โมกบ้าน
เป็นไม้พุ่มมีขนาดกลาง ดอกออกเป็นช่อสีขาว ก้านชูดอกยาวและเส้นเล็ก กลิ่นหอมเย็น ฝักแก่จะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดรูปกระสวยมีขนปุยสีขาวขึ้นที่ปลายเมล็ด

โมกบ้าน

โมกบ้าน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในไทย ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Wrightia religiosa (Teijsm. & Binn.) Benth. ex Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Echites religiosus Teijsm. & Binn., Wrightia religiosa (Teijsm. & Binn.) Benth.) อยู่วงศ์ APOCYNACEAE [1] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น โมกกอ (ไทย), โมก (ไทย), โมกลา (ภาคกลาง), หลักป่า (ระยอง), ปิดจงวา (เขมร-สุรินทร์), โมกดอกหอม(ไทย), โมก (ไทย), โมกซ้อน (ภาคกลาง) [1],[3],[4]

ลักษณะของโมกบ้าน

  • ต้น เป็นไม้พุ่มมีขนาดกลาง จะไม่ผลัดใบ ต้นสูงประมาณ 1-3 เมตร มีเรือนยอดที่แผ่กว้าง เปลือกต้นมีลักษณะเรียบเกลี้ยงและเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีจุดเล็กสีขาวประอยู่ จะแตกกิ่งต่ำอยู่ใกล้กับผิวดิน มีน้ำยางสีขาวทั้งต้น ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง การเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง โตได้ดีในดินร่วนที่สามารถระบายน้ำได้ดี ที่ชื้นปานกลาง ต้นชอบแสงแดดเต็มวันถึงรำไร จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ทนความร้อนกับแสงแดดได้ มักจะพบเจอขึ้นได้ที่ตามป่าละเมาะที่มีความชื้น ตามป่าดงดิบ[1],[2],[3],[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้าม ใบเป็นรูปไข่ รูปรี ที่ปลายใบจะมนหรือจะแหลม ส่วนที่โคนใบจะสอบเข้าหากันหรือมน ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 0.8-2.5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1.3-7.8 เซนติเมตร มีเนื้อใบที่บาง ท้องใบมีลักษณะเรียบ ก้านใบมีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1]
  • ดอก ออกเป็นช่อที่ตามซอกใบ หนึ่งช่อมีดอกประมาณ 4-8 ดอก ดอกจะมีกลิ่นที่หอมเย็น มีดอกทั้งแบบชั้นเดียวเรียกกันว่าโมกลา และชนิดที่มีกลีบดอกเรียงซ้อนที่เรียกกันว่าโมกซ้อน ดอกย่อยมีลักษณะเป็นสีขาว กลีบดอกมีอยู่ 5-16 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปไข่ ที่โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดเล็ก มีขนาดยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นสีเขียว ที่โคนเชื่อมกัน ส่วนที่ปลายจะแยกเป็นแฉกแหลม ๆ มีเกสรติดกับหลอดท่อดอกอยู่ที่กลางดอก ก้านชูดอกมีลักษณะยาวและจะเป็นเส้นเล็ก ดอกบานเต็มกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ออกดอกได้ทั้งปีถ้าอยู่ในสภาพที่เหมาะสม ดอกจะออกเยอะพิเศษช่วงปลายฤดูกับต้นฤดูหนาว[1],[2],[3],[4]
  • ผล เป็นฝักคู่ ที่โคนจะเชื่อมกัน ส่วนที่ปลายจะแหลม ผิวฝักมีลักษณะเรียบ ยาวประมาณ 5-6.5 นิ้ว ฝักแก่จะแตกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดรูปกระสวยเป็นจำนวนมากอยู่ในฝัก จะมีขนปุยสีขาวขึ้นที่ปลายเมล็ด จะช่วยให้ปลิวลมไปไกล ชนิดดอกลาจะติดฝักดีมากกว่าชนิดของดอกซ้อน[1],[2],[4]

ประโยชน์โมกบ้าน

  • คนไทยโบราณมีความเชื่อกันว่าถ้าบ้านไหนปลูกต้นโมกเป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้เกิดความสุขบริสุทธิ์ สดใส เนื่องจากคำว่าโมกมีเสียงพ้องกับคำว่า โมกข์ หรือ โมกษ์ ที่มีความหมายว่าหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง เป็นความหมายเดียวกับนิพพาน และมีความเชื่อกันว่าช่วยคุ้มครองป้องกันภัยทั้งปวง เพื่อเป็นสิริมงคลให้ปลูกต้นโมกที่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ควรปลูกวันเสาร์เพื่อเอาคุณ[3]
  • ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป จะนิยมปลูกริมน้ำตก ลำธาร ริมทะเล ปลูกลงในกระถางเป็นไม้แคระ ทำบอนไซ ปลูกประดับสวน หรือจะปลูกเป็นแถวเพื่อบังสายตา ต้นโมกทิ้งใบช่วงฤดูหนาว สามารถทนร่มได้ดี ทำให้ปลูกในอาคารได้นาน ควบคุมการออกดอกได้ โดยควบคุมการให้น้ำกับปุ๋ยให้เหมาะสม ตัดแต่งให้เป็นรูปทรงได้ การตัดแต่งทรงพุ่มจะต้องทำสม่ำเสมอ เนื่องจากทำให้เป็นทรงพุ่มแน่นสวยงาม แต่จะไม่ค่อยที่ออกดอก ควรปลูกที่กลางแจ้ง เนื่องจากถ้าปลูกที่มีแสงแดดไม่เพียงพอก็จะทำให้ต้นมีขนาดสูงชะลูดและจะทำให้ไม่ค่อยที่จะออกดอก[3],[4]
  • นิยมนำดอกไปสกัดกลิ่นหอมใช้ทำน้ำอบไทยหรือน้ำปรุง

สรรพคุณโมกบ้าน

1. ใบสามารถใช้ขับน้ำเหลืองได้ (ใบ)[5]
2. รากโมกจะมีรสเมามัน สามารถใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคผิวหนังจำพวกโรคคุดทะราด โรคเรื้อนได้ (ราก)[1],[2]
3. ดอกโมกจะเป็นยาระบาย (ดอก)[5]
4. เปลือกสามารถใช้เป็นยาที่ช่วยทำให้เจริญอาหารได้ (เปลือก)[5]
5. สามารถใช้ยางเป็นยาแก้พิษแมลงกัดต่อย แก้พิษงูได้ (ยาง)[3]
6. เปลือกสามารถช่วยรักษาโรคไตได้ (เปลือก)[5]
7. ยางจากต้นโมกนั้นสามารถใช้เป็นยาแก้โรคบิดที่มีอาการเลือดมาออกได้ (ยาง)[3]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “โมก บ้าน (Mok Bann)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 247.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โมก บ้าน”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 649-650.
3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “โมกซ้อน”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [19 พ.ค. 2014].
4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “โมกลา โมกซ้อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [19 พ.ค. 2014].
5. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “ต้นโมกไม้มงคล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: m-culture.in.th. [19 พ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flora-toskana.com/en/exotic-fragrant-flower-plants/624-wrightia-religiosa-wasser-jasmin.html
2. https://seed2plant.in/products/water-jasmine-highly-fragrant-wrightia-religiosa
3. https://medthai.com/