บอนแบ้ว รากและหัวเป็นยา กาบทานเป็นผักดองได้
บอนแบ้ว มีดอกหรือกาบสีม่วงอมน้ำตาลและมีกลิ่นเหม็น ก้านใบแกงส้มได้

บอนแบ้ว

บอนแบ้ว (Dwarf Voodoo Lily) เป็นชื่อเรียกของทางภาคเหนือ โดยนิยมเรียกอีกชื่อว่า “อุตตพิษ” เป็นต้นที่มีดอกหรือกาบสีม่วงอมน้ำตาลและมีกลิ่นเหม็น สามารถนำก้านใบมาปรุงในเมนูแกงส้มได้ ส่วนของกาบสามารถนำมารับประทานในรูปแบบของผักได้ เป็นต้นชนิดหนึ่งที่มีส่วนหัวอยู่ใต้ดินและมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้จากส่วนของรากและหัวใต้ดินของบอนแบ้ว

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของบอนแบ้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Typhonium roxburghii Schott
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Dwarf Voodoo Lily”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “บอนแบ้ว” จังหวัดพังงาเรียกว่า “ตะพิดป่า” ชาวเงี้ยวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “บอนดอย” คนไทยเรียกว่า “อุตตพิษ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บอน (ARACEAE)

ลักษณะของบอนแบ้ว

บอนแบ้ว เป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่พบในประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวันและภูมิภาคมาเลเซียไปจนถึงฟิลิปปินส์และนิวกินี
หัว : มีหัวอยู่ใต้ดินลักษณะทรงกลม
ใบ : ใบอ่อนมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปหัวหรือเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจ ใบแก่จะเป็นหยักแบ่งออกเป็น 3 แฉก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดมีกาบ มักจะออกหลังจากผลิใบ มีกลิ่นเหม็น กาบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน เป็นสีม่วงอมน้ำตาลและแดงด้านใน ด้านนอกมีสีน้ำตาลอมเขียว โคนบิดม้วนโอบรอบช่อเป็นรูปไข่ ปลายกาบคอดเรียวยาวและบิดเวียนเล็กน้อย ช่อดอกเพศเมียจะอยู่ด้านล่าง มีรังไข่ 1 ช่อง ในช่องมีออวุล 1 เม็ด รังไข่เป็นรูปไข่สีขาวครีม ยอดเกสรเพศเมียเป็นสีม่วง ส่วนที่อยู่ถัดไปคือช่วงที่เป็นหมัน ด้านล่างมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันหนาแน่น ลักษณะโค้งลงเป็นสีครีมหรือสีเหลืองอ่อน ช่วงบนเปลือกเกลี้ยงเป็นรูปทรงกระบอก มีเกสรเพศผู้ประมาณ 2 – 3 อัน เป็นสีเหลืองครีม อับเรณูไร้ก้านชู ช่องเปิดที่ปลาย ช่วงช่อดอกปลายสุดเป็นรยางค์รูปกรวยเรียวแหลมยาว มีสีม่วงอมสีน้ำตาลเข้ม ช่วงผลมีโคนกาบหุ้ม ในผลแก่กาบจะอ้าออก
ผล : เป็นผลสดและเนื้อนุ่ม ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน รูปวงรีหรือรูปไข่ เมื่อแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีขาว
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว

สรรพคุณของบอนแบ้ว

  • สรรพคุณจากราก รักษาโรคริดสีดวงทวาร
    – รักษาอาการปวดท้อง ด้วยการนำรากมากินกับกล้วยเป็นยา
    – รักษาพิษงูกัด ด้วยการนำรากมาทาและกิน
  • สรรพคุณจากหัว กัดฝ้าหนองและกัดเถาดานในท้อง
    – เป็นยาสมานแผล ด้วยการนำหัวใช้หุงเป็นน้ำมันเพื่อใส่แผล

ประโยชน์ของบอนแบ้ว

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ก้านใบนำมาลอกเอาเปลือกออกเพื่อใส่ในแกงส้ม กาบนำมาหั่นละเอียดใช้ดองกินเป็นผักได้

บอนแบ้ว เป็นต้นที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่ดอกหรือกาบเป็นสีม่วงอมน้ำตาลและมีกลิ่นเหม็น และยังมีหัวใต้ดินที่สามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ นิยมนำก้านใบมาเป็นส่วนประกอบในแกงส้มและนำกาบมารับประทานในรูปแบบของผักดอง บอนแบ้วมีสรรพคุณทางยาได้จากส่วนของรากและหัว มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคริดสีดวงทวาร รักษาพิษงูกัดและรักษาอาการปวดท้องได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “บอนแบ้ว”. หน้า 412-413.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “บอนแบ้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [30 พ.ย. 2014].