โกฐชฎามังสี
พรรณไม้ล้มลุก ดอกย่อยสีม่วงอมชมพู ผลยาวปกคลุมด้วยขนสีขาว รากใช้เป็นยารสสุขุม ขม และมีกลิ่นหอมแรง

โกฐชฎามังสี

โกฐชฎามังสี มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ในประเทศไทยไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ชื่อสามัญ Spikenard[1], Jatamansi[2] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Nardostachys jatamansi (D.Don) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Fedia grandiflora Wall. ex DC., Patrinia jatamansi D.Don, Valeriana jatamansi D.Don)[1] อยู่ในวงศ์สายน้ำผึ้ง (CAPRIFOLIACEAE) ชื่อเรียกอื่นว่า โกฐจุฬารส โกฐชฎามังษี [1]

ลักษณะโกฐชฎามังสี

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุก มีเขตการกระจายพันธุ์ที่ในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ในประเทศอินเดีย เป็นสมุนไพรนำเข้า มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยหลายตำรับ[1]
  • ใบ มีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกัน มีขนสีขาวปกคลุมอยู่ทั่วใบ
  • ดอก ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด ในแต่ละช่อจะประกอบไปด้วยดอกย่อยสีม่วงอมชมพูจำนวนมากมาย มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 10-20 ซม. บริเวณโคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกจากกันประมาณ 4-5 กลีบ บริเวณใบประดับมีขนปกคลุมอยู่ทั่ว
  • ผล เป็นผลลักษณะยาวที่ปกคลุมไปด้วยขนสีขาว
  • ราก เป็นส่วนที่ใช้เป็นยา เป็นไม้เนื้อแข็ง จะมีรากย่อยขึ้นปกคลุมเป็นเส้นยาว โดยรอบอย่างหนาแน่น รากมีรสสุขุม ขม และมีกลิ่นหอมเป็นกลิ่นแรงเฉพาะตัว[1]

สรรพคุณของโกฐชฎามังสี

1. สามารถใช้เป็นยาขับลม และช่วยย่อยอาหารได้[1],[2]
2. สามารถใช้เป็นยาแก้ไส้ด้วนไส้ลามได้ (แผลเนื้อร้ายทานแค่ปลายองคชาตและองค์กำเนิดบวม)[1]
3. ในตำรายาไทยนำมาใช้เป็นยาแก้รัตตะปิตตะโรค แก้โลหิตอันเกิดแต่กองปิตตะสมุฏฐาน[1]
4. สามารถช่วยขับพยาธิออกจากร่างกายได้[1]
5. โกฐชฎาสามารถใช้เป็นยาแก้โรคในปากคอได้[1]
6. บัญชียาจากสมุนไพร ในตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ฉบับที่ 5 มีการใช้ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม ปรากฏในตำรับ ยาหอมเทพจิตร และตำรับ ยาหอมนวโกฐ มีส่วนประกอบของอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้าร่วมสมุนไพรชนิดอื่นอีกในตำรับ จะมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน, คลื่นเหียน, ตาลาย, ลมวิเวียน, แก้ลมจุกแน่นในท้อง, ใจสั่น, อาการหน้ามืด [1]
7. สามารถใช้เป็นยาแก้พิษทั้งปวงได้[1]
8. สามารถช่วยแก้แผลเนื้อร้ายได้[1]
9. ช่วยขับโลหิตระดูเน่าเสียของสตรี ขับประจำเดือน[1],[2]
10. ใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยในหลายตำรับ และมีการใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า พิกัดโกฐ และโกฐชฎามังสีนั้นจัดอยู่ใน โกฐทั้งเก้า จะมีสรรพคุณที่เป็นยาช่วยบำรุงโลหิต แก้ลมในกองธาตุ แก้ไส้ด้วนไส้ลาม แก้โรคในปากและคอ แก้หอบ แก้ไข้ในกองอติสาร แก้ไข้เพื่อเสมหะ บำรุงกระดูก ยาชูกำลัง ช่วยขับระดูร้าย แก้โรคปอด อาการสะอึก แก้หืดไอ แก้ไข้เรื้อรัง แก้ไข้จับ [1]
11. สามารถใช้เป็นยากระจายหนองที่ก้อนอยู่ภายในร่างกายได้[1]
12. การแพทย์อายุรเวทของอินเดีย ระบุเอาวไว้ว่า เหง้ากับรากมีคุณสมบัติที่กระตุ้นและลดการเกร็ง ทำให้ใช้ในการบำบัดแผลพุพองปวดบวมที่ผิวหนัง, โรคต่าง ๆ ที่เกิดในศีรษะ, โรคที่มีอาการชักทุกชนิด, โรคลมบ้าหมู, แก้อาการสะอึก, รวมทั้งโรคตา, โรคฮิสทีเรีย [1]
13. โกฐชฎาสามารถช่วยแก้ดีพิการได้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดที่ได้จากรากด้วยแอลกอฮอล์:น้ำ (1:1) เข้าที่ช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง ก็คือ ขนาดที่มากกว่า 1 กรัมต่อกิโลกรัม การฉีดน้ำมันหอมระเหยเข้าที่ช่องท้อง ผลทดสอบพบว่าขนาดที่ทำให้สุนัขและหนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่ง ก็คือ ขนาด 93 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 80.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ในหนูตะเภาก็คือขนาด 2 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม ในหนูขาวก็คือขนาด 1.5 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม[1]
  • องค์ประกอบทางเคมีที่สามารถพบได้ในสมุนไพรคือ สาร jatamol B, jatamansone, jatamansin, angelicin, patchouli alcohol, jatamol A, jatamansinol, jatamansic acid [1]
  • จากการที่ศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่ามีฤทธิ์ในการฆ่าอสุจิ, ต้านแบคทีเรีย, ต้านหืด, คลายมดลูก, กล่อมประสาท, กดประสาทส่วนกลาง, ลดปริมาณของกรดยูริก, ลดความดันโลหิต, มีฤทธิ์ลดไข้, ต้านการเกิดแผล, ต้านการชัก, ต้านการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ, ทำให้หัวใจเต้นช้า, ต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ, เพิ่มการเรียนรู้และความจำ, เสริมฤทธิ์ยานอนหลับ, ลดน้ำตาลในเลือด, ลดคอเลสเตอรอลในเลือด [1]

สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐชฎามังษี Jatamansi”. หน้า 217.
2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โ ก ฐ ช ฎ า มั ง สี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [10 มิ.ย. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://powo.science.kew.org/