รสสุคนธ์แดง
สมุนไพรแห่งแดนใต้แก้จุกเสียขับลม สมุนไพรทางภาคใต้ เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ดอกจะมีกลิ่นหอมเย็น ผลทรงกลมสีส้มถึงแดง

รสสุคนธ์แดง

รสสุคนธ์แดง สมุนไพรทางภาคใต้ เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Tetracera indica (Christm. & Panz.) Merr. อยู่ในวงศ์ส้าน (DILLENIACEAE)[1],[2] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เครือปด, ย่านปด, ปดลื่น, อรคนธ์, อุเบ๊ะสะปัลละเมเยาะ, เถาอรคนธ์, ย่านเปล้า [1],[2]

ลักษณะรสสุคนธ์แดง

  • ต้น เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เลื้อยได้ไกลถึง 10 เมตร เถาเป็นสีน้ำตาลแดง เปลือกต้นจะเรียบเป็นสีน้ำตาล ถ้าแก่จะแตกเป็นสะเก็ดบาง ๆ เถาอ่อนเป็นสีน้ำตาลอมเขียว มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าละเมาะทางภาคใต้ ที่ระดับน้ำทะเลถึง 600 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง การปักชำกิ่ง จะชอบดินร่วน น้ำปานกลาง แสงแดดจัด[1],[2]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว จะออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปรีแกมขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ที่ปลายใบจะแหลม โคนใบจะสอบมน ขอบใบจะจักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบจะเรียบ ผิวใบสากคาย มีขนที่ตามเส้นใบด้านล่าง ก้านใบสั้นสีแดง มีความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2]
  • ดอก จะออกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง จะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 3-8 ดอก ดอกมีขนาดประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ดอกจะมีกลิ่นหอมเย็น มีกลีบเลี้ยงหนาเป็นสีเขียวอมแดง 4 กลีบ มีความกว้างประมาณ 7-9 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ไม่มีขน กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมชมพู มีอยู่ 4-5 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 12-15 มิลลิเมตร กลีบดอกจะร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นจำนวนมาก โผล่พ้นกลีบดอก ปลายก้านชูอับเรณูเป็นสีแดง โคนก้านจะเป็นสีขาว รังไข่มี 3-4 คาร์เพล ที่ด้านหลังจะมีขนแข็งขึ้นประปราย ออกดอกได้เกือบทั้งตลอดทั้งปี ดอกแต่ละช่อจะทยอยบาน ดอกบานวันเดียวก็จะโรย ส่งกลิ่นหอมแรงช่วงเวลากลางวัน[1],[2]
  • ผล จะออกเป็นกลุ่ม ๆ ประมาณ 3-4 ผล เป็นผลแบบแคปซูลแห้งแตกเป็นแนวตะเข็บด้านเดียว มีกลีบเลี้ยงหุ้มผลเกือบหมด ผลเป็นรูปทรงกลม เป็นสีส้มถึงแดง ผลกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ที่ปลายผลมีจะงอยแหลมยาวประมาณ 2-6 มิลลิเมตร มีเมล็ดอยู่ภายใน 2 เมล็ด หรือมากกว่า เมล็ดสีดำ เป็นรูปไข่ กว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงสด ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ที่ฐานเป็นชายครุย[1],[2]

สรรพคุณของรสสุคนธ์แดง

1. ยอดอ่อนสามารถใช้เป็นยาพอกรักษางูกัดได้ (ยอดอ่อน)[2]
2. ตำรายาพื้นบ้านภาคใต้ จะนำรากมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[2]
3. นำต้นมาต้มเอาน้ำ สามารถใช้อมกลั้วรักษาแผลในปากได้ ส่วนในประเทศอินเดียจะใช้เป็นยาภายนอกใช้บ้วนรักษาแผลร้อนในปาก (ต้น)[1],[2]
4. ตำรับยาบำรุงกำลังจะนำทั้งต้น มาผสมกับต้นเส้ง เปลือกต้นทุเรียน (เลือกเฉพาะส่วนที่สูงจากเอวขึ้นไป) มาตำสด ๆ คั้นเอาน้ำผสมกับน้ำร้อนดื่ม จะมีรสออกฝาด หรือจะตำแล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง แล้วเอามาแช่ในเหล้าขาว ใช้จิบทานทีละน้อย (ทั้งต้น)[4]
5. ตำรับยาแก้อาการบวม แก้ฝี เป็นตำรับยาพื้นบ้านของอีสานจะใช้ลำต้นหรือรากมาผสมกับหญ้างวงช้างทั้งต้น งวงตาล ผลมะพร้าว รากกะตังใบ รากลำเจียก รากส้มกุ้ง เหง้าสับปะรด เหง้ายาหัว ลำต้นเครือพลูช้าง ลำต้นหรือรากเถาคันขาว ลำต้นก้อม ลำต้นไผ่ป่า ลำต้นไผ่ตง ลำต้นโพ ลำต้นรักดำ ลำต้นหนามพรม ลำต้นอ้อยแดง เปลือกต้นกัดลิ้น เปลือกต้นมะม่วง เปลือกต้นสะแกแสง มาต้มกับน้ำ ใช้ดื่ม (ต้น, ราก)[2]
6. นำใบกับรากมาตำใช้พอกผิวหนังแก้ผื่นคัน (ใบและราก)[1],[2]
7. นำต้นมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการตกเลือดภายในปอดได้ (ต้น)[1],[2]
8. ตำรายาไทยจะใช้ดอกเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ แก้ลม มักใช้คู่กับรสสุคนธ์ขาว (ดอก)[1],[2]

ประโยชน์ของรสสุคนธ์แดง

1. ลำต้นสามารถใช้ทำเป็นเชือกได้ [2]
2. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้งแล้วทำเป็นซุ้มให้เลื้อยไต่ จะออกดอกดกและสวยงามกว่าการปลูกในกระถาง และหมั่นตัดยอดให้ขึ้นพันซุ้ม ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง
3. ในประเทศอินเดียจะใช้เป็นยาเบื่อปลา[2]
4. นำใบสามารถมาใช้แทนกระดาษทราย[2]

สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “รสสุคนธ์แดง”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้เลื้อยในสวนพฤกษศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [03 ม.ค. 2015].
2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “อรคนธ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [03 ม.ค. 2015].
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เชือกเขาไฟ”. หน้า 278.
4. หนังสือสมุนไพรจากพื้นที่พรุในจังหวัดนราธิวาส. (ฝ่ายโครงการพิเศษ กองแผนงาน และสำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้). “เถาอรคนธ์”. หน้า 18.

อ้างอิงรูปจาก
1. https://powo.science.kew.org/
2. https://www.nparks.gov.sg/