือป่นชงกับน้ำร้อนทานเป็นยาแก้โรคผิวหนัง โรคผิวหนังด่างขาว โรคผิวหนังเรื้อรัง (เมล็ด)[5],[6],[7]
31. สามารถนำใบสดมาตำใช้พอกปิดแผล เป็นยาสมานแผล (ใบ)[2],[5],[6]
32. สามารถใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบเฉียบพลัน และแก้ดีซ่านได้ (ทั้งต้น)[1],[2],[5],[6]
33. สามารถช่วยแก้ริดสีดวงทวารได้ (ทั้งต้น)[5],[6]
34. สามารถใช้เป็นยาขับพยาธิได้ โดยนำรากสด 30-60 กรัม มาต้มกับน้ำแล้วเอาน้ำมาทาน (ราก[6],[7], ทั้งต้น[1])
35. สามารถนำเมล็ดแห้งประมาณ 2-4 กรัม มาป่นจนละเอียดชงกับน้ำร้อนทานเป็นยาขับพยาธิเส้นด้าย (เมล็ด)[4],[5],[6],[7]
36. สามารถนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคกระเพาะ แก้ท้องขึ้น แก้ปวดท้อง แก้ท้องร่วง แก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)[2],[3],[4],[5],[6]
37. สามารถนำทั้งต้นมาตำจนละเอียดใช้เป็นยาพอกแก้นมคัดได้ (ทั้งต้น)[4],[5],[6]
38. สามารถนำใบมาตำน้ำนมของคน แล้วกรองเอาน้ำใช้เป็นยาหยอดตา แก้ตาแฉะ ตาแดง ตาเปียก (ใบ)[2],[5],[6]
39. สามารถช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ใบ[5], ทั้งต้น[1])
40. สามารถนำเมล็ดมาป่นชงกับน้ำร้อนใช้ทานเป็นยาบำรุงธาตุ (เมล็ด)[6],[7]
41. ในตำรายาพื้นบ้านใช้ทั้งต้น 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 4 ถ้วย ใช้ดื่มต่างน้ำชาเป็นยาแก้ตกเลือด ยาบำรุงเลือด (ทั้งต้น)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • การศึกษาด้านความปลอดภัย ผลปรากฏว่ามีความปลอดภัยสูง[3] จากการศึกษาด้านพิษวิทยาผลปรากฏว่าสารสกัดในเมทานอลไม่ทำเกิดให้เกิดพิษเฉียบพลันในหนูเมื่อให้ทางปาก มีค่า LD50 สูงกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[6]
  • ราก ต้น ใบ มีสารสำคัญนั่นก็คือ Sodium nitrate ซึ่งจะทำให้ลิ้นชา ช่วยลดอาการอยากบุหรี่[5] จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของหญ้าดอกขาวกับยาหลอกในการลดการสูบบุหรี่ ผลปรากฏว่า หญ้าดอกขาวช่วยลดการสูบบุหรี่ได้มากกว่ากลุ่มควบคุม และหญ้าดอกขาวรูปแบบการนำไปเคี่ยว ก็คือนำหญ้าดอกขาวแห้ง 20 กรัม มาผสมน้ำ 3 แก้ว แล้วต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว นำมาอมในปากประมาณ 1-2 นาทีแล้วจึงค่อยกลืน แล้วค่อยสูบบุหรี่ จะทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยนไปจนทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ และลดจำนวนของมวนบุหรี่ที่ใช้สูบต่อวันได้ภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ ไม่ว่าสูบเบาหรือสูบหนักมาก่อนก็ตาม จากการวิจัยปรากฏว่าถ้าใช้ติดต่อกัน 2 เดือน จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ 60% ถ้าออกกำลังกายด้วยจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ 62% สามารถช่วยทำให้คนเลิกบุหรี่ 60-70% ถ้าออกกำลังกายด้วย[3],[4]
  • รากกับเมล็ดจะมีฤทธิ์ที่สามารถฆ่าเชื้อพยาธิได้[1],[7]
  • ใบจะมีฤทธิ์ที่ฆ่าเชื้อโรคได้นิดหน่อย ไม่มีฤทธิ์กับเชื้อมาลาเรีย[1],[7]
  • พบสารจำพวก Amino acids, Flavonoid glycoside, Phenols [1]
  • จากการศึกษาผู้ติดบุหรี่ผลปรากฏว่าหลังรักษาด้วยหญ้า 4 เดือน ผู้ติดบุหรี่มีอัตราเลิกสูบบุหรี่ 69.35% เหตุผลสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ นั้นก็คือ ลิ้นชา ทานอาหารไม่อร่อย ไม่อยากบุหรี่ รู้สึกเหม็นกลิ่นบุหรี่ สูบแล้วรู้สึกอยากอาเจียน และผู้ที่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ให้เหตุผลว่า การดื่มชาหญ้าดอกขาวเหมือนกับดื่มน้ำธรรมดา ไม่มีอาการอะไร[5]
  • ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ ผลปรากฏว่าจะมีฤทธิ์ที่เป็นยาลดไข้ ลดการอักเสบ แก้ปวด ต้านแบคทีเรีย ต้านไม่ให้รังสีแกมมาทำลายเซลล์ ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านเบาหวาน ต้านการกระจายตัวของมะเร็ง ขับปัสสาวะ ป้องกันไตไม่ให้ถูกทำลาย ต้านการเกิดแผล ต้านการอักเสบ [3],[6] และมีฤทธิ์ยับยั้งการทานอาหารของแมลงบางชนิด และการวิจัยใหม่มุ่งเน้นศึกษาฤทธิ์ต้านการเติมออกซิเจนและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ[6]
  • สารสกัดที่สกัดได้จากต้นด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ที่ลดการบีบตัวของลำไส้หนู เป็นพิษกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง[2]
  • น้ำต้มที่ได้จากส่วนที่อยู่เหนือดินจะมีฤทธิ์ที่ต้านการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการปวด ลดความดันโลหิตในสัตว์ทดลอง[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หญ้าหมอน้อย”. หน้า 604.
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เสือสามขา”. หน้า 223.
3. ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. “หญ้าดอกขาว หมอข้างกาย ทางสบายเลิกบุหรี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_herbal/. [13 ก.ค. 2014].
4. เดลินิวส์ 5 สิงหาคม พ.ศ.2555. “หญ้าดอกขาว สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่”.
5. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “หญ้าดอกขาวกับการลดการอยากบุหรี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th/dic/newsletter/newpdf/newsletter10_6/smokingherb.pdf. [14 ก.ค. 2014].
6. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2553. (อรลักษณา แพรัตกุล). “องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพของหมอน้อย และแนวทางการพัฒนาตำรับเพื่อใช้ช่วยเลิกบุหรี่”.
7. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หมอน้อย”. หน้า 819-820.

อ้างอิงรูปจาก
1. https://portal.wiktrop.org/
2. https://www.floraofbangladesh.com/