ตะโกสวน
ไม้เศรษฐกิจดอกสีขาวจนถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลดิบมียางและรสฝาด ผลสุกสีส้มเหลือง

ตะโกสวน

ตะโกสวน ในชื่อทางวิทยาศาสตร์ Diospyros malabarica (Desr.) Kostel. และมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros embryopteris Pers., Diospyros peregrina (Gaertn.) Gürke, Embryopteris peregrina Gaertn.) จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พลับ, ตะโก (ไทย), ตะโกไทย, ปลาบ, มะเขือเถื่อน และมะสุลัวะ เป็นต้น[1]

ลักษณะของตะโกสวน

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นที่ไม่ผลัดใบ มีขนาดกลาง ความสูงอยู่ที่ประมาณ 8-15 เมตร ทรงพุ่มกลมทึบ เปลือกต้นสีดำมีลายแต้มสีขาว เนื้อภายในเปลือกมีสีแดงเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เติบโตตามป่าไม้ ป่าเบญจพรรณและมีปลูกตามเรือกสวนไร่นาทั่วไป[1],[2]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะเป็นใบอ่อนมีสีแดง ใบแคบเป็นรูปขอบขนาน ส่วนปลายใบนั้นแหลมมน โคนใบมีความโค้งมน เนื้อใบนั้นหนาคล้ายแผ่นหนังของสัตว์ ใบมีขนาดประมาณ 4×8 เซนติเมตร[1]
  • ดอก เป็นดอกสีขาวจนถึงดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกไปตามซอกใบ ดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 2-7 ดอก ตรงกลีบเลี้ยงมีขนอ่อน ๆ ขึ้นปกคลุม มีแฉก 4 แฉก ลักษณะเป็นรูปไข่ขนาดกว้างและกลีบดอกเป็นหลอดกว้าง ส่วนดอกเพศเมียนั้นเป็นดอกเดี่ยวและมีขนาดที่ใหญ่กว่าดอกเพศผู้ ลักษณะกลีบเลี้ยงคล้ายดอกเพศผู้ และกลีบดอกนั้นเป็นรูประฆัง[1]
  • ผล มีลักษณะที่กลม มีเกล็ดขึ้นปกคลุมแต่เกล็ดหลุดร่วงได้ง่าย ผลมีขนาดโตคล้ายคลึงกับผลตะโกนา แต่ขนาดจะโตและยาวกว่า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5 เซนติเมตร ผลตอนดิบมียางที่มากและมีรสชาติฝาด ผลเมื่อสุกแล้วจะเป็นสีส้มเหลือง ภายในผลมีเมล็ด 8 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลดำทรงรีแป้น ขนาดอยู่ที่ประมาณ 1×2 เซนติเมตร[1],[2]

สรรพคุณของตะโกสวน

1. เปลือกต้น และเนื้อไม้ เป็นยาบำรุงธาตุ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[1]
2. ราก เปลือกราก ดอก และผล เป็นยาแก้บวม (ราก, เปลือกราก, ดอก, ผล)[1]
3. เปลือกต้นมีสรรพคุณที่ช่วยทำให้เกิดกำลังได้ (เปลือกต้น)[1]
4. ยางจากต้น และยางจากผลนั้น ใช้เป็นยาแก้แผลน้ำกัดเท้า (ยางจากต้น, ยางจากผล)[1]
5. เปลือกต้นมีสรรพคุณในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (เปลือกต้น)[1]
6. เปลือกราก และยางจากต้น นำมาใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกราก, ยางจากต้น)[1]
7. เปลือกราก และเปลือกต้น เป็นยาแก้อาเจียน (เปลือกราก, เปลือกต้น)[1]
8. ราก เป็นยาแก้ฝีเปื่อยผุพัง (ราก)[1]
9. เปลือกราก เป็นยาแก้ปวดฟันได้ (เปลือกราก)[1]
10. เปลือกผลนั้นมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกผล)[1]
11. ยางจากต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องเดินได้ (ยางจากต้น)[1]
12. ราก ดอก และผล เป็นยาแก้พยาธิได้ (ราก, ดอก, ผล)[1]
13. เปลือกรากนั้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องร่วงได้ (เปลือกราก, ยางจากผล)[1]
14. เนื้อไม้มีสรรพคุณช่วยในการย่อยอาหาร (เนื้อไม้)[1]
15. เปลือกราก และยางจากต้น เป็นยาแก้บิด (เปลือกราก, ยางจากต้น)[1]

วิธีใช้ : การใช้ตามนั้น [1] ให้นำส่วนของเนื้อไม้ (แก่น) หรือเปลือกต้นประมาณ 4-6 ชิ้น มาต้มกับน้ำ 1 ลิตร ใช้ดื่มได้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตะโกสวน

1. สารสำคัญที่พบ ได้แก่ amyrin, betulin, cystine, daucosterol, diospyros, flavanone, glucopyranosyl, gallic acid, hexacosane, leucopelargonidin, linoleic acid, linolenic acid, lupeol, marsformosanone, myristic acid, nonadecan-7-ol-2-one, oleanolic acid, peregrinol, raffinose, sitosterol, L-sorbose[1]
2. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบนั้น ได้แก่ ฤทธิ์ที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดอาการความเครียด ต้านเชื้อบิด และเชื้อไวรัส[1]
3. เมื่อปี ค.ศ.1973 ที่ประเทศอินเดีย ได้มีการทำการทดลองใช้พืชสมุนไพรหลายชนิด ซึ่งเป็นสมุนไพรจากหนึ่งในนั้น พบว่า สารสกัดจากเปลือกของต้นสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้[1]
4. จากการทดสอบความเป็นพิษนั้น ได้ผลสรุปว่า สารสกัดจากเปลือกของต้นสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าช่องท้องหนูที่ถีบจักร ขนาดที่สัตว์ทดลองนั้นทนได้สูงสุด คือ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ประโยชน์ของตะโกสวน

1. ผลสุกนำมารับประทานได้[2]
2. สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ดัดได้ โดยนำมาปลูกในกระถางหรือปลูกลงดิน แล้วทำการตัดกิ่งก้านและตัดแต่งใบไม้ให้เป็นพุ่ม หรือดัดให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามต้องการก็ได้เช่นกัน

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ตะโก”. หน้า 81-82.
2. กรมวิชาการเกษตร. “ไม้ดัด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doa.go.th/th/dmdocuments/08Ebony.pdf. [22 ธ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://thai-herbs.thdata.co/page/