เปราะป่า ดอกสีขาวสวยงาม เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านของคนอุบลราชธานี
เปราะป่าเป็นพืชสมุนไพรโบราณ มีเหง้าใต้ดิน มีกลิ่นหอม ดอกมีสีม่วง ใบสามารถทานจิ้มน้ำพริกได้

เปราะป่า

เปราะป่า (Peacock ginger) เป็นพืชสมุนไพรโบราณชนิดหนึ่ง มีเหง้าใต้ดินที่มีสรรพคุณทางยามากมาย มีดอกสีขาวสวยงามเหมาะสำหรับปลูกในบ้านได้ สามารถนำส่วนของต้นมารับประทานได้หลายส่วน เป็นพืชที่ชื่อเสียงไม่คุ้นหูสำหรับคนรุ่นใหม่สักเท่าไหร่ เปราะป่านั้นเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี ของภาคอีสานและตำรับยาไทยทั่วไป

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเปราะป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia marginata Carey ex Roscoe
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Peacock ginger” “Resurrection lily”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ตูบหมูบ ว่านตูบหมูบ” จังหวัดปราจีนบุรีและชุมพรเรียกว่า “เปราะเถื่อน” จังหวัดกระบี่เรียกว่า “เปราะ หัวหญิง” และมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “เปราะเขา เปราะป่า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

ลักษณะของเปราะป่า

เปราะป่า เป็นพืชล้มลุกที่พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มักจะขึ้นตามพื้นดินหรือเกาะอยู่ตามโขดหิน โดยเกิดตามที่ลุ่มชื้นแฉะในป่าเบญจพรรณ มีรสเผ็ดร้อนและขมจัด
เหง้า : มีเหง้าสั้นขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมสีน้ำตาลและมีกลิ่นหอม ผิวมีรอยข้อปล้องอย่างชัดเจน
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ใบอ่อนจะม้วนเป็นกระบอกตั้งขึ้น ใบแก่จะแผ่ราบบนหน้าดิน ไม่มีก้านใบ ใบมีสีเขียวเข้ม ขอบใบมีสีม่วงแดงเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปวงรี ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม หลังใบเรียบ ด้านล่างใบมีขน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อจากตรงกลางระหว่างกาบใบทั้งสอง มีกลีบดอกเป็นหลอดยาวบาง ๆ ดอกมีสีขาว มีใบประดับสีขาวอมเขียวลักษณะเป็นรูปใบหอก กลีบปากมีสีม่วง มีแถบสีขาวอยู่ระหว่างเส้นกลางกลีบกับขอบกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลีบแกมรูปลิ่ม
ผล : มีลักษณะเป็นรูปไข่สีขาวแตกออกเป็น 3 พู
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดเป็นรูปไข่สีน้ำตาล

สรรพคุณของเปราะป่า

  • สรรพคุณจากหัว เป็นยาอายุวัฒนะโดยใช้ผสมกับตัวยาอื่น เป็นยาแก้ไข้ แก้อาการไอ เป็นยาแก้เสมหะ ขับลมในลำไส้ เป็นยากระทุ้งพิษต่าง ๆ แก้ลมพิษ ผดผื่นคันและรักษาเลือดที่เจือด้วยลมพิษ ทำเป็นลูกประคบแก้อาการฟกช้ำ
    แก้หวัด แก้เลือดกำเดา ด้วยการใช้หัวตำผสมกับหัวหอม แล้วใช้สุมกระหม่อมเด็กจะช่วยบรรเทาอาการได้
    – บรรเทาอาการเจ็บคอ ด้วยการนำหัวมาคั้นแล้วเอาน้ำป้ายคอ
    – แก้อาการอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการนำหัวมาตำแล้วพอก
    – เป็นยาแก้อัมพาต ด้วยการใช้หัวมาผสมกับใบหนาดใหญ่ นำมาต้มแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากดอก แก้อาการอักเสบหรือตาแฉะ รักษาเด็กที่ชอบนอนผวาตาเหลือก
  • สรรพคุณจากใบ แก้เกลื้อนช้าง
    – บรรเทาอาการเจ็บคอ ด้วยการนำใบมาคั้นแล้วเอาน้ำป้ายคอ
  • สรรพคุณจากต้น แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นยาขับเลือดเน่าเสียของสตรี

ประโยชน์ของเปราะป่า

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำมาใช้เป็นเครื่องเทศและเป็นเครื่องยาสมุนไพร ใบอ่อนสดที่ม้วนอยู่ใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือนำมาเป็นผักเครื่องเคียงกับขนมจีน
2. เป็นไม้ปลูกประดับ นิยมปลูกทั่วไปตามบริเวณบ้านโดยนำมาปลูกในกะละมัง

เปราะป่า เป็นพืชสมุนไพรและเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อนและขม เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านที่ช่วยแก้อาการพื้นฐานต่าง ๆ มีเหง้าที่มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการมากกว่าส่วนอื่นของต้น มีดอกสีขาวสวยงามเหมาะสำหรับปลูกในบ้านได้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้และแก้ไอ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้อัมพาต และแก้อาการอักเสบต่าง ๆ เป็นพืชที่น่าสนใจในการนำมาปลูกไว้ในบ้านเพื่อใช้ประโยชน์จากต้นได้

บทตวามที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เปราะป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [18 พ.ย. 2013].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เปราะป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [18 พ.ย. 2013].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Kaempferia marginata Carey”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [18 พ.ย. 2013].
โปงลางดอตคอม. “ว่านเปราะป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pongrang.com. [18 พ.ย. 2013].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักพื้นบ้าน เปราะป่า”. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านภาคใต้ (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [18 พ.ย. 2013].
บล็อกโอเคเนชั่น. “เปราะ ผักพื้นบ้าน เมนูสุขภาพ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.oknation.net. [18 พ.ย. 2013].