เจตมูลเพลิงแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago indica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Plumbago rosea L.) จัดอยู่ในวงศ์ PLUMBAGINACEAE เช่นเดียวกับเจตมูลเพลิงขาว ชื่อสามัญ Rose-colored leadwort, Rosy leadwort, Fire plant, Official leadwort, Indian leadwort ชื่อท้องถิ่นอื่น เจ็ดหมุนเพลิง (เลย) ปิดปีแดง (ภาคเหนือ) ปิดปิวแดง (ภาคใต้) ไฟใต้ดิน (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ตอชูกวอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ตั้งชู้โว้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) คุ้ยวู่ (มลายู-ปัตตานี) อุบ๊ะกูจ๊ะ (จีนกลาง) หงฮวาตัน จื่อเสี่ยฮวา
ลักษณะของเจตมูลเพลิงแดง
- ต้น เป็นไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุหลายปี ความสูงของต้นโดยประมาณ 1-1.5 เมตร บ้างว่าสูงได้โดยประมาณ 2-3 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านสาขารอบต้นมาก กิ่งก้านมักทอดยาว ยอดอ่อนมีสีแดง ส่วนลำต้นมีลักษณะกลมเรียบ กิ่งอ่อนมีสีเขียวปนแดงและมีสีแดงบริเวณข้อ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม พื้นที่เนินสูง และไม่ชอบที่ชื้นแฉะ มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทยเกือบทุกภาค สามารถพบได้ตามป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณทั่วไป
- ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะเชิงลด ช่อดอกยาวโดยประมาณ 20-90 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวโดยประมาณ 1-3 เซนติเมตร ในช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมากโดยประมาณ 10-15 ดอก โดยดอกจะออกเป็นช่อตั้งขึ้นที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด กลีบดอกบางมีสีแดงสด มี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กๆ ยาวโดยประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่กลับ ปลายกลีบกลมและมีติ่งหนามตอนปลาย ยาวโดยประมาณ 2 เซนติเมตร มีใบประดับและใบประดับย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ขนาดเล็ก ยาวโดยประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้านติดตรงข้ามกลีบดอก มีอับเรณูยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร รังไข่เป็นรูปรี ส่วนก้านเกสรเพศเมียมีหลายขนาดและมีขนยาวที่โคน ดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปใบหอก เป็นหลอดเล็กยาวโดยประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และมีขนเหนียวๆ ปกคลุม เมื่อจับดูจะรู้สึกว่าเหนียวมือ
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างโดยประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวโดยประมาณ 8-13 เซนติเมตร แผ่นใบบางมีสีเขียว แผ่นใบมักบิด ส่วนก้านใบและแกนกลางใบอ่อนมีสีแดง
- ผล ออกผลเป็นฝักกลม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรียาว ผลเป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกตามร่องได้
สรรพคุณของเจตมูลเพลิงแดง
1. ทั้งต้นหรือรากมีรสเผ็ดร้อน เป็นยาร้อน ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ ใช้เป็นยาขับเลือด ฟอกเลือด กระจายเลือดลม (ราก ทั้งต้น)
2. ใบนำมาป่นผสมกับพริกไทย ขมิ้นดำ ดีปลี และไพล แล้วปั้นเป็นลูกกลอนใช้เป็นยาบำรุงกำลังและขับลม (ใบ) บ้างว่าใช้รากเข้ายาบำรุงกำลัง (ราก)
3. รากมีรสร้อน ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงไฟธาตุในร่างกาย (ราก)
4. ช่วยแก้ธาตุพิการ (ราก) ช่วยรักษาอาการอันเกิดจากธาตุไฟทั้ง 4 เช่น หายใจถี่ มีอาการตัวเย็น นัยน์ตามัว เบื่ออาหาร ไอแห้ง ปวดท้องไม่หาย มือเท้าเป็นเหน็บชา ชอบนอนนานแล้วไม่อยากลุกขึ้น (ราก)
5. รากใช้เป็นยาบำรุง (ไม่ได้ระบุว่าบำรุงอะไร)
6. เนื่องจากรากเป็นยาที่ช่วยทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น จึงนำมาใช้เป็นขี้ผึ้งปิดอกถอนพิษ แก้ปอดชื้น ปอดบวมได้ดี (ราก)
7. ราก จัดอยู่มีตำรับยาขนานสุดท้ายที่ใช้แก้โรคหัวใจและอาการใจสั่น โดยมีส่วนผสมของสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ รากเจตมูลเพลิงแดง การบูร ชะมดเชียง เทียนดำ พิมเสน หัวดองดึง อย่างละ 2 บาท กฤษณา กะลำภัก จันทน์เทศ อย่างละ 3 บาท กำยาน ขิง ดอกดีปลี อย่างละ 8 บาท และสนเทศอีก 40 บาท นำทั้งหมดมาบดเป็นผง เติมน้ำมะนาวแล้วปั้นเป็นแท่ง นำไปผึ่งในที่ร่มให้แห้ง แล้วเก็บไว้ในขวดโหล ใช้รับประทานกับกระสายน้ำมะนาวเมื่อเกิดอาการใจสั่นได้ผลดีนัก
8. ช่วยบำรุงโลหิต (ราก)
9. แก้โลหิตเน่าเสีย (ราก)
10. ช่วยทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น (ราก)
11. ช่วยกระจายลม (ราก)
12. คนไทยในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย จะนำผ้ามาพันรากเพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง แล้วนำมาแขวนที่คอเพื่อใช้รักษาโรคดีซ่าน (อาการตาเหลือง ตัวเหลือง) (ราก)
13. ดอกใช้เป็นยาแก้โรคทำให้หนาวและเย็น (ดอก)
14. ต้นมีรสร้อน ใช้แก้โลหิตที่เกิดแต่กองกำเดา (ต้น)
15. ใบมีรสร้อน ใช้แก้ลมในกองเสมหะ (ใบ)
16. รากใช้เป็นยาขมทำให้เจริญอาหาร ด้วยการใช้ผงของราก นำมาผสมกับผงดีปลี ลูกสมอพิเภก (บ้างว่าผสมขิงหรือเกลือด้วย) อย่างละเท่ากัน นำมาบดเป็นผงรวมกัน นำมาใช้รับประทานกับน้ำร้อนครั้งละ 2.5 กรัมหรือประมาณ 1 ช้อนแกง (บ้างว่าใช้ทั้งหมดนี้ผสมในยาธาตุจะเป็นยาช่วยย่อยและยาเจริญอาหาร) (ราก)
17. ช่วยแก้อาการไอ (ราก)
18. ดอกใช้รักษาโรคตา (ดอก)
19. ผงรากช่วยระงับอาการปวดฟัน แต่ในประเทศฝรั่งเศสจะเอารากนำมาเคี้ยวเพื่อระงับอาการปวดฟัน (ราก)
20. ช่วยขับเสมหะ (ราก ใบ)
21. รากใช้เข้ายากับพริกไทย นำมาดองกับเหล้าดื่ม จะช่วยขับปัสสาวะ (ราก)
22. รากช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง (ราก) บ้างก็ว่าใช้ต้นเป็นยาแก้ปวดท้อง (ต้น ทั้งต้น)
23. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ ราก)
24. รากช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ผายเรอ แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเสียด จุกเสียด มีอาการแน่นหน้าอก ใบช่วยในการขับผายลม (ใบ ราก)
25. ช่วยขับพยาธิ (ราก)
26. ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (ราก)
27. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (ราก)
28. รากใช้เป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ราก)
29. ช่วยรักษากามโรค (ราก)
30. รากใช้เป็นยาช่วยขับประจำเดือนของสตรี ช่วยขับฟอกโลหิตระดู แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ มีอาการปวดท้องน้อยในช่วงมีประจำเดือน ด้วยการใช้รากแห้งโดยประมาณ 1-2 กรัม นำมาต้มกับน้ำสะอาด 2 ถ้วยแก้ว แล้วใช้รับประทานครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว (เนื่องจากรากมีฤทธิ์เพิ่มจังหวะและความถี่ในการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก คนสมัยโบราณจึงนำมาใช้ในกรณีที่สตรีคลอดบุตรแล้วรกไม่ตกออกมาด้วย) (ราก) บ้างก็ว่าใช้ต้นเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ต้น)
31. รากใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง ผงรากใช้เป็นยาทาภายนอกช่วยแก้โรคผิวหนังบางชนิด ทาแก้กลากเกลื้อน (ราก) ส่วนอีกตำรับยาแก้กลากเกลื้อน ระบุให้ใช้ต้นสด 20 กรัม นำมาตำให้แหลกใช้พอกบริเวณที่เป็นจนเริ่มรู้สึกแสบร้อนแล้วจึงเอาออก หรือจะใช้ต้นสดนำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้น้ำที่ได้จากการต้มนำมาล้างผิวหนังบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน (ต้น)
32. ใบมีรสร้อน ใช้เป็นยาแก้อพัทธปิตตะสมุฏฐาน (น้ำดีนอกฝัก) อาการปวดศีรษะและตัวร้อน สะท้านร้อนสะท้านหนาว จับไข้
33. รากใช้ผสมในยาบำรุงของสตรีหลังการคลอดบุตร เพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่ (ราก)
34. ดอกมีรสร้อน ใช้เป็นยาแก้พัทธปิตตะสมุฏฐาน (น้ำดีในฝัก) อาการที่ทำให้ใจขุ่นมัว คลั่งเพ้อ วิกลจริตไป (ดอก) บ้างว่าใบก็ช่วยแก้น้ำดีในฝักเช่นกัน (ใบ)
35. ช่วยแก้ดีไม่ปกติ (ใบ)
36. ใบนำมาตำใช้พอกบริเวณที่โดนตัวบุ้งที่ทำให้คัน โดยใช้ได้เหมือนใบเจตมูลเพลิงขาว แต่เจตมูลเพลิงแดงจะมีฤทธิ์แรงกว่าและใช้ได้ผลดีกว่า (ใบ)
37. แก่นใช้เป็นยาแก้ขี้เรื้อนน้ำเต้า ขี้เรื้อนกวาง (แก่น)
38. ผงจากรากใช้เป็นยาปิดพอกรักษาฝี ทำให้เกิดความร้อน ช่วยเกลื่อนฝีได้ (ราก) ตำรับยาแก้ฝีบวม ฝีบวมอักเสบ ให้ใช้ต้นสด 20 กรัม นำมาตำให้แหลกผสมกับเกลือเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นฝีจนเริ่มรู้สึกว่าร้อนแล้วให้เอาออก (เพื่อไม่ให้ผิวหนังเกิดพุพอง) (ต้น)
39. ช่วยแก้คุดทะราด (ราก)
40. กระพี้ใช้เป็นยาแก้เกลื้อนช้าง (กระพี้)
41. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย แก้อาการปวดตามข้อ ปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้นเข้าแทรก ด้วยการใช้รากแห้งโดยประมาณ 5-10 กรัม นำมาตุ๋นกับกระดูกหมูรับประทานเป็นยา หรือจะนำรากผสมเข้ากับยาดองเหล้า ใช้รับประทานเป็นยาก็ได้เช่นกัน (ราก)
42. ช่วยแก้อาการฟกช้ำ แก้เคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้ต้นสด 20 กรัม นำมาตำให้แหลกผสมกับเกลือเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นฝีจนเริ่มรู้สึกว่าร้อนแล้วให้เอาออก (ต้น)
43. ผลหรือลูกใช้เป็นยาแก้พยาธิผิวหนัง แก้ฝี (ผล)
44. รากใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค (ราก)
45. แก้บวม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
46. จัดอยู่ในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม ได้แก่ ตำรับ (ยาหอมนวโกฐ) และจัดอยู่ในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ตำรับ (ยาประสะกานพลู)
47. จัดอยู่ในตำรับ “ยามันทธาตุ” (ตำรับยาแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ธาตุไม่เป็นปกติ) ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ กระเทียม การบูร กานพลู โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐสอ โกฐหัวบัว จันทร์แดง จันทร์เทศ ดีปลี เทียนขาว เทียนดำ เทียนแดง เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน รากชะพลู รากเจตมูลเพลิงแดง รากไคร้เครือ เถาสะค้าน ลูกจันทร์ ลูกผักชีล้อม ลูกผักชีลา เปลือกสมุลแว้ง เปลือกโมกมัน พริกไทยล่อน หนักอย่างละ 1 ส่วน ขิง และลูกเบญกานี หนักอย่างละ 3 ส่วน (ราก)
48. ช่วยรักษาโรคอัมพาต (ราก)
49. จัดอยู่ในตำรับยา (เบญจกูล) ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพร 5 ชนิด อันได้แก่ รากเจตมูลเพลิงแดง รากชะพลู เหง้าขิงแห้ง เถาสะค้าน และ ผลดีปลี โดยเป็นตำรับยาที่เป็นยาแก้โรคในกองเตโชธาตุ (ใช้รากเจตมูลเพลิง 16 ส่วน) กองวาโยธาตุ (ใช้รากเจตมูลเพลิง 8 ส่วน) และกองอากาศธาตุ (ใช้รากเจตมูลเพลิง 2 ส่วน) และยังช่วยปรับสมดุลในร่างกายของผู้ป่วยมะเร็ง สามารถช่วยต้านเซลล์มะเร็งปอดและมะเร็งเต้านมได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันการทำงานของ NK Cells ช่วยกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ต้านการอักเสบ ช่วยยับยั้งการอักเสบได้ทั้งแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลัน โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับในยาในกลุ่มของสเตียรอยด์ แต่จะให้ผลดีกว่ายาสเตียรอยด์ ชนิด Phenylbutazone และยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา Candida albicans และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดหนอง เช่น Bacillus subtilis, Staphylococcus aureus
50. จัดอยู่ในต้นตำรับยา ธรณีสัณฑะฆาต (ตำรับยาคลายเส้น) ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ กานพลู โกฐกระดูก โกฐเขมา โกฐน้ำเต้า ขิง ชะเอมเทศ ลูกกระวาน ลูกเร่ว ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ เทียนขาว เทียนดำ รากเจตมูลเพลิงแดง หัวกลอย หัวกระดาดขาว หัวกระดาดแดง หัวดองดึง หนักอย่างละ 1 ส่วน ผักแพวแดง เนื้อลูกมะขามป้อม หนักอย่างละละ 2 ส่วน, รงทอง (ประสะแล้ว) หนัก 4 ส่วน การบูร เนื้อลูกสมอไทย มหาหิงคุ์ หนักอย่างละ 6 ส่วน ยาดำ หนัก 20 ส่วน และพริกไทยล่อน หนัก 96 ส่วน (ราก)
51. นอกจากนี้ยังมีตำรับยาอีกหลากหลายขนานที่เข้ารากเจตมูลเพลิงแดงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น ยาหอมอินทจักร์ ตำรับยาแก้ไข้ทับระดูและระดูทับไข้ ตำรับยาแก้โรคเหงื่อออกมาก ยาแก้โรควิงเวียนหน้ามืดตาลาย ตำรับยาขนานใหญ่ แก้โรคลมอัมพาต ยาแก้โรคลมต่าง ๆ ยาแก้โรคประสาท ยาแก้โรคกระเพาะ ยาแก้ธาตุทั้งสี่แปรปรวน เป็นต้น
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
1. ทั้งต้นพบสาร Plumbagin, D-Naphthaquinone เป็นต้น
2. มีฤทธิ์บีบมดลูกทำให้แท้งได้โดยพบว่าสารสกัดที่ได้จากน้ำต้มของราก เมื่อนำมาทดลองกับมดลูกที่อยู่นอกร่างกายของหนู พบว่ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว หากสตรีมีครรภ์รับประทาน จะมีผลทำให้มดลูกมีการบีบตัว
3. รากมีสารจำพวกแนฟธาควิโนน (Naphthaquinone) ชื่อว่า Plumbagin, 3-chloroplumbagin, α-naphthaquinone ฯลฯ ประโยชน์ทางยาคือมีกลิ่นฉุนและมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อเมือก (Mucous membrane) หากถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือเป็นผื่นแดงไหม้
4. สาร Plumbagin มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเต้นของหัวใจ และมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดเส้นใหญ่ของหัวใจ ทำให้ความดันโลหิตลดลง
5. สาร Plumbagin เมื่อนำมาฉีดเข้าในกระต่ายทดลองในอัตราส่วน 0.01 กรัมต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าจะทำให้กระต่ายเสียชีวิต
6. สาร Plumbagin มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อจุลินทรีย์ ต้านมาลาเรีย ต้านโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ต้านความสามารถในการสืบพันธุ์ ต้านการเกิดเนื้องอก ช่วยต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้และเซลล์มะเร็งทุกชนิด
7. รากมีสาร Plumbagin ที่นอกจากจะมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้แล้ว ยังมีฤทธิ์ในการบีบลำไส้ช่วยทำให้มีการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มมากขึ้น จึงช่วยเพิ่มความอยากอาหารได้ แต่อาจทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารและอาจเป็นพิษได้
8. Kubo และคณะ (1983) ได้รายงานว่า สาร Plumbagin มีผลต่อการยับยั้งการสังเคราะห์ Chitin ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดแมลงทางด้านการเกษตรได้
9. Fetterer และคณะ (1991) ได้พบว่า สาร Plumbagin สามารถยับยั้งการเคลื่อนที่และการมีชีวิตของตัวอ่อนระยะที่ 1 ของไส้เดือนฝอย Haemonchis contonus และตัวอ่อนระยะที่ 4 และระยะเอมบริโอของไส้เดือนฝอย Ascaris suum ได้
10. มีการนำ Napthoquinone ธรรมชาติ ที่แยกได้จากรากของเจตมูลเพลิง มาใช้เป็นยาพื้นบ้านเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ มากมาย โดยส่วนประกอบที่มีอยู่มีความสัมพันธ์อย่างเฉพาะเจาะจงกับการต่อต้านยีสต์และแบคทีเรีย ซึ่งจากการทดสอบพบว่า สามารถยับยั้ง Candida albicans ได้ที่ความเข้มข้น 0.78 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และสามารถยับยั้ง Staphylococcus aureus ได้ที่ความเข้มข้น 1.56 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร จากผลดังกล่าว จึงน่าจะทดลองใช้ Plumbagin เพื่อเป็น Antimicrobial agent ได้ (Panichayupakaranant และคณะ, 2001)
11. สิริวรรณและคณะ (2546) ได้พบว่า สารสกัดจากรากสามารถแสดงผลการยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ทุกไอโซเลทได้ 100% โดยใช้วิธี Glass slide
12. แพทย์แผนโบราณจะนิยมใช้รากของเจตมูลเพลิงแดงมากกว่าเจตมูลเพลิงขาวเพราะมีฤทธิ์ที่แรงกว่า โดยรากที่นำมาใช้เป็นยาถ้าจะให้ได้ผลดีต้องมีอายุ 3 ปีขึ้นไป
13. บ้างว่ามีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด (ไม่ยืนยัน)
ประโยชน์ของเจตมูลเพลิงแดง
1. ยอดอ่อนและใบมีรสชาติเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม ใช้รับประทานเป็นผักสดได้ หรือนำมาใส่ข้าวยำ หรือนำไปปรุงเป็นอาหาร เช่น ทำแกงคั่ว แกงเผ็ด แกงเนื้อ เป็นต้น
2. เปลือกใช้เป็นยาฆ่าแมงคาเรืองเข้าหู
ข้อควรระวังในการใช้
1. ห้ามรับประทานเกินกว่าปริมาณที่กำหนด เพราะจะมีผลทำให้เส้นเลือดในมดลูกแตกและมีอาการตกเลือดได้
2. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เพราะมีสารที่ทำให้แท้งบุตรได้ ซึ่งในประเทศไทยและมาเลเซียถือว่าสมุนไพรชนิดนี้เป็นยาทำแท้ง
3. ยางจากรากเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้ผิวหนังไหม้และพองได้เหมือนโดนเพลิงไฟ จึงได้ชื่อว่า “เจตมูลเพลิง” ส่วนคนใต้จะเรียกว่า “ไฟใต้ดิน” ดังนั้นในการจะจับต้องรากในขณะเก็บมาใช้ ก็ต้องสวมถุงมือเสียก่อน เพื่อป้องกันอาการปวดแสบปวดร้อน
4. เจตมูลเพลิงมีสาร Plumbagin ที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารและอาจเป็นพิษได้ จึงควรระมัดระวังในการใช้
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เจตมูลเพลิงแดง (Chetta Mun Phloeng Daeng)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 98.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เจตมูลเพลิงแดง Rose-colored Leadwort”. หน้า 169.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เจตมูลเพลิงแดง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 186.
4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เจตมูลเพลิงแดง”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 232-233.
5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เจตมูลเพลิงแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [2 มี.ค. 2014].
6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เจตมูลเพลิงแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [2 มี.ค. 2014].
7. ผู้จัดการออนไลน์. “สมุนไพรไม้เป็นยา : เจตมูลเพลิงแดง ต้านการเกิดเนื้องอก”. อ้างอิงใน: นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556. (รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [3 มี.ค. 2014].
8. ครูบ้านนอกดอทคอม. “สมุนไพรใกล้บ้าน มารู้จัก “เจตมูลเพลิง” กันดีกว่า”. อ้างอิงใน: มติชนกรุ๊ป. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kroobannok.com. [3 มี.ค. 2014].
9. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “เจตมูลเพลิงแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [3 มี.ค. 2014].
10. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “เจตมูลเพลิงแดง, ปิดปิวแดง”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [3 มี.ค. 2014].
11. เวชพงศ์โอสถ, คลังแห่งสมุนไพร. “คลังแห่งความรู้ของยาสมุนไพร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.vejpongosot.com. [3 มี.ค. 2014].
12. ปัญหาพิเศษปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร คณะเกษตร กำแพงแสนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (ศกุนตลา พร้อมมูล, 2548). “ผลของสารสกัดจากต้นหยาดน้ำค้างและรากเจตมูลเพลิงแดงต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv. citri เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides และ Colletotrichum capsici”.
13. พันวสา. “เจตมูลเพลิงแดง”. อ้างอิงใน: หนังสือคู่มือเภสัชกรรมแผนแพทย์ไทย เล่ม 2 เครื่องยาพฤกษวัตถุ (ชยันต์ พิเชียรสุนทร และวิเชียร จีรวงส์), หนังสือ 20 ปี สวนสมุนไพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, อภัยภูเบศรสาร ฉบับที่ 97 และฉบับที่ 105. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panvasa.com. [3 มี.ค. 2014].
14. มหาวิทยาลัยแม่โจ้. “การศึกษาการขยายพันธุ์และการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชสมุนไพรในสภาพหลอดแก้ว”. (ทิพย์สุดา ปุกมณี, นพมณี โทปุญญานนท์, รังสิมา อัมพวัน, วรวรรณ ชาลีพรหม, จักรพงษ์ พิมพ์พิมล, เรณู สุวรรณพรสกุล).
15. กรุงเทพทิพโอสถ. “เจตมูลเพลิงแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkoktiposod.com. [3 มี.ค. 2014].
16. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “เจตมูลเพลิงแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [3 มี.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flora-toskana.com/en/permanent-blossom/496-plumbago-indica-indische-bleiwurz-rot.html
2. https://www.medicinalplantsanduses.com/plumbago-indica-plant-medicinal-uses