หนาดใหญ่
เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุก ดอกเป็นช่อสีเหลืองขนาดเล็ก ดอกแก่เป็นสีขาว ผิวใบมีขนละเอียด และมีกลิ่นหอม ผลแห้งไม่แตกเป็นสีน้ำตาล โค้งงอเล็กน้อย

หนาดใหญ่

หนาดใหญ่ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชื่อสามัญ Ngai Camphor Tree[1], Camphor Tree[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Blumea balsamifera (L.) DC.จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[4] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ใบหลม ผักชีช้าง พิมเสน หนาดใหญ่ (ภาคกลาง), คำพอง หนาดหลวง (ภาคเหนือ),ใบหรม (ใต้), เพาะจี่แบ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ด่อละอู้ (ปะหล่อง),หนาด (จันทบุรี), จะบอ (มลายู-ปัตตานี), ส้างหยิ้ง (ม้ง), อิ่มบั้วะ (เมี่ยน), ตั้งโฮงเซ้า ไต่ฮวงไหง่ ไหง่หนับเฮียง (จีน), เก๊าล้อม (ลั้วะ),ต้าเฟิงไอ๋ ไอ๋น่าเซียง (จีนกลาง), แน พ็อบกวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)เป็นต้น[1],[3],[6]

ลักษณะของหนาดใหญ่

  • ต้น เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีกลิ่นหอม สูง 1-4 เมตร ลำต้นกลมตั้งตรงเปลือกต้นเรียบเป็นสีเขียวอมขาว หากแก่แล้วจะกลายเป็นสีน้ำตาลแกมเทา มีกิ่งก้านมาก กิ่งก้านมีขนนุ่มยาวสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุม สามารถขยายพันธุ์ด้วยการใช้ผลหรือเมล็ด มักพบขึ้นตามที่รกร้าง หรือหุบเขาทั่วไป[1],[2],[3]
  • ดอก เป็นดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบเป็นช่อกลม ช่อดอกมีขนาดโตไม่เท่ากัน กว้าง 6-30 เซนติเมตร ยาว 10-50 เซนติเมตร มีริ้วประดับหลายชั้น ริ้วประดับอาจยาวกว่าดอก ลักษณะของดอกย่อยมีสีเหลืองขนาดเล็กเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อบานปลายกลีบจะแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ เมื่อแก่แล้วกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีขาว กลีบดอกมีลักษณะติดกันเป็นหลอดยาวได้สูงสุด 6 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงลักษณะเป็นเส้นฝอยปลายแหลมหุ้มอยู่บริเวณโคนดอก ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้ยื่นออกมา 5 อัน[1],[2],[3],[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนาน ผิวใบมีขนละเอียดหนาแน่น และมีกลิ่นหอม ใบมีขนาดกว้าง1.2-4.5 เซนติเมตรและยาว 10-17 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ก้านใบสั้นหรืออาจไม่มีก็ได้[1],[2],[3]
  • ผล เป็นรูปขอบขนาน ยาวราวๆ 1 มิลลิเมตร ผลแห้งไม่แตกเป็นสีน้ำตาล โค้งงอเล็กน้อย เป็นเส้น 5-10 เส้น มีขนสีขาวปกคลุมอยู่ส่วนบน[1],[2],[3],[4]

ประโยชน์ของหนาดใหญ่

  • สามารถใช้ใบมาทำเป็นที่ประพรมน้ำมนต์ร่วมกับกิ่งพุทราเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย[6]
  • มีความเชื่อจากฟิลิปปินส์ว่า ใบหนาดหากพกติดตัวจะทำให้ปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆและมีความเชื่อจากมาเลเซียอีกว่า สามารถช่วยป้องกันตัวเวลาออกล่าช้างป่าส่วนในบ้านเรามีความเชื่อว่า สามารถป้องกันผีได้
  • ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพิมเสนใช้ในปัจจุบัน[3]

พิมเสนหนาด คือส่วนที่นำใบและยอดอ่อนมาสกัดด้วยไอน้ำจะได้เป็นน้ำมันหอม เมื่อเย็นตัว พิมเสนก็จะตกผลึก จากนั้นกรองแยกเอาผลึกพิมเสนมาประมาณ 0.15-0.3 กรัม นำไปทำเป็นยาเม็ดกินหรือนำมาป่นให้เป็นผงละเอียดใช้ก็ได้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • สารสกัด ใช้ในการป้องกันและรักษาไขมันในเลือดสูงและโรคหลอดเลือดตีบใช้กันเมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศจีน[2]
  • นำสารสกัดจากใบมาฉีดให้กับคนจะพบว่าสามารถแก้ความดันโลหิตสูง กระวนกระวายใจ อาการนอนไม่หลับ และช่วยในการขับปัสสาวะ และเมื่อนำมาฉีดเข้ากับสัตว์ทดลอง พบว่าช่วยลดความดันโลหิต ทำให้กล้ามเนื้อลายหดตัว ขยายหลอดลม และช่วยยับยั้ง Sympathetic nerveได้[1],[3]
  • สารที่พบคือ น้ำมันหอมระเหย และในน้ำมันหอมระเหยพบสาร Borneol, Cineole, Di-methyl ether of phloroacetophenone, Limonene และยังพบสารจำพวก Hyperin, Amino acid, Flavonoid glycoside,Erysimin ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าพบสาร blumealactone, borneol, flavanone, quercetin, xanthoxylin[2]
  • สารผสม ถูกใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจวาย โรคหลอดเลือดตีบในปริมาณ 5:1000 มิลลิกรัม พบเมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศจีน[2]
  • น้ำต้มที่ได้จากรากและใบ ในความเข้มข้นร้อยละ 1 มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ และเมื่อนำมาเปรียบเทียบฤทธิ์ในการขับปัสสาวะของน้ำต้มจากกาเฟอีนและใบชา พบว่าหนาดจะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอ่อนกว่าเล็กน้อย[3]
  • สามารถยับยั้งการเกาะกลุ่มของเซลล์ ยับยั้งเอนไซม์ ยับยั้งการหลั่งของฮีสตามีน ฆ่าปลา ขับปัสสาวะ[2]

สรรพคุณของหนาดใหญ่

1. ใบ มีสรรพคุณในการแก้ปวดกระดูกและเอ็นได้(ใบ)[7]
2. สามารถเป็นในการแก้ปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้น แก้ปวดเมื่อยตามร่างกายโดยการใช้รากและใบทำเป็นยา (รากและใบ)[1],[3] แก้อาการปวดเมื่อยหลังการคลอดบุตรได้ โดยการใช้รากต้มกับน้ำกินเป็นยา(ราก)[1],[4]
3. สามารถแก้อาการปวดข้อ แก้บวม แก้แผลฟกช้ำโดยการนำรากมาต้มเอาน้ำกินเป็นยา(ราก)[1],[2],[4]
นำใบมาบดเป็นผงผสมเหล้า ใช้เป็นยาทาแก้ปวดบวม ปวดข้อ ปวดเอว ปวดหลังได้(ใบ)[1],[2],[7] ใช้ยอดอ่อนหรือใบหนาดใหญ่ รากว่านน้ำเล็กสด ใบละหุ่งสด อย่างละเท่าๆกัน นำมาต้ม ใช้น้ำต้มชะล้างบริเวณที่บวมเจ็บ หรือตามข้อที่ปวด(ใบ)[7]
4. ใบ สามารถใช้เป็นยาพอกแก้หิดได้ (ใบ)[7]
5. ใบสามารถรักษาแผลสด แผลฟกช้ำจากการกระแทก ฝีบวมอักเสบ แผลฝีหนอง แก้กลากเกลื้อนได้
โดยการนำใบมาบดให้เป็นผงผสมกับเหล้าใช้พอกหรือทา หากนำใบมาตำพอกจะสามารถช่วยห้ามเลือดได้(ใบ)[1],[2],[4],[7] ทำให้แผลหายเร็วขึ้นได้โดยการนำใบหรือผงใบแห้งมาคั้นเอาน้ำและใช้ทาบริเวณแผล (ใบ)[7]
6. สามารถทำเป็นยาพอกแก้ม้ามโตได้โดยการ ใช้ใบตำร่วมกับใบเพกา ใบยอและใบกระท่อม (ใบ)[7]
7. ใบ ในจีนมีการสร้างยาทำให้แท้ง[4]
8. สามารถช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นโดยการใช้ใบหนาดอ่อนนำมาต้มกับน้ำร่วมกับ ใบเดื่อฮาก ใบก้านเหลือง ใบช่าน ใบฝ่าแป้ง เครือไฮ่มวย ว่านน้ำเล็ก ต้นสามร้อยยอด ลำต้นป้วงเดียตม ต้นถ้าทางเมีย ให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟอาบ ชาวเมี่ยนนิยิมใช้วิธีนี้(ใบ)[6]
9. สามารถช่วยในการขับประจำเดือน (ใบ)[4] และยังสามารถใช้เป็นยาแก้มุตกิด ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติได้(ใบ[4],รากและใบ[3]) สามารถทำยาแก้ประจำเดือนออกมากผิดปกติได้ โดยการใช้น้ำคั้นหรือน้ำต้มจากใบหรือจากราก นำมาทานเป็นยา วิธีนี้นิยมในชวา (ใบ, ราก)[7]
10. สามารถทำเป็นยาแก้ท้องเสีย ท้องร่วง ปวดท้องได้ โดยการใช้รากต้มเอาน้ำทานเป็นยา(ราก)[1],[2],[4]
ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้บิด แก้ท้องร่วงได้โดยการใช้ส่วนใบมาต้มเอาน้ำกิน(ใบ)[1],[2],[4],[7] ใช้พิมเสนสามารถทานเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องร่วงได้(พิมเสน)[1],[4]
11. สามารถแก้ลมขึ้นจุกเสียดแน่นเฟ้อได้ (ใบ[1],[4], รากและใบ[3])
12. สามารถรักษาโรคหืดได้ โดยการใช้ใบมาทำเป็นยา[2] ใบมีสาร cryptomeridionซึ่งสามารถลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลมได้ สามารถนำใบบดมาผสมกับการบูร ต้นข่อย แก่นก้ามปูและพิมเสน แล้วมวนด้วยใบตองแห้งสูบรักษาโรคหืด(ใบ)[4]
13. ใบมีสรรพคุณที่สามารถช่วยในการขับเหงื่อได้(ใบ)[1],[2],[4] ใช้ใบร่วมกับต้นตะไคร้ ต้มให้เดือดแล้วนำมาอบตัวจะช่วยในการขับเหงื่อได้ โดยนิยมใช้ในอินโดจีน (ใบ)[7]
14. ใช้กินเป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรียได้ โดยการใช้ยอดอ่อนมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆจากนั้นนำไปตุ๋นใส่ไข่ วิธีนี้ได้มาจากชาวม้ง(ยอดอ่อน)[6]
15. หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ใบและลำต้นหนาดใหญ่ร่วมกับใบเป้าใหญ่และใบมะขาม มาต้มอาบสามารถช่วยแก้อาการหน้ามืด วิงเวียน ตาลายได้(ต้นและใบ)[4]
16. ใช้ใบสดมาหั่นให้เป็นฝอย ตากแดดและมวนกับยาฉุนใช้สูบจะสามารถเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูกได้ (ใบ)[1],[4],[7]
17. สามารถใช้พอกศีรษะเพื่อแก้อาการปวดศีรษะได้ โดยการใช้ใบมาตำกับใบขัดมอญ นิยมวิธีนี้ในกัมพูชา(ใบ)[7]
18. สามารถช่วยในการระงับประสาทได้(ใบ, ทั้งต้น)[4]
19. ใช้เป็นยาฟอกเลือดช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยขับลมชื้นในร่างกายได้ เนื่องจากใบและรากมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาร้อนเล็กน้อย มีฤทธิ์ต่อตับ กระเพาะ ม้ามและลำไส้ (ใบและราก)[3]
20. ใช้เป็นยาบำรุงให้แก่สตรีหลังคลอดบุตรได้ (ใบ)[4] ช่วยให้สตรีหลังคลอดบุตรฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยใช้เป็นส่วนผสมของยาได้แก่ ไพล ใบหนาด เปล้าหลวง ราชาวดีป่า และอูนป่า ต้มในสตรีหลังคลอดอาบ[6]
21. ใบช่วยทำให้เจริญอาหาร และเป็นยาบำรุงธาตุ(ใบ)[4]
22. ใช้เป็นส่วนผสมของยาอบสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณแก้น้ำเหลืองเสีย โรคผิวหนังพุพองได้ โดยเป็นสูตรช่วยบำรุงผิวพรรณ บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต (ใบ)[5]
23. ใบมีสรรพคุณที่ช่วยแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อได้ (ใบ)[4]
24. ใช้รากหนาด 30 กรัม, เหลี่ยงเมี่ยนเจิน 6 กรัม, เถาหีบลมเทศ 30 กรัมนำมารวมกันต้มกับน้ำกินสามารถแก้ปวดข้อ ไขข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้นได้(ราก)[3] ใบก็สามารถทำเป็นยาแก้โรคไขข้ออักเสบได้เช่นกัน (ใบ)[4]
25. ช่วยบำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น และช่วยแก้หิดได้โดยการใช้ใบผสมในน้ำอาบสมุนไพรหลังคลอด (ใบ)[4]
26. นำใบมาตำให้ละเอียด ใส่ด่างทับทิมและน้ำพอประมาณ จะใช้เป็นยารักษาโรคเรื้อนได้โดยการนำมาปิดบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)[4]
27. สามารถช่วยรักษาแผลอักเสบ แผลฟกช้ำ แก้กลากเกลื้อนและทำให้แผลหายเร็วขึ้นได้ โดยการใช้ผงพิมเสนมาโรยใส่แผล(พิมเสน)[1],[4],[7]
28. ใช้ใบหนาด 20 กรัม, โด่ไม่รู้ล้ม 20 กรัม, จิงเจี้ย 20 กรัม,ขู่เซินจื่อ 20 กรัม,เมล็ดพุดตาน 15 กรัม,ใบสายน้ำผึ้ง 30 กรัม,ไป๋เสี้ยนผี 30 กรัมนำมารวมกันต้มเอาน้ำชะล้างแผลสามารถแก้เริมบริเวณผิวหนังได้(ใบ)[3]
29. ใช้เอี๊ยะบ๊อเช่า 18 กรัมและใช้รากหนาด 30 กรัมนำมารวมกันต้มกับน้ำกินสามารถช่วยในการแก้ปวดประจำเดือนได้(ราก)[3]
30. ใช้ใบหนาดร่วมกับใบหมากป่า และใบเปล้าหลวงใช้เป็นยาสมุนไพรอาบเพื่อรักษาอาการผิดเดือนสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตรได้ ชาวลั้วะจะใช้รากมาต้มผสมกับรากเปล้าหลวงในน้ำ สามารถใช้เป็นยาห่มรักษาอาการผิดเดือนได้ (ราก, ใบ)[6]
31. ทำเป็นยาขับพยาธิได้ โดยใช้น้ำต้มจากใบและยอดอ่อนมาดื่มเป็นยา(ใบ)[1],[4]และทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ทั้งต้น)[4]
32. สามารถช่วยในการขับลมในลำไส้ (ราก, ใบ, พิมเสน)[1],[2],[4]
33. ชาวลั้วะใช้ใบมานวดบริเวณอกเพื่อแก้อาการเจ็บหน้าอก หากยังไม่หายจะใช้ต้นมาต้มกับน้ำดื่ม(ต้น, ใบ, ทั้งต้น)[4],[6]
34. มีสรรพคุณช่วยในการขับเสมหะ (ต้น, ใบ)[1],[2],[4]
35. สามารถทำเป็นยาแก้หวัดได้โดยการใช้รากมาต้มกับน้ำทาน(ราก, ใบและราก)[3],[4]
36. ทำเป็นยาแก้ไข้ได้ โดยใช้ใบและยอดอ่อนต้มกับน้ำทาน(ใบ)[1],[2],[4] ทั้งต้น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ลมแดดได้(ทั้งต้น)[4] สามารถนำต้นมาต้มอาบแก้ไข้ได้โดยนิยมในชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน(ต้น)[6] สามารถทำเป็นยาทานแก้ไข้ได้ โดยใช้ใบนำมาต้มรวมกับเทียนดำ หัวหอมเล็ก หรือจะบดกับเกลือก็ได้ (ใบ)[7]
37. ทำให้เลือดหยุดไหลได้ โดยการนำใบมาขยี้แล้วใช้ยัดบริเวณจมูก(ใบ)[6]
38. พิมเสนสามารถช่วยแก้ตาเป็นต้อได้ (พิมเสน)[7]
39. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้อหิวาตกโรคได้ (ทั้งต้น)[4]
40. มีสรรพคุณใช้เป็นยาลดความดันโลหิต (ใบ, ทั้งต้น)[4]
41. ทำให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้นโดยการใช้รากสดมาต้มเอาน้ำดื่ม(ราก)[1],[2],[4]
42. ใช้เข้ายาห่มตำรับไทลื้อ บำรุงร่างกายและผิวพรรณได้โดยการนำใบมาสับแล้วตากให้แห้ง (ใบ)[6]
43. สามารถใช้เป็นยาบำรุงกำลังได้ โดยการใช้ใบและยอดอ่อนต้มเอาน้ำดื่ม(ใบ)[1],[2],[4]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หนาดใหญ่”. หน้า 813-815.
2. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “หนาดใหญ่” หน้า 192.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หนาดใหญ่”. หน้า 610.
4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หนาดใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [30 ก.ย. 2014].
5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หนาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [30 ก.ย. 2014].
6. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หนาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [30 ก.ย. 2014].
7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 17 คอลัมน์ : อื่น ๆ. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “หนาดใหญ่และผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [30 ก.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://tcmwiki.com/
2. https://blog.xuite.net/
3. https://medthai.com/