ต้นโพธิ์ศรี
เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลาง มีน้ำยางสีขาว ดอกเป็นช่อเขียวดอกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลกลมแป้นก้นงผลบุ๋ม เมล็ดแบนคล้ายกับถั่วปากอ้า

ต้นโพธิ์ศรี

ต้นโพธิ์ศรี เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลาง มีถิ่นกำเนิดในแถบพื้นที่อเมริกากลาง แถบพื้นที่อเมริกาใต้ และในพื้นที่ของประเทศนิการากัวจนไปถึงประเทศเปรู ชื่อสามัญ Portia tree, Umbrella tree, Monkey pistol, Monkey’s dinner bell,[1],[2],[3] ชื่อในทางวิทยาศาสตร์ Hura crepitans L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ โพธิ์ทะเล โพธิ์ฝรั่ง โพทะเล โพธิ์ศรี โพฝรั่ง โพศรี (จังหวัดบุรีรัมย์), โพศรีมหาโพ โพธิ์ศรีมหาโพธิ์ (ประเทศไทย), ทองหลางฝรั่ง (จังหวัดกรุงเทพฯ) และโพธิ์อินเดียหรือโพธิ์หนาม เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของต้นโพธิ์ศรี

  • ต้น
    – ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ 15 เมตร แต่ถ้าในพื้นที่ถิ่นกำเนิดลำต้นอาจจะมีความสูงได้ถึง 45 เมตร
    – ลำต้นจะมีหนามเล็ก ๆ แหลม บนเต้าที่มีความแบน ๆ ขึ้นปกคลุมกระจายอยู่ทั่ว
    – กิ่งมีขนาดใหญ่ โดยกิ่งก้านจะแตกแขนงแผ่กว้างออกไปจากตัวลำต้น
    – ต้นโพธิ์ศรีภายในจะมีน้ำยางสีขาว
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1],[2],[3]
  • ใบ
    – ใบมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปหัวใจคล้ายกับใบโพธิ์ ปลายใบมีลักษณะแหลมยาว ตรงโคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจะหยักเป็นซี่ฟันลักษณะห่าง ๆ กัน
    – แผ่นใบมีผิวเกลี้ยง มีขนขึ้นปกคลุมตามเส้นตรงกลางใบด้านล่าง เส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน ใบมีเส้นแขนงใบข้างละ 11-16 เส้น มีลักษณะโค้งจรดกัน
    – หูใบมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปใบหอก
    – ใบต้นโพธิ์ศรีสามารถหลุดร่วงได้ง่าย[1],[2]
    – ใบมีขนาดความยาวอยู่ที่ 7-21 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวอยู่ที่ 6-22 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ออกดอกในลักษณะเป็นช่อ ช่อมีสีเขียวแล้วดอกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
    – ดอกมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน
    – ดอกเพศผู้จะมีสีเป็นสีแดงเข้มเป็นช่อดอกยาว ช่อดอกเพศผู้มีความยาวอยู่ที่ 1.5-4.5 เซนติเมตร และก้านช่อดอกจะมีผิวหนา และมีความยาวได้อยู่ที่ 1.2-8 เซนติเมตร ดอกเพศผู้มีดอกเป็นจำนวนมาก ก้านดอกมีความยาวอยู่ที่ 2 มิลลิเมตร ส่วนของเกสรเพศผู้มีอยู่ 10-20 อัน เรียงกันเป็น 2-3 วง อับเรณูมีขนาดเล็ก โดยจะมีความยาวอยู่ที่ 0.5 มิลลิเมตร
    – ดอกเพศเมีย ดอกเพศเมียจะมีลักษณะรูปร่างที่กลมแบนเป็นรูปเห็ดขนาดเล็ก ดอกเพศเมียจะมีดอกเดียวอยู่ที่โคนก้าน โดยดอกเพศเมียจะมีก้านดอกยาวอยู่ที่ 1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีรูปร่างเป็นรูปถ้วย มีความยาวอยู่ 5-8 มิลลิเมตร รังไข่มีความยาวเท่ากันกับกลีบเลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมีความยาวอยู่ที่ 2-3.5 เซนติเมตร บริเวณยอดของเกสรแยกเป็นแฉก โดยจะแผ่ออกมา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 1.4-2.6 เซนติเมตร[1],[2],[3]
  • ผล
    – ผลมีรูปทรงเป็นแบบแคปซูลมีลักษณะค่อนข้างกลมแป้น
    – ผลจะแบ่งออกเป็นกลีบเท่า ๆ กัน ประมาณ 14-16 กลีบ โดยจะมีรูปทรงคล้ายกับฟักทอง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร และมีความสูงอยู่ที่ 3-5 เซนติเมตร
    – ก้นของผลจะบุ๋มทั้งสองด้าน เปลือกผลมีผิวแข็งและหนา เมื่อผลแก่จะมีเมล็ด ถ้าลองเขย่าดูจะมีเสียงคล้ายกับบรรจุทรายไว้ และถ้าผลแก่เต็มที่แล้วก็จะแตกออกมาตามยาวของผลเป็นซี่ ๆ
    -เมล็ดแบนคล้ายกับถั่วปากอ้า เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 2 เซนติเมตร[1],[2],[3]

สรรพคุณของต้นโพธิ์ศรี

1. ส่วนของเปลือก ยาง และเมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (เปลือก, ยาง, เมล็ด)[1]
2. เปลือก ยาง และเมล็ดมีฤทธิ์ทำให้ขับอาเจียนออกมา (เปลือก, ยาง, เมล็ด)[1]
3. ยางนำมาทำเป็นยารักษาโรคเท้าช้างได้ (ยาง)[1]

ประโยชน์ของต้นโพธิ์ศรี

1. ในสมัยก่อนจะนำผลที่ยังไม่สุกมาต้ม จากนั้นนำผลมาเจาะรูแล้วนำมาตากให้แห้ง บรรจุทรายเอาไว้ในผล ใช้สำหรับซับหมึกจากปากกา (เป็นที่มาของชื่อ sand box tree)[3]
2. ยางนำมาใช้เป็นยาเบื่อปลา หรือใช้สำหรับอาบลูกดอก [1]
3. ผลและเมล็ดมีฤทธิ์ในการนำมาฆ่าแมลง[1]
4. เนื้อไม้เป็นเนื้อไม้ที่มีคุณภาพดี แต่ก็ไม่มีความทนทานมากนัก โดยจะนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์[2]
5. ในประเทศไทยมักจะนิยมปลูกเป็นไม้ร่ม ปลูกไว้เป็นต้นไม้ประดับตามสวนสาธารณะ และตามวัดวาอาราม[1],[2]

พิษของต้นโพธิ์ศรี

เมล็ดและยางของต้นโพธิ์นั้นจะมีพิษอยู่ โดยสารพิษที่พบ จะได้แก่ สารกลุ่ม huratoxin, hurin, crepitin และ lectin (ปริมาณของสาร crepitin ที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 187 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)[3]

อาการเป็นพิษ

– เมื่อรับประทานเมล็ดเข้าไปในปริมาณประมาณ 1-2 เมล็ด จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ เกิดอาการตาพร่า ปวดท้อง ท้องร่วง และอาจจะมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
– ในกรณีที่ได้รับสารพิษในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดอาการเพ้อ ชัก หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้
– ส่วนน้ำยางจะมีฤทธิ์กัดมาก เพราะน้ำยางประกอบไปด้วยสาร hurin และมีน้ำย่อย hurain ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน โดยเอนไซม์ตัวนี้สามารถย่อยเนื้อได้ จึงทำให้เกิดอาการแพ้ได้เมื่อสัมผัสกับผิวหนัง โดยจะทำให้เกิดอาการเป็นผื่นแดงแบบไฟลามทุ่งและพุพองขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสได้ หรือถ้าเข้าตาก็อาจจะทำให้ตาบอดได้[1],[3]

ตัวอย่างผู้ป่วย

– ผู้ป่วยจำนวน 23 ราย ที่ได้รับประทานเมล็ดเข้าไป (มีผู้รับประทานสูงสุดคือ 3 เมล็ด) แล้วเกิดมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เกิดตาแดง มีอาการแสบร้อนในคอ ปวดท้อง ถ่ายเหลว และง่วงนอนอ่อนเพลีย
– กรณีที่ 2 คือ เด็กชายจำนวน 18 ราย มีอายุระหว่าง 12-15 ปี ได้ทำการรับประทานเมล็ดแห้งเข้าไป และเริ่มมีอาการตั้งแต่ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง โดยมีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่มีอาการเมื่อผ่านไปแล้ว 6 ชั่วโมง
โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เกิดอาการแสบร้อนในคอ มีความกระหายน้ำ และในบางรายพบว่ามีอาการปวดท้องและอุจจาระร่วงอีกด้วย แต่วันรุ่งขึ้นอาการก็ดีขึ้น
– กรณีผู้ป่วยมีอาการบวมแดงที่บริเวณผิวหนังและมีอาการอักเสบของเยื่อบุจมูกและตาตลอดปี โดยที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดมากนัก ตลอดจนการตรวจสอบด้วยวิธี scratch test ก็ได้ผลลัพธ์ที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้เนื่องจากการสัมผัสยาง [3]

การรักษา

ก่อนจะนำส่งโรงพยาบาลควรให้ดื่มนมหรือผงถ่านเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษก่อน แล้วจึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องในทันที และให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันอาการหมดสติและอาการช็อกจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย ส่วนในกรณีอื่น ๆ นี้ก็ให้รักษาตามอาการ เช่น การให้ morphine sulfate ในปริมาณ 2-10 มิลลิกรัม เพื่อช่วยลดอาการปวดท้องให้ทุเลาลงได้[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โพธิ์ฝรั่ง”. หน้า 577-578.
2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โพฝรั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [08 พ.ย. 2014].
3. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “โพธิ์ศรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [08 พ.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/