อาการบวม ( Edema )
อาการบวม เป็นภาวะที่มีปริมาณของเหลวเพิ่มมากขึ้นในส่วนของเนื้อเยื่อร่างกาย อาจเกิดอาการบวมจากของเหลวนอกเซลล์ หรือของเหลวภายในเซลล์

อาการบวม ( Edema )

อาการบวม ( Edema ) เป็นความผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ง่ายแต่หลายคนก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจมากนัก เพราะเกือบทั้งหมดมักจะหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้านานแล้วยังไม่หายก็มักจะเป็นผลข้างเคียงจากโรคร้าย ซึ่งผู้ป่วยจะเห็นสัญญาณของโรคร้ายเหล่านั้นก่อนที่จะทันใส่ใจอาการบวมที่เกิดขึ้นเสียอีก ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับอาการบวมกันก่อนว่ามันเป็นอย่างไร อาการบวมต่างกับความอ้วนค่อนข้างมาก ลักษณะที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าก็ต่างกันชัดเจน สัมผัสที่ได้อาจจะคล้ายแต่ก็ยังไม่เหมือนกันอยู่ดี ความอ้วนเกิดจากไขมันสะสมมากเกินไป เราจะเห็นเป็นมวลสารที่มีความแน่นมากกว่าอาการบวม เพราะอาการบวมเป็นภาวะที่มีปริมาณของเหลวเพิ่มมากขึ้นในส่วนของเนื้อเยื่อร่างกาย โดยแบ่งย่อยออกไปอีก เป็นอาการบวมที่เกิดจากการเพิ่มปริมาณของเหลวนอกเซลล์ และอาการบวมที่เกิดจากการเพิ่มปริมาณของเหลวภายในเซลล์

อาการบวมที่มีปริมาณของเหลวเพิ่มมากขึ้นในส่วนของเนื้อเยื่อร่างกาย

อาการบวมน้ำภายในเซลล์ ( Intracellular edema )

อาการบวม ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของของเหลวภายในเซลล์ มีปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะนี้ได้อยู่ 3 ส่วนด้วยกัน
1. Hyponatremia : นี่คือภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ปกติร่างกายเราจะมีสมดุลของแร่ธาตุต่างๆ อยู่ในระดับที่ส่งเสริมให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ เมื่อมากไปหรือน้อยไปก็ส่งผลให้ระบบรวนได้ทั้งหมด อาการที่สังเกตได้ของคนที่มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำก็คือ มักมีอาการปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ กล้ามเนื้อกระตุก มีอาการอ่อนล้าหมดแรงอยู่บ่อยๆ สาเหตุของการเกิด Hyponatremia ได้แก่ ดื่มน้ำน้อยเกินไปจนเกิดอาการขาดน้ำ ระดับฮอร์โมนผิดปกติไปจากเดิม อวัยวะในกลุ่มหัวใจ ไต และตับมีปัญหา ไปจนถึงการใช้ยาและสารเสพติดบางชนิด
2. Tissue metabolism ลดน้อยลง : ภายในกล้ามเนื้อจะมีกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่า metabolism ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเผาผลาญพลังงานและการนำสิ่งที่ต้องการไปใช้ประโยชน์ หากกระบวนการ metabolism ลดน้อยลงกว่าปกติ ก็จะทำให้เซลล์ขาดพลังงานแล้วขับโซเดียมออกไปจากเซลล์น้อยลง เพื่อพยายามรักษาสมดุลแร่ธาตุในร่างกายเอาไว้ ดังนั้นความเข้มข้นระหว่างภายในและภายนอกเซลล์จึงแตกต่างกัน ภายในมีความเข้มข้นมากกว่าภายนอก ส่งผลให้ของเหลวไหลเข้าสู่ภายในเซลล์ กลายเป็น อาการบวมในที่สุด
3. เซลล์ขาดสารอาหาร : เมื่อเซลล์ขาดสารอาหารก็จะเกิดกระบวนการเช่นเดียวกับการที่ metabolism ลดน้อยลง มันเป็นธรรมชาติของร่างกายที่จะรักษาสิ่งที่มีอยู่เอาไว้ให้ได้มากที่สุดทันทีที่เห็นสัญญาณของความขาด ดังนั้นในกรณีนี้เซลล์จะพยายามรักษาสารอาหารเอาไว้ในเซลล์ ไม่ปล่อยออกมาในอัตราปกติ จึงเกิดความต่างระดับของความเข้มข้นภายในเซลล์กับภายนอกเซลล์ และของเหลวก็จะไหลเข้าสู่ภายในเซลล์นั่นเอง

อาการบวมน้ำภายนอกเซลล์ ( Extracellular edema )

อาการบวมที่เกิดจากการเพิ่มปริมาณของเหลวภายนอกเซลล์ หรือบริเวณที่เรียกว่า extracellular spaces จะมีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดค่อนข้างต่างจาก Intracellular edema พอสมควร ดังนี้
1. ของเหลวจากส่วนของพลาสมา เคลื่อนตัวผ่านผนัง capillaries มายัง interstitial spaces มากกว่าปกติ : โดยธรรมชาติแล้วของเหลวในส่วนของ extracellular spaces จะกระจายตัวกันอยู่ตาม interstitium และ plasma และมีแรงดันต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของของเหลวไปตามจุดอื่นๆ

2. การไหลเวียนของเหลวจาก interstitium กลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว
รู้จักแรงดันต่างๆ ที่มีผลต่อการเคลื่อนตัวของเหลวในเซลล์
Starling forces : เป็นแรงดันตัวแรกที่เราควรทำความรู้จักเอาไว้ แรงนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการหมุนเวียนของของเหลวระหว่างส่วน interstitium กลับ plasma ภายในหลอดเลือด
colloid oncotic pressure : แรงดันนี้ถูกแยกเป็น 2 ส่วน ถ้าอยู่ในส่วนของ interstitium จะทำหน้าที่ดันของเหลวให้เคลื่อนออกจากหลอดเลือดไป แต่ถ้าแรงดันนั้นอยู่ในส่วนของ plasma จะทำหน้าที่ดันของเหลวให้เคลื่อนที่เข้าสู่หลอดเลือด
hydrostatic pressure : แรงนี้อยู่ในส่วนของ interstitium ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกับ colloid oncotic pressure เพื่อดันของเหลวเข้าสู่หลอดเลือด
มาถึงตรงนี้แล้วหากยังไม่สามารถจับหัวใจสำคัญของอาการบวมได้อย่างชัดเจนนัก ก็เพียงแค่ทำความเข้าใจในส่วนเบื้องต้นให้ได้ นั่นก็คือ อาการบวม จะเกิดจากระบบการรักษาสมดุลของแร่ธาตุ และของเหลวต่างๆ แปรปรวนไป หรือปริมาตรของเลือดที่ไหลเวียนในเนื้อเยื่อลดน้อยลงอย่างมาก เมื่อสมดุลเริ่มเสียไปร่างกายก็หาวิธีชดเชยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนเกิดการคั่งของโซเดียมและน้ำทั้งภายในและภายนอกเซลล์

อาการบวม เป็นภาวะที่มีปริมาณของเหลวเพิ่มมากขึ้นในส่วนของเนื้อเยื่อร่างกาย อาจเกิดอาการบวมจากของเหลวนอกเซลล์ หรือของเหลวภายในเซลล์

สาเหตุของ อาการบวม

ความจริงแล้วสาเหตุของ อาการบวมก็มีได้หลายประเด็น แต่กรณีที่พบได้บ่อยมีดังต่อไปนี้

1. Calcium channel blocker-induced edema

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือเป็นอาการบวมที่เกิดจากการใช้ยา โดยเจาะจงไปที่ยาในกลุ่ม calcium channel blockers (CCB) ซึ่งเป็นยาที่ถูกหยิบมาใช้บ่อยมากในการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และตัวยาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในกรณีนี้ก็คือ amlodipine เป็นยาที่ช่วยควบคุมความดันโลหิต ตลอดจนบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก และบรรเทาโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจต่างๆ แน่นอนว่าเป็นตัวยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาดีเยี่ยม แต่กลับมาผลข้างเคียงที่น่ากังวลอยู่เหมือนกัน ส่วนมากจะเริ่มเห็นสัญญาณของอาการบวมหลังจากใช้ยาไปแล้ว 6 เดือน จุดที่เกิดได้ง่ายคือข้อเท้าและช่วงขา

2. Cirrhosis

อาการบวมแบบนี้เป็นผลมาจากความผิดปกติของตับ เราอาจเรียกกันง่ายๆ ว่า โรคตับแข็ง เมื่อเจาะลงลึกในรายละเอียดก็พบว่า เกิดจากการที่ตับสังเคราะห์ albumin น้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั้งระบบ ในเลือดก็จะมี oncotic pressure ลดลง กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเจอกับภาวะอาการบวมแบบนี้ก็คือ คนที่ติดเชื้อไวรัสตับ คนที่ดื่มสุราเป็นประจำ คนที่มีเกลือแร่ในร่างกายสูงเกินไป คนที่มีโรคต่างๆ เกี่ยวกับท่อน้ำดี เป็นต้น อาการที่เป็นสัญญาณชัดเจนจะเริ่มจากความไม่สบายตัวเล็กๆ น้อยๆ ไล่ไปตั้งแต่ เริ่มเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ห้อเลือดได้ง่าย ติดเชื้อได้ง่าย และเริ่มบวมจนสังเกตได้

3. Heart disease

นี่คือความผิดปกติของกระบวนการต่างๆ ในหัวใจ เรามักเรียกว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว สิ่งที่เกิดขึ้นในรายละเอียดก็คือ หัวใจไม่มีกำลังมากพอให้สามารถบีบเลือดเพื่อส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ส่งผลให้มี capillary pressure เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็กลายเป็น Heart disease ในที่สุด

4. Nephrotic syndrome

ผู้ป่วยที่เป็นโรค Nephrotic syndrome ก็จะมีอาการบวมที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน โดยในทางทฤษฎีได้มีการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อยู่ 2 ทฤษฏี ได้แก่
4.1 Underfill theory : เป็นกลุ่มที่ผู้ป่วย Nephrotic syndrome มีปริมาณโปรตีนปะปนออกมาพร้อมกับปัสสาวะมากเกินไป ผลที่ตามมาก็คือ ค่า serum albumin จะลดน้อยลง และยังกระทบต่อระบบอื่นๆ ไปอีกเป็นทอดๆ ทำให้ร่างกายเกิด อาการบวม ขึ้นมา
4.2 Overfill theory : ส่วนกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วย Nephrotic syndrome ที่มีความผิดปกติในส่วนของไต เจาะจงไปที่ประสิทธิภาพในการดูดกลับของโซเดียมเป็นหลัก นานเข้าปริมาณของ plasma volume และ capillary pressure จึงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการบวมโดยตรงเลย แต่ไม่ว่าอย่างไรทฤษฏีเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จนสามารถนำไปอ้างอิงได้ในทุกกรณี อย่างเช่นการตรวจพบว่ามีปริมาณโปรตีนในปัสสาวะมากเกินไป ก็มีโรคอื่นๆ อีกหลายอย่างที่มีสัญญาณคล้ายคลึงกันนี้ ดังนั้นเมื่อมีความสงสัยว่าผู้ป่วยน่าจะเข้าข่ายอาการบวมจาก Nephrotic syndrome ก็ต้องทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกหลายขั้นตอน 

5. Kidney diseases

เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคไต ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ถ้าความผิดปกติของไตนั้นส่งผลให้ค่า GFR ลดลงในระดับที่มากพอ ก็จะทำให้เข้าสู่สภาวะบวมได้ หากการลดลงนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ก็จะมีอาการไตวายเฉียบพลัน ในขณะที่การเกิดอย่างช้าๆ จะกลายเป็นโรคไตวายเรื้อรัง
ผลกระทบจาก อาการบวมที่น่าวิตก
หากอาการบวมนั้นเป็นแบบที่เรามักพูดกันง่ายๆ เช่น กินเค็มเกินไป ดื่มน้ำน้อยไป แบบนี้ก็สามารถแก้ไขให้หายเป็นปกติได้ไม่ยาก แต่หากอาการบวมนั้นขาดการดูแลเอาใจใส่จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของร่างกาย ก็มีเรื่องที่ชวนให้น่าวิตกกังวลดังต่อไปนี้

5.1 Mechanical effect : ของเหลวที่เพิ่มปริมาณขึ้นมากในส่วนที่ไม่ควรจะมีมากขนาดนั้น จะทำให้เกิดการกดทับอวัยวะ แรงกดจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระดับความบวมที่เกิดขึ้น ซึ่งการกดทับนี้เมื่อเป็นมากขึ้น หรือกดทับอยู่เป็นเวลานาน จะส่งผลร้ายต่อร่างกายได้หลายอย่าง เริ่มแรกจะกระทบกับการทำงานของอวัยวะนั้น เริ่มทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาจเกิดการอักเสบหรือช้ำในได้ และหากอวัยวะนั้นเป็นส่วนที่มีความนุ่มมากๆ ก็อาจถูกกดจนเซลล์แตกและเสื่อมสลายไปได้
5.2 Prone to infection : การรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายนอกจากเชื่อมโยงกับการทำงานของระบบต่างๆ แล้ว ยังเป็นการป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในร่างกายอีกด้วย เพราะน้ำที่มากพอเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเติบโตของเชื้อโรค อาการบวมน้ำในเนื้อเยื่อส่วนที่เหมาะสม จะช่วยเร่งให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้เร็ว เช่น อาการบวมในปอด เป็นต้น
5.3 Fibrosis : ของเหลวที่เป็นต้นเหตุของ อาการบวมหากมีส่วนประกอบของโปรตีนอยู่มาก มักจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบภายใน และเกิดการอุดตันในหลอดลำเลียงต่างๆ
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ น่าจะทำให้ตระหนักได้ว่าอาการบวมอาจไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และสามารถคร่าชีวิตคนหนึ่งคนได้เลย เมื่อไรที่เริ่มรู้สึกว่ามีอาการบวมโดยไม่รู้สาเหตุ จึงต้องรีบเข้าพบแพทย์พร้อมอธิบายลักษณะอาการอย่างละเอียด เพื่อที่ทีมแพทย์จะได้ทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามกระบวนการกันต่อไป

วิธีป้องกันและรักษาอาการบวมอย่างง่าย

อย่างที่ได้รู้อย่างชัดเจนไปแล้วว่า สาเหตุของอาการบวมมีหลากหลาย ดังนั้นในกรณีที่รุนแรงก็ต้องเข้าพบแพทย์เท่านั้น แต่ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยก็สามารถใช้วิธีเหล่านี้ได้
1. ดื่มน้ำให้พอเพียงต่อการใช้งานของร่างกาย ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีมากที่สุดและจำเป็นต่อการทำงานของระบบร่างกายมากที่สุดเช่นกัน การดื่มน้ำอย่างเหมาะสมเป็นการช่วยรักษาสมดุลร่างกายให้ปกติดีอยู่เสมอ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการบวมได้ หรือแม้แต่เริ่มมี อาการบวมล้วการปรับพฤติกรรมในการดื่มน้ำก็ช่วยเปลี่ยนสมดุลต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทางได้
2. ระวังการทานโซเดียม เดี๋ยวนี้ในอาหารมีปริมาณโซเดียมแฝงอยู่เยอะมาก ทำให้คนส่วนใหญ่มีปริมาณโซเดียมในร่างกายสูงกว่าปกติ ดังนั้นให้เริ่มสังเกตอาหารการกินให้มีคุณภาพมากขึ้น สิ่งไหนที่ถูกปากแต่ไม่ดีต่อสุขภาพก็ควรหลีกเลี่ยงเสียบ้าง หรือถ้ามันหักห้ามใจไม่ได้จริงๆ ก็ควรลดปริมาณให้ได้มากที่สุด
3. ออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่ออย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายช่วยขับแร่ธาตุส่วนเกินบางส่วนออกมาได้ และยังทำให้อวัยวะต่างๆ แข็งแรง ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ลัลธธิมา ภู่พัฒน์ : อาการวิทยา ฉบับพกพา : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2560.

ธนกร ลักาณ์สมยา และคณะ : อาการทางอายุรศาสตร์ Medical ymptomatology ฉบับปรับปรุง : พิษณุโลก : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร,2559.

Braunwald E, Loscalzo J. Edema. Harrison,s principles of internal medicine. 18th ed. New York, McGraw-Hill, 2012.