เถาวัลย์เปรียง

เถาวัลย์เปรียง

เถาวัลย์เปรียง เป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ที่เนื้อไม้มีรสเฝื่อนและเอียน เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร และมีโทษเช่นกัน ดังนั้นก่อนนำมาใช้จึงควรศึกษาให้ดี เถาวัลย์เปรียงเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพมากมาย อีกทั้งยังนำมาใช้แทนยาแผนปัจจุบันในการรักษาอาการปวดหลังได้อีกด้วย เป็นพืชสำคัญที่นำมาใช้ได้หลากหลาย ส่วนของยอดอ่อนและใบอ่อน นำมาใช้ทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเถาวัลย์เปรียง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Derris scandens (Roxb.) Benth.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Jewel vine”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เถาวัลย์เปรียงขาว เถาวัลย์เปรียงแดง” ภาคใต้เรียกว่า “ย่านเหมาะ ย่านเมราะ” ภาคอีสานหรือเกิดในที่ลุ่มเรียกว่า “เครือตาปลาน้ำ” เกิดบนบกเรียกว่า “เครือตาป่า เครือตับปลา เครือเขาหนัง เครือตาปลาโคก” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “เครือตาปลา เครือไหล” จังหวัดเลยเรียกว่า “เครือตับปลา” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “พานไสน” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “เถาตาปลา เครือเขาหนัง ย่านเหมาะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของเถาวัลย์เปรียง

เถาวัลย์เปรียง เป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ มีกิ่งเหนียวและทน มักจะพบตามชายป่าและที่โล่งทั่วไป เป็นพรรณไม้ที่มีมากที่สุดในประเทศไทย
เถา : เถามักเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถาแก่มีเนื้อไม้แข็ง เปลือกเรียบและเหนียว เป็นสีน้ำตาลเข้มอมสีดำหรือแดง เถาใหญ่มักจะบิด เนื้อไม้จะเป็นสีออกน้ำตาลอ่อน มีวงเป็นสีน้ำตาลไหม้คล้ายกับเถาต้นแดง กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ใบย่อย 4 – 8 ใบ เป็นรูปวงรี ปลายใบเป็นรูปหอก โคนใบมน ขอบใบเรียบ หลังใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อดอกเป็นสีขาวห้อย ดอกมีสีขาวอมสีม่วงอ่อน กลีบดอก 4 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย มีสีม่วงแดง
ผล : เป็นฝักแบน โคนฝักและปลายฝักมน เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ด 1 – 4 เมล็ด

สรรพคุณของเถาวัลย์เปรียง

  • สรรพคุณจากเถา ช่วยแก้หวัด แก้ไอ ช่วยแก้บิด รักษาอาการตกขาวของสตรี ช่วยบีบมดลูก เป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้มีกำลังดีแข็งแรงสู้ไม่ถอย
    – ถ่ายกระษัย แก้กระษัย เป็นยาถ่ายเสมหะลงสู่ทวารหนัก แก้เสมหะพิการโดยไม่ทำให้ถ่ายอุจจาระ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะผิดปกติ แก้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย เป็นยาถ่ายเส้น ทำให้เส้นเอ็นอ่อนและหย่อนดี ช่วยรักษาเส้นเอ็นขอด แก้เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวด แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดหลัง แก้ปวดเอว แก้ปวดข้อ แก้ข้ออักเสบ ช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม แก้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ด้วยการนำเถามาต้มทานเป็นยา
    – ขับระดูของสตรี ด้วยการนำเถามาดองกับเหล้าเป็นยา
    – ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ ด้วยการนำเถาสดมาทุบให้ยุ่ย วางทาบลงบนหน้าท้อง แล้วนำหม้อเกลือที่ร้อนมานาบลงไปบนเถา
    – ทำให้เส้นหย่อน แก้อาการเมื่อยขบตามร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อย แก้เหน็บชา ด้วยการนำเถามาหั่นตากแห้ง คั่วชงกินต่างน้ำเป็นยา
    – รักษาโรคอัมพฤกษ์และกระดูกหัก ด้วยการนำเถามาตำให้เป็นผง แล้วผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้เป็นยาทานวดบริเวณที่มีอาการทุกวัน
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นส่วนประกอบของยาอายุวัฒนะ ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง รักษาอาการไข้ เป็นยาขับปัสสาวะ
  • สรรพคุณจากเถาทั้งห้า
    – ช่วยขับโลหิตเสียของสตรี ด้วยการนำเถาทั้งห้าสดมาต้มกับน้ำ นำน้ำที่ได้มาใช้ดื่มต่างน้ำ

ประโยชน์ของเถาวัลย์เปรียง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก ผลอ่อน นำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้
2. ใช้ในการเกษตร รากเป็นยาเบื่อปลา
3. เป็นส่วนประกอบในยาสมุนไพร เถานำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ สามารถนำมาใช้แทนยาแผนปัจจุบัน “ไดโคลฟีแนค” ในการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง ใช้แทนยา “นาโพรเซน” ในการรักษาอาการอักเสบจากข้อเข่าเสื่อม

เถาวัลย์เปรียง เป็นเถาที่มีสรรพคุณทางยาชั้นยอด ดีอย่างมากต่อสตรี อีกทั้งยังเป็นพรรณไม้ที่พบมากที่สุดด้วย มีการนำมาใช้ในการอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ช่วยในเรื่องของอาการปวดได้อย่างดี เหมาะสำหรับผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน เถาวัลย์เปรียงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเถา มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้บิด รักษาอาการตกขาวของสตรี ช่วยบีบมดลูก เป็นยาบำรุงกำลัง รักษาโรคอัมพฤกษ์และกระดูกหัก แก้อาการปวดเมื่อย และแก้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เถาวัลย์เปรียง (Thao Wan Priang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 139.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เถาวัลย์เปรียง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 119.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เถาวัลย์เปรียง”. หน้า 101.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เถาวัลย์เปรียง”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 349-350.
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เถาวัลย์เปรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [17 มี.ค. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เถาวัลย์เปรียง”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [17 มี.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 370 คอลัมน์: เก็บข่าวมาฝาก. “เถาวัลย์เปรียง รักษาอาการปวด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [18 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม, ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. “เถาวัลย์เปรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.culture.nstru.ac.th/~culturedb/. [18 มี.ค. 2014].
หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เถาวัลย์เปรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [15 มี.ค. 2014].
ผู้จัดการออนไลน์. “สมุนไพรไม้เป็นยา : เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรแก้ปวดข้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [18 มี.ค. 2014].
นิตยสารมติชนเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 534 เดือนกันยายน 2555 หน้าที่ 66. “เถาวัลย์เปรียง…สมุนไพรแก้เส้นเอ็นขอด”. อ้างอิงใน: หนังสือเภสัชเวทกับตำรายาแผนโบราณ (จินดาพร ภูริพัฒนาวงษ์).
วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ฉบับที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ.2544. “เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรทางเลือกสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อย การอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อเข่าเสื่อม”. (ภก.ดร.สัญญา หกพุดซา).
NLEM บัญชียาหลักแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. “ยาเถาวัลย์เปรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/. [18 มี.ค. 2014].
แคปซูลเถาวัลย์เปรียง อภัยภูเบศร.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com
รูปอ้างอิง

Derris involuta“Jewel Vine”


https://eol.org/pages/643051