ต้นพิษนาศน์
ไม้พุ่มขนาดเล็ก ดอกเป็นช่อกระจะรูปดอกถั่ว กลีบดอกสีม่วงเข้ม ฝักจะมีขนละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุม

ต้นพิษนาศน์

ต้นพิษนาศน์ถูกจัดให้เป็นพรรณไม้ประเภทพุ่มที่มีขนาดเล็กลำต้นสั้นจัดอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว ใช้รากต้มกับน้ำดื่มเป็นยากระตุ้นน้ำนมแม่ลูกอ่อนช่วงให้นมบุตร ชื่อวิทยาศาสตร์ Sophora exigua Craib ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sophora violacea var. pilosa Gagnep. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2] ชื่ออื่น ๆ แผ่นดินเย็น (จังหวัดอุบลราชธานี), นมราชสีห์ พิษนาท (จังหวัดฉะเชิงเทรา), ถั่วดินโคก (จังหวัดเลย), นมฤาษี เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นพิษนาศน์

  • ต้น
    – เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นสั้น มีความสูงเพียง 15-30 เซนติเมตร[1]
  • ใบ
    – ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก โดยออกเรียงสลับกัน แนบไปกับพื้นดินในแนวรัศมี มีใบย่อยประมาณ 9-13 ใบ
    – ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปวงรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปวงรี ปลายใบเป็นรูปไข่กลับ
    – ผิวใบมีขนละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วใบ[1]
    – ใบย่อยมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวอยู่ที่ประมาณ 2-5 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ออกดอกในลักษณะที่เป็นช่อกระจะ โดยจะออกดอกที่บริเวณปลายยอด
    – ดอกย่อยมีเป็นจำนวนมาก ดอกมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกมีสีเป็นสีม่วงเข้ม ส่วนก้านช่อดอกยาว[1]
  • ผล
    – ผลเป็นฝักรูปขอบขนาน ตามฝักจะมีขนละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุม ภายในฝักจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด[1]
    – ขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด

สรรพคุณของต้นพิษนาศน์

1. ยาพื้นบ้านของอีสานจะนำรากมาฝนกับน้ำใช้สำหรับทาแก้ฝี[1],[2]
2. มีบางข้อมูลระบุเอาไว้ว่า ชาวบ้านจะใช้ส่วนของรากมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาขับพิษภายใน แก้โรคคางทูม ช่วยขับน้ำค้างที่ขังตามที่ต่าง ๆ แก้อาการฟกบวมตามข้อ ตามกล้ามเนื้อ และนำส่วนของต้นใช้ทำเป็นยาแก้ไข้เซื่องซึม และช่วยดับพิษกาฬที่ทำให้หมดสติได้อีกด้วย (ยังไม่ได้รับการยืนยัน)

3. ยาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี จะนำรากมาฝนกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาช่วยลดไข้ในเด็ก ใช้ฝนทาแก้พิษงู (ต้องกล่าวคาถาระหว่างทาด้วย) หรือจะนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี (ดื่มมากเกินไปจะส่งผลเสียได้) และใช้ส่วนของลำต้น ราก เหง้า และใบนำมาฝนทาเป็นยาแก้ฝี[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พิษนาศน์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [05 ต.ค. 2015].
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ถั่วดินโคก”.  อ้างอิงใน : หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน หน้า 208.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [05 ต.ค. 2015].
อ้างอิงรูปจาก
1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง