รางแดง
เป็นไม้เถายืนต้นกึ่งพุ่ม ใบคล้ายใบเล็บมือนางหรือกระดังงา ดอกสีเขียวแกมสีเหลือง สีเขียวอมสีขาว ผลกลมปลายผลจะแผ่เป็นครีบคล้ายกับปีก

รางแดง

ชื่อทางวิทยาศาสตร์Ventilago denticulata Willd. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Ventilago calyculata Tul.) อยู่วงศ์พุทรา (RHAMNACEAE)[1],[4] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เถาวัลย์, โกร่งเคอ, ตะแซทูเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ทรงแดง (ภาคใต้), เถามวกเหล็ก (ภาคกลาง), รางแดง (ภาคกลาง, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), หนามหัน (ภาคเหนือ), ก้องแกบแดง (ภาคเหนือ), ก้องแกบ (ภาคเหนือ), แสงอาทิตย์ (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), เถาวัลย์เหล็ก (จังหวัดสระบุรี), ปลอกแกลบ (จังหวัดบุรีรัมย์), ฮองหนัง (จังหวัดเลย), เขาแกลบ (จังหวัดเลย), ย่านอีเหล็ก, เคือก้องแกบ, กะเหรี่ยงแดง, ซอแพะแหล่โม (กะเหรี่ยง), กะเลียงแดง (ภาคกลาง), เถาวัลย์เหล็ก (ภาคกลาง), เครือก้องแกบ (ภาคเหนือ), ก้องแกบเครือ (ภาคเหนือ), แสงพระอาทิตย์ (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), กะเลียงแดง (จังหวัดชลบุรี-ศรีราชา), ฮ่องหนัง (จังหวัดเลย), เห่าดำ (จังหวัดเลย), ก้องแกบ (จังหวัดเลย), เถามวกเหล็ก (จังหวัดสระบุรี) [1],[2],[6],[9]

ลักษณะของต้นรางแดง

  • ต้น เป็นไม้เถายืนต้นกึ่งพุ่ม มักจะเลื้อยไปตามต้นไม้กับกิ่งไม้ เถามีลักษณะเป็นสีเทา ผิวลำต้นหรือเถาจะเป็นรอยแตกระแหงมีลักษณะเป็นร่องสีแดงสลับ ทำให้เป็นลวดลายสวยงาม ลำต้นอ่อนเป็นรูปทรงกระบอก ลำต้นแก่แตกเป็นสีแดง ที่ตามกิ่งอ่อนจะมีขนสั้น ขยายพันธุ์โดยกิ่งตอน การทาบเถา ใช้เมล็ด กิ่งชำ มักจะขึ้นที่ตามป่าโปร่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทางจังหวัดสระบุรี สำหรับจังหวัดกรุงเทพมหานคร จะปลูกบ้างตามบ้าน[1],[2],[5],[9]
  • ใบแผ่นใบเป็นสีเขียว ใบคล้ายใบเล็บมือนางหรือกระดังงาไทย เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับกัน ใบเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่ยาว รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ที่ปลายใบจะแหลม ส่วนที่ขอบใบจะเป็นจักตื้น ใบกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร มีก้านใบที่สั้น[1],[2] ถ้าเอาใบมาผิงไฟใช้ทำเป็นยาจะมีกลิ่นคล้ายแกลบข้าว[9]
  • ดอก จะออกเป็นช่อที่ตามซอกใบใกล้ปลายยอด มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก กลีบดอกมีลักษณะเป็นสีเขียวแกมสีเหลือง สีเขียวอมสีขาว[2],[9]
  • ผลเป็นผลแห้งจะไม่แตก ผลกลม ที่ปลายผลจะแผ่เป็นครีบคล้ายกับปีกแข็ง มีเมล็ดอยู่ในผลประมาณ 1-2 เมล็ด[2],[9]

สรรพคุณรางแดง

1. ตาส่วน สีมะพริก พ่อเม่าหรือพ่อบุญมี ได้ฤกษ์ ให้นำมาต้มทาน สามารถแก้ปวดเมื่อยได้ ด้วยการเอามาต้มทานเดี่ยว ๆ หรือนำมาต้มรวมกับสมุนไพรบำรุงกำลังอื่น อย่างเช่น เถาวัลย์เปรียง ท่านทั้งสองเล่าว่าผู้ชายนิยมใช้เยอะกว่าผู้หญิง เนื่องจากจะต้องทำงานหนัก ทำให้ต้องใช้สมุนไพรช่วยบำรุงกำลัง บำรุงไต แก้กษัย แก้ปวดเมื่อย หมอยาพื้นบ้านเชื่อกันว่าเป็นสมุนไพรที่สามารถใช้แก้กษัยไตพิการตัวหนึ่งได้[9]
2. ลุงเฉลา คมคาย (หมอยาพื้นบ้านดงกระทงยาม อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี) แนะนำให้ใช้รากมาทำเยา เนื่องจากเชื่อว่ารากเป็นส่วนที่มีสรรพคุณดีที่สุด โดยเฉพาะส่วนปลายราก (หากหารากไม่ได้ สามารถใช้เถาแทนได้ แต่สรรพคุณไม่ดีเท่าราก) ขุดขึ้นจะพบรากเป็นสีดำ จะใช้รากที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มาดองกับเหล้า 1 ขวด สามารถทานเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้ปวดหลังปวดเอวได้ หรือดองกับสมุนไพรบำรุงกำลังอื่น ลุงเฉลานิยมใช้รากดองกับรากคัดเค้า (1:1) และสามารถนำมาชงเป็นชาแก้ปวดหลังปวดเอวได้ โดยนำใบเพสลาดมาตากแห้ง ใช้ชงกับน้ำร้อนทานครั้งละ 4-5 ใบ[9]
3. สามารถนำใบมาปิ้งไฟให้กรอบ เอามาชงกับน้ำใช้ทานต่างน้ำชาสามารถช่วยทำให้เส้นเอ็นในร่างกายอ่อนดี ทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้เส้นเอ็นตึงได้ (ใบ)[1],[2],[3]
4. เถา มีสรรพคุณที่สามารถช่วยบำรุงเส้นสาย แก้อาการปวดเมื่อยที่ก้นกบ แก้เส้น (เถา)[3],[5]
5. ในตำรายาไทยนำใบมาปิ้งไฟให้กรอบ นำมาชงกับน้ำกินต่างน้ำชาสามารถใช้เป็นยาช่วยขับปัสสาวะได้ (ใบ)[1],[2],[6]
6. เถาจะมีสรรพคุณที่เป็นยาขับปัสสาวะ (เถา)[3]
7. ราก มีสรรพคุณที่สามารถใช้เป็นยาขับเสมหะได้ (ราก)[8]
8. สามารถนำเถามาต้มกับน้ำใช้ดื่มช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ (เถา) (ไม่มีงานวิจัยยืนยัน)[5]
9. นำเถามาหั่นตากแดด ใช้ปรุงเป็นยาทานรักษาโรคกษัย รักษาอาการกล่อนลงฝัก รักษาอาการกล่อนทุกชนิด (เถา)[1],[2],[6] รากมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้กษัย (ราก)[3]
10. เถาจะมีสรรพคุณที่เป็นยาอายุวัฒนะ ใช้เดี่ยว หรือใช้ผสมสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ก็ได้ ในตำรับยาอายุวัฒนะนำรางแดง 1 ขีด เหล้า 200 มิลลิเมตร น้ำผึ้ง 200 มิลลิเมตร มาดองเป็นเวลา 15 วัน ทานครั้งละ 30 มิลลิเมตร วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น หรือนำเถามาผสมต้นเถาวัลย์เปรียง ต้นนมควาย, ต้นกำแพงเจ็ดชั้น, ต้นขมิ้นเครือ มาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ (เถา)[2],[6],[9]
11. หมอยาไทยใหญ่ ใช้ใบมาปิ้งกับไฟชงกับน้ำร้อนทานแทนชา สามารถใช้เป็นยารักษาอาการปวดเมื่อย แก้อาการอ่อนเพลีย รักษาอาการปวดหลังปวดเอว และยังสามารถใช้เป็นยาล้างไตได้ โดยนำใบมาชงใส่น้ำร้อน หรือนำรากหรือเถามาหั่น เอาไปตากให้แห้ง แล้วนำต้มทานก็ได้ มีความเชื่อกันว่าถ้าทานเป็นประจำสามารถช่วยทำให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิตได้[9]
12. หมอโจป่อง (หมอยากะเหรี่ยงฤๅษีหมู่บ้านทิบาเก เขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก) แนะนำให้นำใบมาปิ้งกับไฟ เอามาชงกับน้ำทาน สามารถช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ (ใบ)[9]
14. พ่อหมอสุนทร พรมมหาราช (หมอยาอำเภอภูหอ จังหวัดเลย) เล่าว่า ในตำรับยาที่หลวงปู่มั่นฉันเป็นยาอายุวัฒนะอยู่เสมอก็คือ เถาดองน้ำผึ้ง ให้นำเถามาตัดเป็นท่อน ผ่าใส่โหลหมักน้ำผึ้ง และมีตำรับยาบำรุงของหลวงปู่มั่นอีก ก็คือ ให้นำเครือเขาแกบ รากพังคี รากตำยาน ใบมะเม่า เนื้อไม้หรือรากกะเพราต้น ใบส่องฟ้า มาต้มใช้กินเป็นยาอายุวัฒนะ (เถา)[9]
15. ในตำรับยาแก้ปวดเมื่อย ให้นำรางแดง 1 ขีด, อ้อยดำ 1 ขีด, ยาหัว 1 ขีด (เข้าใจว่าเป็นข้าวเย็น ไม่ทราบว่าเป็นใช้ข้าวเย็นเหนือ หรือเป็นข้าวเย็นใต้) มาต้มให้เดือดเป็นเวลาประมาณ 15 นาที ต้มทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา ในตำรับยาแก้ปวดเมื่อยของชาวล้านนา นำใช้ลำต้นรางแดง มาผสมลำต้นงวงสุ่ม รากงวงสุ่ม ลำต้นบอระเพ็ด ลำต้นแหนเครือ ลำต้นเปล้าล้มต้น ลำต้นเปล้าลมเครือ ลำต้นหนาด มาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย (ลำต้น)[7],[9]
16. ในตำรับยาแก้ผิดสาบ นำรากรางแดง แก่นจันทน์แดง รากสามสิบ รากชะอม เขากวาง แก่นจันทน์ขาว รากเล็บเหยี่ยว มาฝนใส่ข้าวจ้าวทานแก้ผิดสาบได้ (ราก)[2]
17. นำใบมาลนไฟแล้วเอาไปต้มกับน้ำ สามารถใช้ดื่มแทนใบชาได้ ช่วยทำให้ชุ่มคอ (ใบ)[6]
18. สามารถช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้ (เถา)[3]
19. ในตำรับยาช่วยทำให้เจริญอาหาร นำเถารางแดง ต้นนมควาย ต้นกำแพงเจ็ดชั้นต้นขมิ้นเครือ ต้นเถาวัลย์เปรียง มาต้มกับน้ำดื่ม สามารถช่วยทำให้เจริญอาหารได้ (เถา)[2],[6] อีกวิธีให้นำใบมาลนไฟหรือตากแห้ง ใช้ชงกับน้ำดื่ม สามารถช่วยให้เจริญอาหารได้ (ใบ)[6]
20. หมอยาอีสานมีทั้งนำเถามาต้มทาน หรือนำใบมาชงเป็นชา (อาจใช้แบบเดี่ยว หรือใช้ร่วมสมุนไพรอื่นก็ได้) สามารถใช้เป็นยาบำรุงกำลังได (ในตำรับยานี้ช่วยปวดขา ปวดเอว แก้เอ็น ปวดแข้ง แก้เส้น อาการปวดหลังได้) นิยมที่สุดคือ การดองเหล้า (นำรากมาดองเหล้า) (เถา,ราก,ใบ)[9]

ข้อสังเกต

สรรพคุณที่กล่าวข้างต้น ยังมีสรรพคุณอื่นที่มีระบุเอาว่าไว้ในผลิตภัณฑ์รูปชาสมุนไพรและรูปแบบแคปซูล มีสรรพคุณที่สามารถช่วยเผาผลาญไขมัน ละลายไขมัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยขับเหงื่อ (ข้อมูลส่วนนี้ ผู้เขียนยังไม่เห็นว่ามีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ยังไม่เห็นว่ามีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว (หรือมีแล้วก็ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ) และไม่แน่ใจว่าเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ ขอให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณในการอ่าน)

ประโยชน์รางแดง

  • มีการใช้ยอดอ่อน ใบ เปลือกต้น เป็นส่วนประกอบทำน้ำยาสระผมสูตรแก้รังแค ประกอบด้วยสมุนไพรอื่น เช่น น้ำด่าง ส้มป่อยหรือมะนาวหรือมะกรูด ใบหมี่เหม็น มาต้มรวมกันแล้วเอาน้ำที่ได้มาใช้สระผมสามารถช่วยแก้รังแคได้[3],[6]
  • สามารถนำใบมาคั่ว ใช้ชงกับน้ำดื่มเหมือนกับชาได้[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • จากการทดสอบความเป็นพิษ ปรากฏว่าเมื่อฉีดสารที่สกัดได้จากทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์กับน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง ปรากฏว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งนั่นก็คือ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถือว่ามีความเป็นพิษน้อย[3]
  • จากการศึกษาผลของสารสกัดที่มีความเข้มข้น 0, 5000, 10000, 15000, 20000 ppm ต่อการเจริญของรา Colletotrichum gloeosporioides กับ Fusarium oxysporum ปรากฏว่าสารสกัดที่เข้มข้น 15000, 20000 ppm สามารถช่วยยับยั้งการเจริญของรา Colletotrichum gloeosporioides กับ Fusarium oxysporum ได้ดี ถ้าความเข้มข้นเพิ่มขึ้น จะทำให้ประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบเพิ่มขึ้นไปด้วย[4]
  • ในประมาณปี พ.ศ.2548 มีรายงานการศึกษาการทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase โดยคัดเลือกสมุนไพรที่หมอยาพื้นบ้านใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด บำรุงสมองรวม 19 ชนิด ยังพบอีกว่ามีสมุนไพรที่มีฤทธิ์ดังกล่าว 7 ชนิด [9]
  • สารสกัดหยาบที่ได้จากใบด้วยเอทานอลที่เข้มข้นร้อยละ 95 ปรากฏว่าสารสกัดที่ได้หนืดข้นเป็นเขียวเข้มถึงดำ มีกลิ่นหอม[4]
  • จากข้อมูลทางเภสัชวิทยายังไม่มีรายงานว่ามีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “รางแดง”. หน้า 677-678.
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “รางแดง”. หน้า 221.
3. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รางแดงรักษาเบาหวาน?”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพร ไม้พื้นบ้าน เล่ม 4 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [29 พ.ค. 2014].
4. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กรุงเทพฯ. (รัฐพล ศรประเสริฐ, ภากร นอแสงศรี, อนงคณ์ หัมพานนท์). “ผลของสารสกัดหยาบจากใบรางแดง (Ventilago denticulata Willd.) ต่อการเจริญของ Colletotrichum gloeosporioides และ Fusarium oxysporum”.
5. ฐานข้อมูลสมุนไพรไทย จังหวัดอุตรดิตถ์. “รางแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: industrial.uru.ac.th/herb/. [29 พ.ค. 2014].
6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “รางแดง, เถารางแดง , เถาวัลย์เหล็ก”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 พ.ค. 2014].
7. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “งวงสุ่ม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [29 พ.ค. 2014].
8. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Ventilago denticulata Willd.”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [29 พ.ค. 2014].
9. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “เครือเขาแกบ…พญาดาบหัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com. [29 พ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com